รายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือนสิงหาคม 2548: อุปทาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2005 09:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          1 ภาคเกษตรกรรม
ในเดือนสิงหาคม 2548 รายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลสำคัญ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญ
ผลผลิตพืชผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวนาปีในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ส่วนพืชผลหลักอื่นส่วนใหญ่ลดลงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน
ราคาพืชผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศเป็นสำคัญโดยราคามันสำปะหลังคละเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 ส่วนราคายางพาราแผ่นดิบและราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 และ 18.4 ตามลำดับ
ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 ในทุกหมวดสินค้า
ราคาปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 จากการเพิ่มขึ้นของราคาไก่เนื้อและราคาสุกร ตามอุปสงค์ในประเทศและปริมาณการส่งออกเนื้อสุกรและไก่แปรรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ราคาประมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากราคากุ้งที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่สหภาพยุโรปได้ลดภาษีนำเข้ากุ้งเป็นการชั่วคราวจนถึงสิ้นปีนี้และกำหนดจะให้สิทธิ GSP ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป
แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกหมวดโดยราคาพืชผลอาจเพิ่มขึ้นในอัตรา
ที่ชะลอลงเนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง
ราคาสินค้าเกษตร (ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย 12 ชนิด) ในตลาดโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยราคาข้าว ยางพารา และน้ำตาลทราย ยังคงเพิ่มในอัตราสูงตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นกอปรกับผลผลิตอ้อย
2 ภาคอุตสาหกรรม
ในเดือนสิงหาคม 2548 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.7 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อน การผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวดี โดยหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เร่งตัวขึ้นตามการส่งออกแผงวงจรรวม และ Hard Disk Drive หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง มีการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกมากขึ้นทั้งรถยนต์นั่งและรถยนต์พาณิชย์ และหมวดอาหารขยายตัวดีตามการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง
นอกจากนี้ การเร่งตัวขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในเดือนเดียวกันปีก่อน โดยที่สายการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์พาณิชย์รุ่นใหม่ และหมวดปิโตรเลียมมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน
อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดเครื่องหนังลดลง จากการปรับการผลิตไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพสูง และเนื่องจาก การที่มีวัตถุดิบไม่เพียงพอในการผลิต เช่นเดียวกับหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ที่มีความต้องการซื้อสินค้าลดลง ทั้งนี้ เพื่อรอดูความชัดเจนทางด้านราคา กอปรกับมีสินค้าคงคลังสะสมไว้มากในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ในหมวดเครื่องดื่มมีการผลิตที่ลดลงเช่นเดียวกันเนื่องจากฐานที่สูงในเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งผลิตเบียร์จากข่าวการขึ้นภาษีสรรพสามิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 70.5 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน
3 การท่องเที่ยวและโรงแรม
ในเดือนสิงหาคม 2548 นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1,016,000 คน ลดลงร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภาคใต้ยังคงต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน โดยการท่องเที่ยวภาคใต้ยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับผลกระทบจากไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มหมอกควัน ปกคลุมภาคใต้ของไทยมาถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไม่มากนัก นอกจาก ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมยังจำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่เกิดเหตุ
อัตราเข้าพักโรงแรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.8 ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 66.1 โดยอัตราการเข้าพักลดลงในทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนค่อนข้างมากโดยอยู่ที่ร้อยละ 44.2 ในปีนี้ เทียบกับร้อยละ 60.1 ในปีก่อน อนึ่ง ภาวะน้ำท่วมในภาคเหนือส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเพียงเล็กน้อย โดยอัตราการเข้าพักในจังหวัดเชียงใหม่ ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน มีเพียงบางจังหวัด อาทิ สุโขทัย พิษณุโลก ที่อัตราการเข้าพักลดลงในอัตราที่ไม่มากนัก
4 ภาคอสังหาริมทรัพย์
ในเดือนกรกฎาคม 2548 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยรวมชะลอตัวเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ย ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าและจำนวนการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 7.6 และ 3.5 ตามลำดับ พื้นที่รับอนุญาต ก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลทั่วประเทศลดลงร้อยละ 21.7 และจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มประเภทบ้านจัดสรรลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มประเภทอาคารชุดและบ้านสร้างเอง
ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกอบการ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2548 มียอดคงค้างลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์
สำหรับในระยะต่อไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องทั้งด้านอุปทานจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อที่ลดลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รายใหม่มีภาระในการผ่อนชำระที่มากขึ้น
5.ภาคการค้า
ในเดือนกรกฎาคม 2548 ภาวะการค้าโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง ตามกำลังซื้อที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการยกเลิกการตรึงราคาขายปลีก น้ำมันดีเซลภายในประเทศ และการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สินค้าในกลุ่มที่มีความจำเป็น ในการดำรงชีพ อาทิ อาหาร และเนื้อสัตว์ ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ทองและ ทองรูปพรรณ มียอดขายลดลงตั้งแต่ต้นปี
6 โทรคมนาคม
ในเดือนกรกฎาคม 2548 จำนวนผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างทรงตัวจาก เดือนก่อน โดยอยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 3 ขณะที่การขอใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย
ภาวะการแข่งขันด้านราคาค่าใช้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มลดความรุนแรงลง โดยผู้ประกอบการ คาดว่าตลาดอิ่มตัวแล้วในระยะนี้ กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากผลของภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในประเทศ

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ