คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอนำผู้อ่านให้มารู้จักกับองค์ประกอบของการเกิดแผ่นดินไหวในไทย และข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้มีสติในการเสพข่าว และไม่รู้สึกหวาดวิตกจนเกินเหตุ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจความเห็นและการรับรู้เกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวของประชาชนในกทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ค.58 พบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 59.88 รู้สึกว่าช่วง 10 ปีนี้มีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดบ่อยผิดปกติ และร้อยละ 58.07 รู้สึกกลัวว่าในอนาคตอาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในกทม.และปริมณฑล
กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 62.12 ยอมรับว่าไม่มีความรู้เพียงพอในการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวและกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.84 เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวกับประชาชนให้มากขึ้น
ผลการสำรวจดังกล่าวแสดงว่าคนไทยจำนวนมากมีความวิตกต่อเหตุแผ่นดินไหว และสะท้อนถึงการขาดความรู้ความเข้าใจต่อการรับมือภัยธรรมชาติดังกล่าว
ชาวไทยสมัยก่อนเชื่อว่า ปลาอานนท์แห่งมหานทีสีทันดรหนุนโลกอยู่ โดยปลาอานนท์มีขนาดใหญ่โต ซึ่งเชื่อว่ายาวราวๆ 8 ล้านเมตร และถ้าเมื่อยขึ้นมาก็จะพลิกตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา
ชาวโรมันโบราณคิดว่าเทพเจ้าที่ชื่อว่า วัลแคน อาศัยอยู่ในภูเขาไฟ เทพองค์นี้ทรงเป็นช่างตีเหล็กให้กับเทพเจ้าองค์อื่น ๆ เมื่อใดที่มีควันและเปลวไฟพุ่งออกมาจากภูเขาไฟ พวกเขาก็คิดว่าเทพเจ้าวัลแคนกำลังติดไฟในเตาหลอมอยู่ และเมื่อแผ่นดินสั่นสะเทือนก็หมายถึงว่าเทพเจ้าวัลแคนกำลังตีเหล็กหลอมอยู่บนทั่ง
ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าเทพเจ้าองค์หนึ่ง มีชื่อว่า โพไซดอน เป็นผู้ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว โดยเทพเจ้าโพไซดอนมีรูปร่างใหญ่ เมื่อพิโรธก็จะกระทืบเท้า ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ส่วนชาวฮินดูในประเทศอินเดียเชื่อว่าโลกของเราตั้งอยู่บนถาดทองคำซึ่งวางอยู่บนหลังช้างหลายเชือกติดกัน เมื่อใดที่ช้างเคลื่อนไหว โลกก็จะสั่นสะเทือนไปด้วย และเกิดเป็นแผ่นดินไหว ส่วนคนญี่ปุ่นเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า มีปลาดุกยักษ์อยู่ใต้พื้นดิน และเมื่อมีการพลิกตัวหรือขยับเขยื้อน ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว
พระในทิเบตเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกขึ้นแล้ว พระเจ้าได้เอาโลกวางไว้บนหลังของกบยักษ์ เมื่อกบยักษ์สั่นหัวหรือเหยียดแข้งเหยียดขาแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว
ขณะนี้เรารู้แล้วว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีการโอนถ่ายพลังงานศักย์ผ่านชั้นหินที่อยู่ติดกัน ขณะที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อยู่นอกชายฝั่ง อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาได้
นอกจากนี้ แผ่นดินไหวยังอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ การระเบิดจากการทำเหมืองระดับลึก การสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนใกล้รอยเลื่อน การสูบน้ำใต้ดิน รวมถึงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินด้วย
ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ก็อาจบ่งชี้ถึงโอกาสที่อาจเกิดแผ่นดินไหวได้ โดยสัตว์หลายชนิดมีการรับรู้และมักแสดงท่าทางแปลกๆก่อนเกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน โดยเราอาจพบการตื่นตกใจของสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์บ้านทั่วไป เช่น สุนัข เป็ด ไก่ หมู ขณะที่แมลงสาบ และหนูจะออกมาวิ่งเพ่นพ่าน และปลาจะกระโดดขึ้นมาจากผิวน้ำ
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่า ถ้าบริเวณใดเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก และถ้าสถานที่นั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง ก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกเช่นกัน นอกจากนี้บริเวณที่มีภูเขาไฟระเบิดมักจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นก่อนหรือหลังภูเขาไฟระเบิดได้
การเกิดแผ่นดินไหวสามารถวัดแรงสั่นสะเทือนเป็นริกเตอร์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ขนาด 1.0-2.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนอาจรู้สึกถึงการสั่นไหว บางครั้งรู้สึกเวียนศีรษะ
2.ขนาด 3.0-3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้ที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถวิ่งผ่าน
3.ขนาด 4.0-4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อยู่ในอาคารและนอกอาคารรู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนเกิดการแกว่งไกว
4.ขนาด 5.0-5.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือนและวัตถุมีการเคลื่อนที่
5.ขนาด 6.0-6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหายพังทลาย
6.ขนาด 7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคารสิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
สำหรับในไทยนั้น มีรอยเลื่อน 14 แห่งที่ยังมีพลังที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยพบในภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้และภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยรายเลื่อนบางส่วนได้แก่
1.รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กม.
2.รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน อ.เทิง อ.ขุนตาล และอ.เชียงของ จ.เชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กม.
3.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กม.
4.รอยเลื่อน แม่ทา พาดผ่าน อ.แม่ทา จ.ลำพูน และ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กม.
5.รอยเลื่อนะเถิน พาดผ่าน อ.แม่พริก อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กม.
6.รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน อ.งาว จ.ลำปาง และ อ.เมือง จ.พะเยา ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กม.
7.รอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือพาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนเมียนมาร์ ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จ.ตาก ไปถึง จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่ จ.อุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กม.
นักวิชาการระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย มี 2 สาเหตุ คือ
1.แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีแหล่งกำเนิดจากตอนใต้ของจีน เมียนมาร์ สปป.ลาว ทะเลอันดามัน ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
2.แผ่นดินไหวเกิดจากแนวรอยเลื่อนที่ยังสามารถเคลื่อนตัว ซึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศ เช่น รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนคลองมะรุย เป็นต้น
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเหตุแผ่นดินไหวตั้งแต่ช่วงต้นเดือนดังนี้
วันที่ 4 พ.ค. 58 เวลา 22.00 น. แผ่นดินไหวบริเวณ อ.ท่าสองยางจ.ตาก ขนาด 2.6 แมกนิจูด
วันที่ 5 พ.ค. 58 เวลา 16.28 น. แผ่นดินไหว อ.เมือง จ.เชียงราย ขนาด 1.5 แมกนิจูด
วันที่ 6 พ.ค. 58 เวลา 04.18 น. แผ่นดินไหว อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 4.6 แมกนิจูด และในเวลา 12.25 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล บริเวณ อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 3.2 แมกนิจูด
วันที่ 7 พ.ค. 58 เวลา 00.30 น. แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณ อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 4.8 แมกนิจูด
วันที่ 8 พ.ค. 58 เวลา 12.14 น. แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณ อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 2.7 แมกนิจูด
วันที่ 11 พ.ค.58 เวลา 10.49 น. แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณ อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 2.5 แมกนิจูด
วันที่ 15 พ.ค.58 เวลา 14.19 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 แมกนิจูดที่เมียนมาร์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 417 กม.
วันที่ 17 พ.ค.58 เวลา 02.04 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.5 แมกนิจูดที่เมียนมาร์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 160 กม.
และล่าสุด ในวันนี้ (20 พ.ค.) เมื่อเวลา 04.49 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.8 แมกนิจูดที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และเวลา 07.26 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 2.3 แมกนิจูดที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เนปาลในปลายเดือนที่แล้ว นายโสรัจจะ นวลอยู่ โหรชื่อดัง เจ้าของฉายา “นอสตราดามุสเมืองไทย" ก็ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 9 พ.ค.58 ให้ระวังถึงวันที่ 12 ก.ค.58 โดยระบุว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ผลจากปรากฏการณ์ ดาวเสาร์ ดาวราหู และดาวมฤตยู โคจรตั้งมุมฉากกัน แถมยังมีดวงอาทิตย์เป็นตัวเร่ง ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทย คาดเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเริ่มจากทางเหนือก่อนไล่ลงไปใต้
ด้านนายภิญโญ พงศ์เจริญ นายกสมาคมโหรนานาชาติ เตือนว่า ดาวพฤหัสบดีส่งกระแสไปถึงดาวพระเสาร์ ซึ่งเป็นประธานฝ่ายบาปเคราะห์ที่โคจรถอยหลังอยู่ตรงราศีพิจิก ดาวเสาร์ถูกดาวอังคารที่อยู่ตรงราศีพฤษภเล็งทำมุม 180 องศาสนิท เพราะฉะนั้นการที่ดาวเหล่านี้ทำมุมสัมพันธ์กันดังกล่าว จะนำมาซึ่งอุบัติภัยธรรมชาติเกี่ยวกับน้ำ ธรณีพิบัติ รวมไปถึงไฟด้วย ส่วนความรุนแรงก็จะแรงแบบเห็นได้ชัดเจน แต่มั่นใจว่าไม่ถึงขนาดแผ่นดินทางภาคใต้หรือแหลมมลายูจะหายไป
ส่วนนายไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คว่า “มหันตภัยรอบใหม่นี้ผมยังไม่สามารถบอกออกไปตรงๆอย่างชัดเจนได้ แต่รู้ว่ามันกำลังมาแล้ว ถ้าเป็นช่วงคาบเกี่ยวดินกับน้ำเช่นที่เกิดมาแล้วหลายครั้งก็บอกได้ว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและเกิดสึนามิ ทว่าคราวนี้แปลก มันเป็นช่วงคาบเกี่ยวน้ำกับไฟ ซึ่งไม่เคยปรากฎ ที่เคยปรากฎคือไฟกับดินเป็นภูเขาไฟระเบิด ลาวาไหลท่วมบ้านเมือง คราวนี้มฤตยู-พฤหัส-เสาร์ เป็นตรีโกณกันในราศีธาตุน้ำ จ่อเข้าสู่ธาตุไฟทั้งนั้น ส่วนราหูตัวเดียวอยู่ธาตุดิน หรือว่าจะเกิดแก๊สหรือภูเขาไฟระเบิดในทะเลแล้วแผ่นดินไหว ไฟลุกไหม้กว้างขวาง น้ำก็ท่วมประดังกันมา ตั้งแต่ภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นไปจนถึงกาญจนบุรี ผู้คนจะบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ ก็คอยตามดูเอาก็แล้วกัน น่าจะตระเตรียมบรรเทาสาธารณะภัยเอาไว้นะครับไม่เสียหายอะไร"
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการวิจัยลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.8-7.2 แมกนิจูด จากบริเวณรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ แม้ว่าอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็ตาม
ส่วนนายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล เขามีความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในไทยเป็นครั้งที่ 2 โดยการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่เกาะยาว จ.พังงา อาจส่งผลต่อรอยเลื่อนในประเทศไทยทั้ง 14 แห่ง
นายสมิทธแสดงความวิตกต่อรอยเลื่อนขนาดใหญ่คือรอยเลื่อนสะแก ที่เริ่มจากปากแม่น้ำอิระวดีไปถึงเกาะสุมาตรา พาดผ่าน จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต เนื่องจากเคยเกิดการไหวตัวรุนแรงในทะเลห่างจากไทยหลายร้อยกิโลเมตร และยังมีคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ซึ่งระยะเวลาเดินทางของคลื่นแค่ 90 นาที ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังมากจากการมุดตัวของเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซียซึ่งมีพลังงานสะสมมากในภาคใต้ของไทย ถ้ารอยเลื่อนนี้เคลื่อนตัวอีกก็จะเกิดสึนามิอีกครั้งที่รุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ นายสมิทธยังเป็นห่วงรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี โดยตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีความเครียดสะสมของพลังงานซึ่งมากเต็มที่แล้ว หากเกิดรอยเลื่อนใหญ่แม้ไม่ไหวรุนแรง ก็อาจทำให้เขื่อนแตกได้ และ จ.กาญจนบุรี อาจเกิดน้ำท่วมสูงถึง 22 เมตร
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ (โฆษกรัฐบาลขณะนั้น) กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้ที่ออกมาทำนายก็ต้องใช้ดุลพินิจถึงผลกระทบต่อส่วนรวมด้วย เนื่องจากการให้ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นผลร้ายต่อประชาชน ทำให้เกิดการตื่นตระหนกและความหวาดกลัวได้ ดังนั้นขอให้มองถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมและมองประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในภาพรวม
ทางด้านพล.ร.อ.เกาะหลัก เจริญรุกข์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันว่า รอยเลื่อนทั้ง 4 คือ ศรีสวัสดิ์ เจดีย์สามองค์ ระนอง และคลองมะรุ่ย ซึ่งทั้ง 4 รอยหากเกิดแผ่นดินไหว จะมีความรุนแรงไม่เกิน 5 แมกนิจูด และจะไม่สามารถสร้างความเสียหายต่อเขื่อนศรีนครินทร์ได้ เพราะได้สร้างไว้รองรับการไหวถึง 7 แมกนิจูด และหากมีการไหวจริง ด้วยสภาพตัวเขื่อนที่เป็นเขื่อนหิน จะทำให้ตัวเขื่อนมีความแน่นแข็งแรงมากขึ้น
ส่วนเรื่องการเกิดสึนามินั้นจะเกิดได้ในทะเลเท่านั้น และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีลำดับขั้นตอนในการติดตามเฝ้าระวัง โดยจะประสานกับหน่วยงานราชการเข้าช่วยเหลือ ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวได้ที่สายด่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 192 หรือ 0-2399-4114 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ หลังจากเกิดข่าวลือว่า มีภาพถ่ายดาวเทียมพบขี้เถ้าภูเขาไฟปะทุขึ้นในอ่าวไทย พร้อมกับมีการเตือนภัยในหลายๆ เรื่องนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมายืนยันว่า ข่าวลือดังกล่าวไม่มีมูลความจริง พร้อมระบุว่า อ่าวไทยเป็นแอ่งตะกอน ไม่มีภูเขาไฟใต้น้ำ
ทั้งนี้ ด้านล่างของทะเลอ่าวไทยเป็นหินอัคนีมีตะกอนมาทับถม และถ้ามีเถ้าภูเขาไฟก็อาจมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เคยระเบิดเมื่อหลายหมื่นปีก่อน แล้วปลิวมาสะสมเป็นตะกอนใต้ทะเล แต่ขณะนี้ไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในอ่าวไทยมีเถ้าภูเขาไฟ และจากการสำรวจพบภูเขาไฟใหม่สุดที่มีในไทยอายุถึง 500,000 ปี ซึ่งเป็นภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทแล้ว
ส่วนรศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เนปาลจะยังไม่มีผลกระทบต่อไทย โดยการขยับตัวของเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในเนปาล ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนในไทย แต่อาจส่งผลกระทบกับรอยเลื่อนเสฉวนและรอยเลื่อนในเมียนมาร์มากกว่า
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวเช่นกันว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลจะไม่กระทบไทย เนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่ที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่อื่นได้จะต้องอยู่ในรัศมีไม่เกิน 1,000 กม. แต่เนื่องจากไทยอยู่ห่างจากเนปาลถึง 1,800 กม. ดังนั้นจึงไม่กระทบไทยแน่นอน
นอกจากนี้ ดร.ไพบูลย์ยังกล่าวว่า การที่เราได้ยินข่าวแผ่นดินไหวบ่อยขึ้นในระยะนี้ ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังจะวิบัติ เพราะแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นตามปกติ แต่บังเอิญว่าปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น และไวขึ้นทั่วโลก จึงทำให้เราสามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางได้เพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีที่มีข่าวลือว่าอาจเกิดสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันของไทยเป็นรอบที่ 2 นั้น ดร.ไพบูลย์ระบุว่า ต้องเกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ ระดับ 9 ริกเตอร์ ซึ่งไม่ใช่จะเกิดกันง่ายๆ และคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ต่อกรณีโอกาสที่จะเกิดสึนามิขนาดใหญ่ในอ่าวไทยนั้น ดร.ไพบูลย์ฟันธงว่า เป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากในอ่าวไทยไม่มีแนวมุดตัวที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ ส่วนสึนามิจากฟิลิปปินส์หรือญี่ปุ่นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งอ่าวไทย ดังนั้นประชาชนจึงไม่ต้องกังวล และอย่าเชื่อข่าวลือ
ในปัจจุบัน การสร้างอาคาร ตึกระฟ้าใหม่ๆ หรือสะพานขนาดใหญ่ในไทย มักรองรับการเกิดแผ่นดินไหว โดยใช้โครงสร้างเหล็กกล้าที่แข็งแรงและยืดหยุ่น
ทางด้านสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเตือนภัยสึนามิอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือที่มีแอพพลิเคชั่น LINE ยังสามารถรับการแจ้งเหตุแผ่นดินไหวจาก Earthquake TMD เพื่อการรับทราบข้อมูลอย่างฉับไวด้วย
และถ้ากระทรวงศึกษาธิการของไทยมีการบรรจุความรู้เกี่ยวกับวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน โดยสอนนักเรียนตั้งแต่ในวัยเด็กในการรับมือแผ่นดินไหว เหมือนกับที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มักเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหว ก็จะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
In Focus หวังว่าการนำเสนอบทความในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านคลายความวิตกต่อการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไทย ขณะที่เชื่อมั่นในการเตรียมการของรัฐบาล และมีสติในการรับข่าวสารต่างๆ รวมทั้งมีจิตสำนึกในการรักษ์โลก เพราะเมื่อเราไม่ทำร้ายโลก โลกก็จะเป็นมิตรต่อเราเช่นกัน