คำต่อคำ: นายชวน หลีกภัย กล่าวอภิปรายทั่วไป ในเรื่องการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวการเมือง Friday April 1, 2005 09:07 —พรรคประชาธิปัตย์

          ท่านประธานที่เคารพกระผมนายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาธิปัตย์ สมาชิกรัฐสภา ขอกราบเรียนท่านประธานเรื่องเวลาว่า มีผู้อภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากกระผมอีก 2 ท่าน แต่ว่าเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องเวลา กระผมกราบเรียนว่าได้ตกลงกันแล้วครับว่า  ถ้ากระผมอภิปรายเวลาเหลืออยู่ก็มอบให้ 2 ท่าน ถ้ากระผมอภิปรายล้ำเวลาของเขาไป ขอท่านประธานก็กรุณาตัดเวลาของผู้อภิปรายหลังจากผมครับ เพื่อไม่ให้ลำบากใจในเรื่องของเวลา 
ท่านประธานที่เคารพ กระผมได้รับมอบหมายจากท่านหัวหน้าพรรคและสมาชิกโดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความประสงค์จะอภิปราย แต่ว่าไม่สามารถที่จะจัดเวลาให้ได้ ได้อภิปรายแทนท่านเหล่านั้น ในประเด็นที่เรามีความเห็นสอดคล้องกัน ความจริงแล้วกระผมได้เคยอภิปรายปัญหาเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประมาณเกือบ 1 ปีที่แล้ว ในฐานะผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคือรองนายกฯ ซึ่งดูแลเรื่องความมั่นคงขณะนั้น กระผมได้เคยกราบเรียนว่า ปัญหาใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้น ที่จริงแล้วคนที่ควรจะรับผิดชอบอภิปรายในขณะนั้นที่จะถูกอภิปรายคือ นายกรัฐมนตรี แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่จำนวนเสียงไม่เพียงพอ เราจึงทำไม่ได้ แต่ว่ามีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อเนื่องไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ ท่านรองนายกฯ ผมกราบเรียนท่านประธาน นอกจากนั้นเมื่อเกิดกรณีกรือแซะ ตากใบ เราก็อภิปรายเรื่องนี้ในฐานะผู้อภิปรายในญัตติ
กราบเรียนท่านประธานเพื่อเรียนว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี แต่ว่าข้อมูล ข้อเท็จจริงที่กระผมเคยกราบเรียนไปนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ข้อเท็จจริงที่เคยปรากฏอย่างไร ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เหมือนประวัติศาสตร์ของปัญหาภาคใต้ วันเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ปัญหาก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผมขอกราบเรียนในประเด็นที่เป็นญัตติ ซึ่งรัฐบาลได้เสนอ ความจริงแล้วการเสนอญัตติตามมาตรา 213 นั้น เป็นกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ เพื่อนำปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมควรที่จะฟังความคิดแห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา การอภิปรายครั้งนี้ อย่างที่ท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กราบเรียนท่านประธานก็คือว่า จึงระดมความคิดจากทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กระผมจึงคิดว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริงๆนั้น ก็คือ รัฐบาลสามารถประมวลความเห็น ข้อเท็จจริง จากสมาชิกทั้งสภา เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางการบริหาร แต่ว่า 2 วันที่เราได้ฟังมานั้น ต้องยอมรับว่าความคิดความเห็นแม้จะเป็นประโยชน์ แต่ว่าหลากหลาย บางท่านก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในทัศนะของกระผมเห็นว่า ความคิดจะเป็นอย่างไร จะแตกต่างกันแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่ต้องตรงกัน จึงขอให้ความมั่นใจกับท่านประธานว่า กระผมจะให้ข้อเท็จจริงตามความเป็นจริง เพราะกระผมคิดว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อนำความเท็จมาบิดเบือน กล่าวหารัฐบาล และไม่ใช่นำความเท็จมาบิดเบือน และก็การกระทำที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล ในญัตติที่รัฐบาลได้เสนอนั้น จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลได้พูดถึงนโยบายหรือปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป ข้อสังเกตที่กระผมกราบเรียนก็คือ เมื่อพูดถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ญัตติได้เขียนว่า แม้คนจนมีสัดส่วนน้อยลง ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีอยู่ และรัฐบาลได้บอกว่า รัฐบาลได้ใช้นโยบายเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดดังกล่าวมาโดยตลอด คือ เมื่อเริ่มญัตติอย่างนี้กระผมต้องกราบเรียนท่านประธานว่า เสมือนหนึ่งคือการปกป้องสิ่งที่ทำมาใน 4 ปีก่อนที่จะมาการอภิปราย เพราะถ้าพูดกันตรงๆ โดยไม่อ้อมค้อมก็ต้องเรียนว่า ที่รัฐบาลบอกว่ารัฐบาลใช้นโยบายเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา 3 จังหวัด ดังกล่าวมาโดยตลอดนั้น พูดได้ว่าไม่จริง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา รัฐบาลเริ่มพูดหลังจากที่เหตุร้ายได้เกิดขึ้นจนถึงช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานคำแนะนำในการแก้ปัญหา โดยเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา คำนี้จึงมาพูดเอาตอนปลาย มิใช่ดำเนินการมาโดยตลอด รวมทั้งเรื่องการพัฒนาก็เริ่มมีความคิดที่จะทุ่มเทงบประมาณ หลังจากที่เหตุร้ายได้เกิดขึ้นจนยากที่จะแก้ไข กระผมทำความเข้าใจเรื่องนี้เพราะอย่างที่กราบเรียนว่า มันไม่ใช่เวลาที่เราจะมานำความเท็จ บิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล และไม่ใช่เวลาที่เราจะมาเอาความเท็จมาฟอกการกระทำของรัฐบาล
ท่านประธานที่เคารพ แม้ทัศนะ ความเห็นเราจะต่างกัน แต่ผมอยากให้เรามีความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ตรงกัน เมื่อวานนี้ อ.ดร.พีรยศ ได้เล่าประวัติศาสตร์ของภาคใต้ น่าสนใจ เสียดายที่เวลามีน้อย แต่อย่างน้อยที่สุดเรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคของโลกในส่วนนี้ เห็นระยะเวลานับพันปีว่าอารยธรรม ศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมฟังท่านสมาชิกจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เรื่องของประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้ด้วยความเคารพ และกระผมคิดว่าส่วนใหญ่นั้นเป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ขออนุญาตท่านประธาน เพื่อให้ประวัติศาสตร์สมบูรณ์ ขอต่อเติมนิดเดียวครับ การต่อเติมประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ต่อเติมเรื่องไม่จริง แต่เราพูดต่อเพื่อให้มาลงเอยวันนี้ เพราะกระผมเห็นด้วยว่า เราปฏิเสธอะไรก็ตาม แต่เราปฏิเสธความจริงในประวัติศาสตร์ไม่ได้และประวัติศาสตร์ดังกล่าวนั้นเองที่เป็นผลอันหนึ่งมากระทบก่อให้เกิดปัญหาในขณะนี้ ตรงนี้ถ้าเราเข้าใจ ถ้าเรายอมรับ จะทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ง่ายขึ้น และเราจะไม่ไปตำหนิลงโทษ หรือให้ร้าย หรือแก้ต่างใครก็ตาม โดยไม่มีเหตุผล
ต้องกราบเรียนท่านประธานว่า ในฐานะกระผมเองได้เคยมีโอกาสอยู่ในพื้นที่ ในฐานะคนในภูมิภาคนั้น ลงไปในพื้นที่ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสร่วมแก้ปัญหาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดในฐานะของการเป็นผู้แทนราษฎร ได้มีโอกาสพบกับผู้ที่คิดแบ่งแยกดินแดน ได้พบกับผู้ที่เริ่มตั้งกระบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะเป็นรุ่นพี่ของเราในสภานี้ กระผมจะกราบเรียนท่านประธานที่อยากให้เราเข้าใจตรงกันก็คือว่า พื้นที่นี้มีปัญหามายาวนานแล้ว ไม่ใช่ 40 50 ปี แต่เป็น 100 ปี ประวัติศาสตร์ของพื้นที่เคยมีรัฐ ที่เป็นเอกราช เคยมีประเทศที่เรียกว่า รัฐปัตตานี เคยยิ่งใหญ่ ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ ดูปืนพญาตานี กระบอกปืนใหญ่ ไม่ว่าสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ก็ทำไม่ได้เท่าเขา เขาเคยมีสถานะภาพเหมือนกับภูมิภาคอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ภาคเหนือ ลานนา ล้านนา เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน เขาก็เคยมีอาณาจักรของเขา พัฒนาการของบ้านเมืองแถบนี้เราเปรียบเทียบได้ว่า ต่างก็เคยมีสถานะ มีความเป็นเอกเทศของตัวเอง แต่ผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง การเมือง พื้นที่เหล่านี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพ ของสยาม ของประเทศไทย ความแตกต่างของวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ทำให้พัฒนาการของแต่ละพื้นที่ไปไม่พร้อมกัน
ในเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้น มีความอ่อนไหว อย่างที่เราเห็นสมาชิกได้กล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรไกล มองเห็นความสลับซับซ้อน ความอ่อนไหวของปัญหา จึงต้องมี นโยบายพิเศษ ส่งข้าราชการลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับการส่งพระเจ้าน้องยาเธอไปดูแลเชียงใหม่ เพื่อลดความรุนแรงของการที่เมืองเหล่านั้นสูญเสียสถานะภาพ เคยเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กรุงเทพไปแบ่งมาเสีย 1 ใน 3 เคยปกครองอิสระ มีอำนาจเต็มที่ก็มีตัวแทนกรุงเทพฯเข้าไปร่วมปกครอง ความรู้สึกต้องมีครับ ถ้าไม่มีก็ผิดปกติ แต่ด้วยเหตุผลของความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ในภาคเหนือกับกรุงเทพฯไม่ต่างกันมากนัก ความกลมกลืนจึงเกิดได้เร็ว ในภาคใต้ความกลมกลืนก็เกิดขึ้น แต่ช้าครับ ช้าเพราะความแตกต่างในเรื่อง ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับความเป็นจริง
สมัยเริ่มต้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบมณฑล อำนาจบทบาทของผู้ครองนครเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่ว่ามีความพอใจ ไม่พอใจ แต่เหตุผลที่กระผมกราบเรียนแล้ว สถานการณ์ก็ไม่รุนแรง ภาคใต้ก็มีความพยายาม แต่ในที่สุดก็มีการแข็งเมือง จนต้องจับผู้ครองเมืองรัฐปัตตานี คือ พระยาวิชิตภักดี (อับดุบกอเดร) ไปขังที่พิษณุโลก แต่วันนี้ที่สุดได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปัญหาก็ไม่จบ มีการเรียกร้องที่ดิน มีการเรียกร้องสิทธิ เมื่อไม่ได้รับพระราชทานก็ก่อเหตุร้าย ในที่สุดก็ต้องหนีไปอยู่กลันตัน ลูกหลานก็ไม่พอใจต่อเนื่อง ความคิดเรื่องการที่จะมีเมืองของตัวเอง คิดที่จะเป็นสุลต่านก็มี ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และเข้าใจ แต่ท่านประธานที่เคารพครับ อย่างที่กราบเรียนแล้วว่า ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงระมัดระวังมากในการส่งข้าราชการไปปกครอง เหตุการณ์ที่จะขยายรุนแรงก็ค่อยๆลดความรุนแรงลงมา โดยลำดับ พัฒนาการเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สถานการณ์ก็ค่อยๆดีขึ้น
ต้องกราบเรียนท่านว่า รัฐบาลทุกชุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งใจที่จะทำให้ปัญหาบ้านเมืองสงบด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะคิดร้าย ที่จะทำลาย เข่นฆ่าประชาชน ปัญหาอยู่ที่ว่านโยบายบางช่วงมีปัญหา กระผมได้มีโอกาสไปพบรุ่นพี่ของเรา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา คือ นายอดุลย์ ณ สายบุรี เมื่อกระผมเป็นผู้แทนครั้งแรกในปี 2512 กระผมข้ามฟากไปร่วมกับเพื่อน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปฝั่งกลันตัน เพราะท่านอดุลย์ ณ สายบุรี อับดุลนารา นาแซ ทิ้งบ้านเมืองไปอยู่กลันตัน และต่อมาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้เริ่มร่วมตั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กระผมได้ไปถามท่านตรงๆร่วมกับเพื่อคณะชาวประชาธิปัตย์ขณะนั้น เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านหลังเล็กๆที่รัฐกลันตัน ทำไมท่านเป็นผู้แทนราษฎร ท่านเป็นคนไทย ทำไมท่านไม่กลับมาอยู่ยะลา บ้านของท่าน ท่านบอกว่าท่านรับนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่ได้ อย่างที่เพื่อนสมาชิกวุฒิสภาได้กล่าวเมื่อวาน ถูกต้อง นโยบายรัฐนิยม บังคับสวมหมวก บังคับหลายอย่าง และท่านบอกพวกเราว่า ข้อบังคับเหล่านั้นขัดต่อแนวปฏิบัติของมุสลิมอย่างท่าน ท่านยังบอกพวกกระผมว่าท่านเป็นคนไทย ท่านเป็น ส.ส. ของประเทศไทย 2 สมัย แต่ขณะนี้ท่านไม่สามารถกลับไปได้ ท่านรับแนวทางของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้
ท่านประธานที่เคารพ กระผมกราบเรียนเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นมูลเหตุส่วนหนึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจกับคนส่วนหนึ่ง ไม่ใช่คนส่วนมาก บัดนี้ท่านอดุลย์ ณ สายบุรี ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว รุ่นพวกกระผมอาจจะเป็นร่นสุดท้ายที่มีโอกาสได้คุยกับท่านที่กลันตัน แต่ว่ารุ่นลูกหลานยังมีแนวความคิดครับ คิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน กระผมกราบเรียนเรื่องแบ่งแยกดินแดน เพราะในสภานี้เราเถียงกันมากว่า จริงหรือยังมีกระบวนการแบ่งแยกดินแดน จริงหรือที่ว่าบัดนี้ไม่มีกระบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ผมกราบเรียนท่านประธานว่า ในความเชื่อของกระผมนั้น เชื่อว่ามีอยู่ แต่เชื้อสายของความคิดเหล่านั้นค่อยๆหมดไปแล้วครับ กราบเรียนว่าเหมือนเปลวไฟที่เคยลุกไหม้ มอดลงมามากแล้ว จนเกือบพูดได้ว่าเหลือแต่ควัน ไม่มีศักยภาพที่จะคิดมาแบ่งแยกดินแดน ไม่มีศักยภาพพอที่จะมาปล้นปืนทหาร เที่ยวมาเข่นฆ่าประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ กระผมเชื่อไม่มีแล้ว แต่ยังไม่หมดครับ เชื่อว่าควันของความคิดยังมีอยู่ตลอดมา ด้วยความคิดเหล่านี้ รัฐบาลในอดีตทุกชุด จึงพยายามแก้ปัญหาในแนวทางที่ลดความรุนแรงลงมาโดยลำดับ แต่ว่าท่านประธานก็ทราบดีรัฐบาลนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐบาลสมัยเผด็จการอยู่ยาวหน่อย รัฐบาลสมัยไทยรักไทยก็อยู่สั้นหน่อย บางชุดก็แค่ปีหนึ่ง ปีครึ่ง 3 ปี ถ้ายาวในช่วงที่มีการเลือกตั้งก็ยุคสมัย พล.อ.เปรม ก่อนหน้านั้นก็เป็นยุคคิดว่าเป็นยุคเผด็จการก็อยู่ยาวด้วยอำนาจปฏิวัติรัฐประหาร แต่แน่นอนที่สุดครับก็ต้องให้ความดีว่า ทุกรัฐบาลตั้งใจดีในการแก้ปัญหาพื้นที่เหล่านี้
สิ่งสำคัญที่สุดแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง นโยบายอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงเลย คือพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับแต่ปี 2503 ที่พระองค์ท่านเสด็จภาคใต้ และนับแต่ปี 2516 ที่พระองค์ท่านมีตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตั้งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ราชวงศ์ เสด็จภาคใต้ทุกปีต่อเนื่องยาวนาน ปีหนึ่งประทับอยู่ถึงเป็นเดือนๆ
ทรงเสด็จออกพื้นที่มีโครงการพระราชดำริต้องยอมรับ ผมกราบเรียนท่านประธานว่าเมื่อผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเดินทางไปนั้นเฉพาะนราธิวาสเดียวขึ้นสามล้อไม่มีสามล้อคนไหนพูดไทยได้แม้แต่คนเดียว พูดคำนราธิวาสก็ยังเกือบจะไม่เข้าใจ และเขาบอกเขานางอนั่นคืออดีตวันนี้ก็ยังมีคนพูดภาษาไทยไม่ชัดอยู่เยอะ แต่พัฒนาการดีขึ้น ๆ โดยลำดับอันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับอดีตใครจะไปโทษว่าเหตุการณ์วันนี้เกิดเพราะอดีตละทิ้ง ละเลย หมักหม่ม ไม่พัฒนา ไม่แก้ไขอันนี้โกหกกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพระราชดำริเราเห็นได้ชัดความห่างเหินของพี่น้องมุสลิมกับข้าราชการความใกล้ชิดได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะอะไร เพราะพระองค์ท่านเป็นผู้เริ่มต้น และในที่สุดสถานการณ์จึงได้ดีขึ้น ๆ แน่นอนอย่างที่หัวหน้าประชาธิปัตย์ได้กล่าวจะบอกว่ามันไม่มีเหตุร้ายเลยก็ไม่จริง เหตุร้ายมีเหมือนจังหวัดอื่นจะมีปัญหามากกว่าจังหวัดอื่นก็คือเหตุการณ์ประเภทเผาสถานีอนามัย เผาโรงเรียน
เมื่อผมเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเผาโรงเรียน แต่ถึงขนาดฆ่าตำรวจวันละ 5 คน ทุกสัปดาห์ทุกวันไม่มี ท่านประธานที่เคารพเมื่อเป็นเช่นนี้ความจริงเป็นเช่นนี้แนวในการแก้ปัญหาในอดีตที่พัฒนาไปในทางดีขึ้น นอกเหนือจากแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติแล้วในแง่รัฐบาลเขายึดอะไรเป็นหลักปฏิบัติ ผมต้องกราบเรียนเรื่องนี้เพราะมันมีข้อแตกต่างชัดเจนในความเชื่อและการใช้แนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาต้องพูดให้เป็นเกียรติกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ด้วยตระหนักว่าภาคใต้มีลักษณะพิเศษแต่เดิมนั้นเราถือ 5 จังหวัด สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล จังหวัดชายแดน 5 จังหวัดนี้ที่จริงแล้วมี 1 จังหวัดที่ไม่ติดชายแดนคือปัตตานี มีนราธิวาส สงขลา และยะลาขั้นอยู่เพียงแต่ปัตตานีมีพี่น้องชาวไทยมุสลิมมากกว่าจังหวัดอื่นเราก็ถือว่าปัตตานีเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลาดูเป็นหนึ่งแยกออกมาแต่แท้จริงแล้วมีหลายอำเภอที่มีพี่น้องมุสลิมอยู่มากด้วยเหตุนี้สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์จึงได้กำหนดเป็นนโยบายพิเศษคือนโยบายความมั่นงคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นฉบับแรก นโยบายนี้ใช้มา 10 ปีครับท่านประธานครับ
เป้าหมายของนโยบายเพื่อรองรับการแก้ไขการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติกำหนด 10 ปีที่ใช้นโยบายดังกล่าวพูดได้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์อยู่ได้ระยะประมาณปีเดียวในที่สุดท่านพลเอกเปรม มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช้นโยบายฉบับนี้ต่อเนื่องมาถึงปี 2530 ท่านประธานที่เคารพในช่วง 10 ปีดังกล่าวนี้โชคดีท่านพลเอกเปรมเป็นคนในภูมิภาคนั้นท่านมองเห็นปัญหากระจ่างชัดในฐานะเป็นลูกที่ดีคนหนึ่ง และเข้าใจเพราะเป็นนายทหารที่ดูแลด้านความมั่นคงจึงได้เกิดนโยบายตั้งหน่วยงานคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือกรรมการศูนย์อำนวยการบริหารจังหัวดชายแดนภาคใต้กรรมการชุดนี้ก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีสำนักงานฝ่ายอำนวยการก็คือศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลาดูแลปัญหาใน 5 จังหวัดให้เป็นแบบบูรณาการที่แท้จริงคือ 5 จังหวัดมาขึ้นอยู่กับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 1 คน เพราะยังที่พวกเราพูดกันถูกต้องจังหวัดเหล่านี้ อยู่ไกลกรุงเทพเหลือเกินนั่งรถไฟกว่าจะไปถึงข้ามวันข้ามคืนถนนก็แย่ภูมิประเทศภูเขาเลี้ยวรถคดเคี้ยวกว่าจะถึงเมืองใดเมืองหนึ่งก็ยาก
ท่านประธานที่เคารพเหมือนตัวแทนรัฐบาลที่ไปอยู่ใน 5 จังหวัด ทำให้การแก้ปัญหาการทำงานเกิดประสิทธิภาพรวดเร็ว เพราะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้ไว้ว่าแม้ข้าราชการคนใดคนหนึ่งทำผิดรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเสนอนายกรัฐมนตรีย้ายในทันที กระผมคิดว่าศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งขึ้นสมัยพลเอกเปรมนั้นส่วนงานสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายเหตุร้ายในภาคใต้ให้ดีขึ้นโดยลำดับเช่นเดียวกัน และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเป็นหลักของรัฐบาลทุกชุดที่ได้ยึดปฏิบัติ รัฐบาลนี้จะมีนโยบายอย่างไรก็ตามแต่เมื่อเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านต้องยึดหลักที่สภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอและรัฐบาลได้ยอมรับไม่เป๋ไม่หลงผิด ไม่สับสน ไม่วุ่นวาย มีความแน่นอนชัดเจน เพราะนโยบายทบทวนทุก 5 ปี
ท่านประธานที่เคารพครับฉบับสุดท้ายที่เราใช้คือนโยบายฉบับที่ 4 เริ่มปี 2542 — 2546 รัฐบาลชุดที่แล้วของท่านพันตำรวจโททักษิณนั้นใช้นโยบายฉบับที่ 4 เริ่มเมื่อปี 42 รัฐบาลเข้ามาต่อเนื่องจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ซึ่งสิ้นสุดเมื่อปี 43 ต้น 44 ปี 44, 45, 46, 3 ปี นโยบายความมั่นคงแห่งชาติจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับที่ 4 จะเป็นสิ่งที่แนวเป็นแนวให้รัฐบาลชุดที่แล้วได้ปฏิบัติ น่าเสียดายรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ใช้นโยบายนี้โดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลเชื่อว่าภาคใต้ไม่มีปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดน แล้วอันนี้เป็นคำประกาศชัดเจนของท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณในวันที่ยกเลิกศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระผมจำเนื้อหาสาระที่ท่านกล่าวได้ ท่านบอกว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในจังหวัดภาคใต้ได้พัฒนาดีขึ้นมาโดยลำดับ และบอกว่าบัดนี้ไม่มีปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนแล้วปัญหาภาคใต้ไม่มีความแตกต่างไปจากจังหวัดชายแดนอื่น ๆ ไม่มีลักษณะพิเศษ เมื่อไม่มีลักษณะพิเศษ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องมีหน่วยงานพิเศษจึงให้ยกเลิก ศอบต.และยกเลิกถอนกองกำลังพลเรือนตำรวจทหาร 43 ออกมาอันนี้คือสิ่งที่คิดใหม่ทำใหม่จริง ๆ เป็นเรื่องที่ไม่เชื่อเรื่องความคิดแบ่งแยกดินแดนถือว่าหมดแล้ว แล้วท่านยังบอกด้วยซ้ำไปว่าที่มีอยู่ก็โจรกระจอก และย้ำว่ารัฐบาลของท่านไม่ขี่ช้างจับตั๊กแตนคือปัญหาที่มีอยู่เป็นปัญหาตั๊กแตน ก็ใช้ตั๊กแตนแก้ปัญหาไม่ใช้ช้างไปแก้ปัญหา
หน่วยงานที่มีอยู่ยกเลิกนี่คือความเชื่อของรัฐบาลประกาศเมื่อกลางปี 2545 ประธานที่เคารพครับความจริงแล้วก่อนที่จะถึงช่วงที่รัฐบาลประกาศยกเลิกศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นสัญญาณมาก่อนแล้ว แต่รัฐบาลไม่ไหวตัวเท่านั้นเองไม่เชื่อพวกเราในที่นี้เริ่มปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความเข้าใจของแต่ละท่านต่างกันไปหลายท่านบอกว่าปัญหามันเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เมื่อเกิดการปล้นปืนในค่ายทหารบางท่านหลายท่านบอกว่าเขาถือว่าเหตุร้ายเริ่มเมื่อวันที่มีระเบิดที่วัดช้างไห้ ผมกราบเรียนท่านประธานว่าผมจับตาดูปัญหานี้ถ้าจะให้ผมเริ่มผมจะเริ่มเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 คือวันที่เริ่มมีกระบวนการยิงตำรวจวันเดียว 5 คน 3 จังหวัดพร้อมกัน 24 ธันวาคม 2544 ผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นล้างแค้นหลังจากรัฐบาลได้ใช้นโยบายจะยุติปัญหาอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่วันที่ 7 เมษายน 2544 และนายกรัฐมนตรีเดินทางไปหาดใหญ่ประชุมข้าราชการแล้วท่านออกมาแถลงว่าบัดนี้รัฐบาลรู้ปัญหาภาคใต้หมดแล้วทุกอย่างจะแก้ไขเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน
ความจริงก็เป็นเรื่องที่ถ้าหากทุกอย่างยุติภายใน 3 เดือน แต่ว่า 3 เดือนมันมาจากอะไร มันมาจากความคิดที่จะยุติปัญหาง่าย ๆ ด้วยการใช้มาตรการผิดทำนองครองทำตามกฎหมาย ท่านประธานที่เคารพคือระบบอุ้มฆ่า แนวความคิดนี้ความจริงในที่ประชุมที่ท่านนายกไปให้นโยบายนั้น มีข้าราชการระดับสูงทุกกระทรวงแต่ไม่ค่อยมีใครกล้าท้วงมีคนเดียวที่กล้าติงและบอกว่าสิ่งที่นายกฯ คิดคือในที่ประชุมวันนั้นคงจะไม่ได้พูด 3 เดือน เขาบอกผมว่าพูด 2 เดือนด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมาให้สัมภาษณ์ที่หลังก็พูดถึง 3 เดือน ท่านรองแม่ทัพคนที่ติงนายกฯวันนั้นคือรองแม่ทัพอาวุโสที่สุดในภาค 4 ท่านบอกกับผมว่าวันนั้นท่านต้องไปแทนท่านแม่ทัพภาค 4 พลโทณรงค์ เดชอุดม ซึ่งไปรับเสด็จ ท่านรองแม่ทัพต้องไปแทนท่านก็ติงนายกฯวันนั้นว่าความคิดที่จะยุติปัญหารวบรัดรวดเร็วในช่วงเวลา 2 เดือน หรือ 3 เดือนก็ตามอาจจะทำได้ยาก
ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านรองแม่ทัพเรวัติ บอกผมว่าท่านนายกฯ ก็ไม่พอใจแล้วในที่สุดท่านรองแม่ทัพคนนี้เมื่อครบปีงบประมาณความหวังที่จะเป็นแม่ทัพก็หมด ท่านก็ย้ายเข้าประจำเป็นผู้ทรงคุณวุฒิยุติชีวิตทหารเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง ผมกราบเรียนท่านประธานเรื่องนี้เพราะนี้คือความเชื่อรัฐบาล การที่ออกนโยบายออกมาแต่ละครั้งในตอนหลังนั้นล้วนแล้วแต่มาจากความเชื่อของรัฐบาล รัฐบาลไม่ถือนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฉบับที่ 4 เป็นแนวปฏิบัติทั้งที่ตัวเองต้องใช้ตั้งแต่ 43 ตั้งแต่ปี 2544, 45, 46 อีก 3 ปี และวันนี้นโยบายฉบับนี้ครบกำหนดแล้วครับยุติไปเมื่อปี 46,47, 48 ไม่มีนโยบายใหม่ทราบวาระแต่ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบ เมื่อเราไม่มีนโยบายยึดก็เป็นเรื่องลำบาก การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้มีอำนาจ ผมจึงขอพูดแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนผู้บริสุทธิ์ว่าเราไปตำหนิติเตียนเขา แต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ยุติธรรมหลายคนต้องทำตามนโยบาย เมื่อนโยบายออกมาอย่างนี้ก็ต้องทำอย่างนี้เพียงแต่กฎหมายไม่ให้อภัยถ้ารู้ว่านโยบายคำสั่งผิดแล้วยังไปทำ
ผมกราบเรียนท่านประธานว่าวันนี้คนบริสุทธิ์เสียชีวิตมากมายเกือบทุกวันไม่ใช่ความผิดของข้าราชการที่เป็นตัวสาเหตุ สาเหตุที่แท้จริงมาจากนโยบายของรัฐบาล เพราะข้าราชการเหล่านั้นคือใคร คือข้าราชการที่รับราชการมานานไม่ใช่เพิ่งเข้ามาในรัฐบาลชุดนี้ และทำไมเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้จึงไม่เกิดตอนนั้น เพราะเขาไม่ให้นโยบายไปในทางที่ผิดผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลถนัดเรื่องนี้ในขณะนี้นโยบายที่ออกมาในปี 2548 ที่เพิ่งแถลงไปเมื่อวันที่ 23 นี้จึงได้เขียนเรื่องนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้เป็นพิเศษ และย้ำเรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และย้ำว่าจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
ท่านประธานที่เคารพครับ การปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดไม่ต้องเขียน รัฐบาลทุกชุดต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเรื่องนี้จะหย่อนเรื่องนี้จะตึงไม่ได้ครับ แต่ต้องเขียนขึ้นมาพิเศษในนโยบายปีนี้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายเสมือนยอมรับว่าที่ผ่านมามันไม่ได้เป็นไปตามเรื่องนั้น และก็จริงคือเราใช้อำนาจเกินกฎหมาย ผมสนับสนุนการใช้กฎหมายโดยเด็ดขาดผู้ที่กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิมไม่มีข้อยกเว้นแต่ความเด็ดขาดนั้นต้องเด็ดขาดตามกฎหมายไม่ใช่เด็ดขาดเหนือกฎหมาย ไม่ใช่สงสัยใครอุ้มฆ่า เมื่อคืนนี้ผมได้ยินท่านวุฒิสมาชิกจากจังหวัดสงขลาได้พูดเรื่องนี้ในฐานะท่านเป็นตำรวจพูดได้ชัดเจน เพราะมันมีการส่งมือเก็บจากส่วนกลางไปในพื้นที่แล้วท่านบอกว่าคนเหล่านี้ได้ดิบได้ดี คนเหล่านี้ลงไปได้อย่างไรถ้าฝ่ายนโยบายไม่สั่ง กระผมคิดว่าเราจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เสียสละเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองนั้นต้องได้รับการคุ้มครอง เขามีสิทธิ์ป้องกันตัวถ้าคนร้ายทำอะไรก็ตามที่เป็นการปทุษร้ายต่อเขา แต่เขาไม่มีสิทธิ์ฆ่าคนบริสุทธิ์แล้วไปยิงทิ้ง ฆ่าทิ้ง หรืออุ้มฆ่า นี่คือกฎหมายที่เป็นความเคร่งครัด
ท่านประธานที่เคารพความไม่เชื่อว่ามีกระบวนการแบ่งแยกดินแดนทำให้เราตั้งสมมติฐานในการแก้ปัญหาว่าปัญหาทั้งหมดเป็นวัยรุ่นติดยา เป็นโจรกระจอก เป็นเรื่องไม่มีสาระ ช่วงเวาลาดังกล่าวคนเหล่านี้จึงสามารถรวมตัวกันได้ใหม่ แล้วแน่นอนเขาก็ฝึกคนรุ่นใหม่ขึ้นมาก่อเหตุและปัญหา ความรุนแรงที่กระผมคิดว่ามันเป็นวิกฤตไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา เพราะท่านคงนึกออกว่าท่านประธานเอง ได้รับเชิญให้ไปร่วมฟังพระราชเสวนีย์ของพระนางเจ้าพระบรมราชีนีนาถ แล้วท่านประธานคงนึกออกจำได้ว่าวันนั้นทรงรับสั่งสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์อย่างยิ่งสาระตอนหนึ่ง สาระตอนหนึ่งทรงรับสั่งว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่พระองค์ท่านเสด็จตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภาระกิจในภาคใต้ไม่เคยมีเหตุร้ายทารุนโหดเหี้ยมอย่างนี้เกิดขึ้น
2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงเองเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วทั้งปีเกิดขึ้น 996 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 600 คนปีเดียว ต้องยอมรับว่านี่คือวิกฤตรัฐบาลมีเวลาทำงาน 4 ปี ไม่อาจจะโทษคนอื่นได้เลยเพราะมันเกิดเหตุปี 47, 46, 45 ถ้ามันถูกตั้งแต่ปี 44 ความรุนแรงปัญหามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมไม่เห็นด้วยเลยครับที่เราจะไปตำหนิโยนความผิดให้คนอื่นโดยการบอกว่าทั้งหมดที่เกิดเนื่องจากในอดีตปล่อยปะละเลยไม่มีใครปล่อยปะละเลยตรงกันข้ามเขาเข้าใจปัญหา กระผมตระหนักดีท่านประธานครับ อยากจะกราบเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ในฐานะเคยแก้ปัญหาเมื่อกระผมเป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช่ว่าจะเรียบร้อยมีเผาโรงเรียน แต่เรารู้ครับว่ามันมีกระบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่และก็รู้ว่าคนเหล่านี้ไม่มีศักยภาพมากมายนักสำคัญอย่าสร้างเงื่อนไขใหม่ค่อย ๆ ลดเงื่อนไขเดิมให้หมดไปค่อย ๆ แก้ไปที่ละเปราะ ๆ ให้หมดแล้วไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาในท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรารู้ว่าพื้นที่นั้นห่างไกลเราก็ต้องพัฒนาเขานอกเหนือจากโครงการพระราชดำริมากมายแล้วรัฐบาลในสมัยนั้นทุ่มเทงบประมาณเพื่อย่นความห่างไกลของจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกรุงเทพ ถนน 4 ช่องจราจรก็เกิดขึ้นคนที่อยู่ในที่นี้อยู่ในพรรครัฐบาลขณะนี้ ร่วมทำงานกับผมก็ยังอยู่ ท่าน พ.อ.วินัย สมพงษ์ เราทุ่มงบประมาณไปเป็นพิเศษคลอดถนน 4 ช่องจราจรไกลที่สุดในสมัยนั้นคือชะอำแค่ชะอำ เพชรบุรี เท่านั้นเองนอกนั้นคนภาคใต้ก็บุเรง ๆ ถึงสุดแดนสุไหโกลก
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ