นำเข้าพุ่ง 9 พันล้านดอลลาร์ เดือนมกราคมขาดดุลบัญชีสูงสุดในรอบ 7 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2005 16:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

- สรุปสถานการณ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขบัญชีเดินสะพัดประจำเดือนมกราคม ซึ่งขาดดุลถึง 942 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน การนำเข้าพุ่ง 33 % จากผลพวงราคาน้ำมันและซื้อสินค้าทุนเข้ามามาก ประกอบกับปัญหาภัยสึนามิและปัญหาไฟใต้ฉุดการท่องเที่ยวลดลง 26.9% ขณะที่การส่งออกเริ่มชะลอตัว
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งด้านดีมานด์และซัพพายมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากระยะเดียวกันกับปีก่อนทั้งผลผลิตภาคการเกษตรและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จำนวนนักท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน ส่วนการลงทุนยังไปได้ดีและยังไม่น่าเป็นห่วง
โดยที่ภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเป็นผลมาจากการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 1,475 พันล้านดอลลาร์ มีสาเหตุมาจากมูลค่าการนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9.17 พันล้านดอลลาร์ เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้งถึง 33.6 % จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการนำเข้ามาก คือ น้ำมัน ที่มีการขยายตัวจากปีก่อนถึง 79% สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 28.7 % เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 19.3 % รวมถึงการนำเข้าเหล็กและทองคำด้วย
นอกจากนี้แล้ว สินค้าที่นำเข้าสูงก็เป็นพวกวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในขณะเดียวกันการส่งออกในเดือนมกราคมก็มีอัตราการเพิ่มที่ชะลอตัวลงโดยมีมูลค่าเท่ากับ 7,695 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นอัตราการขยายตัวการส่งออกเพียง 11.6 % ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากเดือนธันวาคม 2547 ที่ขยายตัว 16.7%
- ประเด็นวิเคราะห์
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมกราคม เป็นการขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ผันผวน(สูงขึ้นต่อเนื่อง) ปัญหาภัยสึนามิ ปัญหาภาคใต้ของไทยที่ฉุดให้การท่องเที่ยวในภาคใต้ลดลง 26.9 % แต่ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ตลอดทั้งปี 2548 ว่าประเทศไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ