อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 19, 1997 16:05 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้ม
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องของไทย
จากปี 2525-38 มีการขยายตัวทางด้านการลงทุนเพื่อการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอย่างรวดเร็ว รวมถึงอุตสาหกรรมห้องเย็นและอาหารทะเลแช่แข็ง เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ประกอบการอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนและเปิดดำเนินการมีจำนวนรวมกันถึง 47 ราย (ไม่รวมอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง) มีเงินลงทุนรวมกันกว่า 4,328.87 ล้านบาท ประเทศของผู้ร่วมลงทุนที่เป็นชาวต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และอังกฤษ เป็นต้น
ความต้องการอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปภายในประเทศนั้น มีเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้จากจำนวนโรงงานที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 51 ราย คาดว่ามีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 580,000 ตันต่อปี โดยเป็นกำลังการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง 360,000 ตัน และอีก 220,000 ตัน เป็นกำลังการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องชนิดอื่น ๆ จำนวนมูลค่าของการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องในปี 2539 จำนวน 33,294.8 ล้านบาท เป็นสัดส่วนการส่งออกทูน่ากระป๋อง และกุ้งกระป๋อง รวมกันมีประมาณ 90.80% ของมูลค่าส่งออกอาหารทะเลกระป๋องทั้งหมด
สำหรับอาหารทะเลแปรรูป ประกอบด้วย (1) ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ได้แก่ ปลาเฮอร์ริง ปลาซาร์ดีน ปลาอังโชวี คาเวียร์ ล๊อบสเตอร์ สัตว์น้ำประเภทครัสตาเชีย หอยลาย เป๋าฮื้อ ปลาก้อน และอื่น ๆ (2) ผลิตภัณฑ์ทูน่า จากจำนวนมูลค่าส่งออกอาหารทะเลแปรรูปทั้งหมด 6217.1 ล้านบาทในปี 2539 นั้น พบว่าเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลประมาณ 3 ใน 4 ส่วน
2. โครงสร้างการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทย
การส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง
ในช่วงปี 2536-39 โครงสร้างของการส่งออกยังมี NAFTA และ EU เป็นแกนที่สำคัญ แต่สัดส่วนของการส่งออกไปยังกลุ่มการค้าดังกล่าวเริ่มมีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกันการส่งออกไปยัง East Asia ได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นประมาณหนึ่งเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงปี 2526-30 และมีมูลค่าเฉลี่ยการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง 31,298.70 ล้านบาทต่อปี ส่วนในช่วงปี 2535-39 อัตราการขยายตัวได้ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 9-14 จากการที่อุตสาหกรรมดังกล่าวได้มีการขยายตัวมาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องมีเพิ่มสูงขึ้นและมีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา
การส่งออกอาหารทะเลสำเร็จรูป
ในช่วงปี 2526-30 ได้มีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ East Asia เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ NAFTA และ ASEAN ตามลำดับ โดยในช่วงดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อปีประมาณ 92.06 ล้านบาท การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ได้ปรับตัวโดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2530-35 และ 2536-39 โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อปีเพิ่มเป็น 2,831.50 และ 5,384.29 ล้านบาท ในช่วงปี 2530-35 และ 2536-39 ตามลำดับ โดยในช่วงปี 2536-39 ได้มีการส่งออกไปยัง East Asia สูงสุดและมีเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนการส่งออกไปยัง NAFTA มีสัดส่วนที่สูงรองลงมา และสัดส่วนดังกล่าวได้มีแนวโน้มที่ลดลงไปจากเดิม อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปนี้ได้มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 36.77 และ 160.74 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2526-30 และ 2531-35 ตามลำดับหลังจากนั้น อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปลดลงเหลือร้อยละ 9.35 ต่อปี ในช่วงปี 2536-39
เมื่อพิจารณาถึงการกระจายการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปตามประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ๆ จะพบว่า สินค้าอาหารทะเลกระป๋องของไทยได้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนของมูลค่าสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 36.43 ต่อปี ในช่วงปี 2536-39 ที่รองลงมาได้แก่การส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา มีมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 13.07, 7.29 และ 7.07 ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในส่วนของอาหารทะเลแปรรูป พบว่าการกระจายของสินค้าในกลุ่มนี้ไปยังประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูงสุดหรือเฉลี่ยร้อยละ 39.43 ต่อปี ในช่วงปี 2536-39 รองลงมาได้แก่การส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ ฮ่องกง เฉลี่ยร้อยละ 19.06, 4.17 3.98 และ 3.70 ต่อปี ตามลำดับ
ดังนั้นจึงกล่าวได้ในช่วงแรก ๆ ของการส่งออกของสินค้าอาหารทะเลกระป๋องนั้นได้มีการกระจายของสินค้าไปยังตลาดของกลุ่มประเทศทางทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือในสัดส่วนที่มากกว่าตลาดในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถรักษาสัดส่วนของลำดับแรกไว้ได้อย่างต่อเนื่องเสมอมา ส่วนตลาดในทวีปเอเชียนั้นการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้มีความสำคัญเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียได้ลดความสำคัญลงเช่นกันเมื่อเทียบระหว่างระยะแรก ๆ ของการส่งออกกับช่วงระยะใกล้เคียงกับ ปัจจุบัน (2536-39) ในกรณีของอาหารทะเลแปรรูป การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียรวมแล้วเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการส่งไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรปในช่วงระยะแรกของการส่งออก และยังสามารถรักษาระดับความสำคัญของสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกให้อยู่ในสัดส่วนที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง
3. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
3.1 กฎระเบียบการนำเข้าและส่งออก
ในระบบการค้าเสรีราคาและกลไกตลาดจัดได้ว่าเป็นสื่อกลางที่สำคัญ ในการจัดสรรสินค้าและบริการตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค กลไกราคาและโครงสร้างการตลาดที่มีประสิทธิภาพย่อมจะเอื้ออำนวยต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับสังคม อย่างไรก็ตามในตลาดการค้าอาหารทะเลกระป๋องของโลกมิใช่เป็นตลาดที่ปล่อยให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ทั้งนี้เพราะประเทศผู้นำเข้าต่าง ๆ ต่างก็มีมาตรการทั้งที่เป็นมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่อการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลดังกล่าว นอกจากนี้มาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้ายังมีการเลือกปฎิบัติ เพราะยอมให้ให้มีการลดหย่อนเกิดขึ้นและมีอัตราการลดหย่อนที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนั้นจะแยกพิจารณาดังนี้
3.1.1 มาตรการภาษีของประเทศนำเข้า
อาหารทะเลบรรจุกระป๋องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีมาตรการเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอาหารทะเลดังกล่าวแยกเป็นสามระดับ กล่าวคือ
(ก) ระดับแรก เป็นภาษีนำเข้าทั่วไปซึ่งเรียกว่า Most Favoured Nations (MFN) ซึ่งเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้กับประเทศผู้ส่งออกทุกประเทศเท่าเทียมกัน ระดับภาษีนำเข้านี้เป็นระดับปกติทั่วไป ซึ่งเป็นภาษีนำเข้าที่มีอัตราสูงที่สุด
(ข) ระดับที่สอง เป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ให้เป็นลักษณะสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized Special Preference, GSP) ซึ่งมักจะเป็นการให้สิทธิพิเศษกับประเทศผู้ส่งออกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างโอกาสส่งออกและแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ กรณีสิทธิพิเศษทางศุลกากรนี้ในบางประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา อาจจะให้สิทธิพิเศษโดยไม่เก็บภาษีนำเข้าจากประเทศส่งออก หรือในบางกรณีจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำ เช่นในประชาคมยุโรป ซึ่งเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้รับ GSP ประมาณร้อยละ 6
(ค) ระดับที่สาม เป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับประเทศที่ผู้นำเข้าต้องการจะให้สิทธิพิเศษเหนือกว่ากรณี GSP ซึ่งโดยมากมักจะเป็นในลักษณะผูกพัน หรือความช่วยเหลือที่ประเทศผู้นำเข้า ต้องการให้กับประเทศผู้ส่งออกที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อนภายใต้สนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาทวิภาคี (Bilateral Agreement) ที่ประชาคมยุโรปให้กับประเทศในแถบ Africa Caribbean and Pacific (ACP) ซึ่งมีประมาณ 60 ประเทศ โดยทางประชาคมยุโรปจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่นำเข้าจากประเทศเหล่านี้
การมีอัตราอากรขาเข้าจากประเทศผู้นำเข้าหลายระดับดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปจากประเทศไทยมีอุปสรรคเกิดขึ้น เพราะในอดีตประเทศไทยได้อยู่ในกลุ่มของประเทศผู้ได้สิทธิ GSP จากประเทศนำเข้าที่สำคัญ ๆ การไม่ได้รับสิทธิ GSP จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าประเทศคู่แข่งบางประเทศ หรือแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงได้รับ GSP แต่ประเทศคู่แข่งได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า เช่นในกรณีของประชาคมยุโรป ซึ่งสินค้าอาหารทะเลกระป๋องจากประเทศไทยได้รับ GSP เสียภาษีนำเข้าในอัตราต่ำ แต่ประเทศในกลุ่ม ACP ได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งทำให้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องจากประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศเหล่านั้น สำหรับรายละเอียดของมาตรการทางภาษีเกี่ยวกับอาหารทะเลกระป๋องของผู้นำเข้าสำคัญบางรายนั้นแยกพิจารณาได้ดังนี้
(ก) มาตรการทางภาษีของประชาคมยุโรป
การส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของไทยไปยังประชาคมยุโรปนั้น สินค้าส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในข่ายได้รับ GSP อาทิ กุ้งกระป๋อง ปูบรรจุกระป๋อง หอยลายบรรจุกระป๋อง และปลาหมึกบรรจุกระป๋อง โดยประเทศไทยจะเสียอากรขาเข้าเพียงร้อยละ 6 อยางไรก็ตาม ประชาคมยุโรปได้ให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรในสัญญาสองฝ่าย (Bilateral Agreement0 กับประเทศกลุ่มสมาชิก ACP โดยที่ประเทศเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ในกรณีของปลาทูน่ากระป๋อง สหภาพยุโรปได้ยกเลิกการให้ GSP กับประเทศที่สาม (นอกประชาคมยุโรป) ไปตั้งแต่ปี 2538 โดยเก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องที่ผลิตจากปลาทูน่าสคิปแจ็ค (skipjack tuna) ที่บรรจุในภาชนะอัดลมทั้งในรุป loins และรูปอื่น ๆ ร้อยละ 24 ส่วนปลาทูน่ากระป๋องที่ผลิตจากปลาแอตแลนติกโบนิโต้ ที่บรรจุในภาชนะอัดลมจะเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 25 (ก่อนปี 2538 ได้ให้ GSP ในสินค้านี้กับประเทศกำลังพัฒนาโดยเรียกเก็บเพียงร้อยละ 18 ในทางตรงข้ามประชาคมยุโรปไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มประเทศแอนดีน (Andean Pact Countries : APC) ซึ่งได้แก่ประเทศ เอกวาดอร์ เปรู โคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในจำนวนโควต้า 20,000 ตัน ส่วนที่เหลือจะต้องเสียในอัตราปกติ ซึ่งจำนวนโควต้าที่ให้กับกลุ่มแอนดีนนี้มีประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมดของสหภาพยุโรป
ประเทศในกลุ่มเอเชียที่ทางประชาคมยุโรปยังให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรอยู่ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศทั้งสองได้เข้ามาเป็นคู่แข่งของไทย โดยทั้งสองประเทศเสียภาษีนำเข้าทูน่าในอัตราร้อยละ 18 ซึ่งต่ำกว่าในกรณีของประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 25
ในส่วนอาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ ไม่รวมทูน่ากระป๋องแม้ว่ากลุ่มประเทศ ACP จะได้เปรียบในด้านอากรขาเข้าที่เหนือกว่าประเทศไทย (ประเทศไทยมีภาษีอากรนำเข้าร้อยละ 6) ก็ตามแต่ข้อจำกัดในอัตราค่าขนส่งที่สูงกว่าประเทศไทย และข้อจำกัดในด้านโรงงานและอุปกรณ์จึงคาดว่าอาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ ของไทยจะยังไม่ถูกกระทบกระเทือนมากนัก ยกเว้นปลาซาร์ดีนและแมคคอรัลกระป๋อง ที่ประเทศไทยได้เสียการแข่งขันในตลาดสินค้าดังกล่าวให้กับประเทศโมร็อกโค
(ข) มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา
สินค้าอาหารทะเลบรรจุกระป๋องส่งออกจากประเทศไทย (ยกเว้นทูน่าบรรจุกระป๋อง) ได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรณีของปูและกุ้งบรรจุกระป๋องแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้กำหนดอัตราอากรขาเข้าปกติ (MFN) ไว้ในระดับร้อยละ 5-10 และเรียกเก็บอากรขาเข้าสำหรับหอยลายกระป๋อง 7-14 แต่สินค้าดังกล่าวที่นำเข้าจากประเทศไทยยังได้รับสิทธิพิเศษจึงยังไม่เสียอากรขาเข้า ดังนั้น การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ามีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้าทะเลกระป๋องของไทยไปยังสหรัฐอเมริกามาก ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงในสิทธิพิเศษทางการค้าและทำให้ประเทศไทยต้องเสียอากรนำเข้าเพิ่มมากขึ้นแล้วย่อมจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าไปยังตลาดการค้าในอเมริกา
ในส่วนของปลาทูน่ากระป๋อง สหรัฐอเมริกาได้มีมาตรการโควต้าภาษี (Tariff Quota) และมาตรการภาษีนำเข้า สำหรับมาตรการโควต้าภาษีนั้นจะใช้กับปลาทูน่ากระป๋องในน้ำเกลือ โดยมี The National Fisheries Services และ US Custom เป็นผู้กลั่นกรองและกำหนดโควต้าการนำเข้าปลาทูน่าบรรจุกระป๋องในน้ำเกลือเป็นแต่ละปีไป ปริมาณโควต้าในแต่ละปีจะเป็นประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการผลิตภายในประเทศ การนำเข้าในระบบโควต้านี้จะใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อนโดยจำนวนโควต้านี้จะเต็มภายใน 1-2 เดือน หลังจากมีการประกาศ ซึ่งภายใต้โควต้าภาษีนำเข้าจะเรียกเก็บเพียงร้อยละ 6 แต่ถ้าเป็นการนำเข้านอกเหนือจากโควต้าที่ได้จัดสรรจะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 12.5 ซึ่งสูงกว่าเท่าตัว ระบบโควต้านี้มีความสำคัญต่อราคาวัตถุดิบปลาทูน่าเพราะจะทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขันการผลิตตามโควต้า ประเทศไทยมีการส่งออกปลาทูน่ กระป๋องในน้ำเกลือไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาภายใต้โควต้าเพียงร้อยละ 30-40 ของปริมาณปลาทูน่าทั้งหมดที่นำเข้าจากประเทศไทย
สำหรับปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันนั้นไม่มีระบบโควต้าแต่มีเพียงมาตรการภาษีนำเข้าเพียงอย่างเดียวโดยเรียกเก็บประมาณร้อยละ 35 ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ประเทศไทยส่งไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ส่งไปตลาดอื่น ๆ เป็นปริมาณที่มากกว่า
(ค) มาตรการทางภาษีของประเทศแคนาดา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการผ่อนปรน GSP จากประเทศแคนาดาในการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องจากไทยโดยในกรณีของปลาทูน่าบรรจุกระป๋องนำเข้าจากไทย ต้องเสียภาษีนำเข้าเพียง 4 เซ็นต์ต่อก.ก. แทนที่จะเสียอากรขาเข้า 8.2 เซ็นต์ต่อก.ก. หอยลายบรรจุกระป๋องส่งออกเสียภาษีอากรขาเข้าเพียง 6.5 เซ็นต์ต่อก.ก. ส่วนซาร์ดีนบรรจุกระป๋องอัตราภาษีนำเข้าไม่แตกต่างกันมากระหว่างสินค้าที่ได้รับ GSP กล่าวคือสินค้าที่ได้รับ GSP เสียภาษีนำเข้า 1.3 เซ็นต์ต่อก.ก. ในขณะที่ไม่ได้รับ GSP เสียภาษีนำเข้า 2 เซ็นต์ต่อก.ก. อัตราอากรนำเข้าของแมคคอรัลบรรจุกระป๋องมีความแตกต่างกันมากระหว่างอัตราภาษีนำเข้าที่ได้รับ GSP กับอัตราปกติ กล่าวคือภาษีนำเข้าภายใต้ GSP เป็นศูนย์ ส่วนอัตราภาษีปกติสูงถึง 12.7 เซ็นต์ต่อก.ก.
นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ประเทศแคนาดาได้ให้การลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรในสินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่ทำจากปลาสคิปแจ็คกว่าอัตราที่เคยเรียกเก็บ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยอยู่บ้าง
(ง) ประเทศอื่น ๆ
สำหรับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศนำเข้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วข้างต้น ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีการให้ GSP กับประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย แต่อัตราภาษีนำเข้าที่ได้รับ GSP จากประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความแตกต่างจากที่ไม่ได้รับ GSP เพียงประมาณร้อยละ2 กล่าวคือ สินค้าอาหารทะเลกระป๋องชนิดต่างๆ เช่น ปูกระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง แมคคอรัลกระป๋อง หอยลายกระป๋อง และปลาหมึกกระป๋อง จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติร้อยละ 9.6 แต่ถ้าเป็นการส่งออกของไทยจะเสียภาษีนำเข้าประมาณร้อยละ 7.2 ยกเว้นในกรณีของกุ้งบรรจุกระป๋อง ซึ่งภาษีนำเข้าปกติเรียกเก็บร้อยละ 4.8 หากได้รับ GSP จะเสียภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 3.2 สำหรับตลาดการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ จากประเทศไทย ส่วนใหญ่เรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่ในระดับต่ำ
การที่ตลาดการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ๆ จากประเทศไทย ได้มีมาตรการในการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้แตกต่างกันภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปส่งออกจากประเทศไทย ต้องตกอยู่ในสภาวะที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศผู้นำเข้าเหล่านั้นจะเลือกปฎิบัติกับประเทศไทยอย่างไร การที่สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปหลายชนิดที่จะถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าจากตลาดของประเทศคู่ค้าบางกลุ่ม ย่อมจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดนั้น ๆ ทั้งนี้เพราะจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีลดน้อยลง เมื่อเทียบกับประเทศที่ยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า แม้ในอดีตอุปสรรคที่เกิดจากการเก็บภาษีนำเข้า (Tariff Barrier) ของประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องได้พัฒนาขยายตัวเรื่อยมา แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องในอนาคตนั้น คงจะต้องได้รับผลกระทบจากการถูกเพิกสิทธิพิเศษทางการค้าอย่างแน่นอน และอาจจะมีผลทำให้การส่งออกต้องลดลง
3.1.2 มาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษีของผู้นำเข้า
เพื่อให้การคุ้มครองกับผู้บริโภคและผู้ผลิตภายในประเทศ ประเทศต่าง ๆ จะวางระเบียบที่ต้องปฎิบัติและมีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ถือปฎิบัติสำหรับการอนุญาตในการนำเข้า ซึ่งประเทศผู้ผลิตที่ต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศนั้น ๆ จำเป็นต้องถือปฎิบัติตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปใน เช่น ในเรื่องของสารเจือปนอาหาร จะมีเกณฑ์แตกต่างกัน เช่น ในอุตสา-หกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง เกณฑ์การใช้สารประกอบซัลไฟล์หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารประกอบฟอสเฟต และสาร EDTA (Ethylene Diamine Tetra Acetates) ขอแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก บางประเทศอนุญาตให้ใช้ในอาหารบางชนิดแต่ไม่ให้ใช้ในอุตสาหกรรมทะเลบรรจุกระป๋อง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเกณฑ์ให้ใช้สารเจือปนอาหารได้ละเอียดและกว้างขวางกว่าประชาคมยุโรป ญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญในเรื่องสุขอนามัยอาหาร การปิดฉลากอาหาร (Nutrition Labelling) เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมิได้เป็นประเทศเดียวในโลกที่ผลิตอาหารกระป๋องและแปรรูปขายในตลาดโลก ดังนั้นหากสินค้าจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ของประเทศผู้นำเข้า ผู้ซื้อก็สามารถจะสั่งห้ามการนำเข้า หรือมีการเข้มงวดในการตรวจสอบ อันจะมีผลต่อต้นทุนทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย
3.1.3 มาตรการภาษีการนำเข้าและส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่กำหนดโดยประเทศไทย
ในด้านการส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องนั้นประเทศไทยไม่มีมาตรการเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการส่งออก อย่างไรก็ตามในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในปจัจุบันนี้ผู้ส่งออกอาหารทะเลดังกล่าวได้มีการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อใช้ในการผลิต โดยเฉพาะ การนำเข้าปลาทุน่า ซาร์ดีน แมคคอรัล กุ้ง ปู หอยลาย และปลาหมึก ไม่ว่าจะนำเข้ามาในรูปแช่เย็นหรือสดจะต้องเสียอากรขาเข้าสูงถึง ร้อยละ 60 แม้ว่าการนำวัตถุดิเข้ามาเพื่อการผลิตสินค้าส่งออกสามารถที่จะขอยกเว้นภาษีนำเข้า แต่การขอคืนภาษีนั้นจะต้องใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นต้นทุนกับผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นอุตสาห-กรรมที่ต้องการใช้วัตถุดิบจำนวนมาก ดังนั้นผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเมื่อเปรีบบเทียบกับผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบแล้ว ย่อมมีผลทำให้โอกาสในการแข่งขันทางด้านต้นทุนการผลิตของไทยลดน้อยลง
3.2 โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรม
3.2.1 องค์ประกอบของต้นทุนการผลิต
อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเป็นอุตสาหกรรมที่นำเข้าเทคโนโลยีการผลิตมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขบวนการผลิตนั้นเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยและกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติ ทั้งนี้เพราะในช่วงระยะแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ได้จากการจับจากทะเลเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าความต้องการบริโภคสดภายในประเทศ นอกจากนี้ค่าจ้างแรงงานในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำ จากข้อได้เปรียบเทียบดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการเอกชนเห็นประโยชน์หรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตอาหารทะเลกระป๋องนั้น วัตถุดิบจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในสัดส่วนของต้นทุนการผลิต โดยมีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 50 ถึง 87 ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปกระป๋อง สำหรับองค์ประกอบของแรงงาน มีอยู่ระหว่างร้อยละ 3.1 ถึง 11.1 นอกจากนั้นเป็นต้นทุนเกี่ยวกับบรรจุ สารเคมี และอื่น ๆ มีสัดส่วนที่แตกต่างกันไปบ้างตามลักษณะของผลิตภัณฑ์
3.2.2 วัตถุดิบและราคา
การแข่งขันทางด้านการผลิตนั้นจะมีความสามารถในการแข่งขันได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านวัตถุดิบและราคาเป็นสำคัญ นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการ ทั้งนี้เพราะการจัดหาวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งปี จะก่อให้เกิดความแน่นอนในขบวนการผลิตและการจัดทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า นอกจากนี้การที่มีราคาวัตถุดิบเปรียบเทียบต่ำกว่า ย่อมได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตและสามารถนำไปสู่การแข่งขันกับผู้แข่งขันอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการผลิตเพื่อการส่งออก
(ก) แนวโน้มของวัตถุดิบและราคาที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง
วัตถุดิบที่ใช้กับการผลิตอาหารทะเลกระป๋อง จะแตกต่างกันไปตามประเภทของอาหารทะเลที่ทำการผลิต ดังจะเห็นได้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องจำพวกปลาทูน่ากระป๋อง มีแหล่งที่มาของวัตถุดิบจากการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในอดีตที่ผ่านมา ทำให้วัตถุดิบที่จัดหาได้จากแห่ล่งประมงภายในประเทศมีไม่เพียงพอ
(ข) แนวโน้มของอุปทานและราคาวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอื่น ๆ
จากการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำกระป๋องอื่น ๆ ขยายตัวตามมา ที่สำคัญได้แก่กุ้งกระป๋อง ปลาหมึกกระป๋องหอยลายกระป๋อง และปูกระป๋อง ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จากแหล่งภายในประเทศเป็นสำคัญ แต่ก็มีแนวโน้มว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีผลทำให้เกิดมีความต้องการในอุปสงค์วัตถุดิบมากกว่าอุปทานและมีผลต่อการปรับตัวของราคาในวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งก็มีส่วนสำคัญต่อการแข่งขันในความต้องการวัตถุดิบ
ในกรณีของกุ้งแม้ว่าความต้องการวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำกุ้งกระป๋องจะเป็นพวกกุ้งทรายและกุ้งขนาดเล็กซึ่งแตกต่างไปจากกุ้งที่ใช้ในอุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งก็ตาม แต่การขาดข้อมูลในรายละเอียดของกุ้งที่จับจากทะเล จึงไม่สามารถแสดงถึงอุปทานวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกุ้งกระป๋องได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามถ้าใช้ปริมาณและมูลค่ากุ้งจากทะเลที่มีข้อมูลปรากฎมาใช้เป็นตัวเปรียบเทียบจะเห็นว่าปริมาณผลผลิตกุ้งจากทะเลได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของผลผลิต ทำให้มูลค่าต่อหน่วยซึ่งใช้เป็นค่าทดแทนราคามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้วการผลิตกุ้งกระป๋อง ปลาหมึกกระป๋อง และหอยลายกระป๋อง ทางโรงงานผู้ผลิตจะรับซื้อวัตถุดิบที่ได้มีการแปรรูปขั้นต้นจากผู้ประกอบการขนาดเล็กในท้องถิ่น โดยให้ผู้รวบรวมเหล่านั้นนำมาส่งที่โรงงานหรือทางโรงงานจัดหน่วยออกไปรับซื้อจากผู้ประกอบการเหล่านั้นแล้วแต่ความสะดวก เช่น ในกรณีของกุ้งจะรับซื้อกุ้งที่ได้แกะเปลือกและผ่านการต้มให้สุกมาขั้นตอนหนึ่งแล้วจากผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยมีการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบนั้นก่อนจัดซื้อและนำไปใช้ในขบวนการแปรรูปอีกทีหนึ่ง เพื่อจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกตามกฎเกณฑ์มาตรฐานการนำเข้าอาหารทะเลของแต่ละประเทศต่อไป ในส่วนของการแปรรูปวัตถุดิบจำพวก ปลาหมึก หอยลาย และปูม้า ได้มีวิธีการแปรรูปขั้นต้นเฉพาะในแต่ละวัตถุดิบ เช่น ปลาหมึกจะต้องนำหมึกออกและลอกหนังให้สะอาด ในส่วนของปูม้าจะต้องแกะให้เป็นชิ้นเนื้อออกจากกระดอง หรือถ้าเป็นหอยลายก็จะต้องแกะเปลือกออกและผ่านการต้มให้สุกมาขั้นตอนหนึ่งแล้ว เป็นต้น ขั้นตอนในการเตรียมวัตถุดิบดังกล่าวจะต้องใช้แรงงานอย่างมากในการจัดเตรียม และไม่สามารถจะใช้เครื่องจักรทดแทนได้ ซึ่งราคาวัตถุดิบที่โรงงานรับซื้อจะรวมถึงค่าจ้างแรงงานในการแปรรูปขั้นต้นนี้ด้วย การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติและการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้ต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น
3.2.3 แนวโน้มของค่าจ้างแรงงาน
อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ใช้แรงงานเข้มข้น และมีสัดส่วนของมูลค่าเครื่องจักรต่อจำนวนแรงงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม แม้ว่าในองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตสัดส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านแรงงานจะมีไม่เกินร้อยละ 10 แต่ถ้าพิจารณาถึงขั้นตอนในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นก่อนจัดส่งให้กับโรงงานแปรรูปแล้ว ค่าใช้จ่ายในปัจจัยดังกล่าวจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตร
ในปัจจุบันความได้เปรียบในด้านปัจจัยค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยต่อประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันกำลังจะหมดไป ดังจะเห็นว่าอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างแรงงานในประเทศอินโดนีเซียซึ่งกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการผลิตอาหารทะเลกระป๋อง พบว่าอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศไทยประมาณ 2.5 เท่า ดังนั้น ถ้าหากจะพิจารณาจากปัจจัยทางด้านแรงงานเพียงด้านเดียวแล้วการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าว และอาจมีผลต่อการชะลอตัวลงของการส่งออกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้เพราะความได้เปรียบที่มีอยู่เดิมได้ลดน้อยลงไป
3.3 แนวโน้มของราคาส่งออก
ในระหว่างปี 2535-39 ราคาปลาทูน่ากระป๋องได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.20 ต่อปี ซาร์ดีนกระป๋อง และปลากระป๋องอื่น ๆ มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5.89 และ 4.29 ต่อปี ตามลำดับสำหรับอาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ ในที่นี้ได้แก่ กุ้งกระป๋อง ปูกระป๋อง หอยลายกระป๋อง และปลาหมึกกระป๋องได้มีความแปรปรวนของราคากล่าวคือ มีทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง โดยเฉพาะราคาของกุ้งกระป๋อง ปูกระป๋อง และปลาหมึกกระป๋องในปี 2539 ได้มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าราคาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในปี 2538 อย่างไรก็ตามเมื่อคิดอัตราการเพิ่มของราคาเฉลี่ย ในช่วงระหว่างปี 2535-2539 แล้ว พบว่าได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของราคาปลาหมึกกระป๋องคิดเป็นร้อยละ 17.25 รองลงมาได้แก่ ปูกระป๋อง กุ้งกระป๋อง และหอยลายกระป๋อง เฉลี่ยร้อยละ 11.25 7.20 และ 0.18 ตามลำดับ
จากลักษณะของอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารทะเลกระป๋องดังกล่าว แม้จะไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไรมากน้อยแค่ไหน แต่ภายใต้สภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยอันเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตน่าจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกดังกล่าว
3.4 ปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับในช่วงปี 2535-39 พบว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์มีค่าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดังกล่าวเฉลี่ยในช่วงปี 2531-35 สาเหตุสำคัญประการหนึ่งได้แก่ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2536-39 และเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นมูลค่าที่แท้จริงของบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงมีค่าสูงเกินความจริง ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาได้แก่การที่สินค้าอาหารทะเลของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาจะแพงขึ้นและจะมีผลต่อการนำเข้าที่ลดน้อยลงดังจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาได้ลดจากร้อยละ 40.14 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2531-35 ลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 36.43 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2536-39 ในทำนองเดียวกันสัดส่วนมูลค่าส่งออกอาหารทะเลแปรรูปก็ได้ลดลงเช่นกันจากเฉลี่ยร้อยละ 38.55 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2531-35 ลดลงเหลือร้อยละ 19.06 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2536-39 เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลักในการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องของไทยการลดลงของมูลค่าส่งออกดังกล่าว ย่อมหมายถึงว่าปริมาณนำเข้าย่อมที่จะลดลงด้วยเช่นกันและจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทย
ในกรณีของค่าเฉลี่ยเงินบาทต่อเงินเยนของญี่ปุ่นได้อ่อนตัวลงเป็นลำดับจาก 7.32 บาทต่อ 100 เยน ลดลงเฉลี่ยเป็น 24.32 บาทต่อ 100 เยน ในช่วงปี 2536-39 สำหรับมูลค่าที่แท้จริงก็มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงเป็นลำดับเช่นกัน การที่มูลค่าของเงินบาทมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินเยนทำให้สินค้าอาหารทะเลของไทยในตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะถูกลง อย่างไรก็ตามตลาดอาหารทะเลกระป๋องของไทยในประเทศญี่ปุ่นมีขนาดเล็กแม้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมีไม่มากนัก ยกเว้นในกรณีของอาหารทะเลแปรรูปซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ