การจัดทำกฎว่าด้วย "แหล่งกำเนิดสินค้า" ของ WTO

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 1998 14:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

          ความตกลงว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Agreement on Rules of Origin) เป็นหนึ่งในความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ความตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกฎหว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าแต่ละประเภทให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อันจะส่งผลให้การค้าระวห่างประเทศดำเนินไปด้วยความเป็นธรรมและมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความเป็นมา
สืบเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ใช้หลักเกณฑ์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าที่ได้กำหนดขึ้นใช้เองในแต่ละประเทศ เป็นเครื่องมือในการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยบางประเทศกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด หรือบางประเทศมีการแก้ไข/เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์บ่อยครั้ง โดยมิได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้เกิดอุปสรรคและความยุ่งยากทางการค้า ดังนั้นในการเจรจาการค้าของประเทศสมาชิกแกตต์ "รอบอุรุกวัย" ระหว่างปี 2539-2536 ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลกในปัจจุบัน การเจรจาการค้าในครั้งนั้นประเทศสมาชิกได้ลงนามจัดทำความตกลงว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าขึ้น ทั้งนี้เพื่อดำเนินการจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบ Harmonized ขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเป็นกลาง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และลบล้างหรือทำให้เสื่อมเสียสิทธิต่างๆ ของสมาชิกภายใต้ WTO และเป็นที่ยอมรับของบรรดาประเทศสมาชิก
การดำเนินการจัดทำกฎว่าด้วย "แหล่งกำเนิดสินค้า"
ภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Committee on Rules of Origin : CRO) ขึ้นมา เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำ โดยมีคณะกรรมการเทคนิคว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Technical Committee on Rules of Origin : TCRO) ซึ่งกรรมการมาจากผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์การให้แหล่งกำเนิดสินค้าแต่ละประเภท และนำกฎเกณฑ์ที่ตัวแทนของประเทศสมาชิกจัดทำขึ้นเสนอต่อคณะกรรมการ CRO เพื่อพิจารณาให้การรับรอง และประกาศบังคับใช้ต่อไป ตามความตกลงว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2541 ตามที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่คณะจัดทำยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่การดำเนินการจัดทำกฎฯ ก็มีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะกรรมการ TCRO ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการให้แหล่งกำเนิดแก่สินค้าแต่ละประเภทตามระบบ Harmonized เสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังเหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่สินค้าประเภทเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทดสอบ ยานยนต์และชิ้นส่วน และบางส่วนของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ดังนั้น คณะกรรมการ CRO จึงมีมติให้ขยายเวลาการจัดทำออกไปอีก 15 เดือน และจะสรุปผลการดำเนินการภายในเดือนพฤศจิกายน 2542 นี้
หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้า
คณะกรรมการ CRO และ TCRO ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าไว้ 2 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง สินค้าที่กำเนิดหรือผลิต โดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly obtained goods) ให้ถือว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศนั้น เช่น พืชและผลิตภัณฑ์ของพืชที่เก็บเกี่ยวหรือผลิตในประเทศใดจะถือว่าประเทศนั้นเป็นแหล่งกำเนิด
ประการที่สอง กรณีมีประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้านั้นประเทศที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นแหล่งกำเนิดสินค้าจะต้องเป็นประเทศที่ทำให้สินค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่มากเพียงพอ (Sub-stantial Transformation) โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ คือ
- สินค้านั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากพิกัดอัตราศุลกากรเดิม ตัวอย่างเช่นประเทศไทยนำเข้าเส้นด้าย Cotton yarn ตามประเภทพิกัดที่ 52.07 จากเวียดนามเพื่อนำมาผลิตและส่งออกเสื้อ T-Shirt ตามประเภทพิกัดที่ 61.09 แหล่งกำเนิดสินค้าของเสื้อ T-Shirt ดังกล่าวคือไทย
- ในกรณีที่การใช้การจำแนกพิกัด ฯ แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่มากเพียงพอ จำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์เสริม (Supplementary Criteria) ประกอบการพิจารณา เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนเปอร์เซ็นต์ตามราคา โดยการกำหนดอัตราสูงสุดของการใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศในระดับไม่เกินอัตราทีกำหนดจึงจะได้แหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ
ผลกระทบต่อประเทศไทย
เมื่อกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของ WTO มีผลบังคับใช้ ประเทศสมาชิกของ WTO รวมทั้งไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งในด้านบวกและลบ ดังนี้
ผลในทางบวก
1. จะช่วยลดการกีดกันทางการค้าที่ประเทศต่างๆ มีต่อสินค้าไทย โดยใช้เหตุผลทางด้านแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น สหรัฐอเมริกา จะไม่สามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าประเภทสิ่งทอได้ตามความพอใจเพื่อกีดกันการนำเข้าจากไทย เนื่องจากจะต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่ WTO กำหนด
2. ลดความเส่ยงและความสับสนของผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายังประเทศสมาชิก WTO เนื่องจากประเทศสมาชิกจะใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาให้แหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติ และผู้ประกอบการสามารถที่จะวางแผนการผลิตในระยะยาวได้
3. ช่วยในการพิสูจน์หาประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดสินค้า หากเกิดกรณีที่มีการทุ่มตลาดสินค้าในประเทศไทย และไทยต้องการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากประเทศที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น
ผลในทางลบ
คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาผลิตเพื่อส่งออก อาจจะต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ WTO เช่น สิทธิในการลดหย่อนอัตราภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าประเทศที่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าอันจะส่งผลทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งขัน ดังนั้น เพื่อเตรียมรับกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกจะต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดทำกฎฯ ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษากฎเกณฑ์ในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจ และนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการวางแผนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ