"สสว." เล็งใช้ระบบหักภาษีดึงเอกชนเข้า "กองทุนร่วมทุน"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2005 14:27 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          สสว.ระดมสมองจัดทำแผนแม่บทเอสเอ็มอี ฉบับที่ 2 แนะตั้งกองทุนร่วมลงทุนภาคเอกชน ใช้ระบบการหักลดหย่อนภาษีดึงดูดบริษัทใหญ่เข้าร่วม ขณะที่องค์ประชุมชี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเก่าเรื่องการทำธุรกิจ พร้อมนำผู้มีประสบการณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวทางธุรกิจร่วมถ่ายทอดความรู้ สุดท้ายรัฐต้องมีมาตรการรองรับเพื่อธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดประชุมสัมมนาระดมความคิด เพื่อจัดทำแผนแม่บท การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2550-2554 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ในหัวข้อ แนวทางการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่
โดยนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า การระดมความคิดครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน สถาบันการศึกษา และผู้แทนภาคเอกชนทั้งจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมธุรกิจรายสาขา ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการและรับบริการด้านการพัฒนาบุคลากรเอสเอ็มอี รวมทั้งสิ้นประมาณ 60 คน
ที่ประชุมเสนอให้ดึงธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพอ เข้าไปมีส่วนร่วมในกองทุนร่วมลงทุน โดยแยกระหว่างกองทุนร่วมลงทุนภาครัฐ และกองทุนร่วมลงทุนภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งอาจจะใช้มาตรการในการหักหรือลดหย่อนภาษี ให้กับเอกชนที่สมัครใจเข้าร่วมดำเนินงานกองทุนร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้ไทยมีบริษัทเอกชนรายใหญ่และมีศักยภาพเพียงพออยู่มาก โดยอาจจะเริ่มจากการศึกษาและผลักดันกองทุน Business Angel นำร่องไปก่อน นางจิตราภรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอว่า ในการเริ่มต้นธุรกิจ ต้องมีการปลูกฝังค่านิยม ปรับพฤติกรรมของผู้ประกอบการให้ยอมรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน จะต้องสนับสนุนเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นมักได้รับอิทธิพลจากรุ่นพ่อ-แม่ ซึ่งต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเป็นพ่อค้าหรือนักธุรกิจ ตั้งแต่ระดับเยาวชน และพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ควรปรับแนวความคิดเก่า ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ควรทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาแนวทาง กระบวนการสร้างความรู้ และเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ ในการถ่ายทอดการทำธุรกิจนั้น ก็ควรนำผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว มาผู้ถ่ายทอดความรู้ ร่วมกับอาจารย์ผู้สอน
ส่วนการกำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ในกลุ่มสาขายุทธศาสตร์แต่ละสาขานั้น แนวทางการดำเนินการจะต้องระมัดระวังเรื่องการผลักดันสร้างผู้ประกอบการใหม่ ที่อาจจะมากเกินไปในบางสาขา ขณะเดียวกัน กลุ่มการผลิตและบริการ ควรเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ควรมาจากภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมในภาคการผลิต ยังเกิดได้ยากกว่าผู้ประกอบการภาคการค้า
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ รัฐจะต้องเร่งสร้างกระบวนการส่งเสริมที่จำเป็น ทั้งการสนับสนุนทางการเงิน กฎระเบียบ และมาตรการทางภาษี ขณะเดียวกัน รัฐควรมีมาตรการรองรับกลุ่มเป้าหมายผ่านการอบรมบ่มเพาะแล้ว เพื่อให้เริ่มทำธุรกิจและดำเนินต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน เช่น การประกวดแผนธุรกิจ การส่งเสริมกลุ่มคนที่ทำธุรกิจในแนวเดียวกันให้ร่วมกันทำนวัตกรรม การให้ความสำคัญกับการจดลิขสิทธิ์ การคัดเลือกคนที่จะเข้ามาบ่มเพาะ เช่น ควรต้องมี Business concept อยู่ก่อน พร้อมทั้งต้องมีกระบวนการที่จะรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา และมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยสถาบันการศึกษาอาจมีส่วนช่วยผลักดัน และมีบทบาทในการสร้างธุรกิจสมัยใหม่ ขณะที่ การบ่มเพาะนอกจากผู้ประกอบการรายใหม่แล้ว ยังควรจะมีการบ่มเพาะผู้ประกอบการเดิมที่ประสบความล้มเหลว หรือต้องการเปลี่ยนธุรกิจใหม่ด้วย
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ