14 กุมภาพันธ์ 2543 การหารือสองฝ่ายของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับรัฐมนตรีประเทศต่างๆ ในระหว่างการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 ---------------------- ในระหว่างการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 คณะผู้แทนประเทศสมาชิกกว่า 40 ประเทศ ได้ขอหารือสองฝ่าย กับฝ่ายไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 ได้มีหัวหน้าคณะผู้แทนจาก 10 ประเทศ เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร) ดังนี้ 1. อังกฤษ นาย Brian Wilson รัฐมนตรีซึ่งดูแลสก๊อตแลนด์ ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้ 1.1 ฝ่ายอังกฤษได้สอบถามความเห็นของฝ่ายไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน และความปลอดภัยของมนุษย์ต่อระบบการค้าโลก ซึ่งไทยให้ความเห็นว่าประเด็นที่ ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าเหล่านี้มีองค์กรระหว่างประเทศที่เหมาะสม เช่น ILO และ WHO เป็นต้น ดูแล รับผิดชอบในเรื่องการกำหนดมาตรฐานต่างๆ โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่ควรนำประเด็นเหล่านี้มาใช้เป็น ข้ออ้างเพื่อกีดกันการค้า หรือนำเข้ามาเชื่อมโยงในเวทีของ WTO 1.2 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับบทบาทและการดำเนินงานของ WTO และเห็นพ้องกันว่า ควรมีการปฏิรูปองค์กร เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถมีส่วนร่วมในองค์กร และได้รับการจัดสรรผล ประโยชน์ที่เท่าเทียม กระบวนการตัดสินใจใน WTO ควรโปร่งใสและทุกประเทศควรเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสริมว่า อังค์ถัดสามารถมีส่วนช่วยเหลือการทำงานของ WTO ได้ โดยทำหน้าที่เป็นองค์กรวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลให้ประเทศกำลังพัฒนานอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ILO WTO IMF และ World Bank เป็นต้น ควรมีการประสานการดำเนินงาน และกำหนดนโยบายไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุด และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 1.3 ฝ่ายไทยได้หยิบยกปัญหาการส่งสินค้าออกของไทย เช่น อาหาร เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น เข้าสู่ตลาดอังกฤษ ที่ยังมีการผูกขาดช่องทางการจัดจำหน่ายหรือกระจายสินค้าโดยบริษัทขนาดใหญ่ เป็นประเด็นด้านการกีดกันการแข่งขัน ซึ่งควรจะต้องมีการหารือเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป 1.4 ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการตัดแต่งสารทางพันธุกรรม หรือ GMO ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ผู้บริโภคมีความตื่นตัวมากในขณะนี้ และเห็นพ้องกันว่าควรมีการหารือกันในเวทีระดับประเทศเพื่อ กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค โดยอาจสนับสนุนให้ใช้วิธีการติดป้าย สินค้าที่มีส่วนประกอบ GMOs เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือก 2. ลาว นาย Siaosavath Savengsuksa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าลาว ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะ ผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายลาวปรับปรุงแก้ไขวิธีการประเมินภาษีศุลกากรสินค้า ไม้อัด และผ่อนปรนกฎระเบียบการนำไม้ออกจากประเทศลาว ซึ่งลาวแจ้งว่าได้มอบให้ศุลกากรลาวนำไป พิจารณาดำเนินการแล้ว และยินดีที่จะอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายไทยในการเข้าไปซื้อ เฟอร์นิเจอร์ไม้ จากลาว นอกจากนั้น ไทยยังเสนอให้ลาวปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบภายใน และที่พรมแดนที่เป็นอุปสรรค ต่อการค้าและการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักธุรกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะส่งผลให้การค้าระหว่าง สองประเทศขยายตัวมากขึ้น 3. ไอร์แลนด์ นาง Mary Harney รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการค้าไอร์แลนด์ ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะ ผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าความล้มเหลวที่ซีแอตเติลส่งผลให้ ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับบทบาทของอังค์ถัดมากขึ้น และเห็นว่าการทำงานของอังค์ถัดสามารถ สนับสนุนการดำเนินงานของ WTO ได้ สำหรับเรื่องการปฏิรูปองค์กร WTO ฝ่ายไอร์แลนด์เห็นด้วยกับ ข้อเสนอของอังกฤษ (คำกล่าวของนาย Tony Blair ในการประชุมที่ดาวอส) ที่เสนอให้จัดตั้ง Eminent Persons Group ใน WTO เพื่อเป็นหน่วยงานที่จะช่วยประสานท่าทีที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่าอาจจัดตั้งในลักษณะเป็น Executive Board หรือ Executive Committee ซึ่งประกอบ ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นกลาง คล้ายกับที่มีในองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น IMF เป็นต้น ที่จะช่วย เสนอความเห็น หรือข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อคณะมนตรีทั่วไปของ WTO 4. นิวซีแลนด์ นาย Jim Sutton รัฐมนตรีการค้านิวซีแลนด์ ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 4.1 ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าอังค์ถัด และ WTO ควรมีการดำเนินงานที่สอดคล้องสนับสนุนซึ่งกัน และกัน สำหรับเรื่องการเปิดการเจรจารอบใหม่ของ WTO ไทยเห็นว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนามีความเชื่อมั่นว่า การเปิดเสรีใน WTO จะก่อให้ เกิดประโยชน์กับสมาชิกโดยเท่าเทียม 4.1 ฝ่ายนิวซีแลนด์เสนอให้กลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการพัฒนา ความสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยอาจพิจารณาการจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ระหว่างกัน 5. ซาอุดิอารเบีย นาย Osman Ibn Jafar Ibn Ibrahim Fakeeb รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการค้าซาอุดิอารเบีย ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 5.1 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันถึงบทบาทของการประชุมอังค์ถัด ซึ่งได้ช่วยเพิ่มบทบาทของ ประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการค้าโลกมากยิ่งขึ้น 5.2 ซาอุดิอารเบียขอให้ไทยสนับสนุนการซาอุดิอารเบียเข้าเป็นสมาชิก WTO และแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ ฝ่ายซาอุสามารถทำความตกลงกับญี่ปุ่นได้แล้ว และกำลังจะมีการหารือกับสหภาพยุโรปเป็นอันดับต่อไป 5.3 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนทางการค้าและจัดงานแสดงสินค้า ระหว่างกันเพื่อขยายการค้าของทั้งสองฝ่าย 6. จีน นาย Zhou Keren รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของจีนได้นำคณะเข้าพบหารือคณะ ผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 6.1 ฝ่ายจีนเชิญให้ไทยไปเยือนจีนในเดือนมีนาคม เพื่อหารือหาข้อสรุปในเรื่องที่จีนจะเข้า เป็นสมาชิก WTO ซึ่งไทยเห็นด้วยว่า หากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบ การค้าพหุภาคี รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียเนื่องจากจีน เป็นตลาดใหญ่ ทั้งนี้ ไทยหวังว่าจีนจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ก่อนที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ จะเริ่มขึ้น ไทยได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการหารือระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน ซึ่งจีนหวังว่าจะสามารถเจรจาหาข้อสรุปกับสหรัฐฯ ได้ก่อนกำหนดการเลือกตั้ง ประธานาธิบดี ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน จีนยังแจ้งให้ไทยทราบว่า จีนและสหภาพยุโรปได้มีการ หารือกันในเบื้องต้นเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2543 ที่กรุงบรัสเซลส์ และสหภาพยุโรปจะส่งผู้แทนมาเยือนจีนเพื่อหารือต่อในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง จีนหวังว่าจะสามารถเจรจา ตกลงกับสหภาพยุโรปได้ในไม่ช้า ขณะนี้จีนสามารถเจรจาหาข้อสรุปเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของจีนต่อ ประเทศต่างๆ ได้แล้วรวม 9 ประเทศ ยังเหลือ อีก 15 ประเทศ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจา เพื่อหาข้อสรุป 6.2 จีนเห็นด้วยกับฝ่ายไทยและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ว่าไม่ควรนำเรื่องมาตรฐานแรงงาน เข้ามาเชื่อมโยงกับการค้า หรือนำมาหารือในเวที WTO 6.3 ฝ่ายไทยได้แจ้งให้จีนทราบว่า ขณะนี้อาเซียนมีแนวคิดว่า ควรพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน กับ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ให้มากขึ้น โดยในชั้นต้นมีความตั้งใจว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และต่างประเทศของอาเซียน จะมีการเชิญรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งฝ่ายจีนได้แสดงความเห็นด้วย ในเรื่องนี้ และยินดีที่จะเข้าร่วมประชุม 6.4 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศดำเนินไปด้วยดี ไทยขอให้จีน ซื้อข้าวจากไทยมากขึ้นในฤดูกาลผลิตต่อไป 7. ซูดาน นาย Mekki L Balail รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศของซูดาน ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทน ไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างกัน มากขึ้นโดยซูดานได้เชื้อเชิญให้ฝ่ายไทยเข้าไปลงทุนในซูดาน โดยเฉพาะในด้านปิโตรเลียม เหมืองแร่ และสินค้าสิ่งทอ ไทยแจ้งให้ซูดานทราบว่าไทยส่งออกสินค้าอัญมณีในอันดับต้น จึงอาจเป็นโอกาสดีที่ซูดาน จะส่งออกวัตถุดิบ เช่น หินมีค่า ให้ไทย 8. โรมาเนีย นาย Mihai Berinde ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมโรมาเนีย ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 8.1 ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับระบบการค้าพหุภาคี และระบบการค้าในยุค โลกาภิวัตน์ ไทยเห็นว่าองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น WTO World Bank IMF ควรมีการประสาน และดำเนินนโยบายไปในแนวทางเดียวกัน (coherent) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ แก่ประชาคมโลก ได้อย่างเต็มที่ 8.2 ทั้งสองประเทศเห็นว่าควรมีการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น โรมาเนียได้เชื้อเชิญให้ไทยไปประชุมคณะกรรมาธิการทางการค้า (Joint Trade Committee) รวมทั้ง นำคณะนักธุรกิจ และคณะผู้แทนการค้าไปเยือนโรมาเนียในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่โรมาเนีย จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเสนอให้โรมาเนียมาจัดสัมมนา ในประเทศไทย เพื่อแนะนำให้ นักธุรกิจไทยรู้จักโรมาเนียมากขึ้น 9. อิรัก นาย Mohammad M. Saleh รัฐมนตรีการค้าอิรัก ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้ 9.1 ภายใต้โครงการ Oil for Food อิรักจะนำเข้าข้าวจากประเทศไทย 200,000 ตัน นอกจากนี้ อิรัก ได้แสดงความสนใจสินค้าน้ำมันพืช น้ำตาล และเครื่องจักรจากไทย 9.2 ไทยได้แจ้งให้อิรักทราบว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายกรพจน์ อัศวจินจิตร) จะเป็น หัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปเยือนอิรักในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ ทางการค้าไทย-อิรัก 10. อิหร่าน นาย Mohammad Sharettmadar รัฐมนตรีการค้าอิหร่าน ได้นำคณะเข้าพบหารือคณะผู้แทนไทย สรุปสาระ สำคัญได้ด้งนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า ควรจะต้องส่งเสริมการค้าระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งอิหร่านได้ แสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับไทยในกิจการปิโตรเคมี น้ำตาล และประมง ฝ่ายไทยได้เชื้อเชิญให้ อิหร่านนำนักธุรกิจมาเยือนไทยด้วย
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-