เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ อิหร่านตกลงที่จะลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมจาก 19,000 เครื่อง ให้เหลือเพียง 6,104 เครื่อง โดยมีเพียง 5,060 เครื่องที่ได้รับอนุญาตให้เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในช่วง 10 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 3.67% เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งความเข้มข้นระดับดังกล่าวเพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ไม่เพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ นอกจากนี้ อิหร่านจะไม่สร้างโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมแห่งใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะลดปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในคลังจาก 10,000 กิโลกรัม ให้เหลือ 300 กิโลกรัมในช่วงระยะเวลา 15 ปี
นอกจากนี้ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟอร์โดจะหยุดเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี พร้อมกันนั้นอิหร่านจะออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์น้ำมวลหนักที่เมืองอารักขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียมที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ ขณะเดียวกัน อิหร่านยังอนุญาตให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อตกลงเบื้องต้นดังกล่าวยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดต่างๆ รวมถึงระยะเวลาและขอบเขตของการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และยังไม่มีผลผูกพันจนกว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ดึงศัตรูเป็นมิตร?
หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตาภายหลังการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์เบื้องต้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม้เบื่อไม้เมาอย่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งระหองระแหงมาตลอดนับตั้งแต่สหรัฐได้เข้ามาชักใยอยู่เบื้องหลังการเมืองอิหร่านเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว เช่น ในปี 2522 เกิดเหตุการณ์นักศึกษาหัวรุนแรงของอิหร่านบุกยึดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานและจับตัวประกันนานถึง 444 วันกว่าตัวประกันชุดสุดท้ายจะได้รับอิสรภาพ ในปี 2545 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสว่าอิหร่านคือหนึ่งใน "แกนแห่งความชั่วร้าย" ที่เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อสหรัฐ เพราะมีส่วนช่วยในการก่อการร้ายและจัดหาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ในปี 2552 ประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด ของอิหร่าน ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า รัฐบาลสหรัฐใช้เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นข้ออ้างในการทำสงครามโจมตีอิรักและอัฟกานิสถาน
ส่วนความขัดแย้งในประเด็นนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศเริ่มเด่นชัดในปี 2545 เมื่อกลุ่มต่อต้านอิหร่านได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า อิหร่านกำลังดำเนินโครงการนิวเคลียร์ ตั้งแต่นั้นมาสหรัฐก็ประณามอิหร่านตลอดว่าพยายามพัฒนาอาวุธ ขณะที่อิหร่านก็ยืนกรานตลอดเช่นกันว่าเป็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ จากนั้นอิหร่านก็ถูกสหรัฐและบรรดาชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งการคว่ำบาตรด้านพลังงาน การขนส่ง การธนาคาร และอื่นๆ โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นหัวใจของอิหร่าน ทำให้อิหร่านสูญเสียรายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมันมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความบาดหมางอันยาวนานนี้แล้ว ดูเหมือนว่าการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์คงไม่อาจสมานรอยร้าวที่ฝังรากลึกมานาน อิหร่านเพียงแค่ปรับเปลี่ยนท่าทีตามความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของตนเองเท่านั้น คงไม่ได้หวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ
ผลักมิตรเป็นศัตรู?
นอกจากความสัมพันธ์สหรัฐ-อิหร่านจะไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอะไรแล้ว การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศพันธมิตรอย่างอิสราเอลย่ำแย่ลงด้วย เนื่องจากอิสราเอลคัดค้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมาโดยตลอด ด้วยหวาดระแวงว่าอิหร่านจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายอิสราเอล เพราะอิหร่านไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐของอิสราเอล และอดีตประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด ก็เคยประกาศมาแล้วว่า จะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลกด้วย
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ได้แถลงประณามการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยระบุว่าส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของอิสราเอล เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เป็นการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่กลับทำให้โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมีความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งจะเพิ่มความแข็งกร้าวให้กับอิหร่าน และจะทำให้เกิดเหตุก่อการร้ายทั่วทั้งตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ
อันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิสราเอลก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะผู้นำทั้งสองประเทศมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอิสราเอล โดยเนทันยาฮูยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ แต่โอบามาต้องการให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันในฐานะรัฐต่อรัฐ ดังนั้น การที่มีประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านเพิ่มขึ้นมาอีกจึงทำให้อิสราเอลไม่ค่อยจะสบอารมณ์เท่าไรนัก ส่วนทางฟากฝั่งสหรัฐนั้น โอบามาก็ตบหัวแล้วลูบหลังด้วยการยืนยันว่าจะไม่ทิ้งจุดยืนในการปกป้องอิสราเอล
แนวโน้มตลาดน้ำมัน
นอกจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาคือเรื่องแนวโน้มตลาดน้ำมันโลก มีการคาดการณ์ว่าการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ จะเปิดทางให้บรรดาบริษัทน้ำมันจากตะวันตกกลับเข้าไปลงทุนในอิหร่านอีกครั้ง หลังจากที่ต้องถอนตัวออกมาเมื่ออิหร่านถูกคว่ำบาตร เพราะอิหร่านยังคงเป็นแหล่งลงทุนในน้ำมันที่ดึงดูดใจ ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มโอเปก
สำหรับอุปทานน้ำมันนั้น หากอิหร่านบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายกับชาติมหาอำนาจในวันที่ 30 มิถุนายน อิหร่านก็จะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลังจากที่ปริมาณการส่งออกลดลงเกินครึ่งจากระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2555 เหลือเพียง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อถูกคว่ำบาตร ดังนั้น อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำอยู่แล้วในขณะนี้ และทำให้ราคาน้ำมันยังไม่อาจฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนยังไม่กังวลกับราคาน้ำมันมากนัก เพราะอิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และการจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรได้นั้น อิหร่านต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก IAEA ว่า ปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์จริง ซึ่งกระบวนการตรวจสอบคงต้องใช้เวลานาน หรืออิหร่านอาจไม่ผ่านการตรวจสอบก็เป็นได้
การบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจเป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น ของจริงคือช่วงปลายเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่จะต้องมีการสรุปข้อตกลงในขั้นสุดท้าย ซึ่งหากทุกฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ทุกอย่างที่พยายามกันมาก็จะพังทลายทันที และอิหร่านก็จะกลับไปทำกิจกรรมนิวเคลียร์ของประเทศต่อไปอย่างแน่นอน