(ต่อ1) คำกล่าวของ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2005 10:07 —กระทรวงการคลัง

          ประเด็นที่ 2 ก็คือเรื่อง Privatization การที่นำบริษัทที่เหลือที่มีศักยภาพเข้าตลาดหลักทรัพย์ Privatization นั้นชัดเจน ความประสงค์คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ในฐานะเป็นบริษัทมหาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพที่จะสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้แก่รัฐวิสาหกิจเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของรัฐ คือหลักสำคัญๆ แล้วก็ส่วนใหญ่อะไรที่มีความจำเป็นต่อการกำกับในการดูแลในเชิงนโยบายก็ยังจะดำรงความเป็นรัฐวิสาหกิจ คือยังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 อยู่ แล้วก็มีกติกาชัดเจน บางรัฐวิสาหกิจต้องการถือหุ้นอย่างน้อย 75% ด้วยซ้ำ เพื่อที่จะให้แน่ใจว่านโยบายของรัฐบาลได้รับการตอบสนองโดยไม่มีการบิดพลิ้ว คือใครก็ Veto ไม่ได้  นี่คือ Privatization ซึ่งมันผ่านมานาน ทุกรัฐบาลก็อยากจะทำ แต่ตลาดทุนก็เริ่มรองรับสิ่งเหล่านั้นได้ดี ที่ผ่านมาทุกตัวที่มีการ Privatize ผมเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
คราวนี้มาถึงบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่กำลังคุยกันอยู่ อันนี้ก็อีก สาเหตุของมันไม่ใช่เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อที่จะไปอยู่ภายใต้คนใดคนหนึ่งที่จะดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ตอนนี้กระทรวงการคลังคือผู้ที่ถือหุ้นแทนรัฐบาล เวลามีการบริหารส่วนใหญ่ก็มีตัวแทนกระทรวงการคลังและกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าไปเป็นคณะกรรมการ นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็มี CEO ซึ่งเป็นมืออาชีพมากขึ้น ถ้าเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้วก็มีการ Privatize ก็เป็นเงื่อนไขแบบนั้น แต่จะเห็นว่าพอทำแบบนั้นขึ้นมามันก็จะไม่วายจะต้องมีเรื่องของความไม่โปร่งใส มีข่าว มีอะไรทุกๆ อย่าง มีการถูกโจมตี บางทีรัฐมนตรีที่ว่าการกระทรวงเจ้าสังกัดรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ต้องทำงานทำการในด้านอื่นๆ แค่มานั่งแก้ตัวอยู่เรื่องเดียวก็ตายแล้ว ไม่ต้องทำอะไร แค่เตรียมตอบกระทู้เรื่องนั้นก็ตายแล้ว ทำไมเราไม่คิดเปลี่ยนมัน เปลี่ยนวิธีการบริหาร เปลี่ยนวิธีการลด ซึ่งทำแล้วลดทั้งภาระหนี้ของรัฐ สร้างความโปร่งใสในการบริหาร สร้างมืออาชีพในการบริหาร นั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดของการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าลงไปถึงระดับรัฐวิสาหกิจแล้วไม่มีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวนอกจากมืออาชีพซึ่งได้รับการคัดเลือก ได้รับการสรรหาเข้าไปดูแล โดยมติของการจัดตาม พรบ.รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ รูปแบบยังไม่ได้ลงตัว แต่ปรัชญามันอยู่ตรงนั้น การดูแลทรัพย์สินและทุนของรัฐถ้ามันกระจัดกระจายไป ถึงแม้จะพอเห็นตัวเลขแต่เวลามันเสียหายมันตามไม่ทันแต่ถ้ามันมีบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำกับดูแลโดยผู้ทรงคุณวุฒิและมีทุกอย่างที่จะมาช่วยดูนี้ ตัวเลขมันไม่ไปไหน มันสามารถที่จะกำกับดูแลได้โดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่สำคัญ ในเมื่อรูปแบบมันสามารถจะวางให้มีการบริหารแบบโปร่งใส ซื่อสัตย์ ยุติธรรมแล้ว วัตถุประสงค์มันอยู่แค่นั้น ดังนั้นเชิงรุกนี้มันถึงต้องทำ ทั้งการลงทุนใน Mega projects ต้องทำทั้งการดูแลรัฐวิสาหกิจ และก็ต้องดูแลทั้งประสิทธิภาพการบริหารรัฐวิสาหกิจ และการลดภาระหนี้ของรัฐ
ในแง่ของรับ เรื่องของการรับ ผมเข้าใจว่าไม่ว่าจะบริหารประเทศแบบไหนก็ตาม มันมี External factors มีอิทธิพลต่อเราเยอะมากๆ ดังนั้นจะเห็นว่ามีเรื่องของราคาน้ำมัน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน มีอิทธิพลต่อเราสูงมากๆ เรื่องของการบริหารความเสี่ยง เรื่องของการบริหารสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทั้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ เรื่องไข้หวัดนก ทุกๆ อย่างต้องตั้งรับให้เป็น ถ้าตั้งรับไม่เป็นมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ เรื่องของสึนามิ ตั้งรับให้เป็น คือสามารถจะตั้งรับโดยเชิงรุกได้ คือเข้าไป Attack ปัญหา ไม่รอให้ปัญหาบานปลาย สิ่งนั้นคือสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกัน
อย่างเราไปภาคใต้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังแต่ก่อนก็คงจะพยายามดูว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ตอนหลังๆ ก็เริ่มมีบทบาทที่ Pro-active คือเราไปคุยกับนักธุรกิจ คุยถึงความต้องการของนักธุรกิจที่นั้น มันก็ออกมาได้มีแนวทางมีมาตรการที่เยอะแยะที่กระทรวงการคลังได้เข้าไปทำ และนายกรัฐมนตรีท่านก็พอใจ คน นักธุรกิจก็พอใจ ไม่ได้หมายความว่าขออะไรก็ให้ แต่อะไรที่มีเหตุผลว่าเป็นเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้เศรษฐกิจมันชะลอตัวลง จำเป็นต้องมีการช่วยในด้านภาษีในด้านสินเชื่อ เราก็ช่วยผลักดันให้และทำให้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เขาฟื้นกลับมาได้ กระทรวงพาณิชย์เองแต่ก่อนก็ไม่ได้คิดอะไรกับภาคใต้ ไม่ได้คิดทำอะไร ก็ไปตั้งธงฟ้า 30 กว่าจุดใน 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ได้ผล วันศุกร์ซึ่งประกาศห้ามค้าขาย ปรากฏว่าในแต่ละอำเภอที่ไปตั้ง คนออกมาเป็นพันๆ คนหลายพันคนเลย มาซื้อของแย่งกันซื้อของ ข้าว น้ำตาล น้ำมันนี้ขายไม่พอ ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนว่ารัฐบาลระดับสูง เจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปเอาใจใส่ ไปดูแลทุกข์สุขของเขา ทั้งด้านประชาชน ทั้งด้านของนักธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่จะไปปราบปราม หรือว่าไปยุติปัญหาขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่เราเข้าใจถึงภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน
ฉะนั้นกระทรวงเศรษฐกิจนี้อย่าบอกว่าทำอะไรไม่ได้กับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำได้ และควรจะรีบทำให้เร็วด้วย ผมเชื่อว่าสมัยก่อนไม่มีทางเลย กว่าจะเบิกเงินได้ผ่านงบประมาณ งบประมาณคิดแล้วคิดอีก มาถึงกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางก็คิดแล้วคิดอีก ให้ดีไม่ให้ดีอยู่นั้นแล้ว บางทีคนตายไปแล้ว สมัยนี้ไม่เป็นอย่างนั้น สมัยนี้ไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ แล้วก็ไปด้วยดี ก็ต้องขอชมเชยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังทุกท่านที่กล้าเสนอมาตรการที่จะช่วยเป็นระยะสั้น แล้วมันจะมีปัญหาระยะสั้นๆ เกิดขึ้นเยอะแต่มันเกิดขึ้นในจุดต่างๆ เราต้องมีหน้าที่สอดส่องดูแล ท่านที่อยู่ในต่างจังหวัดต้องดู ภัยแล้งอย่าคิดว่ากระทรวงการคลังช่วยไม่ได้ จริงๆ แล้วช่วยได้ ดังนั้นทุกเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน กระทรวงการคลังช่วยได้ นักธุรกิจบอกว่าตอนนี้มีธุรกิจอยู่ทำธุรกิจขอสินเชื่อไม่ได้เพราะอะไร บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกัน อย่างนี้กระทรวงการคลังควรจะบอกว่าเราต้องช่วยให้ได้ เพราะเคยช่วยมาแล้ว ตอนมีสงครามอิรัก บริษัทการบินไทยไม่มีใครค้ำประกันให้หรอก ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยค้ำประกันให้การบินไทยเจ๊งไปแล้ว บินไม่ได้ เรื่องใหญ่ๆ ช่วยได้เรื่องเล็กๆ ทำไมไม่ช่วย ง่ายกว่าตั้งเยอะ ตรงนั้นต่างหากที่ผมคิดว่าอยากให้ทุกท่านที่อยู่ในต่างจังหวัดเอาใจใส่ราษฎร เพราะว่าเขาจน เขาต้องการความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ฉับพลัน กระทรวงการคลังมีเครื่องมือเยอะ ไม่ใช่ไม่มี ที่จะช่วยเขา มีเครื่องมืออีกเยอะ ฉะนั้นอยากให้ท่านเริ่มเอาใจใส่ในสิ่งของการตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันมีตลอดเล็กๆ น้อยๆ จะมีตลอด ถ้าเราไม่ดูดายประชาชนจะรักเรา
การปรับ ผมพยายามสรุปว่าปรับตัวนี้ต้องปรับอย่างไรบ้าง เราปรับมาแล้วพยายามทำ Financial restructuring คือแก้ปัญหา NPL มาแล้ว 4-5 ปี ก็คงจะใกล้ๆ จะหมดแต่ก็ยังไม่หมดดี ตรงนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งต้องทำให้มันจบให้เร็ว บสท. ต้องรีบจบให้เร็ว ผมตอนตั้ง บสท. เราคิดว่า 5 ปี เผื่ออีก 3 เป็น 8 น่าจะจบภายใน 8 แน่นอน ตอนแรกคิดว่าจะให้จบภายใน 5 ปี คุยๆ กันไปไม่ค่อยแน่ใจบวกให้ 8 ปี 8 ปีรอชำระบัญชี รอเลิกกิจการ 2 ปี ชำระบัญชีอีก 2 ปี และอายุมันยังไงก็ไม่ควรจะเกิน 12 ปี แต่ผมเชื่อว่า 8 ปีควรจะต้องจบ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ผมเป็นทั้งกรรมการและเป็นที่ปรึกษามานานพยายามผลักดันในจุดนี้ว่าอย่าไปยืดกว่านั้นเป็นอันขาด เพราะว่าวัตถุประสงค์เป็นองค์กรเฉพาะกิจ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกิจในช่วงวิกฤติ ฉะนั้นอย่าไปยืดมัน กฎหมายทุกตัวที่ทำเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะกิจอย่าไปต่อมันเป็นอันขาด ไปต่อหมายถึงวิกฤติยังไม่หมด ตอนนี้ภาคเอกชนมีความแข็งพอแล้วที่จะรับสิ่งที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ ไปดูแลแทนเราได้ ฉะนั้นอย่าไปต่อเป็นอันขาด ไม่รู้ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ไม่มีวันจะต่ออายุให้ พ.ร.บ. ที่ผมเป็นคนออกเองเหล่านี้ จะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามันเป็นกฎหมายเฉพาะกิจ
เรื่องของ Economic restructuring การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญ จำเป็นจะต้องช่วยกันคิด เพราะกระทรวงการคลังเองจะปรับอย่างไร แล้วเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลังเองควรจะปรับอย่างไร อันนี้จะเป็นหัวใจใหญ่ของการศึกษา การประชุมกับนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น ตอนนี้ผมกับท่านสมคิดก็เริ่มคิดแล้วเริ่ม Line up ว่าจะทำอย่างไรก่อน เราจะเริ่มต้นที่ Electronics industry ก่อน หรืออาจจะไปที่ยานยนต์ แล้วไปจุดอื่นๆ ซึ่งทำแล้วไม่ใช่ทำเฉพาะที่อุตสาหกรรม หรือที่พาณิชย์ คลังต้องร่วมทำด้วยไม่อย่างนั้นมันจะไม่สมบูรณ์ มันจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้เต็มที่ เรื่องของ Public finance restructuring นี้ได้คุยไปแล้ว โครงสร้างรายจ่ายและรายได้จะต้องมีการคิดถึงการเปลี่ยนแปลงกระแสโลกาภิวัตน์ของโลก Free flow of capital การเคลื่อนย้ายเงินและทุนนี้ก็คงจะได้คุยไปแล้ว นี้คือการปรับที่ต้องคิด
การสู้ ผมเชื่อว่าตรงนี้คือจุดที่เราจะต้องตั้งแนวทางให้แน่ชัดก่อนและจะสู้กับโลกอย่างไร และตราบใดที่เรายังมีทัศนคติที่เป็น Outward looking ก็คือยังมองโลกว่าเรามีคู่แข่งแล้วเราอยากจะเอาชนะใครบ้าง เราจะมีกำลังที่จะทำงาน แต่ตราบใดที่เราคิดว่าเราดีอยู่แล้วนี้ เราจะกลายเป็นคนเฉื่อยไปในทันที ผมเรียนท่านเลย ผมถามหลายๆ คน บอกทำอยู่แล้ว ดีอยู่แล้วนี้ ผมว่า “เอ้อ คนนี้ไฟมอดไปหน่อยหนึ่ง” ไฟจะเริ่มมอดทุกที เวลาถามอย่าบอกว่า “ดีอยู่แล้ว ทำอยู่แล้วนะครับ” แต่บอกว่า “ทำอยู่แล้ว และกำลังจะปรับปรุงอะไรบ้าง” นั้นคือมีไฟ มีไฟที่จะคิดต่อไปข้างหน้า ไม่ทำอยู่แล้ว ลูกน้องทำดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแตะต้อง ต้อง Encourage ให้ลูกน้องมีความคิดที่สร้างสรรค์ แล้วผมพร้อมจะคุยด้วย มี Idea อะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับงานที่กระทรวงการคลังที่ปรับปรุงนี้ ผมพร้อมจะคุยด้วย ผมเพียงแต่ขอว่าอย่ามาเล่าให้ฟังแต่ปัญหา มาเล่าถึงปัญหาและคำตอบของปัญหาบ้าง ทางเลือกที่ผมควรจะเลือกได้ในคำตอบบ้าง ไม่งั้นผมคงแย่ รับแต่ปัญหา เพราะผมก็มีสมองอยู่นิดเดียว คนเดียว ก็อยากจะฝากให้คิดว่าการสู้ ก็คือการที่พร้อมจะแก้ปัญหา และปรับปรุงในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ และมองโลกว่าเป็น Outward looking
จุดที่ 2 ที่ต้องสู้ ก็คือสู้กับความท้าทาย เราเข้าใจ บางทีราชการก็ต้องพยายามสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่งกัน แต่ที่สู้เพราะมีความท้าทายในการงานที่ตัวเองมีอยู่มันสำคัญกว่า นั่นคือจุดที่แสดงให้เห็นความสามารถของแต่ละท่าน ว่าความท้าทายต่องาน ต่อเป้าที่วางให้ท่าน ต่อสิ่งต่างๆ ผมฟังนะเป้า เวลาไม่ถึงเป้ามันจะมีปัญหาสำหรับที่ทำไมไม่ถึง แต่ถ้ามันเกินเป้าเมื่อไหร่มันไม่มีปัญหาเลย ทำได้ดีมากๆ เพราะบางทีมันอาจจะมีปัญหามากกว่าคนที่ไม่ถึงเป้าก็ได้ คิดให้ดีๆ สิ่งที่ผมพูด เพราะปัญหากับคำตอบมันคนละอย่างกัน บางทีวางเป้าให้ต่ำแล้วมันเกินเป้าแน่ๆ ก็คือเหมือนกับไม่มีปัญหา ฉะนั้นมันคนละด้านกัน การวางเป้ากับการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็คือการใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง แล้วก็วิธีการบริหารที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้อนาคตของหน่วยงานที่เราแก้ปัญหานั้นปรับปรุงได้ แต่ถ้าไปใช้วิธีแบบที่ยังไงก็เกินเป้า แล้วไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาหน่วยงาน โดยเฉพาะด้าน IT กับประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่าระยะยาวมันก็จะตัน จะตั้งเป้าให้ต่ำไปเรื่อยๆ มันทำไม่ได้ เพราะเป้านี้มันเพิ่มทุกปีอยู่แล้ว ก็อยากจะให้เข้าใจตรงนั้น ผมจะไม่ระบุว่าหน่วยงานไหนควรจะรับเรื่องไหน ผมไม่ใช่คนมอบนโยบายแบบนั้นเพราะว่าผมเชื่อว่านโยบายเหล่านั้น ท่านปลัดเป็นคนมอบและรัฐมนตรีช่วยท่านเป็นคนมอบ ผมเองจะพูดในภาพรวมและพยายามคิด เสร็จแล้วใครเกี่ยวข้องก็จะเริ่มคุยกันต่อ จะต้องทำอะไรบ้าง คงจะไม่ระบุว่าใครทำดี ใครทำไม่ดียังไง จะไม่มี
ทำยังไงให้สิ่งเหล่านี้ที่คุยกันถ้าทำงานแล้วสำเร็จได้ ผมขอนำสิ่งที่ท่านนายกพูดใน ครม. วันนี้แล้วกันสดๆ ร้อนๆ ท่านไปอ่านหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ Making Strategies Work จำไม่ได้ Lawrence อะไรนะ ชื่อเหมือนยิวๆ ตรงท้าย ชื่อแรก Lawrence ชื่อหลังจำไม่ได้ชื่อยิว (Lawrence G. Hrebiniak) เป็นอาจารย์ Wharton เขียน Making Strategies Work ก็คงไม่มีอะไรที่แปลกไปจากเรื่องของ Strategic management text books ทั้งหลาย แต่หัวใจของมันพอดีท่านมาพูดผมก็เลยสรุปให้ท่านว่าหัวใจของมันที่จะทำให้ทุกอย่างมันสำเร็จได้นี้ต้องคิดถึงอะไร
เรื่องที่ 1 ก็คิดถึง Organization structure คือโครงสร้างหน่วยงานที่ท่านมีอยู่ ท่านจะ Put the right man in the right job แล้วทำมัน หรือปรับปรุงหน่วยงานของท่านอย่างไร
จุดที่ 2 คือการประสานงาน ตรงนี้สำคัญที่สุด ต่อไปนี้มันจะไม่มีอะไรที่ไม่อิงต่อกันอีกต่อไปแล้ว แต่ละกรมดูเหมือนว่าแยกกันอยู่แต่ผมเชื่อว่าอีกหน่อยมันแยกในแง่ของ Operation แต่มันไม่สามารถแยกในแง่ของ Coordination การประสานงาน จะต้องช่วยกัน เพราะว่ามีอิทธิพลต่อกันแน่ๆ ผมลดภาษีศุลกากรเมื่อไหร่ก็ต้องไปเพิ่มเป้าที่สรรพสามิตและที่สรรพากร ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ รายได้ตกไปแน่นอน มันจะมีความสัมพันธ์กันมากๆ เวลาเป็น Macro policy
Information sharing การที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกันและกัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในการแก้ปัญหา ในการที่จะบริหารงาน นี้เป็นหัวใจของหน่วยงานของท่าน
การ Follow up และการ Control เป็นเรื่องที่ 4 ที่จำเป็นจะต้องมีตลอดเวลา
และเรื่องที่ 5 ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด พูดถึงในแต่ละหน่วยงานถ้าจะพัฒนานี้ ใครคือ Change agent ของหน่วยงานนั้น ท่านต้องดูคนที่มีฝีมือ ที่เก่งที่กล้าแสดงความคิด กล้าทำ เขาคือ Change agent ขององค์กรของท่าน ท่านจะปรับปรุงอะไร ต้อง Pinpoint ให้ได้ ลูกน้องท่านที่มีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนสมรรถนะของหน่วยงานให้ท่านได้ และขยันทำงาน ไม่รังเกียจที่จะคิด ไม่รังเกียจที่จะทำ พวกนี้จะเป็น Change agent ให้หน่วยงานท่าน
อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มที่ท่านายกฯ เรียกว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลในหน่วยงาน กลุ่มผู้มีอิทธิพลในหน่วยงานทำได้ 2 แบบ แบบหนึ่งก็คือ Reactive ก็คือถ้าใครจะมาเปลี่ยนอะไรกลุ่มนี้ก็ไปรวมกลุ่มกันบอกว่าไม่ให้เปลี่ยน อีกแบบหนึ่งคือ Pro-active มีหน้าที่ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรในทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นกลุ่มไหนที่เป็น Reactive ท่านจะต้องพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้เขาเปลี่ยนเป็น Pro-active ให้ได้
กลุ่มอิทธิพลคือกลุ่มคนซึ่งมีลักษณะเป็นผู้นำ และลูกน้องจะเชื่อฟัง ฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ถ้าไปบอกลูกน้องในทางที่ผิด และให้ทำในสิ่งที่ผิด องค์กร หน่วยงานนั้นก็จะถอยหลังคือ Reactive จะไม่ยอมรับอะไรใหม่ๆ จะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่ถ้ากลุ่มผู้นำที่มีอิทธิพลขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นความอาวุโส ความเก่ง ความสามารถ ความเป็นนักเลง ใจนักเลง ถ้าเขาเอากับเรา การเปลี่ยนแปลงองค์กรมันจะทำได้ง่ายและรวดเร็วมากๆ
นั่นก็เป็นแนวสรุปว่าหลักๆ ที่ผมคิดอยู่นี้ต้องทำอะไรบ้าง โดยสรุปแล้ว เราต้องสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รักษาวินัยทางการเงินและการคลัง และก็เสริมสร้างสมรรถนะการเงินการเศรษฐกิจให้ประเทศ เดี๋ยวท่านรัฐมนตรีช่วยคงอยากจะเสริมอะไรขึ้นมา เรามีเวลาอีกพักนึงไม่เป็นไร เชิญท่านวราเทพก่อนครับ
____________________
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ภาพข่าวกระทรวงการคลังวันที่ 23 สิงหาคม 2548
สุรีย์พร ชัยยะรุ่งสกุล, สวรรยา วรรณโมลี, สุภาภรณ์ จินารักษ์/ ถอดเทป
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : Edit

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ