In Focusสันติภาพในยูเครน: ความหวังที่ยังลุ่มๆดอนๆ เมื่อข้อตกลงส่อแววเหลว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 18, 2015 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความหวังครั้งใหม่สู่ความสงบสุขในดินแดนยูเครนที่เผชิญกับสถานการณ์ความวุ่นวายมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีนั้น มีแนวโน้มว่าจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีสัญญาณบวกหลังจากการหารือ 4 ฝ่ายระหว่างผู้นำรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การทำข้อตกลงในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2557 ผู้นำรัฐบาลยูเครนและผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซียก็เคยบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและลงนามกันเป็นที่เรียบร้อย โดยการบรรลุข้อตกลงครั้งนั้นเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันกับครั้งล่าสุด ซึ่งก็คือกรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบลารุสนั่นเอง แต่การหยุดยิงในปีที่แล้ว ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

อาจกล่าวได้ว่าวิกฤตในภาคตะวันออกของยูเครนมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เขตปกครองตนเองไครเมียของยูเครนได้ประกาศจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน และได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียไปเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้จุดกระแสความต้องการแบ่งแยกดินแดนให้ลุกโชน และแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดอย่างชัดเจนระหว่างทางการยูเครนและประชาชนที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และเมื่อประกอบการที่รัสเซียยื่นมือเข้ามาสนับสนุนกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยแล้ว ความขัดแย้งและการสู้รบจึงได้ลุกลามบานปลายออกไป

เมื่อเดือนเม.ย.2557 การสู้รบในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนได้เปิดฉากขึ้น กลุ่มหัวรุนแรงที่ฝักใฝ่รัสเซียได้บุกยึดอาคารที่ทำการรัฐบาลในเมืองต่างๆทั่วภูมิภาคโดเนทสค์และลูกันสค์ และเมื่อมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏในภาคตะวันออกของยูเครนที่ถือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญ ฝั่งรัสเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับภาคตะวันออกของยูเครน ก็ได้ส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการตามแนวชายแดน ขณะเดียวกันกับที่ชาติตะวันตกระบุว่า รัสเซียให้การสนับสนุนทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆแก่กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ผู้นำรัสเซียปฏิเสธมาโดยตลาด ขณะที่ทางการยูเครนได้สั่งการให้มีปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย สถานการณ์ก็คุกรุ่นและทวีความรุนแรงเรื่อยมา

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในรอบเกือบ 1 ปี

รายงานของสหประชาชาติเมื่อต้นเดือนก.พ.ได้ประเมินความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากผลพวงของความรุนแรงนับตั้งแต่วิกฤตความขัดแย้งในยูเครนได้เริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.2557

ประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 5,486 ราย และบาดเจ็บ 12,972 รายในภาคตะวันออกของยูเครน

ประชาชน 5.2 ล้านคนดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง

ประชาชน 978,482 คน ต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัยภายในยูเครน ซึ่งรวมถึงเด็กๆ 119,832 คน

ประชาชนราว 600,000 คนหนีภัยการสู้รบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 400,000 คน ลี้ภัยไปยังรัสเซีย

ความหวังใหม่ท่ามกลางไฟสงคราม

แสงแห่งความหวังสู่สันติภาพในยูเครนได้เรืองรองขึ้นอีกครั้งเมื่อการประชุมผู้นำ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้มีการหารือกันที่กรุงมินสค์ ประเทศเบลารุสเมื่อวันที่ 11 ก.พ.เพื่อหาทางคลี่คลายความขัดแย้งในยูเครน และมีการหารือกันอย่างมาราธอนเป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง จนล่วงเข้าสู่วันที่ 12 ก.พ.จึงได้มีการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาสันติภาพ โดยมีการกำหนดให้การหยุดยิงในยูเครนเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ก.พ.

สาระสำคัญบางประการในข้อตกลงสันติภาพฉบับใหม่

  • การหยุดยิงในทันที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.
  • ทั้งสองฝ่ายถอนอาวุธหนักทั้งหมด เพื่อสร้างพื้นที่กันชนเป็นระยะทาง 50-140 กิโลเมตร โดยการถอนอาวุธหนักจะต้องเริ่มขึ้นภายในวันที่ 16 ก.พ. และจะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) จะให้ความช่วยเหลือในกระบวนการนี้
  • OSCE จะทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องการหยุดยิงและการถอนอาวุธหนัก ปล่อยตัวประกันทั้งหมดและบุคคลที่ถูกกักตัวโดยไม่ถูกต้องรายอื่นๆ โดยต้องเสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดในวันที่ 5 หลังการถอนอาวุธ
  • ยูเครนจะได้ควบคุมชายแดนอย่างเต็มที่ หลังจากมีการเลือกตั้งในโดเนทสค์และลูกันสค์ และหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีกำหนดเส้นตายในช่วงสิ้นปี 2558
  • ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมต่างๆอย่างเต็มที่สำหรับประชาชนในพื้นที่ทางตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง
  • ปฏิรูปรัฐธรรมนูญในยูเครน และใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในสิ้นปี 2558 โดยประเด็นสำคัญจะอยู่ที่การกระจายอำนาจ ซึ่งจะพิจารณาลักษณะเฉพาะของพื้นที่ต่างๆในภูมิภาคโดเนทสค์และลูกันสค์ และมีการเห็นพ้องร่วมกับกับผู้แทนของภูมิภาคดังกล่าว

หลังบรรลุข้อตกลงสันติภาพ

ภายหลังการประกาศข้อตกลงสันติภาพ หลายฝ่ายต่างออกมาขานรับสัญญาณบวกในครั้งนี้ โดยทำเนียบขาวเปิดเผยว่า สหรัฐพอใจกับข้อตกลงหยุดยิงในการเจรจาสันติภาพเพื่อคลี่คลายวิกฤตยูเครนที่กรุงมินสค์ ประเทศเบลารุส พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงในทันที ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคลของเยอรมนี กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ได้จุดประกายความหวังสำหรับยูเครน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าแม้ข้อตกลงสันติภาพในครั้งนี้จะนับเป็นความคืบหน้าที่ดี แต่ก็ยังมีความอ่อนไหวและเปราะบาง และหลังจากที่มีการประกาศข้อตกลงกันแล้ว เสียงปืนจากการสู้รับกันในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนก็ยังคงดังขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนนาทีสุดท้ายก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลบังคับใช้

ทางด้านนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี กล่าวหลังการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงว่า อาจจะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเคารพข้อตกลงที่กรุงมินสค์ พร้อมกับกล่าวเตือนว่า หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับใหม่นี้ ก็จะต้องมีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

หลังข้อตกลงหยุดยิงเริ่มมีผลบังคับใช้

หลังจากย่างเข้าสู่วันที่ 15 ก.พ.บรรยากาศโดยทั่วไปในพื้นที่สู้รบของยูเครนได้นับได้ว่ามีความสงบมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะยังมีการยิงกันอย่างต่อเนื่องรอบเมืองเดบอลต์เซฟ แต่การสู้รบในพื้นที่ดังกล่าวก็ลดระดับลงนับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงเริ่มมีผล

ทั้งนี้ เมืองเดบอลต์เซฟ ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟสำคัญที่เชื่อมระหว่างภูมิภาคโดเนทสค์และลูกันสค์ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะกันมากที่สุด หลังจากที่เมืองดังกล่าวเผชิญกับการสู้รบที่รุนแรงอย่างหนักในพื้นที่ความขัดแย้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และในขณะนี้ การปะทะกันอย่างต่อเนื่องในเมืองเดบอลต์เซฟดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดต่อข้อตกลงหยุดยิงในยูเครน

ทางด้านผู้นำรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและยูเครน ได้ประชุมทางไกลร่วมกันในวันเดียวกันกับที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ โดยที่ประชุมเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างเคร่งครัด และเห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าสู่การดำเนินการขั้นต่อไปของข้อตกลงกรุงมินสค์ เนื่องจากการยุติการสู้รบกันเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น

3 วันหลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้

ในที่สุด แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับสันติภาพในยูเครนก็ได้เลือนลางลงอีกครั้ง อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกันก่อนหน้านี้ เนื่องจากการสู้รบยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในภาคตะวันออกของยูเครน และทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะถอนอาวุธหนักออกจากพื้นที่สู้รบ แม้ว่าการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงได้ล่วงเข้าวันที่ 4 แล้ว ขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพของยูเครนระบุว่า กลุ่มกบฏที่ฝักใฝ่รัสเซียได้ก่อเหตุโจมตีกว่า 100 ครั้งนับตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ 15 ก.พ. ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่เมืองเดบอลต์เซฟ

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) เผยแพร่รายชื่อชาวรัสเซียและยูเครนจำนวน 19 คน และกลุ่มต่างๆ 9 กลุ่มเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งถูกคว่ำบาตรจากการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบ่อนทำลายเสถียรภาพในยูเครน โดยรายชื่อดังกล่าว รวมถึง Iosif Kobzon นักร้องดังของรัสเซีย และรมช.กลาโหมรัสเซีย 2 คน ขณะที่ผู้นำกลุ่มกบฏยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มก็อยู่ในรายชื่อดังกล่าวเช่นกัน โดย EU จะอายัดทรัพย์บุคคลและกลุ่มต่างๆในรายชื่อ รวมทั้งห้ามการเดินทางเข้าไปในกลุ่มประเทศ EU

ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า รัสเซียจะทำการตอบโต้ หลัง EU ทำการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซียจากการที่มีส่วนพัวพันกับวิกฤตการณ์ในยูเครน โดยระบุว่าการคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้ ไม่สมเหตุสมผล และไม่เอื้อต่อการแก้ไขวิกฤตยูเครน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ในการประชุม 4 ฝ่าย ซึ่งรวมถึงรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและเยอรมนี

แต่เจ้าหน้าที่ของ EU รายหนึ่งกล่าวว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลงโทษกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซีย และระบุว่าการคว่ำบาตรน่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะ EU ไม่ต้องการที่จะแทรกแซงการหารือที่กรุงมินสค์

แม้ว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการชี้ชัดว่าข้อตกลงสันติภาพในยูเครนฉบับล่าสุดประสบความล้มเหลว แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและท่าทีของทั้งสองฝ่ายที่ต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กันนั้น ดูเหมือนจะบั่นทอนประกายความหวังแห่งสันติภาพให้อับแสงลงไปได้อย่างมาก

การทำข้อตกลงหยุดยิงครั้งล่าสุดนี้แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังไม่ใช่ครั้งแรกที่ส่อแววว่าจะล้มเหลว แต่เราคงต้องเอาใจช่วยและลุ้นกันต่อไปว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพครั้งสุดท้ายที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริงในดินแดนยูเครนแห่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ