คำบรรยาย เรื่อง “นโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลผ่านระบบ ธ.ก.ส.” โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2005 15:17 —กระทรวงการคลัง

                                  คำบรรยาย เรื่อง
“นโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลผ่านระบบ ธ.ก.ส.
โดย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ จ.ชลบุรี
30 เมษายน 2548
วันนี้ผมได้เรียนท่านผู้จัดการใหญ่ว่าผมมาที่นี่ด้วยเจตนา 2 อย่าง
เจตนาที่ 1 คือเพื่อขอบพระคุณพวกเราชาว ธ.ก.ส. ที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผมและรัฐมนตรีช่วยวราเทพ ได้ไปให้นโยบายกับทาง ธ.ก.ส.
เมื่อครั้งที่เราไปให้นโยบายใหม่ๆ ผมเองก็มีความคิดอ่านอยู่ในใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะผลักดันให้ความคิดอ่านเหล่านั้นบังเกิดผลในทางปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด ความคิดอ่านเหล่านั้นมาจากประสบการณ์ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในครั้งนั้นเวลาที่เราออกต่างจังหวัด เราได้เห็นภาพชนบท เห็นความยากจน เห็นความด้อยโอกาสของพี่น้องเกษตรกรไทย การด้อยโอกาสเหล่านั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขายากจน
ในยุคสมัยนั้น เมื่อชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะกับนักศึกษา ก็มีความดีใจ ได้มีโอกาสระบาย ได้มีโอกาสเล่าสู่กันฟังปัญหาของเขา ประสบการณ์ในครั้งนั้นก็เกือบจะ 30 ปี ไปแล้ว ฝังอยู่ในใจอยู่ตลอดมา เมื่อตัวเราเองได้มีโอกาสไปศึกษาร่ำเรียนมา และเมื่อโอกาสเปิดได้มาร่วมบริหาร ธ.ก.ส. กับท่านวราเทพ ความตั้งใจอย่างแรกก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ ธ.ก.ส. เป็นเครื่องไม้เครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยขจัดความยากจนของพี่น้องเกษตรกร แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจ และปลุกเร้าให้พี่น้องชาว ธ.ก.ส. มารวมพลังกันได้มากน้อยเพียงใด
แต่ 4 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์อะไรบางอย่างออกมา เมื่อสักครู่นี้ ผมเดินมากับคณะตลอดเส้นทาง ท่านผู้จัดการใหญ่ได้นำเสนอสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลา 4 ปี และทิศทางที่จะเดินไปในอนาคตข้างหน้า เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงในลักษณะของทิศทาง แต่เปลี่ยนแปลงทั้งความกระตือรือร้น ความตั้งใจ ความตื่นเต้น ความภาคภูมิใจที่จะทำงาน 4 ปีที่ผ่านมาเรามาได้ไกลพอสมควร พวกท่านเหนื่อย แต่ประโยชน์อยู่กับพี่น้องเกษตรกร ผมก็ถือโอกาสนี้ขอบคุณพวกท่านแทนพี่น้องเกษตรกร
เจตนาที่ 2 ก็คือต้องการมาสานต่อความคิดร่วมกันในส่วนอีก 4 ปีข้างหน้า ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าเราจะช่วยกันสร้างประเทศให้มีความเข็มแข็ง และในการสร้างประเทศให้มีความเข็มแข็ง ยุทธศาสตร์สำคัญลำดับแรก ก็คือการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป ถ้าพวกเราจำได้ ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ 1 เราได้ประกาศสงครามกับความยากจน นโยบายรัฐบาลได้เน้นเรื่องนี้เป็นอันดับแรก มีความสำคัญสูงสุด และเมื่อคราวเลือกตั้งที่ผ่านมา เราก็ได้ประกาศเอาไว้ว่าเราต้องการขจัดความยากจนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปให้ได้ และจากการทำแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวง ทบวง กรม เราก็ได้นำเอาเรื่องของการขจัดความยากจนเป็นแผนการลำดับแรกที่ต้องการเจียดงบประมาณเพื่อการนี้ให้จงได้
จากวันนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้า ความฝันของธ.ก.ส. ผมอยากจะกราบเรียนว่ายิ่งใหญ่มาก ผมไม่ได้ฝันเห็นธ.ก.ส. เป็นลักษณะธนาคารธรรมดา แต่ภาพที่มันมีอยู่ในจิตใจผม ธ.ก.ส. ต้องเป็นสถาบันที่จะช่วยพัฒนาชนบทของประเทศไทย ก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ผมได้เรียนเรื่องนี้กับท่านวราเทพฯ ว่าถ้าผมไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่ต้องดูกระทรวงการคลัง สิ่งที่ผมจะทำก็คือการทำให้ ธ.ก.ส. กระทำหน้าที่เสริมกระทรวงเกษตรฯ เป็นมือขวาของกระทรวงเกษตรฯ ที่ไม่มีเพียงแต่ความคิดอ่าน แต่มีพลังคน พลังเงิน ทำให้ภาคเกษตรแข็งแรงให้จงได้ ความตั้งใจก็คือว่าไม่ว่าจะได้ดูแลกระทรวงเกษตรฯ หรือไม่ ผมจะใช้ ธ.ก.ส.เป็นอาวุธในการพัฒนาประเทศไทย
ปัญหาใหญ่ที่สุดของเมืองไทย คือความยากจน คุณจะขจัดความยากจนไม่ได้เลยถ้าเกษตรกรของไทยยังยากจนอยู่ และความยากจนเคยมีคนบอกว่าแก้ไม่ได้ เป็นปัญหาหนักของเมืองไทย แต่จริงๆ แล้วแก้ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีที่จะแก้ และความตั้งใจจริงที่จะแก้ ถ้ามีสมองคุณสามารถ Set ทิศทางแห่งการแก้ไขได้ แต่สำคัญก็คือว่าคุณจะมีความสามารถระดมพลังทั้งหมดปลุกเร้าพลังทั้งหมดไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ใน 4 ปีข้างหน้า ท่านนายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าเราจะมุ่งแก้ไขให้จงได้ และท่านได้แบ่งระดับของการแก้ไขเป็น 3 ระดับ
1. ระดับ Macro มหภาค หรือระดับชาติ สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีระบุเอาไว้ก็คือ เรื่องการสร้างแหล่งน้ำ เรื่องการปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรมีที่ดินทำกิน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมกำลังพยายามเสริมนายกรัฐมนตรีก็คือว่าเรากำลังผ่าตัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย และตั้งใจว่าจะทำให้ได้ จะควบคู่กับการผ่าตัด ธ.ก.ส. ที่ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่กำลังทำอยู่วันนี้ ผ่าตัดอย่างไร?
วันก่อนผมประชุม คชก. (คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร คชก. ตั้งแต่ตั้งต้นมาจนถึงทุกวันนี้ทำหน้าที่เหมือนโรงรับจำนำ ไม่เคยสามารถที่จะแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้เลย สินค้าแต่ละอย่างเมื่อชาวไร่ชาวนาปลูกขึ้นมา กว่าจะมาถึง คชก. ก็หมายความว่าสินค้าเหล่านั้นขายไม่ออก ราคาตกต่ำ เกษตรกรเดือดร้อน แล้วความตกต่ำของราคาเหล่านั้นไม่ใช่เพราะว่าสินค้าไม่มีค่า แต่เป็นเพราะว่าไม่มีใครไปรับผิดชอบในการบริหารจัดการทั้งอุปสงค์ และอุปทาน เกษตรกรซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ความอ่านน้อย มีการศึกษาไม่มากนัก ทั้งชีวิตรายได้ขึ้นอยู่กับสินค้าเพียงหนึ่งหรือสองอย่าง เขารู้อยู่อย่างเดียวก็คือว่าเขาต้องปลูกพืชสิ่งนั้นเพื่อมาขายในตลาด เมื่อเขาทุ่มเททั้งชีวิตมาผลิตสินค้าสิ่งนั้นมาขายที่ตลาด แต่ตลาดกลับไม่สามารถรับซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วยราคาที่คุ้มทุนได้ ชีวิตเขาก็อยู่ไม่ได้ เมื่อชีวิตเขาอยู่ไม่ได้ ร้องเรียนใคร ก็ต้องร้องเรียนรัฐบาล ขอให้รัฐบาลแบกรับประกันราคา เมื่อรัฐบาลไม่ประกันราคา เขาก็ตาย แต่ถ้ารัฐบาลไปประกันราคา ก็เสมือนหนึ่งบิดเบือนกลไกตลาด เท่ากับว่าเกษตรกรผลิตสินค้าไม่ได้ขายในตลาด แต่มาขายรัฐบาลผ่าน คชก.
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิด เกิดมาเป็นสิบๆ ปี ตั้งแต่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลกี่ยุคกี่สมัย คำถามคือว่าคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังหรือไม่ คำตอบคือไม่มี อย่าหลอกตัวเอง มีรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณนี้แหละที่กล้าประกาศว่าเราจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป และกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบก็คือกระทรวงเกษตรฯ
เรากำลังผ่าตัดว่าในกระทรวงเกษตรฯ คุณต้องระบุออกมาให้ได้ว่าสินค้ายุทธศาสตร์ทางการเกษตรมีกี่ตัว ตัวไหนเป็นอนาคตของข้างหน้า ตัวไหนเป็นตัวที่ท่านต้องเพิ่มความเข้มแข็ง สินค้าตัวไหนที่ต้องปรับโครงสร้างให้ชาวบ้านเลิกทำการผลิต ในสินค้าแต่ละตัวต้องมีคณะทำงาน มีหัวหน้าผู้ดูแลที่ดูแลตั้งแต่ต้นจรดปลาย ตั้งแต่สายพันธุ์ การเพิ่ม Productivity การเพิ่ม Yield การเพิ่มคุณภาพ การดูแลการตลาด ไปจนกระทั่งถึงการเชื่อมสัมพันธ์กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในการขาย ถ้ามีทีมงานที่ดูแลการผลิตสินค้า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร? เขาต้องดูแลว่าปีหน้าสินค้าตัวนี้มีอุปสงค์หรือไม่ มีความต้องการหรือไม่ ตลาดโลกเป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร แล้วก็นำมาวางแผนเพื่อที่จะสื่อความกับเกษตรกร และเขาต้องใช้ ธ.ก.ส.ให้เป็นประโยชน์
ผมได้กระซิบเรื่องนี้กับท่านธีระพงศ์ (ผู้จัดการ ธ.ก.ส.) ตั้งแต่แรกว่า ธ.ก.ส. เองก็ต้องจัดเป็นทีมเหมือนกัน เพื่อว่าจะได้ประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรฯ ยกตัวอย่าง สินค้ากระเทียม สินค้ากระเทียมเป็นสินค้าที่ไม่มีอนาคตแล้ว โอกาสจะเติบโตยาก เราจะต้องบอกให้เกษตรกรเลิกปลูกกระเทียม หันไปปลูกสินค้าอย่างอื่น แต่ถ้าไม่ทำการผ่าตัด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่าชาวบ้านก็จะปลูกกระเทียมอีก ปีหน้าก็ขายไม่ออกอีก แล้วมันไม่ใช่แค่กระเทียม มันจะมีหอม จะมีสินค้ามิรู้อะไรอีกตามมาเป็นพรวน ฉะนั้นวันนี้ ธ.ก.ส.ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ดูแลต้นจรดปลาย ลักษณะเช่นนี้คือสิ่งที่นโยบายรัฐบาลบอกว่าจากวันนี้ ธ.ก.ส. ก็ดี กระทรวงเกษตรฯ ก็ดี ไม่ใช่กระทรวงการผลิต แต่เป็นกระทรวงที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกร Value creation มันต่างจากคำว่าเพาะปลูก คนที่ดูแลข้าวก็ต้องมองว่าผมจะเอาพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดมาได้อย่างไร จะหาแหล่งน้ำได้อย่างไร ผมจะสร้างสินค้าข้าวให้มีคุณภาพสูงสุดได้อย่างไร ผมจะแปรรูปข้าวได้อย่างไร และผมจะไปตีตลาดโลกด้วยสินค้าข้าวได้อย่างไร ไม่ใช่สักแต่ว่าปลูก
คนที่ดูแลลำไย ก็คิดว่าผมจะพยายามหาลำไยที่คุณภาพสูงสุดออกมาได้อย่างไร Yield ต่อไร่ดีที่สุดได้อย่างไร แปรรูปอย่างไร Packaging อย่างไร ตีตลาดโลกอย่างไร ตั้งแต่จุดผลิตจนถึงจุดสุดท้ายคือการขาย
การผ่าตัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฯ ต้องนำไปสู่การผ่าตัดกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเชื่อมโยงจุดผลิตกับจุดขาย เชื่อมโยงกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องแปรรูปสินค้าเกษตรสู่สินค้าอุตสาหกรรม ถามว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้หรือไม่ ทำได้ แต่ในอดีตมีแต่การคุย ไม่เคยคิดทำอย่างจริงจัง วันนี้พวกเราจะร่วมทำให้เห็นจริงออกมา
จากกระทรวงเกษตรฯ มาถึงเรื่องของ SPV ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. ได้รับหมวกอีกใบหนึ่ง คือเป็น President ของ SPV หรือ โคล้านตัว เป็นโครงการนำร่องที่จะให้มีองค์กรหนึ่งจัดหาวัตถุดิบ มาจนถึงการเป็นสินค้า หา Financing แหล่งเงิน จนถึงการจัดจำหน่าย ดูแล Demand ดูแล Supply ถ้าโครงการนี้สำเร็จจะขยายไปสู่สินค้าอื่น พูดง่ายๆ ก็คือว่าเอาโครงสร้างนี้ครอบ มิสเตอร์ลำไย มิสเตอร์ข้าว มิเตอร์เงาะ ที่ท่านกำลังวาง เป็นเส้นแนวตั้งในขณะนี้อยู่ นี้คือระดับ Macro หรือระดับชาติที่พยายามทำ ท่านนายกรัฐมนตรีใส่งบประมาณแหล่งน้ำ เรื่องน้ำเข้าไปแล้ว ภายใน 5 ปี เรื่องน้ำจะไม่มีปัญหา เพราะเราเจียดออกมาแล้วว่างบเหล่านี้เพื่อแหล่งน้ำโดยเฉพาะ
2. จากระดับ Macro มาสู่ระดับชุมชน อันนี้คือความฝันของผมที่บอกพวกท่านเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่ธนาคารเพื่อเกษตรกรจะมีหน้าที่เพียงแค่การปล่อยสินเชื่อ เพราะความต้องการเกษตรกรไม่ใช่เงินอย่างเดียว เงินเขาไม่มี ความรู้เขาไม่มี มีแต่หนี้ สิ่งที่เกษตรกรต้องการมีมากมาย เวลาเราออกไปพัฒนาชนบท ไปออกค่ายสมัยเป็นนักศึกษา ทั้งบ้านไม่มีเงินเลย ลูกเต้าไม่ได้เรียนหนังสือ หน้าที่ของพวกท่าน จึงไม่ใช่ที่เกษตรกรคนเดียว แต่เป็นทั้งชุมชนชนบทที่พวกเขาอยู่ ทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ยิ่งท่านปล่อยสินเชื่อรายบุคคลมากเท่าไร เขายิ่งจน ยิ่งมีหนี้ เพราะอะไร เพราะบุคคลหนึ่งคนไม่มีทางที่จะกำหนดโชคชะตาของชีวิตของเขาได้ นอกเสียจากว่าท่านรวมกลุ่มเขา ทำการเกษตรร่วมกัน หาอาชีพเสริมร่วมกัน หาตลาดร่วมกัน พัฒนาการศึกษาร่วมกัน คือเอาวิถีชีวิตไปใส่ในสังคมชนบท ถามว่าหน้าที่นี้มีใครทำหรือไม่ ทำได้ยาก เพราะไม่มีกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดทำสิ่งเหล่านี้ แต่ ธ.ก.ส. ทำได้ทันที
ผมจึงได้พยายามบอกท่านธีระพงศ์ว่า 4 ปีข้างหน้า จากรายคนไปสู่ชุมชน อันนี้เป็นการสอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ปีแรก เราพักหนี้เกษตรกร เรามีกองทุนหมู่บ้านที่จะไปกู้ไปทำกิจการส่วนตัวของเขา ข้างหน้าเรามี SML เงินอันนี้ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านบริหารเงินเอง เอาเงินเหล่านั้นไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในชุมชนของเขา
เราเริ่มโครงการ OTOP สุดท้ายเงินที่ไปหมุนในชุมชนเหล่านั้น ก็คือการพัฒนาสินค้าการผลิตขึ้นมา ก็กลายเป็น OTOP คุณกำลังเริ่มโครงการ SML คุณกำลังเริ่มธนาคารหมู่บ้าน OTOP กำลังแผ่ขยาย ท่านลองหลับตานึกภาพดู ผมบอกท่านว่าท่านเลือกชุมชนออกมา เวลาที่ปล่อยสินเชื่อต้องมีทีมงานช่วยวางแผน ท่านจะปลูกอะไร ปลูกอย่างไร ความรู้มีไหม เครื่องไม้เครื่องมือมีไหม ถ้าเกษตรกรหนึ่งคน คุณต้องเอาควายไถนาแน่นอน แต่ถ้าท่านรวมกลุ่มขึ้นมา ปล่อยสินเชื่อเป็นรายกลุ่ม เอาเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมไปใช้ในชุมชน ตอนนี้เราอย่าเพิ่งไปวาดฝันถึงแทรกเตอร์ แต่ท่านมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรที่ทันสมัยขึ้น ธ.ก.ส. เป็นคนจัดหาได้ไหม แล้วทำการ Financing ให้เช่า ให้เขาได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี เขาไม่มีโรงสี ปล่อยเงินกู้สร้างโรงสีได้หรือไม่ ทำได้หมด แต่ถ้าท่านให้สินเชื่อกับเกษตรกรคนเดียว เขาทำไม่ได้ แล้วไม่ต้องกลัวขาดทุน ธ.ก.ส. ไม่ใช่ธนาคารตั้งขึ้นมาเพื่อเอากำไร จะเอาเกณฑ์อะไรมาวัดไม่ได้ทั้งนั้น และ ธ.ก.ส. มีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชนบท เงินที่ลงไป ถ้ามันสูญหายไป นั้นคือการลงทุน ก็ต้องเพิ่มทุน เพราะถ้าไม่มี ธ.ก.ส. ชาวนาไม่มีทางเกิด
ถ้าท่านมองภาพๆ นี้ ความคิดอ่าน วิสัยทัศน์ มันจะแตกต่างจาก ธ.ก.ส. เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คนละเรื่องเลย หน้าที่ของ ธ.ก.ส. คือสร้างเขาให้พัฒนา ไม่ใช่ปล่อยสินเชื่อ เก็บสินเชื่อ หากำไร คนละเรื่อง นั้นมันหน้าที่ธนาคาร ฉะนั้นผู้บริหาร ธ.ก.ส. มีหน้าที่ไปหาเขา สร้างเขาขึ้นมา ท่านลองนึกภาพดู ถ้าท่านทำสำเร็จ ท่านมีทีมงานไปทำงานร่วมกับพวกเขา ไปทำงานร่วมกับการพัฒนาองค์กรทั้งหลาย เสร็จแล้วจัดหาพันธุ์ จัดหาปุ๋ย จัดหาอาชีพเสริม ให้ความรู้ในการฝึกหัดทำสินค้าท้องถิ่น สร้างเป็นสินค้าแปรรูป สร้างวิสาหกิจชุมชน สร้างตลาดกลาง จัดจำหน่ายให้เขา หนี้ที่คุณปล่อยรายคนจะเป็นหนี้เสียหมด แต่ถ้าท่านไม่ทำหน้าที่อันนี้ หนี้ที่ปล่อยมันจะกลายเป็นหนี้ที่เสีย เพราะอะไร เพราะสินค้าที่เขาปลูก พอปลูกเสร็จ ก็มาขอการันตีจาก คชก.อีก ไม่มีตลาด แล้วเขาจะใช้หนี้ได้อย่างไร ฉะนั้นถ้าเรามองปัญหาทะลุปรุโปร่งจากต้นชนปลาย ถามว่าอันนี้มันทำได้หรือไม่ มันทำได้อยู่แล้ว ไม่มีใครคิดจะทำต่างหาก
3. มาถึงระดับบุคคลที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าว คาราวานคนจนถามว่าทำได้ไหม ทำได้อยู่แล้ว เพราะจดทะเบียนคนจนมีอยู่แล้ว ก็ส่งทีมขึ้นไปเจาะเลยว่าคนที่จะให้ข้อมูลดีที่สุด ก็คือ ธ.ก.ส. นั่นเอง ต้องลงไปคลุกคลีกับเขาทั้งชีวิต สินเชื่อบางสินเชื่อมองระยะยาว ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อการผลิต แต่เป็นสินเชื่อที่อาจจะช่วยเรื่องการศึกษาลูกเต้าเขา พัฒนาชุมชนเขา สิ่งเหล่านี้ก็ผนวกเสริมเข้าไป
ถ้าคุณทำงาน 3 ระดับ ระดับชาติ ระดับชุมชน ระดับบุคคล เชื่อมโยงผ่าตัดทั้งระบบ ทำงานร่วมกัน 4 ปีให้หลังจากวันนี้เกษตรกรมีแต่จะดีขึ้น คนที่ไม่รู้ คิดอย่างเดียว เอาตัวเลขสินเชื่อหารด้วยจำนวนประชากร หารด้วยชาวนาเกษตรกร บอกว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่ม รัฐบาลชุดนี้ทำไมหนี้ครัวเรือนเพิ่ม ท่านเอาสมองส่วนไหนมาคิด เอามโนธรรมคุณธรรมส่วนไหนมาพูด เงินที่ให้ไปแค่ซีกเดียวของการช่วยเหลือ อีกซีกหนึ่งนั้นเราต้องการยกระดับเขาทั้งระบบ ในขณะที่พนักงาน ธ.ก.ส. เป็นพันคน ทำงานหนักมาทั้ง 4 ปี แต่มาบอกว่าพวกท่านสร้างหนี้ครัวเรือน อย่างนี้มันน่าจะด่าเสียให้เข็ด การเมืองเขามีไว้สำหรับช่วยคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่มีไว้สำหรับสร้าง Popularity ถ้าคนเราทำงานด้วยใจ ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปสนใจ ผลงานมันจะพิสูจน์
ฉะนั้นถ้าทิศทางของรัฐบาลเป็นอย่างนี้ ระบบคิด ธ.ก.ส. ต้องเป็นอย่างนี้ เตรียมตัวรับเอาไว้ ซึ่งผมไม่หนักใจ เพราะว่า 4 ปีที่ผ่านมาท่านได้เริ่มทางนี้แล้ว และที่ต้องขอร้องคือระบบการทำงาน โครงสร้างองค์กรต้องเริ่มปรับเปลี่ยน ซึ่งก็ทราบมาแล้วว่าเริ่มมีการปรับเปลี่ยนแล้ว มีฝ่ายที่จะมาพัฒนาชนบท มีการแบ่งสินค้าเป็นแต่ละตัว มีคนดูแล และอันนี้นี่แหละที่จะทำงานควบคู่กับกระทรวงเกษตรฯ
สิ่งสำคัญต่อไปก็คือว่าภายในองค์กรกันเอง ท่านต้องพยายามเผยแพร่ให้พนักงานทุกคนเข้าใจและซึมซับ ผมได้เรียนท่านธีระพงศ์ว่าให้ใช้สื่อโทรทัศน์ให้เป็นประโยชน์ ขณะนี้ท่านสื่อความโดยใช้พนักงานธ.ก.ส. กับเกษตรกร แต่ถ้าท่านทำรายการทางโทรทัศน์ สมมุติช่อง 11 สอนให้เขารู้เทคนิคการเกษตร สอนเขาเรื่องการรักษาคุณภาพ สอนเขาทำสินค้าเสริมอาชีพ สอนให้เขาทำ Packaging ให้ความรู้เล็กๆ น้อยๆ กับเขา เกษตรกรซึ่งไม่มีการศึกษาในบางครั้งเขาไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถ้าคุณสอนเขาผ่านสื่อสารมวลชน ผ่านโทรทัศน์ ผ่านวิทยุ อันนี้ก็คือการให้การศึกษาเขา
ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานของ ธ.ก.ส. ต้องไม่ปิดตัวเอง 3 ประสาน คือ ธ.ก.ส. SME Bank (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ธนาคารออมสิน ต้องประสานเป็นหนึ่งเดียว เข้าไปพัฒนาชุมชน ส่วนไหนสินค้าเกษตรเป็นหลักใหญ่ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อ ช่วยพัฒนาชนบท ส่วนไหนแปรรูปใช้ SME Bank เป็นวิสาหกิจชุมชน ส่วนไหนไปสู่เรื่องการศึกษา เรื่องชีวิตครอบครัว ธนาคารออมสินเข้าไปช่วย ช่วยกันแบ่งเบาภาระออกมา ไม่ช้าไม่นานทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบ
ผมเรียนผู้จัดการใหญ่ว่าให้เชื่อม ธ.ก.ส. กับธนาคารต่างประเทศที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน เอาเกษตรกรของเราไปดูงานที่ต่างประเทศ เอาสหกรณ์ของไทยไปดูสหกรณ์ของญี่ปุ่น ไปแลกเปลี่ยนความรู้ความอ่านกัน เอาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาช่วยเหลือพัฒนา ธ.ก.ส. ยกระดับ ธ.ก.ส. ขึ้นมา เป็นธนาคารพัฒนาอย่างแท้จริง ธ.ก.ส. ไม่ใช่แค่เดินใส่เสื้อสีเขียวขี่จักรยาน อีกหน่อย ธ.ก.ส. ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์ ใส่สูทหาเกษตรกร เกษตรกรใช้แทรกเตอร์ในการไถนา ภาพมันก็จะเปลี่ยนคนละเรื่องเลย แต่ถ้าเรายังคงใช้ความคิดเก่าเกษตรกรต้องจน ธ.ก.ส. เน้นชาวนา ภาพก็คือภาพเก่า
ภารกิจอันนี้ 4 ปีถ้าเราช่วยกันอย่างจริงจัง ในอีก 2—3 ปี ข้างหน้าชนบทจะกลายเป็นภาคการผลิตสินค้าเกษตร ฐานการแปรรูปสินค้าชุมชน กลายเป็น OTOP ถ้าทำได้ดีเอา SML มาใช้ประโยน์สูงขึ้น พัฒนาชนบทจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปในชนบท คณะทำงานหมู่บ้านทำงานร่วมกัน มีผู้ว่าราชการจังหวัด มี ส.ส. มีคนในพื้นที่ช่วยกันพัฒนา อำนาจส่วนกลาง บทบาทส่วนกลางลดน้อยถอยลง ชนบทก็จะแข็งแรงขึ้น ประชาธิปไตยก็มีมากขึ้น เพราะว่าเขาลืมตาอ้าปากได้ เขามีความรู้มากขึ้น อำนาจซื้อในชนบทก็เพิ่มมากขึ้น เมื่ออำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจท้องถิ่นก็แข็งแรงขึ้น ตลาดภายในประเทศก็มีมากขึ้น ประเทศไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว เศรษฐกิจก็เจริญรุ่งเรือง ผมอยากให้นักวิเคราะห์ทั้งหลาย ที่วันหนึ่งมัวแต่คิดสั้นๆ ฟังเสียให้จบก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสร้างดวงดาวไม่ใช่ของง่าย การวิพากษ์มันง่าย แต่การทำงานให้เป็นปฏิบัตินั้นมันยาก ต้องใช้ความตั้งใจ ต้องใช้วิญญาณ ถ้าใจไม่แข็งพอ คุณผ่าตัดเกษตรไม่ได้ อย่าหวังประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเลย ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่ 60 ล้านคนเป็นเกษตรกร
ผมได้พูดสิ่งที่ต้องการพูดแล้ว คือขอบคุณพวกท่าน และให้ทิศทางแห่งอนาคตข้างหน้า ถ้าเป็นไปได้ อีก 4 ปีข้างหน้าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทของเมืองไทย ถ้าเราเปลี่ยนแปลงได้ พวกเราพันคนในที่นี้ถึงตายก็คงไม่เสียดายชีวิตเพราะทำบุญเอาไว้เยอะ และบุญอันนี้จะตกกับลูกหลานของพวกท่าน ไม่ตกกับผม ไม่ตกกับท่านวราเทพ ก็ตกกับลูกของพวกผม เพราะเราทำแต่บุญ เราไม่เคยทำกรรม ก็ขอให้พวกเราทุกคนมีกำลังใจ ไม่ใช่ทำเพื่อใคร ทำเพื่อคนไทย ไม่ใช่ทำเพื่อรัฐบาล แต่ทำเพื่อคนไทยทั้งหมด ที่จ่ายเงินภาษีมาให้พวกท่านๆ ขอบคุณมาก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ภาพข่าวกระทรวงการคลังวันที่ 30 เมษายน 2548
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สุรีย์พร ชัยยะรุ่งสกุล : ถอดเทป/พิมพ์
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : Edit

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ