สรุปข่าวประจำวัน วันที่ 30 มกราคม 2544

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 30, 2001 14:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ข่าวในประเทศ
1. ก.คลังแสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนเลื่อนชำระคืนหนี้ไอเอ็มเอฟและการจัดทำ งปม.รายจ่ายปี 45 ของรัฐบาล ปลัด ก.คลัง เปิดเผยถึงการที่พรรคไทยรักไทยมีแผนจะเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เพื่อเลื่อนเวลาชำระคืนหนี้ว่า ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากได้มีการทำสัญญากับไอเอ็มเอฟเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเงินสำรองระหว่างประเทศสำหรับการชำระคืนหนี้ก็มีจำนวนเพียงพอ และได้บรรจุแผนงานดังกล่าวไว้ใน งปม.ปี 44 แล้ว หากรัฐบาลใหม่มีความต้องการใช้เงินจำนวนมากเพิ่มเติมสำหรับดำเนินงานตามนโยบายก็สามารถนำเงิน งปม.จากโครงการต่างๆ มาใช้ทดแทนได้ สำหรับการจัดทำ งปม.รายจ่ายปี 45 ที่พรรคไทยรักไทยมีแผนเพิ่มการขาดดุล งปม.เป็นร้อยละ 5 จากร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ในประเทศ (จีดีพี)ในปี งปม.44 นั้น คงต้องหารือกันระหว่างรัฐบาลใหม่กับ ก.คลัง เพราะอัตราการขาดดุล งปม.ประจำปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 105,000 ล.บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพี ถือว่าเพียงพอ (วัฏจักร 30)
2. ธปท.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 44 เป็นร้อยละ 3-4.5 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในอัตราร้อยละ 4-4.5 และปี 43 เป็นร้อยละ 4-4.5 จากเดิมร้อยละ 4.5-5.0 อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนและการอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 45 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 4.5-6.5 ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกในปี 44 ที่แม้จะหดตัวลง แต่ยังเป็นไปตามประมาณการ และไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก โดยจะถูกทดแทนโดยการใช้จ่ายในประเทศ เพราะในแบบจำลองเศรษฐกิจ ภายใต้การขยายตัวร้อยละ 3-4.5 ยังไม่รวมการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลใหม่ ด้านการอุปโภคบริโภคปี 44 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-5 เทียบกับปี 43 ที่ขยายตัวร้อยละ 4-5 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 6.5-7.5 เทียบกับปี 43 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5-7.5 สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น แม้จะมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในไตรมาสที่ 4 แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 44 จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 1.5-2.5 และเฉลี่ยร้อยละ 1.5-3.0 ในปี 45 (ไทยโพสต์ 30)
3. ผลการประชุมเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ธปท.เปิดเผยว่า คณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นเอ็นพีแอลแต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ผ่อนคลายและยืดหยุ่นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ำประกัน จากเดิมที่กำหนดว่าลูกหนี้เอ็นพีแอลฯ ต้องหาบุคคลที่สามมาค้ำประกัน บสย.จึงจะยอมค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ทำให้เป็นปัญหาต่อลูกหนี้ โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าว ผู้บริหารหลักของเอสเอ็มอีฯ สามารถค้ำประกันการกู้ยืมของบริษัทฯได้เอง และยังยืดหยุ่นว่าการให้สินเชื่อใหม่จะต้องมีการค้ำประกันหรือไม่นั้น ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.43 (กรุงเทพธุรกิจ 30)
ข่าวต่างประเทศ
1. นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สรอ. จะลดลงในไตรมาสที่ 4 ปี 43 รายงานจากนิวยอร์กเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 44 จากผลการสำรวจของรอยเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 43 ผลิตภัณฑ์ในประเทศ ( GDP) ของ สรอ. จะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.9 ลดลงจากที่เติบโตร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 3 ปี 43 เนื่องจากความกังวลจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง Ed McKelvey นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Goldman Sachs กล่าวว่า จากการที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการค้าปลีก ขณะที่การขอรับสวัสดิการว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. 43 รวมทั้งมีสัญญาณบ่งชี้ว่าบริษัทต่างๆกำลังจะลดการจ้างงานลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของ สรอ. ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 44 ก. พาณิชย์ สรอ.จะประกาศตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 43 ก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ธ. กลาง สรอ. ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมากระหว่างการประชุมในวันดังกล่าว (รอยเตอร์ 29)
2. อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน ธ.ค. 43 รายงานจากโตเกียวเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 44 รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เดือน ธ.ค. 43 อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นปรับฤดูกาล อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.8 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน พ.ย. 43 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่เดือน เม.ย. 43 และตลอดทั้งปี 43 คนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล.คน เพิ่มขึ้น 3 หมื่นคน เมื่อเทียบปีต่อปี และอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.7 ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 42 นับเป็นระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับปี 2496 ขณะเดียวกัน ในเดือน ธ.ค. 43 อัตราส่วนตำแหน่งงานต่อผู้สมัครงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.66 จากระดับร้อยละ 0.65 ในเดือน พ.ย. 43 ซึ่งหมายถึงมีตำแหน่งงานเปิดรับ 66 ตำแหน่งต่อผู้สมัครงานทุกๆ 100 คน (รอยเตอร์ 30)
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือน ธ.ค. 43 รายงานจากโตเกียวเมื่อ 29 ม.ค. 44 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีรายงานว่า เดือน ธ.ค. 43 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับ 43.4 เพิ่มขึ้น 0.1 จุดจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ก.ย. 43 โดยการสำรวจครัวเรือน 5,040 ครัวเรือนเพื่อวัดความความรู้สึกเชื่อมั่นของผู้บริโภคพบว่า ในเดือน ธ.ค. 43 ครัวเรือนเดี่ยวมีความรู้สึกเชื่อมั่นดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.7 เพิ่มขึ้น 1.7 จุดจากเดือน ธ.ค. 42 แต่อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดรายได้กลับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสอยู่ที่ระดับ 42.0 และดัชนีชี้วัดการจ้างงานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสอยู่ที่ระดับ 38.1 ซึ่งสืบเนื่องจากราคาหุ้นในโตเกียวที่ตกต่ำและบริษัทประกันภัยหลายแห่งล้มละลายส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลงและเกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น (รอยเตอร์ 29)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์ สรอ.ระหว่างธนาคาร ณ สิ้นวันทำการ 29 ม.ค.44 42.700 (42.856)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน) ณ สิ้นวันทำการ 29 ม.ค. 44
ซื้อ 42.5809 (42.7125) ขาย 42.8888 (43.0141)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,300 (5,350) ขาย 5,400 (5,450)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน 23.37 (24.09)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) 15.99 (15.99) ดีเซลหมุนเร็ว 13.44 (13.44)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ