อนาคตข้าวไทยในเกาหลีมีแนวโน้มสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2005 14:48 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ใช้เวลายาวนานถึง 8 เดือน ไทยได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาให้เกาหลีเปิดตลาดให้กับข้าวไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่เกาหลีนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละ 20,000 ตัน  ต่อไปจะต้องนำเข้าอย่างน้อยปีละ 29,960 ตันทุกปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว จากที่นำเข้ารวมปีละ 205,228 ตันในปี 2547 เป็น 408,700 ตัน ในปี 2557 หรือคิดเป็นร้อยละ 7.96 ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศทั้งหมด  โดยไทยจะได้ส่วนแบ่งโควตาอย่างต่ำปีละ 29,960 ตัน  ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวคุณภาพดีและข้าวหอมมะลิไปยังตลาดเกาหลี ซึ่งในอดีตจะนำเข้าและบริโภคข้าวเมล็ดสั้น-กลางเป็นส่วนใหญ่  นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลักดันให้เกาหลีแก้ไขระบบประมูลนำเข้าข้าวให้โปร่งใสและผ่อนคลายมากขึ้นด้วย 
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เกาหลียังได้ตกลงที่จะนำข้าวที่นำเข้าไปวางขายในร้านค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อและบริโภคข้าวเมล็ดยาวจากไทยมากขึ้น โดยในปีแรกจะเริ่มนำเข้าข้าวไปวางขายในร้านค้าร้อยละ 10 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปีที่ 6 จากเดิมที่ส่งข้าวนำเข้าทั้งหมดไปใช้ในโรงงานแปรรูปเท่านั้น
ทั้งนี้ ผลการเจรจาครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเกาหลีได้ทดลองบริโภคข้าวคุณภาพและข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเกาหลีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และนิยมบริโภคอาหารไทย รวมทั้ง ข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น
อนึ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกาหลีได้ขอยกเว้นจาก WTO ที่จะจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไว้สูงสุดแค่ ร้อยละ 4 ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศหรือ 205,228 ตัน เท่านั้น โดยข้อยกเว้นนั้นจะหมดไปภายในสิ้นปี 2547 เกาหลีจึงได้เจรจากับประเทศคู่ค้า 9 ประเทศ คือ ไทย จีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ปากีสถาน อาร์เจนตินา และ อียิปต์ เพื่อขอต่ออายุข้อยกเว้นออกไปอีก 10 ปี (2548-2557)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ