นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ได้มีการเจรจากันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 รวมทั้งสิ้น 4 รอบ และล่าสุด เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือในร่างกรอบความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation ) ในด้านต่างๆ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า และกลไกการระงับข้อพิพาท
นางอภิรดี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีความคืบหน้าโดยในเรื่อง การค้าสินค้ามีการกำหนดพิกัด รายการสินค้าที่จะเจรจาในระดับ 6 หลัก เรื่องกฎเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า ได้ข้อยุติในวิธีการคำนวณสัดส่วนต้นทุนการผลิต และเรื่องกลไกการระงับข้อพิพาท ได้ข้อยุติในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่สัญญา
สำหรับรูปแบบการเจรจาเปิดตลาดสินค้า ได้จัดกลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าลดภาษีปกติ (Normal track) ให้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2552-2555 โดยให้ลดภาษีสินค้าในกลุ่ม Normal track จำนวนร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2552 และกลุ่มสินค้าอ่อนไหว (Sensitive list) ภายในปี 2558
การจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับเกาหลี จะทำให้สินค้าของไทยขยายตัวในตลาดเกาหลีได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหารแปรรูป อาทิ ผัก ทุเรียน กล้วยหอม มะพร้าว องุ่น สับปะรด มะม่วง ผลไม้กระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง และเนื้อหมูแช่แข็ง ทั้งนี้เป็นผลมาจากระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน การขยายความร่วมมือด้านเกษตร ป่าไม้ และมาตรฐานสินค้า โดยเกาหลี เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมาตรฐานสุขอนามัยกับสินค้าอาเซียน ทั้งนี้คาดว่าจะมีการลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในธันวาคม 2548 และจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีหน้า
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้าระหว่างไทยและเกาหลีที่ผ่านมา ในปี 2547 มีมูลค่าการค้า 5,437.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 คิดเป็นร้อยละ 21.60 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.82 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,860.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 3,577 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าในปี 2547 มูลค่า 1,716.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 31.79 เทียบกับปี 2546 ( ขาดดุล 1302.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ )
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-