กรุงเทพ--5 ต.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
คำกล่าวของ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเปิดการสัมมนา “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” จัดโดย สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ร่วมกับ สมาคมลาว-ไทย เพื่อมิตรภาพ โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2548 เวลา 13.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ
ท่านคำเพ้า พอนแก้ว รองประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ
ท่านบัวบาน วอละขุน ประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ท่านสื่อมวลชนไทย และลาว
ท่านผู้เข้าร่วมการสัมมนาและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดการสัมมนา หัวข้อ “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” ซึ่งสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพได้ร่วมกับสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพจัดขึ้นโดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศในวันนี้
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้ติดตามและได้รับรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านต่าง ๆ ที่สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพซึ่งเป็นสมาคมคู่ตำแหน่งได้ร่วมกันจัดขึ้นอันเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับลาวมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยินดีให้การสนับสนุนสมาคมทั้งสองเป็นกลไกเสริมการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ความสัมพันธ์ไทย-ลาวได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วง 4 — 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ดีขึ้นมากจนแทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะถึงจุดสูงสุด เพราะได้มีแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างระหว่างกัน ได้มีการ “สานงานต่อและก่องานใหม่” ในความสัมพันธ์ทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง และความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมทั้ง ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแน่ชัดที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศ เพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับลาว และมีความจริงใจและใส่ใจในการนำนโยบายมาปฏิบัติให้เห็นผล ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวชุดปัจจุบันอย่างดียิ่ง
สำหรับตัวผมเองนั้น หลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เลือกสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศแรกสำหรับการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ มิใช่เพราะลาวดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนั้น แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่ง คือ ลาวเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยเป็นพิเศษ ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอันเป็นสายใยที่เชื่อมโยงประเทศของเรา ทั้งสอง ผมได้ยืนยันกับท่านประธานประเทศและบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรีลาว ทุกท่านที่ผมได้เข้าเยี่ยมคารวะถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลไทยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับลาวอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อสานต่อสิ่งที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน โครงการพลังงานไฟฟ้าในลาว หรือความร่วมมือในกรอบพหุภาคี เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มน้ำอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทุกท่านที่ผมได้เข้าพบก็ได้กล่าวให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นและสอดคล้องกันของรัฐบาลไทยและลาว ในอันที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศ ประกอบกับการดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กลไกความสัมพันธ์ไทย-ลาวที่ได้จัดตั้งขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-ลาว มีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในทุก ๆ ด้าน เช่น
- การอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของประชาชน มีการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มและเปิดเสรีผู้ประกอบการขนส่งระหว่างกัน รวมทั้งได้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศติดต่อกันสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้ให้ความร่วมมือในโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน สะพานข้ามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง โครงการพัฒนาสนามบินและเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-ลาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งรัดดำเนินการ
- ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การขยายพื้นที่ในการลาดตระเวนร่วมตามลำแม่น้ำโขงได้ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งมีผลต่อสังคมและประชาชนของ ทั้งสองประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 24.75 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่แขวงจำปาสักซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งมอบในเดือนธันวาคม 2548
- ความร่วมมือที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศในปัจจุบัน ไทยได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในลาวจนเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น โครงการน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือสนับสนุนโครงการพลังงานไฟฟ้าอื่นๆ ได้แก่ โครงการน้ำงึม 2 โครงการน้ำงึม 3 โครงการหงสาลิกไนต์ โครงการน้ำเทิน-หินบูน+น้ำเทิน 3 และโครงการน้ำเงี๊ยบ ซึ่งมี ความคืบหน้าตามลำดับ เมื่อโครงการต่างๆ เสร็จสมบูรณ์และจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้แก่ไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวด้วย
- สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ทั้งในกรอบอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามเหลี่ยมมรกต ACMECS และความร่วมมือเอเชีย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนลาวอีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่ง สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ผมขอชื่นชมรัฐบาลลาวที่จัดการประชุมดังกล่าวได้เรียบร้อยและประสบผลสำเร็จดียิ่ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACMECS ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2548 จะได้ร่วมมือกับลาวผลักดันความร่วมมือในกรอบดังกล่าวให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ทุกท่านคงตระหนักดีว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับลาวด้วย กระทรวงการต่างประเทศได้พัฒนาและปรับปรุงกลไกสื่อสารที่มีอยู่ คือ “วิทยุสราญรมย์” ให้มีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างพี่น้องประชาชนไทยและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลาว เนื่องจากพี่น้องชาวลาวสามารถรับฟังการกระจายเสียงจากคลื่นนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้นักจัดรายการวิทยุตามจังหวัดชายแดนไทย-ลาว รวมตัวกันเป็น “ชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดนไทย-ลาว” เพื่อส่งเสริมบทบาทของสื่อวิทยุกระจายเสียงให้เป็นสื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและลาว ซึ่งต่อมาโครงการดังกล่าวได้ขยายครอบคลุมจังหวัดชายแดนไทยด้านอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา และพม่า จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดน”
ผมยินดีที่ทราบว่า สมาคมนักข่าวของทั้งสองประเทศมีความช่วยเหลือร่วมมือด้านการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแลกเปลี่ยนคณะผู้แทน กันเป็นประจำ รวมทั้งได้มีการจัดทำ “คู่มือการทำข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ลาว และเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำข่าวเกี่ยวกับประเทศทั้งสองให้ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณการจัดทำคู่มือดังกล่าวด้วย
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
แม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-ลาวจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่การที่เราใกล้ชิดกันมากก็อาจจะทำให้เรามองข้ามบางจุดบางประเด็นที่มีความแตกต่างกันโดยตีความไปเองว่า “เขาเหมือนเราและเข้าใจแบบเดียวกับเรา” การรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศของเราทั้งสองได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเวทีให้ “สื่อ” และ “ภาคประชาชน” ไทยและลาว ได้พบปะและขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง
ผมขอชื่นชมสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพที่ได้จัดการสัมมนาในวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบว่า การสัมมนาในวันนี้ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บรรดาสื่อบันเทิง ดารา นักร้อง นักแสดงและผู้ประกอบการด้านบันเทิง เพราะท่านเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนและต่อสายสัมพันธ์ไทย-ลาว การสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันแล้ว ผมหวังว่าจะมีการเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมให้สื่อมีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ลาวให้ยั่งยืนตลอดไป
ผมขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อแสวงหาลู่ทางพัฒนาความร่วมมือระหว่างสื่อไทย-ลาว ให้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม 2548 จะครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ลาว และจะมีการจัดกิจกรรมฉลองโอกาสดังกล่าวในหลายรูปแบบ ผมจึงอยากส่งเสริมให้สื่อเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อ กระชับสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผมขอถือโอกาสนี้เปิดการสัมมนา “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” และขออวยพรให้การสัมมนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ
ขอบคุณ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
คำกล่าวของ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเปิดการสัมมนา “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” จัดโดย สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ร่วมกับ สมาคมลาว-ไทย เพื่อมิตรภาพ โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2548 เวลา 13.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ
ท่านคำเพ้า พอนแก้ว รองประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ
ท่านบัวบาน วอละขุน ประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ท่านสื่อมวลชนไทย และลาว
ท่านผู้เข้าร่วมการสัมมนาและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดการสัมมนา หัวข้อ “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” ซึ่งสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพได้ร่วมกับสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพจัดขึ้นโดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศในวันนี้
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้ติดตามและได้รับรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านต่าง ๆ ที่สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพซึ่งเป็นสมาคมคู่ตำแหน่งได้ร่วมกันจัดขึ้นอันเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับลาวมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยินดีให้การสนับสนุนสมาคมทั้งสองเป็นกลไกเสริมการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ความสัมพันธ์ไทย-ลาวได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วง 4 — 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ดีขึ้นมากจนแทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะถึงจุดสูงสุด เพราะได้มีแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างระหว่างกัน ได้มีการ “สานงานต่อและก่องานใหม่” ในความสัมพันธ์ทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง และความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมทั้ง ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแน่ชัดที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศ เพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับลาว และมีความจริงใจและใส่ใจในการนำนโยบายมาปฏิบัติให้เห็นผล ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวชุดปัจจุบันอย่างดียิ่ง
สำหรับตัวผมเองนั้น หลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เลือกสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศแรกสำหรับการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ มิใช่เพราะลาวดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนั้น แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่ง คือ ลาวเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยเป็นพิเศษ ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมอันเป็นสายใยที่เชื่อมโยงประเทศของเรา ทั้งสอง ผมได้ยืนยันกับท่านประธานประเทศและบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรีลาว ทุกท่านที่ผมได้เข้าเยี่ยมคารวะถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลไทยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับลาวอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อสานต่อสิ่งที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน โครงการพลังงานไฟฟ้าในลาว หรือความร่วมมือในกรอบพหุภาคี เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มน้ำอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทุกท่านที่ผมได้เข้าพบก็ได้กล่าวให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นและสอดคล้องกันของรัฐบาลไทยและลาว ในอันที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศ ประกอบกับการดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กลไกความสัมพันธ์ไทย-ลาวที่ได้จัดตั้งขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-ลาว มีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในทุก ๆ ด้าน เช่น
- การอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของประชาชน มีการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มและเปิดเสรีผู้ประกอบการขนส่งระหว่างกัน รวมทั้งได้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศติดต่อกันสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้ให้ความร่วมมือในโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน สะพานข้ามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง โครงการพัฒนาสนามบินและเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไทย-ลาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งรัดดำเนินการ
- ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การขยายพื้นที่ในการลาดตระเวนร่วมตามลำแม่น้ำโขงได้ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งมีผลต่อสังคมและประชาชนของ ทั้งสองประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 24.75 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่แขวงจำปาสักซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งมอบในเดือนธันวาคม 2548
- ความร่วมมือที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศในปัจจุบัน ไทยได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในลาวจนเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น โครงการน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือสนับสนุนโครงการพลังงานไฟฟ้าอื่นๆ ได้แก่ โครงการน้ำงึม 2 โครงการน้ำงึม 3 โครงการหงสาลิกไนต์ โครงการน้ำเทิน-หินบูน+น้ำเทิน 3 และโครงการน้ำเงี๊ยบ ซึ่งมี ความคืบหน้าตามลำดับ เมื่อโครงการต่างๆ เสร็จสมบูรณ์และจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้แก่ไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวด้วย
- สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ทั้งในกรอบอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามเหลี่ยมมรกต ACMECS และความร่วมมือเอเชีย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนลาวอีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่ง สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ผมขอชื่นชมรัฐบาลลาวที่จัดการประชุมดังกล่าวได้เรียบร้อยและประสบผลสำเร็จดียิ่ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACMECS ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2548 จะได้ร่วมมือกับลาวผลักดันความร่วมมือในกรอบดังกล่าวให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ทุกท่านคงตระหนักดีว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับลาวด้วย กระทรวงการต่างประเทศได้พัฒนาและปรับปรุงกลไกสื่อสารที่มีอยู่ คือ “วิทยุสราญรมย์” ให้มีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างพี่น้องประชาชนไทยและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลาว เนื่องจากพี่น้องชาวลาวสามารถรับฟังการกระจายเสียงจากคลื่นนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้นักจัดรายการวิทยุตามจังหวัดชายแดนไทย-ลาว รวมตัวกันเป็น “ชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดนไทย-ลาว” เพื่อส่งเสริมบทบาทของสื่อวิทยุกระจายเสียงให้เป็นสื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและลาว ซึ่งต่อมาโครงการดังกล่าวได้ขยายครอบคลุมจังหวัดชายแดนไทยด้านอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา และพม่า จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดน”
ผมยินดีที่ทราบว่า สมาคมนักข่าวของทั้งสองประเทศมีความช่วยเหลือร่วมมือด้านการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแลกเปลี่ยนคณะผู้แทน กันเป็นประจำ รวมทั้งได้มีการจัดทำ “คู่มือการทำข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ลาว และเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำข่าวเกี่ยวกับประเทศทั้งสองให้ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณการจัดทำคู่มือดังกล่าวด้วย
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
แม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-ลาวจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่การที่เราใกล้ชิดกันมากก็อาจจะทำให้เรามองข้ามบางจุดบางประเด็นที่มีความแตกต่างกันโดยตีความไปเองว่า “เขาเหมือนเราและเข้าใจแบบเดียวกับเรา” การรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศของเราทั้งสองได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเวทีให้ “สื่อ” และ “ภาคประชาชน” ไทยและลาว ได้พบปะและขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่อง
ผมขอชื่นชมสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพที่ได้จัดการสัมมนาในวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบว่า การสัมมนาในวันนี้ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บรรดาสื่อบันเทิง ดารา นักร้อง นักแสดงและผู้ประกอบการด้านบันเทิง เพราะท่านเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนและต่อสายสัมพันธ์ไทย-ลาว การสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันแล้ว ผมหวังว่าจะมีการเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมให้สื่อมีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ลาวให้ยั่งยืนตลอดไป
ผมขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อแสวงหาลู่ทางพัฒนาความร่วมมือระหว่างสื่อไทย-ลาว ให้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม 2548 จะครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ลาว และจะมีการจัดกิจกรรมฉลองโอกาสดังกล่าวในหลายรูปแบบ ผมจึงอยากส่งเสริมให้สื่อเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อ กระชับสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผมขอถือโอกาสนี้เปิดการสัมมนา “สื่อพัวพัน : สัมพันธ์ไทย-ลาว” และขออวยพรให้การสัมมนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ
ขอบคุณ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-