ฮังการี : ศักยภาพในการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 24, 1997 10:13 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

1. สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า และความต้องการนำเข้า
1.1 ปัญหาเศรษฐกิจของฮังการี ภายหลังการปฎิรูปในช่วงปี 2537-2538 เช่น การเพิ่มขึ้นของยอดขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงาน ทำให้รัฐบาลอังการีนำมาตราการที่ลดการนำเข้า และการบริโภคของรัฐและเอกชนมาบังคับใช้ ส่งผลให้ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ยิ่งสูงขึ้น ประชาชนขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ ความต้องการบริโภค และการนำเข้าโดยรวมจึงลดลงอย่างมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคที่แท้จริงยังคงเพิ่มขึ้น นำไปสู่การขยายตัวของการลักลอบนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคและการค้าในตลาดมืด ประมาณกันว่าการนำเข้าที่ปรากฎสถิติว่าลดลง 2.5% ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2539 เทียบกับปี 2538นั้น แท้จริงน่าจะขยายตัวในระดับ 8-10 % (เมื่อรวมปริมาณการค้าในตลาดมืด)
1.2 การปฎิรูปและระยะปรับตัวทางเศรษฐกิจของฮังการีได้สิ้นสุดลงแล้ว การชลอตัวของการบริโภค และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เคยอยู่ในช่วงถดถอย ระหว่างปี 2537-2538 ได้เริ่มฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ในปี 2539 จากรายงานข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สำนักงานสถิติและหน่วยงานเอกชนดังนี้
ปี 2539 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฎชัดเจน เพราะผลของ Austerity package และนโยบายลดอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่รัฐบาลนำมาใช้ยังคงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของประชาชนความต้องการซื้อโดยรวมลดลงเล็กน้อย มูลค่าการขายปลีกลดลง 6% ในช่วง 6 เดือนแรก ปี2539 และส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อภาวะตลาดสินค้าชนิดที่สามารถชลอการบริโภคได้ เช่น เวชภัณฑ์และยา โดยเฉพาะตลาดอาหารเสริมความต้องการซื้อปลีกลดลง 20% เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์และเครื่องเสียงลดลง 10% เครื่องแก้ว สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และหนังสือลดลง 13% คาดว่าความต้องการซื้อโดยรวมจะกระเตื้องดีขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง และน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2540-41 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการซื้อของประชาชนจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะปัจจัยเสริมหลายประการคือ เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มดีขึ้น และมีเสถียรภาพ รัฐบาลประกาศนโยบายลดภาษีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหลายชนิด และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า (ยกเลิกการเก็บ Import surcharge 8% ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2540 เพื่อแก้ปัญหาการค้านอกระบบ และลดอัตราเงินเฟ้อ และเป็นช่วงใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งทั่วไป (จะมีขึ้นกลางปี 2541) ซึ่งวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลพรรคสังคมนิยมอาจจะชลอขบวนการปฎิรูปเศรษฐกิจ และเอาใจประชาชนมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศต่อ
1.3 ปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่จะช่วยให้ความต้องการซื้อของตลาด และการนำเข้าเพิ่มขึ้นที่สำคัญได้แก่
- นโยบายของรัฐบาลที่ประกาศจะเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในปี 2539 เป็น 2-2.5% ในปี 2540 3-4% และ 4-5% ในปี 2541 และ 2542 ตามลำดับ โดยจะยังคงรักษาดุลยภาพของเศรษฐกิจ และลดอัตราเงินเฟ้อจาก 28.2% ในปี2538 เหลือ 23-25% ในปี 2539 และให้ลดลงเหลือประมาณ 20% ในปี 2540 โดยประกาศขยายเพดานภาษีรายได้ ลดภาระภาษีและค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ และเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นต้น
- ฮังการียังคงเป็นแหล่งลงทุนที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติสูงสุด ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เป็นประเทศเดียวที่มีนักลงทุนจากทุกภูมิภาคของโลก เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิต และประกอบการค้าเช่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และประเทศในอาเซียน การลงทุนต่างชาติที่ยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกต่อไป จะช่วยเกื้อหนุนให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นด้วย
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮังการี กำลังมีบทบาท และความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากกว่าปีละ 35 ล้านคน และใช้จ่ายเงินมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วยให้ตลาดฮังการีมีขนาดใหญ่ และความต้องการซื้อหลากหลายขึ้น
2. นโยบายการนำเข้าของฮังการี
2.1 ความต้องการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ และเป้าหมายสูงสุดของฮังการีที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และ NATO (กำหนดไว้เบื้องต้นภายในปี ค.ศ 2002 (2545)) ทำให้รัฐบาลฮังการีพยายามดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศโปร่งใส มีการปรับเปลี่ยน กฎ ระเบียบ มาตรการการค้าให้เป็นไปตาม WTO และสากล รักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยกระดับการครองชีพของประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ฮังการีมีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนกับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และความต้องการของผู้ซื้อ และลดการพึ่งพาประเทศคู่ค้าเดิมในสหภาพยุโรป (ฮังการีทำการค้ากับสหภาพฯ คิดเป็น 65% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด)
ความสนใจของรัฐบาลฮังการีต่อภูมิภาคอาเซียน และความสนใจของนักธุรกิจฮังกาเรียนต่อประเทศไทย เห็นได้จาก การตัดสินใจเลือกเปิดเส้นทางบินตรงมายังกรุงเทพฯ ของสายการบินแห่งชาติ MALEV เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 นับเป็นการเชื่อมเส้นทางคมนาคม และการขนส่งระหว่างฮังการีกับเมืองแรกในเอเชีย ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการเดินทางของนักธุรกิจ และการขนถ่ายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น
2.2 ฮังการีค่อยๆ ผ่อนปรนข้อจำกัดทางการค้ามาเป็นระยะๆ หลังจาก เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ เช่น การประกาศยกเลิก Import Surcharge ซึ่งจัดเก็บมาตั้งแต่ 20 มีนาคม 2538 ในอัตรา 8% ลงเหลือ 6% เมื่อตุลาคม 2539 และจะลดลงเหลือ 0% (ยกเลิก) ภายใน 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง มาตรการอื่นๆ ที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการได้แก่ นโยบายกระตุ้นการบริโภคของประชาชนด้วยการประกาศจะไม่นำมาตรการใหม่ๆ ที่จำกัดการบริโภค และลดรายได้ที่แท้จริงมาใช้อีกในปี 2540 การลดภาษีการบริโภค (consumption tax) กาแฟและโลหะมีค่าลง 50% รวมทั้งการเปิดตลาดเสรีภายใต้ WTO และข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ที่ฮังการีเป็นสมาชิกเช่น EFTA,CEFTA และ EU Associated member จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและต้นทุนของสินค้าลดลง
2.3 นโยบายเปิดกว้างทางการค้า และการลงทุนของฮังการี ตลอดจนพื้นฐานของระดับการพัฒนาประเทศ และความมั่นใจว่าฮังการีจะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในระยะ 4-5 ปีข้างหน้าได้เป็นแรงจูงใจสำคัญให้หลายประเทศในเอเชียเข้าไปสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุน รวมทั้งใช้ฮังการีเป็นฐานผลิตและกระจายสินค้าไปยังประเทศข้างเคียงและตลาดในสหภาพฯ นโยบายดังกล่าวยิ่งทำให้การแข่งขันทางการค้า การบริการ และการลงทุนนับวันจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ความล่าช้าในการเข้าสู่ตลาด จะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียโอกาสและต้นทุนทางการค้าที่สูงขึ้นด้วย
เชื่อกันว่าฮังการีและประเทศในยุโรปกลาง-ตะวันออก ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีมีแรงงานและปัจจัยการผลิตราคาถูก และกำลังจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นฐานการผลิตใหม่ เพื่อการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป ทดแทนแหล่งผลิตในเอเชีย ซึ่งต้นทุนการผลิตกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการแข่งขันของสินค้าไทยหลายชนิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธการเข้าสู่ตลาด จากการส่งออกนำเข้า ไปสู่ความร่วมมือทางการค้า การร่วมลงทุน ดังเช่นที่ประเทศคู่แข่งขันกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
3. สถานการแข่งขันของสินค้าจากไทย เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น
3.1 สินค้าอาหารของไทย เช่น ข้าว ปลากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน รสชาด และเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ซื้อฮังการีมากกว่าสินค้าส่งออกชนิดอื่น ๆ เพราะมีการสร้าง ตรา ยี่ห้อของตนเอง และระบุแหล่งผลิตให้ผู้ซื้อเห็นได้ชัดเจน ความนิยมบริโภคสินค้าเอเชียที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในฮังการี และความเชื่อถือในคุณภาพสินค้าอาหารของไทยที่มีอยู่เดิม ได้มีส่วนช่วยให้ตลาดสินค้าอาหารไทยขยายตัว มีการนำเข้าสินค้าอาหารชนิดใหม่ ๆ และเครื่องปรุงอาหารไทยมากชนิดขึ้น เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซ๊อส เครื่องปรุงอาหารชนิดต่าง ๆ ผักสด อย่างไรก็ตาม ตลาดสำหรับสินค้าอาหารชนิดใหม่ ๆ เหล่านี้ ยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ปริมาณสั่งซื้อแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก ผู้นำเข้าจึงนิยมสั่งซื้อจากผู้นำเข้าในยุโรป เช่น ออสเตรีย เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ทำให้ต้นทุนและราคาขายปลีกค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม และเกาหลี ซึ่งมีเครือข่ายการค้ากันมาแต่เดิม และมีโครงการร่วมลงทุนในฮังการีจำนวนมาก
3.2 ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในฮังการี มีแนวโน้มลดลง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุสำคัญ ได้แก่
1. การแข่งขันของตลาดสินค้าไทยในฮังการี มีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ กล่าวคือ สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหลัก ๆ ของไทย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพและราคาปานกลางต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี และเวียดนาม ขณะเดียวกันสินค้าไทยก็ไม่สามารถขายแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันที่มีแหล่งผลิตในยุโรป ซึ่งแม้จะมีราคาขายสูงกว่า แต่ก็เป็นที่รู้จัก และยอมรับของตลาดมานาน ทั้งในเรื่องรูปแบบ สีสรร คุณภาพ และความได้เปรียบเรื่องระยะทางขนส่งและความสะดวกในการส่งมอบสินค้า
ยิ่งกว่านั้น นโยบายการลดค่าเงินท้องถิ่น (ฟอรินท์) และการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่รัฐบาลฮังการีดำเนินมาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้สินค้าของบริษัทต่างชาติที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตในฮังการีมีต้นทุนเปรียบเทียบต่ำกว่า และหันเหมามุ่งการขยายตลาดภายในแข่งขันกับสินค้านำเข้า
2. สินค้าส่งออกสำคัญของไทย หลายชนิดมีราคาส่งออกสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า ผู้นำเข้าให้เหตุผลว่าผู้ผลิตของไทยมีการผิดสัญญาส่งมอบสินค้าอยู่เสมอใช้ระยะเวลาการส่งมอบนาน และมีการออกแบบล้าหลัง ในลักษณะเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำทางการตลาด
3. ผู้ส่งออก และส่วนราชการที่รับผิดชอบส่งเสริมการค้า และการลงทุนยังติดอยู่กับข้อมูลเก่าๆ ว่าฮังการีและประเทศในยุโรปตะวันออกอื่นๆ เป็นประเทศสังคมนิยมเดิม เกรงว่าจะขาดแคลนเงินตรา และตลาดมีอำนาจซื้อต่ำ ทำให้ขาดความสนใจที่จะเข้าไปเจาะตลาดหรือสร้างความสัมพันธ์กับพ่อค้าท้องถิ่น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ ทั้งในยุโรปและเอเชียซึ่งส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าไทย มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของตลาด และมองการณ์ไกล มีแนวโน้มจะค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบของความสัมพันธ์ทางการค้าไปสู่ความร่วมมือ และการร่วมลงทุน โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และความสัมพันธ์ของนักธุรกิจท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ต่อการค้า ทั้งกับฮังการี และกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเห็นได้จากการเข้าไปลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค จากยุโรป เช่น เยอรมัน ออสเตรีย เดนมาร์ก จากสหรัฐอเมริกาและจากประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน มาเลเชีย และอินโดนีเชีย
4. การขาดความสนใจในตลาดฮังการีและประเทศโดยรอบในภูมิภาคยุโรปตะวันออกของผู้ส่งออกและส่วนราชการของไทย ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณและมูลค่าส่งออกสิน-ค้าไทยผันแปรขาดความต่อเนื่อง สินค้าไทยไม่เป็นที่รู้จักของผู้ซื้อ เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการสร้าง ตรา ยี่ห้อของตนเอง ขาดความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่จะจัดกิจกรรมแนะนำสินค้า และส่งเสริมการขาย ทำให้ต้องสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งขัน ที่หมั่นเดินทางไปติดต่อเสนอขายสินค้าแก่ผู้ซื้อโดยตรง มีการส่งมอบสินค้ารวดเร็ว มีระบบการขายและการจ่ายเงินค่าสินค้าค่อนข้างผ่อนผัน ค่าใช้จ่ายในการเปิด L/C ของธนาคารพาณิชย์ในฮังการีสูง และต้องวางเงินค่าสินค้า 100% เมื่อยื่นเอกสารขอเปิด L/C หรือต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรามากกว่า 30% ผู้นำเข้าจึงมักพอใจติดต่อซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกที่ผ่อนผันเรื่องวิธีการชำระเงิน หรือให้เครดิต เพื่อลดต้นทุนสินค้า ซึ่งผู้ส่งออกไทยไม่กล้าเสี่ยง และมักยืนยันให้ผู้นำเข้าเปิด L/C ในการสั่งซื้อสินค้า ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง ทำให้ผู้นำเข้าหันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทน
4. แนวโน้มการนำเข้า
หากประเมินจากสถิติการนำเข้าสินค้าไทยของฮังการีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและความต้องการซื้อของฮังการี สถานะการแข่งขันของสินค้าไทยและการนำเข้าจริงในช่วง 6 เดือนแรกปี 2539 ดัชนีทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลฮังการีที่จะส่งผลต่อความต้องการซื้อ ประมาณการได้ดังนี้
5. ข้อเสนอแนะในการกำหนดกลยุทธทางการค้าของไทยในฮังการี
5.1 พิจรณากำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคยุโรปตะวันออก-ยุโรปกลาง ทั้งในระดับภาพรวม และรายประเทศที่ชัดเจนเป็นแนวทางร่วมกันของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เอกชนเห็นถึงศักยภาพของตลาด และแนวโน้มการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุโรป ที่ผู้ผลิตและส่งออกของไทยไม่ควรมองข้ามเพื่อรักษาตลาดที่กำลังจะสูญเสียไป รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตไปตั้งใกล้ตลาด เพื่อลดต้นทุน และค่าขนส่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
5.2 เผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงของตลาดฮังการี และประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกให้เอกชนของไทยทราบ ตระหนักถึงโอกาสทางการตลาด และความร่วมมือทางการค้าที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก ตลอดจนความเหมาะสมของช่วงเวลาในขณะนี้(ก่อนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปคาดว่าในปี คศ. 2002 ) ที่ประเทศไทยควรเร่งเข้าไปวางรากฐานความสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งจัดทดลองตลาดเพื่อประเมินศักยภาพที่แท้จริงของสินค้าเป้าหมายส่งออกของไทย ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดยุโรปตะวันออกและสหภาพยุโรป จะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธการเข้าสู่ตลาด ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งเรื่องรูปแบบ ชนิด คุณภาพ ประเภท การแข่งขันเรื่องราคาระดับตลาดที่เหมาะสม และการแข่งขันอื่นๆ ที่ประเทศคู่แข่งขันของไทยนำไปใช้
5.3 ในช่วงที่ภาคเอกชนของไทยยังขาดความสนใจที่จะเข้าไปบุกตลาด และหากว่าส่วนราชการเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและอาจต้องสูญเสียไปหากล่าช้าและปล่อยให้คู่แข่งอื่นๆ ดำเนินกิจกรรมรุดหน้าไปก่อน เช่น เกาหลี จีน มาเลเซีย อินโดนีเชีย ซึ่งส่งออกสินค้าชนิดเดียวกับไทย และเข้ายึดครองตลาดในขณะนี้จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเป็นตัวกลาง ให้ข้อมูล กระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการ และให้ความช่วยเหลือในระยะเริ่มแรก ทั้งด้านการเงิน การให้หลักประกันการส่งออก การจัดกิจกรรมเสริม และการกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐบาล
ที่มา:สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงบูดาเปสต์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ