เศรษฐกิจผันผวนหลอนทั้งโลกตื่นตุนทอง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2005 17:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์:          
กรมศุลกากรได้แจ้งตัวเลขการนำเข้าทองคำในระยะ 6 เดือนแรก ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 76.78 จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดดุลการค้า และเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลเห็นควรให้ลดปริมาณการนำเข้าในครึ่งปีหลัง
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการขาดดุลการค้าจากสินค้าพลังงาน เหล็ก และทองคำ เป็นปัญหาใหญ่ จึงให้มีการตรวจสอบตัวเลขการนำเข้าทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการค้าทองคำเพื่อขอความร่วมมือในการลดปริมาณการนำเข้าทองคำ ซึ่งผู้ประกอบการรับจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
รายงานข่าวจากต่างประเทศ พบว่าผู้ค้าทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ระบุว่าราคาทองคำในตลาดนิวยอร์กได้ขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงไต่ระดับสูงและได้ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำกันมากขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ขยับตัวตามราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตุว่า เมื่อราคาทองคำสูงขึ้นตามค่าเงินยูโรที่ไต่ขึ้นถึง 1 ยูโรต่อ 1.24 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาลเยอรมนีประกาศว่า ภาคอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นเกินคาด
ด้าน ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ปัจจัยทั้ง 3 ได้แก่ น้ำมัน ทองคำ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน จะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาทุกครั้งที่ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน อ่อนค่าหรือแข่งค่า ก็จะมีนักลงทุนเริ่มมองหาเครื่องกันประกันความเสี่ยงทางด้านอื่นๆ คือ ทองคำ ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันผันผวน ทำให้มีการผูกโยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับราคาเฉลี่ยที่ 431 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้นเป็น 439 ดอลลาร์/ออนซ์
ในปี 2547 การนำเข้าทองคำในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 38,861.627 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 ทั้งนี้ 10 ประเทศที่มีการนำเข้าทองคำในปี 2004 มากที่สุด ได้แก่ อินเดีย นำเข้าถึง 8,662,638.155 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.8, สหราชอาณาจักร นำเข้า 3,937,193,287 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 48.05 , สหรัฐอเมริกา นำเข้า 3,827,610,019 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.85, อิตาลี นำเข้า 3,500,126,709 เหรียญ
สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.42, เกาหลีใต้ นำเข้า 3,491,034,499 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.83, ตุรกี นำเข้า 3,483.102,210 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.65, ออสเตรเลีย นำเข้า 1,801,098,709 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.95, ฮ่องกง นำเข้า 1,673,953,020 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.89, มาเลเซีย นำเข้า 1,243,681,849 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.9 และไทย นำเข้า 1,149,254,529 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.1
ส่วนปี 2548 ในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค) ประเทศนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นในอัตราสูง คือ ตุรกี นำเข้า 1,183,407.816 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.54, ไทย นำเข้า 826,592,601 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขี้นร้อยละ 153.44, แคนาดา นำเข้า 392,100,859 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 322.61, ออสเตรีย นำเข้า 107,397,574 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 843.55, คอสตาริก้า นำเข้า 5,673.279 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.06, โปแลนด์ นำเข้า 4,319.930 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.79, แอฟริกาใต้ นำเข้า 1,943,925 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.09, แอสโทเนีย นำเข้า 253,869 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.60,ปานามา นำเข้า 27,562 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,778.26 และอาร์เจนตินา นำเข้า 4,057 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,215.96
ประเด็นวิเคราะห์:
จากการที่ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ได้ผันผวนเป็นสาเหตุให้ราคาทองคำมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน และอัตราแลกเปลี่ยนไม่คงที่ ราคาทองคำก็จะสูงขึ้นด้วย เพราะนักลงทุนได้หันมาลงทุนในด้านทองคำเพื่อเป็นหลักประกันด้านความเสี่ยงและมีการเก็งกำไรทองคำ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ