รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน พ.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2005 11:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนพฤษภาคม 2548 
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2548 เท่ากับ 111.6 สำหรับเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 112.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนเมษายน 2548 ลดลงร้อยละ 0.4
2.2 เดือนพฤษภาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.7
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.2
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2548 เทียบกับเดือนเมษายน 2548
ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดสินค้า อุตสาหกรรมการเกษตรและหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงร้อยละ 1.4 และ 5.4 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรมสูงขึ้นร้อยละ 0.8 สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 0.8
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ยางพารา ราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะภัยแล้งผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงมาก และการรวมกลุ่มของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาการซื้อขายได้ ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพในระดับสูงมาตลอด
- กุ้ง ผลผลิตกุ้งกุลาดำในประเทศขาดแคลน ส่งผลให้กุ้งส่งออกของไทยไปตลาดญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้น
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ข้าวหอมมะลิ ผู้นำเข้าคาดว่าราคาจะลดลงอีกจึงชะลอการสั่งซื้อ
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ความต้องการในต่างประเทศลดลง เนื่องจากตลาดยุโรปหันไปใช้ธัญพืชทดแทน และผู้ซื้อรายใหญ่ (จีน) ชะลอการซื้อในช่วงวันหยุดวันแรงงาน
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 1.4
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- น้ำตาล เนื่องจากประเทศผู้นำเข้า (อินเดีย จีน และรัสเซีย) ยังคงชะลอการซื้อส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออก (บราซิล ออสเตรเลีย และไทย) รวมทั้งนักเก็งกำไรต้องลดราคาลง
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- สิ่งทอ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้วัตถุดิบนำเข้าเส้นใยประดิษฐ์สูงขึ้น
- ผลิตภัณฑ์ยาง ยางรถจักรยานยนต์และด้ายยางวัลคาไนซ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามราคายางดิบ ยางรถยนต์นั่งเสริมใยเหล็กปรับสูงขึ้นจากต้นทุนเหล็ก ยางดิบและสารเคมีที่ใช้ ในการผลิตยาง
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- เครื่องอิเลคทรอนิคส์ จากการลดลงของวัตถุดิบแผงเซอร์กิต
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้ของจีนได้ลดลง
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 5.4
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ