ดัชนีวัฏจักรธุรกิจ เดือน มิ.ย.48

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2005 16:08 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

          ภาวะเศรษฐกิจไทยจนถึงเดือนมิถุนายน 2548 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจและดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น ที่ยังมีการอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วง 9-11 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ขึ้นกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รายละเอียดดังนี้ 
ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุกิจระยะกลาง (Medium-run Leading Index) เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวแปรชี้นำ 7 รายการ ในเดือนมิถุนายน 2548 มีค่า 97.2 (ปี 2545=100) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.4 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของแปรชี้นำ 3 รายการ คือ มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่ อัตราการขยายตัวของดัชนีราคาสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลก และดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรลดลง 3 รายการ คือ ส่วนกลับของดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจญี่ปุ่น อัตราการขยายตัวของปริมาณเงินที่แท้จริงตามความหมายกว้าง (M2) และส่วนกลับของอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะกลาง ในเดือนมิถุนายน 2548 ลดลงร้อยละ 4.1
ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น (Short Leading Index) เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวแปรชี้นำ 6 รายการ ในเดือนมิถุนายน 2548 มีค่า 112.0 (ปี 2545=100) เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 1.4 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของตัวแปรชี้นำ 4 รายการ คือ มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่ จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประทศมูลค่าส่งออกที่แท้จริง (ในรูปเงินบาท)/5 และปริมาณเงินที่หมุนเวียนในมือประชาชน (M1) อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรที่ลดลง 1 รายการ คือ ดัชนีราคาหุ้น ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น ในเดือนมิถุนายน 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3
ดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจ (Coincident Index) เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวแปรพ้องเศรษฐกิจ 9 รายการ แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในเดือนมิถุนายน 2548 มีค่า 113.0 (ปี 2545=100) ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนโดยมีตัวแปรพ้องที่เพิ่มขึ้น 7 รายการ ได้แก่ ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะมูลค่านำเข้าที่แท้จริง (ในรูปเงินบาท)/5 ปริมาณการผลิตยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ ภาษีศุงกากร และยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศโดยมีตัวแปรที่ลดลง 1 รายการ คือ ปริมาณการผลิตเบียร์ ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจ ในเดือนมิถุนายน 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
หมายเหตุ
1.ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะกลาง สามารถคาดการณ์ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศล่วงหน้า 9-11 เดือน
2.ดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น สามารถคาดการณ์ทิศทางภาวะเศรษฐกิรโดยรวมของประเทศล่วงหน้า 3-5 เดือน
3.ดัชนีพ้องวัฏจักรธุรกิจ เป็นดัชนีที่ชี้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
4.อัตราการขยายตัว (six-monthed annualized growth rate) คำนวณจากสัดส่วนของดัชนีปัจจุบันเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แล้วปรับเป็นรายปี
5.ตัวแปรที่ใช้เป็นตัวแปรที่ขจัดปัจจัยฤดูกาล (Seasonal Adjustment) และตัวแปรที่อยู่ในรูปมูลค่า จะใช้มูลค่าที่แท้จริง (real value) โดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปเป็นตัวปรับ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ