การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2005 16:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์   อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า ฮ่องกงจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6  ระหว่างวันที่ 13 - 18 ธันวาคม 2548  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ  เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการเปิดตลาดและการลด/เลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร และการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม 
นางอภิรดี กล่าวว่า ขณะนี้ การเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้น ประเด็นปัญหาอยู่ที่เรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่พอใจข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตรในอัตราต่ำกว่าที่เรียกร้อง ซึ่งสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การเจรจาเรื่องอื่นๆไม่คืบหน้าไปด้วย โดยในช่วงวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีถึง 3 การประชุม ได้แก่ 1) การประชุมกลุ่ม 5 ประเทศที่เป็นหัวหอกของการเจรจาที่กรุงลอนดอน คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิลและญี่ปุ่น 2) การประชุมกลุ่ม G 20 (ประเทศกำลังพัฒนาผู้ส่งออกสินค้าเกษตร 21 ประเทศที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันการเปิดเสรีสินค้าเกษตร อาทิ ไทย บราซิล อินเดีย จีน เม็กซิโก อียิปต์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) และ 3) การประชุมรัฐมนตรี WTO กลุ่มย่อย 24 ประเทศ ที่นครเจนีวา ประกอบด้วย สหรัฐฯ สหภาพฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการใหญ่ WTO เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในส่วนของไทยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากสหภาพฯ ยืนกรานที่จะไม่ปรับข้อเสนอเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตร อีกทั้งยังตั้งเงื่อนไขให้ประเทศอื่นเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ เป็นการแลกเปลี่ยนด้วย ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ต่างก็ยังยืนกรานท่าทีเดิมของตน จึงทำให้การเจรจาชะงักงัน
นางอภิรดี กล่าวต่อว่า การประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเอเปก ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายนศกนี้ จะร่วมกันผลักดันการเจรจารอบโดฮาให้คืบหนาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเอเปกครั้งนี้ จึงจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกง เนื่องจากสมาชิกเอเปก ซึ่งมีจำนวนถึง 21 ประเทศ เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในตลาดโลก ดังนั้น หากสมาชิกเอเปกตกลงกันได้ ก็จะช่วยให้การเจรจาที่นครเจนีวามีความคืบหน้าได้
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีเอเปกและสมาชิก WTO ย้ำท่าทีของไทยในเรื่องต่าง ๆ โดยเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญอันดับสูงสุดคือเรื่องการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งไทยต้องการให้ที่ประชุมที่ฮ่องกงตกลงเรื่องสูตรการลดภาษีสินค้าเกษตร การลดการอุดหนุนภายในให้สำเร็จ และตกลงในเรื่องเส้นตายที่จะยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตรให้หมดไปให้ได้
ทั้งนี้ หากสมาชิก WTO ไม่สามารถตกลงประเด็นปัญหาสำคัญข้างต้นได้ทันก่อนการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมีการปรับลดความคาดหวังของการประชุมที่ฮ่องกงจากเดิมที่กำหนดจะจัดทำรูปแบบข้อผูกพัน (modalities) เรื่องสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้เสร็จ โดยอาจเหลือแค่เพียงการกำหนดตัวเลขบางตัวลงในสูตรการลดภาษี และการลดการอุดหนุนภายใน แต่เป็นที่คาดหมายว่าสมาชิก WTO จะต้องพยายามสรุปผลการเจรจารอบโดฮาให้ได้ภายในปี 2549 เนื่องจากอำนาจการเจรจาของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงในกลางปี 2550 หาก WTO ไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ก็มีโอกาสที่การเจรจาจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ