(ต่อ2) คำแถลงนโยบาย ของ คณะรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2001 11:15 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

          ๑๕. นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน 
รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเองและพิทักษ์สิทธิของตนได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และขจัดการทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้
๑๕.๑ ด้านการปฏิรูปการเมือง
(๑) เร่งรัดการตราและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยกำหนดขั้นตอนระยะเวลา และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง และการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง
(๒) ส่งเสริมให้ใช้หลักสิทธิมนุษยชนในการบริหารราชการ และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ ด้านสิทธิมนุษยชนและหน้าที่พลเมืองในสถานศึกษา
(๓) สนับสนุนการทำงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมให้องค์กรประชาชนสามารถมีกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและประเมินผลในโครงการสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การตรวจสอบการทำงานภาครัฐ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญ
(๕) ส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรประชาชนของไทยมีความร่วมมืออันดีกับประชาชนและองค์กรประชาชนในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างประเทศและระหว่างประชาชน
๑๕.๒ ด้านการบริหารราชการ
(๑) ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างที่กระชับ เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งเร่งตรากฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลก และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
(๒) ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนและประชาชน โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
(๓) ปรับกระบวนการบริหารราชการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน พร้อมกันนี้จะปรับปรุงพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
(๔) เร่งพัฒนาคุณภาพของข้าราชการ ให้มีทัศนคติที่เอื้อต่องานบริการประชาชน รวมทั้งทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริหารราชการมีความยืดหยุ่นมีประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการประเมินผลที่เป็นระบบและเป็นธรรม
(๕) เร่งรัดการปรับเปลี่ยนกระบวนจัดทำและจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้กระทรวง ทบวง กรมมีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น พร้อมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
๑๕.๓ ด้านการกระจายอำนาจ
(๑) ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น และการกระจายอำนาจทางการคลังลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการบริหารงบประมาณของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการพัฒนาท้องถิ่น
(๒) ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นให้มีความชัดเจนเหมาะสมตามขั้นตอนของการกระจายอำนาจ ในขณะเดียวกัน จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละท้องถิ่นรวมถึงการมีอิสระในการจัดการด้านงบประมาณของท้องถิ่น การแสวงหารายได้ และการจัดการทรัพย์สินของท้องถิ่น
(๓) ส่งเสริมให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้าง และการแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเร่งส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดประสิทธิผล
๑๕.๔ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑) ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางวินัย ทางปกครอง ทางเพ่ง ทางอาญาและทางภาษี อย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ผู้ทุจริตหรือมีส่วนปกป้องผู้ทุจริต รวมทั้งจะผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากระบวนการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้สามารถลงโทษผู้ทุจริตอย่างเด็ดขาดและสามารถชดเชยความเสียหายแก่ภาครัฐหรือประชาชนที่ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำทุจริตที่เกิดขึ้น
(๒) รณรงค์อย่างจริงจังและปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการทุจริตและการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต
(๓) ส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ
(๔) ปฏิรูปกระบวนการจัดและการใช้งบประมาณแผ่นดิน และระบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการอนุมัติงบประมาณ โดยสนับสนุนให้ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นในการตรวจสอบและวิเคราะห์การเสนอของงบประมาณและการใช้งบประมาณ
๑๕.๕ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกฎหมาย
(๑) เร่งรัดการจัดโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมให้มีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มาตรการระงับข้อพิพาทนอกเหนือจากการระงับข้อพิพาทโดยศาล เพื่อให้เป็นเครื่องมือของประชาชน ผู้บริโภค ผู้ด้อยโอกาส และผู้เสียเปรียบ ให้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของตนเองมากขึ้น
(๓) ปรับปรุงระบบและวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดให้มีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
(๔) ส่งเสริมให้ชุมชน ประชาชน และเครือข่ายองค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรม
(๕) เร่งดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ล้าสมัย ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน และยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ในอนาคต
(๖) สนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านนิติศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงหรือการเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
๑๖. นโยบายพัฒนาภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร
๑๖.๑ ด้านการพัฒนาภูมิภาค
(๑) ให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาภูมิภาคที่เหมาะสมและสอดคล้องกับคุณลักษณะเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพการพัฒนาของประชาชนในแต่ละภูมิภาค
(๒) กระจายและเชื่อมโยงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบขนส่งคมนาคมและสื่อสาร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เพียงพอ เป็นระบบและสอดคล้องกับการพัฒนาของแต่ละภูมิภาค
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เกิดการรวมกลุ่มและประสานกันเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มจังหวัดหรือพื้นที่เฉพาะ
(๔) จัดระบบการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาและความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองอย่างจริงจัง
๑๖.๒ ด้านการพัฒนากรุงเทพมหานคร
(๑) สนับสนุนการกำหนดรูปแบบและโครงสร้างใหม่ของเมืองหลวง โดยการวางแผนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครให้มีความชัดเจน รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสาธารณะอย่างเป็นระบบ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครให้มีความคล่องตัวและเป็นอิสระจากราชการส่วนกลางมากขึ้น ทั้งด้านงบประมาณ การกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ
(๓) เร่งรัดและสนับสนุนการสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ด้วยการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและสร้างแหล่งงาน การจัดการศึกษา การสาธารณสุข การฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาอาชญากรรมและสาธารณภัย รวมทั้งการป้องกันปราบปรามยาเสพติด
(๔) ส่งเสริมการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน และประสานการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สอดคล้องอย่างเป็นระบบกับทิศทางการพัฒนาเมืองและการผังเมือง
ผนวก 1
ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีถือว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
ตามมาตรา ๑๗๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_________________________________
๑. ร่างกฎหมายว่าด้วยกองทุนหมู่บ้าน
๒. ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินแห่งชาติ
๓. ร่างกฎหมายว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
๔. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
๕. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ
๖. ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ
๗. ร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพแห่งชาติ
๘. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
๙. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
๑๐. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
๑๑. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนาธรรม
๑๒. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
๑๓. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
๑๔. ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ผนวก 2
ตารางแสดงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นโยบายของคณะ
รัฐมนตรี
มาตรา ๗๒ ข้อ ๑๒
รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ
สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ
มาตรา ๗๓ ข้อ ๑๑.๒
รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นส่งเสริม
ความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุน
การนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
มาตรา ๗๔ ข้อ ๑๓
รัฐต้องส่งเสริมพันธไมตรีกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกัน
อย่างเสมอภาค มาตรา ๗๕ ข้อ ๑๔
รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ข้อ ๑๕.๒
จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ ข้อ ๑๕.๕
ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการและงานของรัฐ
อย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รัฐต้องจัดสรร
งบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา ๗๖ ข้อ ๑๕.๑
รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย
การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม และการเมือง
รวมทั้งการตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
มาตรา ๗๗ ข้อ ๑๕.๑
รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ข้อ ๑๕.๔
ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐ
เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
มาตรา ๗๘ ข้อ ๑๕.๓
รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง ข้อ ๑๖.๑
พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน
สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม
ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
มาตรา ๗๙ ข้อ ๘
รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษาและ
ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วน
ร่วมในการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิต
ของประชาชน
มาตรา ๘๐ ข้อ ๑ (๗)
รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมเสมอภาคของหญิงและชาย ข้อ ๑๐.๔
เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รัฐต้อง ข้อ ๑๐.๕
สงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้
มาตรา ๘๑ ข้อ ๗
รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษา อบรมให้เกิดความรู้ ข้อ ๑๑.๑
คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความ ข้อ ๑๑.๓
เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับ
การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุน
การค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการ
พัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
มาตร ๘๒ ข้อ ๑ (๗)
รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและ ข้อ ๑๐.๑
มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
มาตรา ๘๓ ข้อ ๑ (๒)
รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ข้อ ๑ (๓)
ข้อ ๓.๑
มาตรา ๘๔ ข้อ ๓.๑
รัฐต้องจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมจัดหา
แหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง และรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร
ในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมตัว
ของเกษตรกร เพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร
มาตรา ๘๕ ข้อ ๓๑ ส่วนที่ ๒
รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์
มาตรา ๘๖ ข้อ ๖
รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงาน
โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์การประกันสังคม
รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม
มาตรา ๘๗ ข้อ ๔.๑
รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดกำกับ ดูแลให้มี ข้อ ๔.๓
การแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรง
และทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่
สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน
เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์
ส่วนรวม หรือการจัดให้มีการสาธารณูปโภค
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมา ได้วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน และเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะต้องปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานราชการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการประเทศใหม่ และต้องเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้การดำเนินนโยบายสำคัญเร่งด่วนสามารถบรรลุผลทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ในการนี้ รัฐบาลขอระบุกฎหมายที่รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา ๑๗๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในภาคผนวกแนบท้ายคำแถลงนโยบายนี้และขอชี้แจงในภาคผนวกดังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยถือว่า ภาคผนวกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายนี้
ขอขอบคุณ
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ