ประเทศสมาชิก WTO เตรียมการเจรจาการค้าบริการปี ค.ศ. 2000 -------------------------------------------------------------------------------- ประเทศสมาชิก WTO เตรียมการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน (Information Exchange Program) เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินสถานะของการเปิดเสรีการค้าบริการที่ผ่านมา และการกำหนดแนวทางการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการรอบต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในเวลาไม่ถึงสองปี การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการรอบต่อไปเป็นผลสืบเนื่อง จากบทบัญญัติภายใต้ความ ตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services-GATS) ภายใต้ WTO ซึ่งกำหนดให้มีการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ (Progressive Liberalization) ทุกห้าปี และการเจรจารอบต่อไปจะมีขึ้นก่อนปี ค.ศ. 2000 วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อให้มีการลดหรือเลิกมาตรการต่างๆ ของประเทศสมาชิกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปิดเสรี การค้าบริการ อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาสามารถจะเปิดตลาดให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของตน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่สิงคโปร์ (Singapore Ministerial Conference) เมื่อเดือนธันวาคม 2539 ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงาน ในการเตรียมการเจรจาการค้าบริการรอบต่อไป โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก การกำหนดรูปแบบของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ได้เริ่มมีการหารือในการประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการ (Council for Trade in Services) ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาโดยมีการเสนอ 1. ให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบภายในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าบริการตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง WTO 2. ให้ฝ่ายเลขาธิการฯ จัดทำเอกสารวิเคราะห์ผลโดยรวมของการเปิดเสรีการค้าบริการ 3. หยิบยกประเด็น เรื่องความจำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทางและกรอบการเจรจาการค้าบริการรอบใหม่ขึ้นหารือกันด้วย ต่อมาฝ่ายเลขาธิการฯ ได้จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ Economic Effects of Services Liberalization และ A Review of Statistics on Trade Flows in Service โดยเอกสารฉบับแรกเป็นการชี้ให้เห็นถึงบทบาทของภาคการค้าบริการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผลประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกจะได้รับจากการเปิดเสรีการค้าบริการ แนวทางการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีการค้าบริการของรัฐบาล และการปรับตัวของประเทศสมาชิก โดยคำนึงถึงต้นทุนหรือผลได้จากการเปิดเสรี สำหรับเอกสารฉบับหลังเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้าบริการระหว่างประเทศ ในสาขาบริการที่สำคัญบางสาขา และมูลค่าการค้าบริการระหว่างประเทศที่เกิดจากการเปิดบริษัทในต่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายของบุคลากรผู้ให้บริการในต่างประเทศ ในการประชุมคณะมนตรี ว่าด้วยการค้าบริการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ ประเทศสมาชิกทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างให้การสนับสนุนเอกสารบทวิเคราะห์ ที่จัดทำโดยฝ่ายเลขาธิการฯ และเสริมว่า ควรมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ยื่นไว้ต่อ WTO บทบาทการเปิดเสรีด้านการค้าบริการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการจ้างงาน และผลกระทบต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ควรให้มีการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าบริการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้ให้บริการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลควรครอบคลุมทุกสาขาการค้าบริการ ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเจรจาการค้าบริการรอบใหม่ว่า ควรเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาการค้าบริการใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขของการแข่งขันทางการตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศสมาชิกได้เจรจากันไปแล้ว 3 สาขา ได้แก่ สาขา โทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน สาขาการขนส่งทางทะเล และสาขาการเงิน ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ (สาขาโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานและการเงิน) และที่ต้องหยุดพักการเจรจาไว้ (สาขาการขนส่งทางทะเล) นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มุ่งดำเนินการเจรจาในเรื่องต่อเนื่องตามที่ระบุไว้ในการเจรจารอบอุรุกวัย เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงที่เกี่ยวกับกฎระเบียบของความตกลง GATS ในเรื่องมาตรการปกป้องฉุกเฉิน (Emergency Safeguard Measures) การจัดซื้อโดยรัฐ (Government Procurement) การอุดหนุน (Subsidies) และข้อบังคับภายในประเทศ (Domestic Regulations) ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ ประเทศสมาชิกจะต้องเร่งรัดหาข้อสรุปและแนวทางที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในประเด็นต่างๆ ข้างต้น เนื่องจากมีข้อจำกัดของเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่ถึงสองปีในการเตรียมการเจรจาการค้าบริการรอบใหม่ ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในเรื่องความรู้ประสบการณ์และความพร้อมในการเจรจา จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าช่วงเวลาเตรียมการนับเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการกำหนดทิศทางและแนวทางการเจรจาที่จะมีขึ้น ดังนั้น บทเรียนจากประสบการณ์การเจรจาในช่วงที่ผ่านมา ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ บทเรียนจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการปฏิบัติตามความตกลงรวมทั้งเป้าหมายและความต้องการในอนาคตเป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญและนำมาวิเคราะห์ประกอบการกำหนดแนวนโยบายและท่าทีในการเตรียมการเพื่อให้สามารถเข้าร่วมการเจรจา เพื่อเปิดเสรีการค้าบริการที่จะมีขึ้นในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการของประเทศต่อไป ประเทศกำลังพัฒนาคงจะต้องหยุดการวางท่าทีแบบตั้งรับ แล้วหันมาถามว่า มีสาขาบริการใด และประเด็นใด องค์ประกอบใด ที่ตนจะได้ประโยชน์ ได้เปรียบการแข่งขัน และผลักดันให้ได้ผลจริงจัง เกมส์การเล่นในเวทีนี้ ไม่มีโอกาสให้แก่คน "กลัวๆกล้าๆ" มีแต่ให้โอกาสกับคนพร้อมสู้เท่านั้น ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-