การปฏิรูปขบวนการสหกรณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2005 14:42 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการปฏิรูปขบวนการสหกรณ์
1. ความเป็นมา
“สหกรณ์” ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยมากกว่า 80 ปี ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 85 ได้บัญญัติว่า “รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์” รัฐจึงได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ของรัฐขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบและสนับสนุนส่งเสริมสหกรณ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ด้านเงินทุนทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้านการให้การศึกษาอบรม และที่สำคัญ คือ มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้สหกรณ์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีสหกรณ์อีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามที่คาดหวัง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ยังคงใช้สหกรณ์เป็นกลไกของรัฐที่จะนำนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ภาคประชาชน โดยริเริ่มแผนงาน โครงการต่างๆ จากบนลงสู่ล่าง ( Top — Down Policy ) โดยมิได้คำนึงถึงความต้องการ ความพร้อม และประโยชน์ที่พึงมีต่อสมาชิกสหกรณ์แต่อย่างใด การสนับสนุนจากภาครัฐที่ผ่านมา มีส่วนทำให้สหกรณ์อ่อนแอ พึ่งตนเองมิได้ อันเนื่องมาจากขาดความเข้าใจถึงแก่นของคำว่า “สหกรณ์” และก่อให้เกิดช่องว่างของการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มทุน หรือผู้ที่มิได้สนใจสหกรณ์อย่างแท้จริง แต่หวังเพียงใช้ชื่อสหกรณ์ เพื่อต้องการเงินอุดหนุนจากภาครัฐเท่านั้น
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการศึกษา เกี่ยวกับ รัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการสหกรณ์ของเกษตรกร โดยมีเป้าหมายเพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ ให้สหกรณ์สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสืบไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับ รัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการสหกรณ์ของเกษตรกร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ศึกษาจากรายงานวิจัย และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่เก้า (พ.ศ. 2545 — 2549)
3) แผนพัฒนาการสหกรณ์ พ.ศ. 2546 — 2549
4) คำประกาศที่ประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2547 ณ กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย
5) ประกาศองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ International Labour Organization ( ILO )
6) แถลงการณ์ว่าด้วยเอกลักษณ์ของการสหกรณ์ ของสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ International Co-operative Alliance ( ICA )
7) รายงานโครงการวิจัย “ รัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกินและสหกรณ์ของเกษตรกร ” ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
8) นโยบายของรัฐบาล
2.2 เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อคณะทำงาน
การเกษตรและสหกรณ์
2.3 จัดสัมมนา
2.3.1 จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น ทั้ง 4 ภูมิภาค จากผู้นำสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ของ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการด้านสหกรณ์
2.3.2 จัดสัมมนาเชิงวิชาการระดับชาติ เพื่อให้ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาในภาพรวมระดับประเทศ อันเป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้นำความรู้ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้จากการดำเนินการทั้ง 3 ประการ ข้างต้น มาจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เสนอต่อ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. สถานการณ์ของปัญหา
ผลการดำเนินการศึกษาดังกล่าว สามารถสรุปภาพรวมของปัญหาด้านสหกรณ์ของประเทศไทยได้ว่า
“ สหกรณ์ ” อ่อนแอทางด้านการบริหารจัดการ บุคลากรมีประสิทธิภาพต่ำ กรรมการและสมาชิกขาดความเข้าใจและขาดสำนึกอันถูกต้องเกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ขาดความรัก ความศรัทธา และความเป็นเจ้าของกิจการต่างๆ ของสหกรณ์ ไม่สามารถพัฒนาสมาชิกให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จริง จึงกล่าวได้ว่า ขบวนการสหกรณ์ไทยประสบกับความล้มเหลว ไม่ใช่ความหวังของภาคประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวมได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ขบวนการสหกรณ์ประสบความล้มเหลวและตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต “โตไม่ได้ ตายก็ไม่ตาย” นั้น เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ทำให้สหกรณ์ซึ่งเป็นองค์กรของภาคประชาชนถูกก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำ จนสูญเสียหลักการสำคัญ คือ ความเป็นอิสระและการพึ่งตนเอง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
3.1 กฎหมายสหกรณ์ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีจุดอ่อนหรือมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ ดังนี้
3.1.1 คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ในพระราชบัญญัติสหกรณ์
พ.ศ. 2542 มาตรา 9 กำหนดให้มี คพช. จำนวน 27 คน ในจำนวนดังกล่าว มีผู้แทนสหกรณ์เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพียง 7 คน นอกนั้นเป็นผู้แทนส่วนราชการโดยตำแหน่ง ซึ่งให้อำนาจ คพช. เป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาสหกรณ์ และเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์
จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ คพช. ดังกล่าว ทำให้การพัฒนาสหกรณ์ ถูกกระทำและครอบงำ โดยภาครัฐหรือส่วนราชการ แนวทางที่ถูกต้องจึงควรให้ผู้แทนสหกรณ์ที่แท้จริงเป็นองค์ประกอบส่วนข้างมากใน คพช. เพื่อจะทำให้นโยบายและแผนพัฒนาสหกรณ์ระดับชาติสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสหกรณ์ทั่วประเทศ
3.1.2 นายทะเบียนสหกรณ์และการกำกับดูแลสหกรณ์ ในพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542 จากบทบัญญัติมาตรา 15 - 26 ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์
จะเห็นได้ว่า การให้ปัจเจกชนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว อาจเกิดความผิดพลาด
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงหรือลุแก่อำนาจได้โดยง่าย จึงควรปรับแนวทางใหม่ที่ถูกต้อง โดยผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์ดังกล่าว ควรเป็นองค์คณะบุคคล และให้ขบวนการสหกรณ์มีส่วนร่วมกำกับดูแลกันเอง เช่น การใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16 ในการรับจดทะเบียน การสั่งระงับการดำเนินการ สั่งให้เลิกสหกรณ์ และถอนชื่อสหกรณ์ออกจากทะเบียนสหกรณ์ เป็นต้น
3.1.3 กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 27 — 32 กำหนดให้มีกองทุนพัฒนาสหกรณ์ มีคณะกรรมการบริหาร กพส. จำนวน 15 คน ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ และกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการระดับกรม ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร กพส. ตลอดจนตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานของสหกรณ์ที่ได้รับการส่งเสริมกิจการจาก กพส. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น
จะเห็นได้ว่า การบริหารงานของ กพส. ในการสนับสนุนสหกรณ์มีระเบียบหลักเกณฑ์ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาความต้องการของสหกรณ์ จึงทำให้กิจการต่างๆ ของสหกรณ์ ล้มเหลว ขบวนการสหกรณ์จึงให้สมญานาม กพส. ว่า “จุมพิตแห่งความตาย”
3.1.4 กฎหมายสหกรณ์ทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์ขาดความต่อเนื่องเหมาะสม ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางมาตรา มีรายละเอียดมากเกินไป ซึ่งบางเรื่องควรเป็นอำนาจของสหกรณ์ในการตัดสินใจเอง โดยให้กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ เช่น มาตรา 50 ที่มีการกำหนดให้สหกรณ์ มีคณะกรรมการดำเนินการได้ไม่เกิน 15 คน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับการเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ เป็นต้น
3.2 นโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ
3.2.1 นโยบายพัฒนาสหกรณ์ของรัฐ ไม่เอื้อต่อการพึ่งตนเอง นโยบายหรือแผนพัฒนาสหกรณ์จะถูกกำหนดจากภาคราชการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่การพัฒนาจะตรงและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของสหกรณ์ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับสหกรณ์ของภาคราชการและภาคประชาชนย่อมมีความแตกต่างกัน ภาครัฐจะต้องยุติการครอบงำนโยบาย ปล่อยให้สหกรณ์คิดเองเท่านั้น จึงจะพึ่งพาตนเองได้
3.2.2 การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ไม่สอดคล้องกับสหกรณ์ ซึ่งจากรายงาน
การวิจัยโครงการรัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกินและสหกรณ์ของเกษตรกร พบว่ามีหน่วยงานภาครัฐ ระดับกรมมากกว่า 63 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสหกรณ์ โดยหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์โดยตรง คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ยึดถือเป้าหมายและระเบียบของหน่วยงานเป็นหลัก จึงสร้างความขัดแย้งให้กับระบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นภาคประชาชน ดังนั้นการมีหน่วยงานของภาครัฐจำนวนมากเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ทำให้เกิดปัญหาการดำเนินงานที่ทับซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ และประชาชนเกิดความสับสน เบื่อหน่าย
3.2.3 การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ละเลยกระบวนการเรียนรู้ การส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ จะมุ่งเน้นการกำกับติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้อยู่ในกรอบระบบระเบียบของทางราชการ และให้การสนับสนุนด้านวัตถุสิ่งของ ตลอดจนงบประมาณเป็นหลัก เพื่อเร่งขยายปริมาณธุรกิจสหกรณ์ให้ได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้ขาดมิติการพัฒนาคนและชุมชน ละเลย การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของสหกรณ์ โดยยึดคนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกและขาดลักษณะความเป็นองค์กรชุมชน
3.2.4 ภาพสหกรณ์กลายเป็นกลไกของภาครัฐ ไม่ใช่องค์กรของภาคประชาชน บทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนของภาครัฐต่อสหกรณ์ จึงมีลักษณะครอบงำและสงเคราะห์ในรูปของเงินทุน ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า สหกรณ์ คือ ภาคราชการ ประกอบกับกฎหมายสหกรณ์ ระเบียบของภาคราชการที่ใช้บังคับต่อสหกรณ์ไม่สอดคล้องเหมาะสม จึงทำให้ประชาชนปฏิเสธระบบสหกรณ์ และ ได้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่มิได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยโครงการรัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกินและสหกรณ์ของเกษตรกรพบว่า องค์กรภาคประชาชนมีจำนวนมาก ทั้งธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาอาชีพ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มหรือองค์กรดังกล่าว ใช้หลักการ วิธีการ และอุดมการณ์สหกรณ์ในการรวมกลุ่ม แต่มีความแตกต่างกับสหกรณ์จดทะเบียน เพราะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจังและเป็นไปตามความต้องการอย่างแท้จริง จึงทำให้สมาชิกมีความรัก ผูกพัน และศรัทธาต่อองค์กร และที่สำคัญอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มหรือองค์กรดังกล่าว คือ “สหกรณ์ภาคประชาชนอย่างแท้จริง”
4. ข้อเสนอแนะ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดกรอบทิศทางการปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง และสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสืบไป ซึ่งประกอบไปด้วยเป้าหมายและภารกิจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
4.1 เป้าหมาย
4.1.1ให้สหกรณ์เป็นองค์กรภาคประชาชน มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการและสามารถพึ่งตนเองได้
4.1.2 ให้ขบวนการสหกรณ์ มีระบบสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านสารสนเทศ ด้านการเงิน อย่างทั่วถึงพอเพียงต่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืน
4.1.3 ให้สังคมไทยมีความเข้าใจ เห็นความสำคัญ เข้าร่วมและใช้ขบวนการสหกรณ์ พัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดสันติสุข
4.2 ภารกิจ
4.2.1 การปฏิรูปกฎหมายสหกรณ์
4.2.2 การปฏิรูประบบการสนับสนุน
4.2.3 การปฏิรูปนโยบายเพื่อสร้างสังคมสหกรณ์
ภารกิจที่ 1 : การปฏิรูปกฎหมายสหกรณ์
เนื่องจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ จึงสมควรยกเลิกและตรากฎหมายขึ้นใหม่ ดังนี้
1. กรอบคิดพื้นฐานในการยกร่างกฎหมายสหกรณ์ การยกร่างกฎหมายสหกรณ์ให้ใช้
กรอบคิดพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญประกอบการพิจารณา ดังนี้
1.1 กฎหมายต้องสร้างความเป็นเอกภาพของขบวนการสหกรณ์ จึงควรมีกฎหมาย
สหกรณ์เพียงฉบับเดียว ที่สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสหกรณ์ทุกประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
1.2 บทบัญญัติของกฎหมายต้องมีลักษณะทั่วไป ต้องมีน้อยมาตรา คลุมลักษณะทั่วไป
อย่างกว้างๆ เพื่อให้สหกรณ์มีความเป็นอิสระภายใต้ข้อบังคับที่กำหนดขึ้นด้วยตนเอง
1.3 กฎหมายต้องสะท้อนภาพการส่งเสริม สนับสนุนของรัฐให้ชัดเจน ในการประกัน
ความเป็นอิสระและพึ่งตนเองของสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์เป็นองค์กรภาคประชาชน
2. การปฏิรูปโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ ต้องดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
2.1 สภาสหกรณ์แห่งชาติ ให้ประกอบด้วย สมาชิกสภาสหกรณ์แห่งชาติที่ได้มาโดยวิธีการสรรหาจากผู้แทนสหกรณ์ทุกประเภทจากทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นองค์กรกลางสูงสุดที่มีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดทิศทาง นโยบาย การพัฒนาสหกรณ์ระดับชาติ
2.2 คณะกรรมการสภาสหกรณ์แห่งชาติ ให้ประกอบด้วย กลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย คือ
1) สมาชิกสภาสหกรณ์แห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 3 ใน 5 โดยวิธีเลือกกันเอง
2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 1 ใน 5 โดยวิธีการสรรหา
3) ผู้แทนส่วนราชการ จำนวนไม่เกิน 1 ใน 5 โดยวิธีการสรรหา
ทั้งนี้ให้มีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสหกรณ์ รวมถึงการพัฒนาระบบสหกรณ์
3. กระบวนการยกร่างกฎหมาย การปฏิรูปกฎหมายสหกรณ์ให้มีกระบวนการยกร่าง ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายสหกรณ์
องค์ประกอบคณะทำงาน : ประกอบด้วย ผู้แทนสหกรณ์มากกว่ากึ่งหนึ่งและบุคคลที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านสหกรณ์ กฎหมาย การบริหารจัดการ การเงิน การปกครอง สังคมศาสตร์และมนุษยวิทยา ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ โดยวิธีการสรรหา
หน้าที่ความรับผิดชอบ : ศึกษาค้นคว้าและดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดกฎหมายที่พึงประสงค์ของการยกร่างกฎหมายสหกรณ์
ขั้นตอนที่ 2 : การกำหนดกรอบแนวคิด “ กฎหมายสหกรณ์ที่พึงประสงค์ ”
กรอบแนวคิดสหกรณ์ที่พึงประสงค์ : จะชี้ให้เห็นระบบกฎหมายสหกรณ์ องค์ประกอบ และเนื้อหาสาระของกฎหมายสหกรณ์ ที่จะเป็นกลไกให้บรรลุวิสัยทัศน์ การปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ “ให้เป็นสหกรณ์พึ่งพาตนเอง มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ มีระบบเครือข่ายพันธมิตรที่เอื้อต่อความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ชุมชน สังคมและประเทศ ”
การดำเนินการในการกำหนดกรอบแนวคิด : “ กฎหมายสหกรณ์ที่พึง
ประสงค์ ” ควรได้นำองค์ความรู้จากการวิจัย กฎหมายสหกรณ์ในต่างประเทศที่น่าสนใจ หลักการและวิธีการสหกรณ์ ตลอดจนประกาศของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ในประเทศเอเชียแปซิฟิค ( Asia Pacific ) ครั้งที่ 5 ณ กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย และประกาศ ILO ข้อที่ 27 มาพิจารณาควบคู่ไปกับการจัดการสัมมนาระดมความคิด เรื่อง “กฎหมายสหกรณ์ในกลุ่มนักสหกรณ์”
ผู้รับผิดชอบ : คณะทำงานยกร่างกฎหมายสหกรณ์
ขั้นตอนที่ 3 : การยกร่างกฎหมายสหกรณ์
ผู้รับผิดชอบ : คณะทำงานยกร่างกฎหมายสหกรณ์
กรอบในการยกร่าง : ให้ใช้องค์ความรู้/สารสนเทศ จากขั้นตอนที่ 2 ภายใต้กรอบแนวคิด “กฎหมายสหกรณ์ที่พึงประสงค์” (ไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายสหกรณ์ที่มีอยู่เดิม)
ขั้นตอนที่ 4 : กระบวนการประชาปรึกษา ( Public Consultation )
ผู้รับผิดชอบ : คณะทำงานยกร่างกฎหมายสหกรณ์
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์จดทะเบียน สหกรณ์ภาคประชาชน ภาครัฐ NGOs และนักวิชาการ
ภารกิจที่ 2 : การปฏิรูประบบการสนับสนุน
เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนขบวนการสหกรณ์ให้สามารถพึ่งตนเองได้ รัฐควรจัดตั้งองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 หรือองค์กรรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์ โดยเฉพาะภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน บนพื้นฐานการพึ่งตนเองของสหกรณ์ในระยะยาว ดังนี้
1. ด้านฐานข้อมูล
1.1 การสนับสนุนด้านการตลาด ได้แก่ การพัฒนาระบบสนับสนุนที่จำเป็นด้านการตลาด เช่น ข้อมูลการผลิต ข้อมูลราคา ผู้ซื้อ ผู้ขาย แนวโน้มและทิศทางการตลาดของผลิตผลที่สำคัญๆ ของสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เข้าถึงระบบข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจวางแผนด้านการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก การวางแผนด้านธุรกิจซื้อขายของสหกรณ์ เพื่อความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสหกรณ์
1.2 การสนับสนุนวิชาการด้านสหกรณ์ ทำหน้าที่ด้านการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูล ความรู้
มาใช้สนับสนุนการพัฒนาขบวนการพัฒนาสหกรณ์ การจัดวางระบบดำเนินการ การศึกษาอบรม และการพัฒนาทางด้านวิชาการแก่ขบวนการสหกรณ์
1.3 การสนับสนุนศูนย์สารสนเทศสหกรณ์
1) ดำเนินการศูนย์สารสนเทศสหกรณ์ ได้แก่ การพัฒนาระบบสารสนเทศการจัดการ
ที่สหกรณ์สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสาร และนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการสหกรณ์ของ
ตนเองได้อย่างรวดเร็ว
2) ส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์มีศูนย์สารสนเทศเป็นของตนเองอย่างทั่วถึงและ
มีประสิทธิภาพ
2. ด้านการบริหารจัดการ
2.1 การสนับสนุนกองทุนพัฒนาสหกรณ์
1) ต้องให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่สหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ที่ขาดแคลนเงินทุนได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในการพัฒนากิจการต่างๆ
2) ดำเนินการศึกษาและทดลองดำเนินการ “ ธนาคารสหกรณ์ ” โดยความต้องการของขบวนการสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ที่ถาวรขึ้นในอนาคต
2.2 การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์ ที่อ่อนแอ และไม่สามารถจัดจ้างพนักงานด้วยตนเองได้ รัฐควรให้การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดทำเอกสารการประชุม การจัดการด้านการเงิน การบัญชี จนกว่าสหกรณ์จะสามารถพึ่งตนเองได้ โดยให้การสนับสนุนบุคลากร 1 คน ต่อ 5 สหกรณ์ และให้บุคลากรดังกล่าว อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของขบวนการสหกรณ์
ภารกิจที่ 3 : การปฏิรูปนโยบายเพื่อสร้างสังคมสหกรณ์
เพื่อให้สหกรณ์ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของสาธารณชน ใช้อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางมากขึ้น รัฐจึงควรกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างสังคมสหกรณ์ ดังนี้
1. กำหนดให้นโยบาย “สร้างสังคมสหกรณ์” เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งต้องส่งเสริมสนับสนุนขบวนการสหกรณ์อย่างจริงจัง เพื่อให้มีบทบาทโดดเด่นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ และที่สำคัญต้องรณรงค์ให้การศึกษาทุกรูปแบบต่อสาธารณชนอย่างเป็นกระบวนการ
2. นโยบายสร้าง “ ชุมชนสหกรณ์” ต้องส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชน เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ อันเป็นแนวคิดในการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ในระดับชุมชน และพัฒนาให้มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินวิถีชีวิตของบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตั้งแต่เกิดจนตาย
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการสหกรณ์ในสถานศึกษา โดยเร่งดำเนินการให้มีหลักสูตรวิชาการ
สหกรณ์ในสถานศึกษาทุกระดับ รวมถึงการจัดตั้งสหกรณ์ทุกรูปแบบอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติการจริงจัง ของครู นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และเชื่อมโยงสหกรณ์ชุมชนกับสหกรณ์ในสถานศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ พึ่งพาซึ่งกันและกัน
4. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ในทุกภาคส่วนของสังคม ต้องมีการกำหนดให้เป็นนโยบาย และดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ให้ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชนองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง ได้มีความเข้าใจและตื่นตัวทางสหกรณ์ โดยอาศัยรูปแบบการจัดตั้งสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง พัฒนาความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในองค์กรของตนเอง และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรอื่นๆ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ