ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ หมวด ๕ การดำเนินการของคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๑๓๕ ของรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Tuesday June 5, 2001 10:01 —รัฐสภา

                        ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๔๔
หมวด ๕
การดำเนินการของคณะกรรมาธิการ
ตามมาตรา ๑๓๕ ของรัฐธรรมนูญ
ข้อ ๙๖ เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้
ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภาแต่งตั้ง
คณะกรรมาธิการสามัญขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดคน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ
ประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบ
รวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้นเป็นกรณี ๆ ไป
ข้อ ๙๗ การตั้งกรรมาธิการสามัญตามข้อ ๙๖ ให้ตั้งจากสมาชิกที่คณะ
กรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาเสนอชื่อ มีจำนวนสามคน จำนวนนอกจากนั้นให้ที่ประชุม
วุฒิสภาเลือกจากรายชื่อสมาชิกที่คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเสนอจากกรรมาธิการ
คณะนั้น ๆ คณะละหนึ่งคน
ข้อ ๙๘ การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อย
กว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๙๙ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้
ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการอาจ
เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานอันจำเป็นจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จ
จริง หรือแสดงความเห็นได้ตามที่เห็นสมควร
ให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือเชิญบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาให้ข้อเท็จจริง หรือชี้แจงเกี่ยวกับประวัติและความ
ประพฤติที่ประสงค์จะทราบ หากปรากฏว่ามีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันจะก่อให้เกิดความเสีย
หายแก่บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
และข้อมูลหรือข้อเท็จจริงนั้นยังไม่เป็นที่ยุติ ให้บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีสิทธิชี้แจงและแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อ
ความเป็นธรรม
ข้อ ๑๐๐ การประชุมคณะกรรมาธิการให้กระทำเป็นการลับ โดยผู้ที่จะเข้าฟัง
การประชุมได้ต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมและได้รับอนุญาตจากประธานคณะ
กรรมาธิการ
ข้อ ๑๐๑ เมื่อคณะกรรมาธิการดำเนินการตามหน้าที่เสร็จแล้ว ให้เสนอราย
งานต่อประธานวุฒิสภา
รายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวให้จัดทำเป็นรายงานลับ และให้ระบุข้อ
มูลหรือข้อเท็จจริง พยานหลักฐานอันจำเป็น พร้อมรายละเอียดเป็นรายบุคคล
ข้อ ๑๐๒ เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายงานของคณะกรรมาธิการตาม ข้อ
๑๐๑ แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน และให้
เลขาธิการวุฒิสภาจัดส่งเฉพาะระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้
สมาชิก โดยไม่ต้องจัดส่งรายงานลับของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปด้วย
ข้อ ๑๐๓ ในการประชุมวุฒิสภา ให้คณะกรรมาธิการนำเสนอรายงานของ
คณะกรรมาธิการต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยให้เลขาธิการวุฒิสภาแจกจ่ายสำเนารายงานลับของ
คณะกรรมาธิการให้แก่สมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา สำเนารายงาน
ลับดังกล่าว สมาชิกจะนำออกนอกห้องประชุมมิได้
ก่อนนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการต่อที่ประชุมวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง
ให้คณะกรรมาธิการร้องขอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้มีการดำเนินการประชุมลับ
ในกรณีที่มิได้มีการประชุมลับ ให้ประธานวุฒิสภาสั่งงดการถ่ายทอดการ
ประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและหรือวิทยุโทรทัศน์ ถ้ามี และให้เลขาธิการวุฒิสภาส่งรายงาน
ลับตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมและติดตามมติของวุฒิสภาเพื่อ
พิจารณาก่อนว่าจะสมควรเปิดเผยหรือไม่ และถ้าคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม
และติดตามมติของวุฒิสภาเห็นว่าไม่สมควรเปิดเผย ให้เลขาธิการวุฒิสภาแยกรายงานลับดัง
กล่าวออกจากรายงานการประชุมวุฒิสภาและเก็บรักษาไว้ โดยจะเปิดเผยมิได้
ข้อ ๑๐๔ เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเสร็จแล้ว ให้สมาชิกส่งคืนสำเนา
รายงานลับของคณะกรรมาธิการต่อเลขาธิการวุฒิสภาในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อนำไปทำลาย
ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อไป โดยให้ประธาน
คณะกรรมาธิการหรือผู้ที่ประธานคณะกรรมาธิการมอบหมาย เป็นผู้กำกับในการทำลายนั้น
ข้อ ๑๐๕ ให้นำความในหมวด ๔ ว่าด้วยกรรมาธิการมาใช้บังคับกับการ
ดำเนินการของคณะกรรมาธิการโดยอนุโลม เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้แล้วในหมวดนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ