การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/36(SEOM1/36)วันที่ 17-19 มกราคม 2548 ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2005 15:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Senior Economic Official Meeting: SEOM) ครั้งที่ 1/36  ซึ่งอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-19 มกราคม 2548  ณ เมืองยอกยาการ์ตา โดยที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และการเจรจาเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ 
สาระสำคัญของการประชุมในประเด็นต่างๆ มี ดังนี้
1. การเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามแผนงานการเร่งรัดการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนที่ผู้นำได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว โดยที่ประชุมเห็นชอบประเด็นสำคัญ ดังนี้
? ให้ประเทศที่เป็นผู้ประสานงานหลักในแต่ละสาขาเร่งหารือร่วมกับภาคเอกชน (industry consultation) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามแผนงาน และให้รายงานผลให้ที่ประชุมSEOM 2/36 ในเดือนมีนาคม 2548 ที่ฟิลิปปินส์ทราบต่อไป
? ให้ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาสำคัญต่างๆ เหล่านี้กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนด้วย โดยขณะนี้ ญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในสาขายานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่สหภาพยุโรปมีความสนใจในสาขาสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์เกษตร ซึ่งจะเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกับประเทศเหล่านี้ซึ่งมีประสบการณ์ในการดำเนินงานมาก่อน
? ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของสมาพันธ์สิ่งทอของอาเซียน (AFTEX) จากที่ประชุม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ที่เสนอให้เร่งลดภาษีสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ให้เป็นร้อยละ 0 ภายในปีค.ศ. 2005 แทนที่จะเป็นปีค.ศ. 2007 ตามที่กำหนดไว้ในความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน ซึ่งภาคเอกชนของไทยให้การสนับสนุน แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการต่างตอบแทน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมและจัดทำข้อเสนอแนะที่เหมาะสมเพื่อพิจารณาในการประชุม SEOM 2/36 ต่อไป
2. กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ประชุมพิจารณากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
? เขตการค้าเสรีอาเซียน
ที่ประชุมได้พิจารณาให้แนวทางการดำเนินการภายใต้ความตกลง CEPT โดยเฉพาะเรื่องการลดภาษีในสาขาสินค้าที่เร่งรัดการรวมกลุ่มของอาเซียน (Priority Sectors) ซึ่งได้มีมติให้ประเทศสมาชิก (อาเซียน 6) เตรียมการออกประกาศการลดภาษี (เหลือร้อยละ 0) ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม 2550 (ค.ศ. 2007) หากเป็นไปได้ให้เสร็จก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปี 2549 สำหรับ CLMV ให้เตรียมการออกประกาศการลดภาษี (ให้เหลือร้อยละ 0) ให้แล้วเสร็จในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2554 เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2555 (ค.ศ. 2012)
สำหรับเรื่องการโอนย้ายบัญชีสินค้าจากบัญชียกเว้นการลดภาษีชั่วคราว (Temporary Exclusion List : TEL) ให้เข้ามาอยู่ในบัญชีลดภาษี (IL) เช่น กรณีการโอนย้ายสินค้ายานยนต์ 218 รายการของมาเลเซีย เป็นต้น ที่ประชุมได้ขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนตีความความตกลง CEPT เกี่ยวกับอัตราภาษีที่จะใช้เรียกเก็บต่อสินค้าดังกล่าว และหากไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ให้เสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM Retreat) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2548 พิจารณาต่อไป
? การค้าบริการ SEOM ให้แนวทางการดำเนินงานแก่คณะกรรมการประสานงานด้านการค้าบริการ(CCS) เพื่อเร่งรัดการเปิดเสรีสาขาบริการสำคัญ 3 สาขา ภายใต้ priority sectors ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-ASEAN) และสาขาการท่องเที่ยว โดยให้กำหนดขอบเขตการเปิดเสรี และกรอบระยะเวลาการเจรจาที่ชัดเจน ซึ่งมีเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายในปีค.ศ.2010 ตาม Roadmap
? การลงทุน ที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติแก่คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (CCI) ในการดำเนินงานตาม Roadmap สำหรับการรวมกลุ่มสาขาสินค้าและบริการสำคัญของอาเซียน และมอบหมายให้ดูแลในเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายของการลงทุนในภูมิภาค และ free trade zone โดยให้เน้นการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
? การกำหนดมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ประชุมเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องมือทางการแพทย์ ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อรองรับการดำเนินงาน ภายใต้การรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญของอาเซียน โดยคณะทำงานนี้จะยุบเมื่อดำเนินงานตามภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว
3. การปรับปรุงกลไกการดำเนินงานของอาเซียน ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยดำเนินการ ดังนี้
? พิจารณาทบทวนความจำเป็นของคณะทำงาน/กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่จัดตั้งขึ้นในอดีต โดยเห็นควรลดจำนวนคณะทำงานที่ไม่จำเป็นลง โดยให้ประเทศสมาชิกศึกษาในรายละเอียดและพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
? จัดตั้งหน่วยงานติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของอาเซียน (ASEAN Compliance Body) เพื่อเป็นเวทีที่ใช้ในการปรึกษาหารือ (consultation) ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมอยู่ในคณะผู้แทนดังกล่าวด้วย ขณะนี้ บางประเทศยังไม่ได้ส่งชื่อผู้แทนดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้แจ้งชื่อผู้แทนภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548
? มอบหมายให้คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียน (Task Force on DSM) พิจารณาแนวทางการแต่งตั้งองค์กรอุทธรณ์ตามที่ระบุไว้ภายใต้พิธีสารว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับใหม่ ซึ่งคณะทำงานเฉพาะกิจ DSM มีกำหนดจะจัดประชุมหารือในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2548 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม
? ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนการระงับข้อพิพาทของอาเซียน โดยให้แต่ละประเทศนำส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าว ประเทศละ 33,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศจะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเต็มจำนวนโดยไม่มีการผ่อนชำระ สำหรับประเทศ CLMV สามารถแบ่งการผ่อนชำระออกเป็น 3 งวดได้
4. การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา นอกเหนือจากการเจรจาเขตการค้าเสรีที่กำลังดำเนินอยู่กับจีนและอินเดีย ในปี 2548 อาเซียนจะเริ่มต้นการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (CER) ส่วนใหญ่ให้เจรจาให้แล้วเสร็จในเวลา 2 ปี โดยให้เริ่มจากการเจรจาเรื่องกรอบความตกลง (Framework) และเจรจาเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนไปพร้อมกัน โดยที่ประชุมเห็นควรให้ความสำคัญกับการกำหนดท่าทีร่วมกันของอาเซียนให้มีเอกภาพก่อนไปเจรจา เพื่อให้การเจรจาสามารถบรรลุผลตามเป้าหมาย โดยเห็นชอบให้มีการจัดประชุมร่วมระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาของอาเซียน (chief negotiators) กับ SEOM ก่อนหน้าการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง เพื่อรับทราบสถานะการเจรจากับประเทศคู่เจรจาต่างๆ และเป็นการประสานท่าทีในเบื้องต้นของอาเซียน และให้มีการกำหนดจำนวนครั้งของการเจรจาที่ชัดเจน (ประมาณ 2 เดือนต่อครั้ง) โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรประกอบด้วย เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายของการเจรจาได้ตามกำหนดเวลา
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีที่กำลังดำเนินอยู่มี ดังนี้
อาเซียน-จีน ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดการเจรจาในด้านการค้าบริการ และการลงทุน โดยขอให้ประเทศสมาชิกจัดเตรียมข้อเสนอในเบื้องต้น (intial offer) สำหรับการเจรจาการค้าบริการ และสรุปร่างความตกลงให้ได้โดยเร็ว
อาเซียน-อินเดีย ขณะนี้ อินเดียได้เสนอขอให้มีการเจรจา Product Specific Rule ในสินค้า 37 รายการ ภายใต้สินค้าที่จะเร่งลดภาษี (EHP) ซึ่งฝ่ายอาเซียนยังเห็นว่า มากเกินไปและจะเจรจากับอินเดียให้รายการสินค้าดังกล่าวมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดภายใต้ EHP ทั้งนี้ คณะเจรจาอาเซียน-อินเดีย มีกำหนดจะประชุมครั้งต่อไป ระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2548 ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ