สถานการณ์เลวร้ายและร้ายแรงถึงขั้นที่หลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ต้องตัดสินใจปิดสถานทูตและสถานกงสุล ตลอดจนเร่งอพยพพลเมืองของตนออกจากเยเมน ขณะที่ร้านรวงต่างๆ และบรรดาบริษัทข้ามชาติ ก็ต้องปิดร้าน ปิดกิจการในพื้นที่ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นสนามรบไปเสียแล้ว
โดยในขณะที่ซาอุดิอาระเบียออกโรงนำกองกำลังพันธมิตรเข้าโจมตีและขับไล่กลุ่มกบฏฮูตีนิกายชิอะห์นั้น อีกฟากฝั่งหนึ่งปรากฏว่าเป็นอิหร่านที่ออกมาประณาม พร้อมขัดขวางเต็มที่เช่นกัน
ว่าแต่ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านกลายมาเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ได้อย่างไร? หรือเยเมนกำลังจะโยงใยทั้งภูมิภาคเข้าสู่สงคราม?
ความขัดแย้งระหว่างนิกาย
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศจุดปะทุขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีอับดู ราบู มันซูร์ ฮาดีของเยเมน ได้เรียกร้องให้ชาติอาหรับเข้ามาจัดการกับกลุ่มฮูตีนิกายชิอะห์ที่กำลังเหิมเกริม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เยเมนตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกว่า เยเมนกำลังเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมือง
กลุ่มฮูตีได้เข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมน ซึ่งรวมถึงกรุงซานา เมืองหลวงของประเทศ พร้อมทั้งยังได้ขับไล่ประธานาธิบดีเยเมน จนต้องหลบหนีไปยังเมืองเอเดน เมืองท่าทางตอนใต้ของประเทศ
ประเทศเยเมนตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด โดยในปี 2554 กลุ่มผู้ประท้วงได้บีบให้อดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ก้าวลงจากตำแหน่ง ขณะที่การพูดคุยเพื่อความสมานฉันท์ซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึงสามปีนั้นประสบกับความล้มเหลว อีกทั้งยังทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจที่เอื้ออำนวยให้กลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาหรับ และกลุ่มกองกำลังหัวรุนแรงอื่นๆ อย่างเช่นกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) เรืองอำนาจขึ้น
หากจะย้อนไปไกลกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า วิกฤตการณ์ในเยเมนนั้นมีที่มาที่ไปหรือจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งทางนิกาย กล่าวคือ กลุ่มฮูตีเป็นชาวชีอะห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นคู่อริกับรัฐบาลแล้ว ยังถูกขับไล่ไสส่งจากชนเผ่าต่างๆที่เป็นชาวสุหนี่อีกด้วย และเหนืออื่นใด กลุ่มฮูตีนั้นเป็นศัตรูคู่แค้นกับกลุ่มนักรบจีฮัดในคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP) และกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ที่มองชีอะห์เป็นพวกนอกรีต โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม กลุ่ม IS ได้เริ่มเปิดฉากความรุนแรงในเยเมนด้วยการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่มัสยิดของกลุ่มฮูตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 130 คน
กลุ่มฮูตีมาจากทางเหนือของเยเมน และถึงแม้ที่ผ่านมานั้น ทางกลุ่มแทบไม่ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มอื่นๆในประเทศ แต่ฮูตีก็ยังสามารถประกาศศักดาความเป็นนักรบที่เก่งกาจ ด้วยการเข้ายึดเมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว และดูเหมือนว่าขณะนี้ กล่มฮูตีกำลังได้รับความช่วยเหลือจากบางกลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นว่ากันว่ารวมอดีตประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์อยู่ด้วย จนทำให้นายฮาดี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไม่สามารถปกครองประเทศได้ แม้ว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ รวมถึงสหประชาชาติ (UN) ก็ตาม
อิหร่านก็เป็นอีกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนฮูตี แม้กลุ่มกบฏได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีคนตาดีเห็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกลุ่มฮูตีในเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ของอิหร่าน และมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า นักบินอิหร่านขับเครื่องบินของเยเมนที่ทางกลุ่มยึดมาได้
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้เพียงพอแล้วที่จะทำให้ซาอุดิอาระเบียอยู่นิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป โดยซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเคยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มฮูตีมาแล้วเมื่อปี 2553 ได้ประกาศกร้าวว่า จะไม่ยอมให้อิหร่านหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งในภูมิภาค พร้อมกับลั่นวาจาว่าจะให้การสนับสนุนประธานาธิบดีของเยเมน
ซาอุดิอาระเบียนั่งไม่ติด
ซุดิอาระเบียได้แสดงจุดยืนแข็งกร้าวเกี่ยวกับการนำกองกำลังพันธมิตรเข้าถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏในเยเมน โดยประกาศว่าปฏิบัติการโจมตีดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยเยเมนให้เป็นอิสระจากกลุ่มกบฏฮูตี
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิส กษัตริย์ของซาอุดีอาระเบีย ทรงประกาศกร้าวในระหว่างการประชุมสันนิบาตอาหรับ (AL) ในอียิปต์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะไม่ยุติปฏิบัติการทางทหารจนกว่าเยเมนจะเริ่มมีเสถียรภาพและปลอดภัย
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมนิกายสุหนี่ได้รักษาความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลของเยเมน และได้อนุมัติปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มติดอาวุธฮูตีนิกายชีอะห์ในเยเมนหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งเดือนก.ย.ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มกบฏได้ยึดกรุงซานา ตามมาด้วยการบีบพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหวังกุมอำนาจควบคุมรัฐบาลเยเมนอย่างเบ็ดเสร็จ
อิหร่าน ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ที่มีความบาดหมางอย่างฝังรากลึกกับซาอุดิอาระเบีย ถูกกล่าวหาว่าพยายามผลักดันตนเองให้มีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค ด้วยการให้การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่กลุ่มฮูตี ขณะที่ทั้งรัฐบาลอิหร่านและกลุ่มชีอะห์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ซาอุดิอาระเบียออกตัวเป็นแบ็กอัพหนุนหลังรัฐบาลเยเมนนั้น เป็นเพราะถูกกระตุ้นจากแรงปรารถนาที่จะธำรงสถานภาพความเป็นหนึ่งของตนเองในตะวันออกกลาง และที่มากกว่านั้นคือ ซาอุดิอาระเบียไม่อาจทนเห็นรัฐบาลเยเมนหันไปพึ่งพาอิหร่านได้
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการที่ซาอุดิอาระเบียถล่มกลุ่มกบฏในเยเมนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อพุ่งเป้าบั่นทอนอำนาจอิหร่านโดยตรง โดยนับเป็นการเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของคู่ปรับอย่างอิหร่านซึ่งเป็นประเทศมุสลิมนิกายชีอะห์
"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกลุ่มฮูตีเลย แต่พุ่งเป้าไปที่อิหร่านต่างหาก" นายมูฮัมหมัด อับเดล วาฮับ นักเขียนชาวอียิปต์และนักวิเคราะห์ทางการเมืองที่เชี่ยวชาญการเมืองอาหรับ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว "กลุ่มฮูตีเป็นเครื่องมือของอิหร่านซึ่งเป็นภัยคุกคามแท้จริงต่อความมั่นคงของชาติอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบีย"
อิหร่านถูกประเทศนิกายสุหนี่มองว่าเป็นภัยคุกคามมากว่าหลายทศวรรษ เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศนิกายชิอะห์ ขณะที่ชาติอาหรับส่วนใหญ่ถือนิกายสุหนี่
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาติอาหรับ ได้คัดค้านอำนาจอธิปไตยของอิหร่านเหนือเกาะสองเกาะในอ่าวเปอร์เซีย ขณะที่อิหร่านซึ่งขณะนั้นกำลังปะทะกันอย่างดุเดือดกับอิรักมาเป็นเวลาถึงแปดปีในช่วงต้นทศวรรษ 80 มองว่าหมู่เกาะดังกล่าวไม่สามารถแยกจากกันได้
อับเดล วาฮับ นักวิเคราะห์ทางการเมืองชาวอียิปต์ กล่าว "การแบ่งแยกดังกล่าวทำให้ช่องว่างขยายตัวกว้างขึ้น และทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นด้วย"
นักวิเคราะห์รายนี้ชี้ว่า อิหร่านมีความทะเยอทะยานในโลกอาหรับอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาติอาหรับต้องรีบหาทางสกัดกั้นแผนของอิหร่านที่มีเป้าหมายจะบั่นทอนการปกครองของอาหรับด้วยการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านนิกายชีอะห์ หรือระบอบที่ยึดมั่นกับนโยบายเช่นระบอบของอิรักและซีเรีย
นายวาฮับกล่าวว่า "อิหร่านมีบทบาทสำคัญในการสู้รบในอิรัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มสนับสนุนอิหร่านในอิรักได้ออกมาต่อต้านซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรอาหรับที่เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมน"
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับหันมาโจมตีกลุ่มฮูตีนั้น นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มกบฎสามารถรุกคืบมายังชายแดนและโจมตีซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งปิดล้อมช่องแคบบับเอลมันเดบในทะเลแดง ซึ่งแต่ละปีนั้นเปิดให้เรือเดินทางเข้าออกกว่าหลายพันลำ
เขาชี้ว่า "อิหร่านมีอำนาจควบคุมเหนือช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอ่าวอาหรับ โดยหากกลุ่มฮูตีสามารถยึดครองช่องแคบบับเอลมันเดบได้แล้ว ก็จะส่งผลให้อ่าวอาหรับถูกปิดล้อม และจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอิหร่านและพันธมิตรของกลุ่มฮูตี"
"ผมเชื่อว่าโลกอาหรับจะเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวมากขึ้นในการต่อกรกับอิหร่านภายหลังการโจมตีเหล่านี้" เขากล่าว โดยคาดว่าปฏิบัติการโจมตีจะขยายวงกว้างขึ้น หลังอียิปต์ประกาศเตรียมส่งกองกำลังภาคพื้นเพื่อต่อสู้กับกลุ่มฮูตีในเยเมน
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังคาดว่า ปฏิบัติการทางทหารอาจเดินหน้าต่อไปในระยะยาวเพื่อบั่นทอนกำลังทหารของกลุ่มฮูตี พร้อมเสริมว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเมืองจะกลายเป็นทางออกในการแก้ปัญหานี้
การโจมตีทางอากาศและมติของชาติอาหรับเพื่อเปิดปฏิบัติการทางทหารในเยเมนนั้น จะนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรอาหรับ ซึ่งแต่เดิมนั้นนำร่องโดยประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล ซีซี
นายวาฮับกล่าวว่า "แม้จะมีชาติอาหรับบางส่วนเช่นอิรักและอัลจีเรีย ออกมาคัดค้านการก่อตั้งกองกำลังพันธมิตรอาหรับเพื่อจัดการกับภัยคุกคาม แต่การโจมตีทางอากาศที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้จะเป็นใบเบิกทางที่ช่วยสนับสนุนความคิดริเริ่มของปธน.ซีซี เนื่องจากทุกคนตระหนักดีว่าปัจจุบันโลกอาหรับต้องการกองกำลังทหารในลักษณะเช่นนี้ เพื่อจัดการกับวิกฤติต่างๆในหมู่ประเทศอาหรับ"
ความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก?
หากซาอุดิอาระเบียและประเทศอ่าวอาหรับอื่นๆยืนอยู่ข้างหนึ่ง และอิหร่านยืนอยู่อีกข้างหนึ่ง ความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่นี้ก็อาจจะยิ่งเลวร้ายเป็นทวีคูณ
“อันตรายที่กำลังคืบคลานและแผ่ปกคลุมอยู่ก็คือ เยเมนกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กับอิหร่าน" จอน อัลท์แมน ผู้อำนวยการหลักสูตรตะวันออกกลางแห่ง Centre for Strategic & International Studies ในวอชิงตันกล่าว
“เป็นที่ชัดเจนว่า อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮูตี แต่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การสนับสนุนดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัดและเชื่องช้า"
“ตอนนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า รัฐบาลอิหร่านมองเยเมนเป็นยุทธศาสตร์หลัก แต่หากสงครามตัวแทนยังดำเนินต่อไป ก็มีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะยังคงโหมกระหน่ำปกคลุมภูมิภาคไปอีกนานหลายปี"