ในวงการธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ผู้ซื้อผู้ขายอยู่คนละประเทศห่างไกลกันด้วยระยะทางและเพื่อความมั่นใจในเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ซื้อขายกัน จึงต้องมีบุคคลที่ 3 (third party) เข้ามาเกี่ยวข้องนั่นก็คือบริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือบริษัทเซอร์เวย์ เพื่อให้บริการด้านการตรวจสอบทั้งทางด้านกายภาพ (inspection) และด้านการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Laboratory Analysis) สำหรับในส่วนของการส่งออกสินค้ามาตรฐานภายใต้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันมีสินค้า 12 ชนิด อาทิ ข้าวหอมมะลิไทย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและมันอัดเม็ด) แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น ผู้ส่งออกจะต้องติดต่อกับบริษัทเซอร์เวย์ให้มาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าของตนที่จะส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายที่ตกลงกันไว้หรือตามที่กำหนดไว้ใน L/C หลังจากนั้นก็จะส่งผลการตรวจสอบและการวิเคราะห์ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพิจารณาออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อนำแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการทำพิธีการศุลกากรขาออกต่อไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทเซอร์เวย์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญมากในวงจรการส่งออกสินค้ามาตรฐานกระทรวงพาณิชย์
ผู้ที่ประสงค์จัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์จะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดตามที่ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 กำหนด สำหรับคุณสมบัติโดยย่อ ๆ ของผู้ที่จะจัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์ก็คือ ต้องเป็นนิติบุคคล เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า มีนักวิทยาศาสตร์ที่รับเงินเดือนประจำ (full time) อย่างน้อย 1 คน ต้องมีเซอร์เวย์เยอร์ที่รับเงินเดือนประจำ (full time) สำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้าแต่ละชนิดของสินค้าที่ขอรับอนุญาต ไม่น้อยกว่าชนิดละ 6 คน ต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตให้เป็นบริษัทเซอร์เวย์มาแล้วตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ต้องไม่ทำการค้าในสินค้าประเภทหรือชนิดที่ตนขอรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตรวจสอบ เป็นต้น ในส่วนของเอกสารประกอบการยื่นเพื่อขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจเซอร์เวย์ ได้แก่ หนังสือรับรองการจดทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ว่าทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า หนังสือบริคณห์สนธิ สำเนางบดุลและงบกำไรขาดทุนของรอบระยะเวลาบัญชีครั้งหลังสุด บัญชีรายชื่อผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประเภท ก (นักวิทยาศาสตร์) และประเภท ข (เซอร์เวย์เยอร์) หลักฐานการครอบครองสำนักงาน หลักฐานการมีเงินทุน กรณีผู้ขอรับอนุญาตฯ มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศและมาเปิดสาขาในไทยจะต้องแสดงหลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ไทยเพื่อประกอบธุรกิจเซอร์เวย์ดังกล่าว สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ ฯลฯ
ผู้ที่ประสงค์ขอจัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์ต้องมีคุณสมบัติและเอกสารถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้า(มส.) ซึ่งหลังจาก มส. ได้ตรวจสอบเอกสารตลอดจนคุณสมบัติเป็นที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แล้ว ก็จะมีชุดเจ้าหน้าที่จาก มส. ออกไปตรวจสภาพสำนักงาน พนักงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปีและต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกปีหากยังมีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อในปีถัดไป ถ้าหากผ่านการพิจารณาได้รับใบอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้วผู้ส่งออกซึ่งสินค้ามาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ สามารถเลือกใช้บริการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้านั้น ๆ ได้จากบริษัทเหล่านี้ได้ บริษัทฯ จะต้องแจ้งการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้ มส. ทราบทุกครั้งก่อนที่จะให้บริการตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องส่งมอบตัวอย่างสินค้าที่สุ่มชักตัวอย่างในระหว่างการตรวจสอบให้ มส. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่จัดทำตัวอย่างเสร็จ รวมทั้งต้องส่งบันทึกผลการปฏิบัติงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทุกครั้งให้ มส. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำการตรวจสอบเสร็จ รวมทั้งต้องส่งแบบรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้ มส. ทราบเช่นกันภายในไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทเซอร์เวย์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503
ในการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกบริษัทเซอร์เวย์รายใดหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีบทลงโทษหนักเบาตามแต่กรณี ในปัจจุบันมีบริษัทเซอร์เวย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตรวจสอบ คุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยทั้งสิ้น 31 ราย อยู่ในระหว่างการแจ้งหยุดให้บริการ 2 ราย นอกจากนั้นแล้วมีผู้ตรวจสอบทั้งประเภท ก และ ข ที่ได้รับอนุญาต รวม 732 คน สำหรับบริษัทที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการตรวจสอบข้าวหอมมะลิไทยในช่วงปี 2547 -2548 สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้ลงโทษขั้นตักเตือน 9 ราย ทัณฑ์บน 1 ราย ถูกพักใช้ใบอนุญาต 1 ราย และเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากขาดคุณสมบัติ 1 ราย ทั้งนี้การตรวจสอบสินค้า ที่มิใช่การส่งออกตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 บริษัทเซอร์เวย์และผู้ตรวจสอบมิได้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว
--กรมการค้าระหว่างประเทศ--
-สส-
ผู้ที่ประสงค์จัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์จะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดตามที่ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 กำหนด สำหรับคุณสมบัติโดยย่อ ๆ ของผู้ที่จะจัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์ก็คือ ต้องเป็นนิติบุคคล เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า มีนักวิทยาศาสตร์ที่รับเงินเดือนประจำ (full time) อย่างน้อย 1 คน ต้องมีเซอร์เวย์เยอร์ที่รับเงินเดือนประจำ (full time) สำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้าแต่ละชนิดของสินค้าที่ขอรับอนุญาต ไม่น้อยกว่าชนิดละ 6 คน ต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตให้เป็นบริษัทเซอร์เวย์มาแล้วตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ต้องไม่ทำการค้าในสินค้าประเภทหรือชนิดที่ตนขอรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตรวจสอบ เป็นต้น ในส่วนของเอกสารประกอบการยื่นเพื่อขอรับอนุญาตประกอบธุรกิจเซอร์เวย์ ได้แก่ หนังสือรับรองการจดทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ว่าทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า หนังสือบริคณห์สนธิ สำเนางบดุลและงบกำไรขาดทุนของรอบระยะเวลาบัญชีครั้งหลังสุด บัญชีรายชื่อผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประเภท ก (นักวิทยาศาสตร์) และประเภท ข (เซอร์เวย์เยอร์) หลักฐานการครอบครองสำนักงาน หลักฐานการมีเงินทุน กรณีผู้ขอรับอนุญาตฯ มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศและมาเปิดสาขาในไทยจะต้องแสดงหลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ไทยเพื่อประกอบธุรกิจเซอร์เวย์ดังกล่าว สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ ฯลฯ
ผู้ที่ประสงค์ขอจัดตั้งบริษัทเซอร์เวย์ต้องมีคุณสมบัติและเอกสารถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้า(มส.) ซึ่งหลังจาก มส. ได้ตรวจสอบเอกสารตลอดจนคุณสมบัติเป็นที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แล้ว ก็จะมีชุดเจ้าหน้าที่จาก มส. ออกไปตรวจสภาพสำนักงาน พนักงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปีและต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกปีหากยังมีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อในปีถัดไป ถ้าหากผ่านการพิจารณาได้รับใบอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้วผู้ส่งออกซึ่งสินค้ามาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ สามารถเลือกใช้บริการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้านั้น ๆ ได้จากบริษัทเหล่านี้ได้ บริษัทฯ จะต้องแจ้งการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้ มส. ทราบทุกครั้งก่อนที่จะให้บริการตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องส่งมอบตัวอย่างสินค้าที่สุ่มชักตัวอย่างในระหว่างการตรวจสอบให้ มส. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่จัดทำตัวอย่างเสร็จ รวมทั้งต้องส่งบันทึกผลการปฏิบัติงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทุกครั้งให้ มส. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำการตรวจสอบเสร็จ รวมทั้งต้องส่งแบบรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้ มส. ทราบเช่นกันภายในไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทเซอร์เวย์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503
ในการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกบริษัทเซอร์เวย์รายใดหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีบทลงโทษหนักเบาตามแต่กรณี ในปัจจุบันมีบริษัทเซอร์เวย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตรวจสอบ คุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยทั้งสิ้น 31 ราย อยู่ในระหว่างการแจ้งหยุดให้บริการ 2 ราย นอกจากนั้นแล้วมีผู้ตรวจสอบทั้งประเภท ก และ ข ที่ได้รับอนุญาต รวม 732 คน สำหรับบริษัทที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการตรวจสอบข้าวหอมมะลิไทยในช่วงปี 2547 -2548 สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้ลงโทษขั้นตักเตือน 9 ราย ทัณฑ์บน 1 ราย ถูกพักใช้ใบอนุญาต 1 ราย และเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากขาดคุณสมบัติ 1 ราย ทั้งนี้การตรวจสอบสินค้า ที่มิใช่การส่งออกตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 บริษัทเซอร์เวย์และผู้ตรวจสอบมิได้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว
--กรมการค้าระหว่างประเทศ--
-สส-