แท็ก
องค์การการค้าโลก
การเจรจาการค้าบริการด้านการเงินใกล้ประสบความสำเร็จ การเจรจาการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกมีความคืบหน้าและมีนิมิตรหมายที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการเจรจาจะสามารถประสบความสำเร็จบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในกำหนดสิ้นปีนี้ ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ศกนี้ มีประเทศสมาชิกยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 ฉบับ ทำให้มีข้อเสนอจากประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 24 ฉบับ ได้แก่ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐฯ บาห์เรน แคนาดา นอร์เวย์ ฮังการี ออสเตรเลีย สโลวัค ตุรกี เวเนซุเอลา มาเก๊า เกาหลี นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเชค เอควาดอร์ สิงคโปร์ ไอซแลนด์ สโลวาเนีย ไนจีเรีย เคนยา และอียิปต์ และมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้ประกาศว่า จะยื่นข้อเสนอที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุม ครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ บราซิล เปรู โปแลนด์ โดมินิกัน ชิลี ศรีลังกา บราซิล โบลีเวีย เซเนกัล ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับไทยได้มีถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการเจรจาการค้าบริการด้านการเงินตามหลักการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และว่า ได้ยื่นข้อเสนอเปิดเสรีสาขาการเงินที่ดีที่สุดไว้แล้ว เมื่อปี 2538 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอตามหลักการของความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ แต่ไม่สามารถรับปากได้ว่า จะยื่นข้อเสนอในเดือนพฤศจิกายนได้หรือไม่ สำหรับแนวทางการปรับปรุงข้อเสนอของประเทศสมาชิกที่ได้ยื่นข้อเสนอที่ปรับปรุงแล้ว และกำลังจะพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการผูกพันกฎระเบียบที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การเจรจาเมื่อปี 2538 และสะท้อนถึงแผนการเปิดเสรีในอนาคต รวมทั้งยกเลิกรายการ MFN Exemption (ภายใต้เงื่อนไขว่า ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องยกเลิกเช่นกัน) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจารอบนี้ แสดงความพอใจต่อความคืบหน้าของการเจรจา อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เห็นว่า การเจรจาจะสามารถบรรลุข้อตกลงพหุภาคีทันตามกำหนดเวลาในวันที่ 12 ธันวาคม ศกนี้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาพรวมของข้อเสนอที่มีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนของข้อเสนอในปริมาณที่มาก และคุณภาพที่ดีเพียงพอ (Critical Mass) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ปรับปรุงข้อเสนอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ ในเรื่องของสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ รวมทั้งสามารถเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และไม่มีข้อจำกัดในการเลือกรูปแบบของการดำเนินกิจการ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา มีความเห็นพ้องกันว่า การที่ประเทศสมาชิกต่างๆ มีความเข้าใจและยอมรับสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับความสามารถในการปรับปรุงข้อเสนอของประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน จะทำให้มีจำนวนประเทศยื่นข้อเสนอมากขึ้นและการเจรจาจะประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย [Back to Header
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-