วาทะด้านบนของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนระหว่างการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ปลุกกระแสความสนใจในวงกว้างเกี่ยวกับ Internet Plus โดยแผนนโยบาย Internet Plus ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญว่า รัฐบาลจีนกำลังมุ่งมั่นยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี
นายหลี่กล่าวว่า จีนได้ก่อตั้งกองทุนรัฐบาลมูลค่า 4 หมื่นล้านหยวน (6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ดังกล่าวของจีน และจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่อไป
นายเมี่ยว เว่ย รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอุตสาหกรรมของจีน หรือ MIIT เปิดเผยว่า แผน Internet Plus คือการเปลี่ยนโฉมภาคการผลิตของจีน จากการผลิตเชิงปริมาณไปสู่การผลิตเชิงคุณภาพ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และการผสมผสานอินเตอร์เน็ตเข้ากับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม อาจเพิ่มการขับเคลื่อนการขยายตัวให้กับเศรษฐกิจจีน
กระแสตอบรับปีกมังกรอัพเกรด
หลังการกล่าวแถลงของนายหลี่ หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Internet Plus อย่างคึกคัก นายหวู่ เหอกวาน นักวิชาการของ Chinese Academy of Engineering กล่าวว่า Internet Plus ซึ่งเป็นการหลอมรวมอินเตอร์เน็ตและอุตสาหกรรมดั้งเดิม ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น คาดว่าจะช่วยในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเปลี่ยนการทำงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ นายเจิ้ง จี หนึ่งในคณะผู้แทนของ NPC และผู้จัดการทั่วไปของไชน่าโมบาย สาขาเจ้อเจียงกล่าววว่า อินเตอร์เน็ตเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมของจีน พร้อมเสนอว่าผลิตภัณฑ์ "Made in China" ควรหันมาใช้เครือข่ายออนไลน์ในการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผ่านสมาร์ทโฟน
ด้านภาคการเงินและการธนาคารของจีนเริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจแบบเดิม โดยเมื่อไม่นานนี้ ธนาคารใหญ่หลายแห่งของจีน เช่น China Merchants Bank, China Minsheng Bank และ China development Bank ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ออกมา
ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีนเปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนอยู่ที่ 649 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2557 และชาวจีน 557 ล้านคนเข้าสู่โลกออนไลน์ผ่านมือถือ Internet Plus จึงไม่ได้ส่งผลดีแค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาบริการสาธารณะและช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมจีน เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา หรือสิ่งแวดล้อม
“ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่สามารถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเสียได้ การนัดแพทย์ออนไลน์ โทรเวชกรรม และวิดิโอเลคเชอร์ออนไลน์ จะช่วยอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง" นายหวู่ เหอกวานกล่าว
เมื่อ Big Four ไอทีจีนพบ Internet Plus
ด้านบริษัทไอทีชั้นนำของจีนอย่าง เทนเซนต์ (Tencent) เสี่ยวหมี (Xiaomi) ไป่ตู้ (Baidu) และอาลีบาบา (Alibaba) ออกมาแสดงมุมมองต่อนโยบาย Internet Plus เช่นกัน
นายโพนี หม่า ซีอีโอของเทนเซนต์ ยักษ์ใหญ่ด้านอินเตอร์เน็ตของจีนเปิดเผยว่า อินเตอร์เน็ตควรมีบทบาทในการสนับสนุนอุตสาหกรรมดั้งเดิมต่างๆ ของจีน
“อินเตอร์เน็ตได้เปิดพรมแดนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย การเงินผ่านอินเตอร์เน็ต บริการทางการแพทย์และด้านการศึกษา ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อินเตอร์เน็ตจึงควรขยายขอบเขตเข้าสู่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่างภาคการผลิต ภาคพลังงาน และภาคเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน"
ซีอีโอเทนเซนต์กล่าวว่า ในการรวมอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตเข้ากับอุตสาหกรรมดั้งเดิม ปัญหาเรื่องเทคโนโลยี นโยบายและมาตรฐานอุตสาหกรรมควรได้รับการจัดการแก้ไข รวมถึงควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น
ส่วนนายเล่ย จุน ซีอีโอของเสี่ยวหมี อิงค์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังของจีนมองว่า การใช้อินเตอร์เน็ตข้ามภาคส่วนในอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน
ด้านนายโรบิน หลี่ ประธานบริษัทไป่ตู้ เซิร์จเอนจิ้นรายใหญ่ของจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น “Google of China" ออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าโครงการ "China Brain" ของบริษัทมีเป้าหมายในการช่วยให้บริษัทต่างๆ สร้างแพลตฟอร์มแชร์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นการตอบรับแนวคิดของ Internet Plus
นายหลี่เชื่อว่า สภาวะแวดล้อมด้านนวัตกรรมในจีนจะพัฒนาขึ้นอย่างมาก
“ในอีกไม่กี่ปีนี้ ผู้คนจะเห็นว่า อินเตอร์เน็ตไม่ได้แค่พลิกโฉมอุตสาหกรรมดั้งเดิมต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกระตุ้นการขยายตัวด้วย"
ขณะที่แจ็ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของจีน ออกมาแสดงความเห็นเพียงเล็กน้อยว่า เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 ของจีนที่ประมาณ 7% นั้น “เหมือนความสูงของคนที่ไม่สามารถสูงขึ้นได้ตลอดไป เมื่อเติบโตขึ้น เราจึงควรพยายามหาทางเพิ่มพูนความคิดและสติปัญญา"
หรือมังกรไซเบอร์จะข้ามไม่พ้น Great Firewall of China?
ถึงกระแสตอบรับแผนนโยบาย Internet Plus จะเป็นไปในแง่บวก แต่ก็จุดประเด็นคำถามว่า จีนจะสยายปีกไปได้ไกลแค่ไหนในโลกไซเบอร์ ในเมื่อรัฐบาลยังมีการเซนเซอร์สื่อออนไลน์อยู่
แม้ว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนจะมีจำนวนมากกว่า 600 ล้านคน แต่การใช้งานอินเตอร์เน็ตถูกควบคุมภายใต้ระบบเซนเซอร์ของรัฐบาล ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Great Firewall of China ที่ปิดกั้นการเข้าถึงประเด็นบางอย่างจากเว็บไซต์ภายในประเทศ และกรองเว็บไซต์ต่างชาติที่มีเนื้อหาที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ออกไป
จีนเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการเซนเซอร์สื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด โดยรัฐบาลจีนได้บล็อกเว็บไซต์ต่างชาติจำนวนหลายร้อยเว็บ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนได้บล็อกเฟซบุ๊ก ยูทูปและทวิตเตอร์ อีกทั้งระงับการเข้าถึงบริการทั้งหมดของกูเกิลในปีที่แล้ว นอกเหนือจากแอพพลิเคชั่นต่างชาติจำนวนมากบนมือถือ
บริษัทและผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจีนยิ่งออกมาโอดครวญมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มระงับการเข้าถึงผู้ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (virtual private network:VPN) ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงการเซนเซอร์ของรัฐบาล และเข้าถึงคอนเทนต์บนอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่ผ่านตัวกรอง
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการ VPN อย่าง Astrill, StrongVPN และ Golden Frog เปิดเผยว่า การเข้าถึงบริการ VPN ในจีนถูกระงับ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจีนหลายรายไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ต่างชาติได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนไม่ได้มีแผนผ่อนปรนการควบคุมอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวง MIIT เปิดเผยว่า “ในจีน การพัฒนาด้านอินเตอร์เน็ตจะต้องเป็นไปตามกฎข้อบังคับของจีน" และทางกระทรวงไม่ได้วิตกว่า การเซนเซอร์จะส่งผลกระทบด้านลบต่อบริษัทจีน โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทชื่อดังอย่างอาลีบาบา
ด้านคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ไม่ได้แสดงความวิตกเรื่องการเซนเซอร์อินเตอร์เน็ตของรัฐบาลเช่นกัน และกล่าวว่า รัฐบาลจะสนับสนุนและกำกับควบคุมการพัฒนาด้านอินเตอร์เน็ตไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ออกมาแสดงความเห็นว่า “สิ่งสำคัญเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตคือเสรีภาพ" จีนควรจัดการเรื่องการเซนเซอร์สื่อออนไลน์ ก่อนคาดหวังว่าแผนนโยบายใหม่อย่าง Internet Plus จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดให้ประเทศ และเสริมว่า หากจีนยังเซนเซอร์การเข้าถึงข้อมูล Internet Plus คงเป็นแค่การเพิ่มจำนวนชาวจีนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ แทนที่จะก่อให้เกิดผลระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของจีน