นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า จากการที่กรมการ ประกันภัยได้จัดทำรูปแบบการประกันภัยอิสรภาพขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการหาหลักประกันมาวางศาลเพื่อใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวแทนการใช้หลักประกันจากนายประกัน ซึ่งการประกันภัยอิสรภาพมี 2 รูปแบบ คือ การประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด ใช้กับบุคคลทั่วไป ให้ความคุ้มครองกรณี ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในฐานความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาท ค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 500 บาท — 1,000 บาท ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และ การประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด ใช้กับผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ความ คุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในทุก
ลักษณะฐานความผิด ค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 5,000 บาท — 20,000 บาท ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และนับตั้งแต่กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพได้เริ่มเปิดขายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 เป็นระยะเวลา 1 ปี ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากโดยได้มีการสอบถามข้อมูลมายังกรมการประกันภัยและมีการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งลักษณะคดีความผิดที่ประชาชนซื้อความคุ้มครองจากการประกันภัยอิสรภาพมาก 3 อันดับแรกได้แก่ คดีเช็ค คดีลักทรัพย์ และคดีการพนัน ขณะนี้มีจำนวนผู้เอาประกันภัยทั้งสิ้น จำนวน 27,061 ราย จำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 3,922.86 ล้านบาท แยกเป็นการทำประกันภัยแบบก่อนกระทำความผิด จำนวน 707 ราย จำนวนเงินเอาประกันภัย 150.57 ล้านบาท และการทำประกันภัยหลังกระทำความผิด จำนวน 26,354 ราย จำนวนเงินเอา ประกันภัย 3,772.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจาก 29 บริษัทจาก จำนวน 59 บริษัท ที่ได้รับความเห็นชอบ
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าประชาชนผู้ที่ตกเป็น ผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว มีการทำประกันภัยอิสรภาพใช้ในการประกันตัวได้ด้วยตนเองแทนการวิ่งเต้นหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งนับว่าได้รับความสะดวก ทันเหตุการณ์และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเช่าหลักทรัพย์มาประกันตัว หรือต้องวิ่งเต้นหาผู้ค้ำประกัน จึงนับว่าการประกันภัยดังกล่าวนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐที่ จะดูแลคุ้มครองประชาชนให้ได้มีหลักประกันในชีวิตอีกทางหนึ่งนั่นคือการทำประกันภัย หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2547-4550 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th