กรุงเทพ--8 ธ.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ในครั้งนี้ จะมีการประชุมระดับผู้นำ 8 การประชุม กล่าวคือ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN+3 Summit) การประชุมสุดยอดอาเซียน+1 (กับ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Summit) การประชุม สุดยอดอาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Summit) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งสองการประชุมหลังเป็นการประชุมที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรก
สำหรับในช่วงก่อนหน้าการประชุม ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2548 จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน +3 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+1 (กับ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย และการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งนี้ ใช้หัวข้อ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community) ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้นำอาเซียนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน การประชุมสุดยอดต่างๆ นี้ เป็นโอกาสให้ผู้นำได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนพร้อมและสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งท้าทายต่างๆ ในโลกได้อย่างทันต่อเหตุการณ์
ประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะได้รับการหารือได้แก่ สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องที่เป็นความกังวลสนใจร่วมกัน เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาครวมทั้งเรื่องความมั่นคง ปัญหาวิกฤตการณ์พลังงานและราคาน้ำมัน สถานการณ์ไข้หวัดนก
สำหรับความร่วมมือภายในอาเซียน การจัดทำกฏบัตรอาเซียนจะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำจะหารือกัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียนซึ่งจะแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียนเพื่อให้แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการจัดทำกฎบัตรอาเซียนต่อไป ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มอบหมายบุคคลในระดับสูงและอดีตผู้นำเข้าร่วมทั้งสิ้น สำหรับไทยได้เชิญให้ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ ของไทย คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ จะมีโอกาสหารือกับผู้นำอาเซียนด้วย ซึ่งไทยสนับสนุนให้ประชาชนในอาเซียนเข้ามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
ในด้านเศรษฐกิจ การประชุมสุดยอดต่างๆ ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่จะให้มีเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันที่จะเร่งรัดการรวมตัวและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลก ไทยจะเร่งรัดการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทยจะผลักดันการใช้แนวทาง 2+X ต่อไป เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่พร้อมสามารถร่วมมือกันในกิจกรรมที่พร้อมไปได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้ง 10 ประเทศ
สำหรับการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ครั้งนี้ อาเซียนจะพบหารือในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียได้เข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเชีย (ACD) แล้ว ซึ่งสะท้อนว่า รัสเซียเพิ่มความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูลกัน ผู้นำอาเซียนและรัสเซียจะลงนามในปฏิญญาร่วมเพื่อความเป็นหุ้นส่วนที่ก้าวหน้าและรอบด้านและจะรับรองแผนปฏิบัติการอย่างรอบด้านเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหพันธรัฐรัสเซียปี 2548-2558 และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ส่วนการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ไทยหวังจะนำศักยภาพของประเทศคู่เจรจามาเกื้อหนุนการรวมตัวในอาเซียน การเสริมสร้างสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งเร่งรัดการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อเชื่อมโยงเขตการค้าเสรีให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 อีกทั้ง ถือโอกาสผลักดันเรื่องพันธบัตรเอเชีย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากกรอบ ACD การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานโดยเฉพาะพลังงานทางเลือก และการเสริมสร้างความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การป้องกันไข้หวัดนกรวมทั้งการสร้างเครือข่ายคลังยา Anti-Viral และการพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ
การประชุมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในครั้งนี้ คือ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกซึ่งจะมีประชุมเป็นครั้งแรก มีผู้นำถึง 16 ประเทศเข้าร่วม (อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ถือเป็นการประชุมสุดยอดส่งท้ายปี 2548 และเป็นการประชุมที่แตกต่างจากการประชุมผู้นำอื่นๆ เนื่องจากเป็นการประชุมที่ขึ้นกับผู้นำว่าจะหารือกันในเรื่องใด และจะเน้นการให้วิสัยทัศน์ของผู้นำและการหารือในเรื่องทางยุทธศาสตร์ที่ การประชุมนี้อาเซียนจะเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งมุ่งจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกต่อไป ผู้นำที่เข้าร่วมจะร่วมลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ในครั้งนี้ จะมีการประชุมระดับผู้นำ 8 การประชุม กล่าวคือ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN+3 Summit) การประชุมสุดยอดอาเซียน+1 (กับ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Summit) การประชุม สุดยอดอาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Summit) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งสองการประชุมหลังเป็นการประชุมที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรก
สำหรับในช่วงก่อนหน้าการประชุม ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2548 จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน +3 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+1 (กับ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย และการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งนี้ ใช้หัวข้อ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community) ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้นำอาเซียนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน การประชุมสุดยอดต่างๆ นี้ เป็นโอกาสให้ผู้นำได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนพร้อมและสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งท้าทายต่างๆ ในโลกได้อย่างทันต่อเหตุการณ์
ประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะได้รับการหารือได้แก่ สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องที่เป็นความกังวลสนใจร่วมกัน เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาครวมทั้งเรื่องความมั่นคง ปัญหาวิกฤตการณ์พลังงานและราคาน้ำมัน สถานการณ์ไข้หวัดนก
สำหรับความร่วมมือภายในอาเซียน การจัดทำกฏบัตรอาเซียนจะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำจะหารือกัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียนซึ่งจะแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียนเพื่อให้แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการจัดทำกฎบัตรอาเซียนต่อไป ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มอบหมายบุคคลในระดับสูงและอดีตผู้นำเข้าร่วมทั้งสิ้น สำหรับไทยได้เชิญให้ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ ของไทย คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ จะมีโอกาสหารือกับผู้นำอาเซียนด้วย ซึ่งไทยสนับสนุนให้ประชาชนในอาเซียนเข้ามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
ในด้านเศรษฐกิจ การประชุมสุดยอดต่างๆ ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่จะให้มีเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันที่จะเร่งรัดการรวมตัวและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลก ไทยจะเร่งรัดการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทยจะผลักดันการใช้แนวทาง 2+X ต่อไป เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่พร้อมสามารถร่วมมือกันในกิจกรรมที่พร้อมไปได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้ง 10 ประเทศ
สำหรับการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ครั้งนี้ อาเซียนจะพบหารือในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียได้เข้าเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเชีย (ACD) แล้ว ซึ่งสะท้อนว่า รัสเซียเพิ่มความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูลกัน ผู้นำอาเซียนและรัสเซียจะลงนามในปฏิญญาร่วมเพื่อความเป็นหุ้นส่วนที่ก้าวหน้าและรอบด้านและจะรับรองแผนปฏิบัติการอย่างรอบด้านเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหพันธรัฐรัสเซียปี 2548-2558 และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ส่วนการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ไทยหวังจะนำศักยภาพของประเทศคู่เจรจามาเกื้อหนุนการรวมตัวในอาเซียน การเสริมสร้างสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งเร่งรัดการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อเชื่อมโยงเขตการค้าเสรีให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 อีกทั้ง ถือโอกาสผลักดันเรื่องพันธบัตรเอเชีย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากกรอบ ACD การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานโดยเฉพาะพลังงานทางเลือก และการเสริมสร้างความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การป้องกันไข้หวัดนกรวมทั้งการสร้างเครือข่ายคลังยา Anti-Viral และการพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ
การประชุมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในครั้งนี้ คือ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกซึ่งจะมีประชุมเป็นครั้งแรก มีผู้นำถึง 16 ประเทศเข้าร่วม (อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ถือเป็นการประชุมสุดยอดส่งท้ายปี 2548 และเป็นการประชุมที่แตกต่างจากการประชุมผู้นำอื่นๆ เนื่องจากเป็นการประชุมที่ขึ้นกับผู้นำว่าจะหารือกันในเรื่องใด และจะเน้นการให้วิสัยทัศน์ของผู้นำและการหารือในเรื่องทางยุทธศาสตร์ที่ การประชุมนี้อาเซียนจะเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งมุ่งจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกต่อไป ผู้นำที่เข้าร่วมจะร่วมลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-