หอการค้าไทย ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ตามที่โครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) รอบปัจจุบันของสหภาพยุโรปจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของโครงการ GSP รอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลใช้บังคับในเดือนกรกฎาคม 2548 บัดนี้ มีประเด็นสำคัญของร่างระเบียบโครงการ GSP รอบใหม่ของสหภาพยุโรป ดังนี้
1. ร่างระเบียบโครงการ GSP รอบใหม่นี้ ได้ระบุชื่อประเทศไทยในบัญชีรายชื่อประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP สำหรับสินค้ากุ้งส่งออกไปสหภาพยุโรป โดยถูกเก็บภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 4.2 เช่นเดียวกับสินค้ากุ้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ลดลงจากอัตราเดิมที่เรียกเก็บในปัจจุบันร้อยละ 12
2. โครงการ GSP รอบใหม่จะจัดแบ่งกลุ่มสินค้าให้มีความละเอียดยิ่งขึ้นและแยกย่อยชนิดของสินค้าแต่ละชนิดเป็นรายหมวด (Section) แทนกลุ่มสินค้า (Sector) ในโครงการ GSP รอบปัจจุบัน โดยจัดกลุ่มสินค้าตามระบบพิกัดภาษีศุลกากร (Combined Nomenclature) ซึ่งอิงกับระบบ Harmonized System (HS)
3. สินค้าส่งออกของไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ภายใต้โครงการ GSP รอบใหม่ คือ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (section 14) และสินค้ายานพาหนะและเครื่องอุปกรณ์ขนส่งที่เกี่ยวข้อง (section 17)
4. การตัดสิทธิ GSP (graduation) จะอ้างอิงกับการจัดแบ่งกลุ่มสินค้าเป็นรายหมวด (section) ตามระบบพิกัดภาษีศุลกากร โดยจะตัดสิทธิ GSP สินค้าหมวดนั้น เมื่อสัดส่วนของมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดนั้นจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมดสูงกว่าร้อยละ 15 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ยกเว้นหมวด 11 (สิ่งทอ) ซึ่งจะใช้เกณฑ์ที่ร้อยละ 12.5
ระเบียบโครงการ GSP รอบใหม่ของสหภาพยุโรป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ทั้งนี้ หมายความว่าต้องไม่มีการคัดค้านจากประเทศสมาชิกใดหรือสภายุโรป ก็จะสามารถประกาศใช้ระเบียบโครงการ GSP รอบใหม่ได้ตามกำหนด ขณะนี้ ร่างระเบียบโครงการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และโดยที่สภายุโรปและคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมยุโรปจะต้องพิจารณาร่างระเบียบโครงการฯให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จึงคาดว่า คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะให้ความเห็นชอบและอนุมัติเป็นขั้นสุดท้ายและประกาศใช้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2548
ระเบียบโครงการฯ มีสินค้าเกษตรและประมงส่งออกของไทยกว่า 300 รายการ ที่จะได้รับสิทธิ GSP คาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้ากุ้งของไทย ดังนั้น ภาคเอกชนควรร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบมูลค่าการส่งออกสินค้านั้น ๆ เป็นครั้งคราวในกรอบเวลาอันสมควร เพื่อมิให้เกิดปัญหามูลค่าการส่งออกสูงกว่าเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนดจนถูกตัดสิทธิ GSP ในอนาคต
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-