ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ หมวด ๒ การประชุมรัฐสภา

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2001 10:33 —รัฐสภา

                        ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
พ.ศ. ๒๕๔๔
หมวด ๒
การประชุมรัฐสภา
ส่วนที่ ๑
วิธีการประชุม
ข้อ ๙ การประชุมรัฐสภาให้เป็นการเปิดเผย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือ
สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับ
ในการประชุมเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมรัฐสภาได้
ตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด และให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุม
ทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หากมีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ
ในการประชุมลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาต
จากประธานเท่านั้น
ข้อ ๑๐ การประชุมรัฐสภาให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓
ของรัฐธรรมนูญ
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูล
เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๖๓ ของรัฐธรรมนูญ
ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลภายในสามวันของวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
เมื่อได้มีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาแล้วให้แจ้ง
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ
ข้อ ๑๒ การนัดประชุมรัฐสภาต้องทำเป็นหนังสือ และให้นัดล่วงหน้า
ไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้
ข้อ ๑๓ ให้ส่งระเบียบวาระการประชุมรัฐสภากับเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับ
หนังสือนัดประชุมรัฐสภา ถ้าประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะบรรจุเรื่องใดเพิ่มเติมในระเบียบวาระ
การประชุมรัฐสภาอีกก็ได้ แต่ต้องก่อนวันนัดประชุมรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน
ข้อ ๑๔ การจัดระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาให้จัดตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
(๒) รับรองรายงานการประชุม
(๓) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
(๔) เรื่องที่ค้างพิจารณา
(๕) เรื่องที่เสนอใหม่
(๖) เรื่องอื่น ๆ
ในกรณีที่ประธานรัฐสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลำดับใด
ของระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาก็ได้
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้จัดเรื่องซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเรื่องใด
เป็นเรื่องด่วน ก็ให้ประธานรัฐสภาพิจารณาและอาจจัดให้ตามที่คณะรัฐมนตรีขอ
ข้อ ๑๕ ให้มีสมุดวางไว้สำหรับสมาชิกรัฐสภาลงชื่อก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง
เมื่อมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด
เท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
เมื่อมีสมาชิกรัฐสภามาลงชื่อครบองค์ประชุมและมีสัญญาณให้เข้าประชุมแล้ว
ให้ประธานดำเนินการประชุมได้
เมื่อประธานขึ้นบัลลังก์ให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภายืนขึ้นจนกว่าประธาน
ได้นั่งลง
ในกรณีอ่านพระบรมราชโองการหรือกระแสพระราชดำรัส ให้ผู้อยู่
ในที่ประชุมรัฐสภายืนฟังตลอดเวลาที่อ่าน
ข้อ ๑๖ เมื่อพ้นกำหนดประชุมรัฐสภาไปสามสิบนาทีแล้ว สมาชิกรัฐสภา
ยังไม่ครบองค์ประชุม ประธานจะสั่งให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาไปก็ได้
ข้อ ๑๗ เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกรัฐสภา
ผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการ
เลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้น
ข้อ ๑๘ การประชุมรัฐสภา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาตามเรื่องที่มีอยู่
ในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา และต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับระเบียบวาระ
การประชุมรัฐสภาที่จัดไว้ ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๙ ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ
เมื่อประธานอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น
ข้อ ๒๐ ถ้ารัฐมนตรีขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้ประธาน
พิจารณาอนุญาต
สมาชิกรัฐสภาอาจซักถามเพื่อความกระจ่างในเรื่องที่แถลงหรือชี้แจงนั้น
แต่รัฐมนตรีจะไม่ตอบก็ได้ เมื่อเห็นว่าข้อซักถามนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับ
ความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ข้อ ๒๑ ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมรัฐสภาในปัญหาใด ๆ สั่งพัก
การประชุมรัฐสภา เลื่อนการประชุมรัฐสภา หรือเลิกการประชุมรัฐสภาได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าประธานลงจากบัลลังก์โดยมิได้สั่งอย่างใด ให้เลิกการประชุมรัฐสภา
ข้อ ๒๒ รายงานการประชุมรัฐสภา เมื่อเลขาธิการรัฐสภาจัดทำเสร็จแล้ว
ให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภารับรองให้ทำสำเนาวางไว้
ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแห่งละสามฉบับ
ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตรวจดูได้
รายงานการประชุมรัฐสภาทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกรัฐสภาที่มาประชุม
ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง
สมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมรัฐสภาดังกล่าว
ให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อเลขาธิการรัฐสภา ถ้าเลขาธิการรัฐสภา
ไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติม
เพื่อขอให้รัฐสภาวินิจฉัย
ข้อ ๒๓ รายงานการประชุมรัฐสภาครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้
สมาชิกรัฐสภาตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยสมาชิกรัฐสภา
ขอให้แก้ไขเพิ่มเติม ในคราวที่รัฐสภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมรัฐสภานั้น
เลขาธิการรัฐสภาจะต้องแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ข้อ ๒๔ เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้รับรองรายงานการประชุมรัฐสภาครั้งใดแล้ว
ให้ประธานรัฐสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
รายงานการประชุมรัฐสภาที่ยังมิได้มีการรับรองเพราะเหตุที่อายุของ
สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้เลขาธิการรัฐสภาบันทึกเหตุนั้นไว้
และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๕ ที่ประชุมรัฐสภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด
หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้
ข้อ ๒๖ การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐสภา
ข้อ ๒๗ ที่ประชุมรัฐสภาอาจมีมติห้ามโฆษณาข้อความอันเกี่ยวกับ
ความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ที่ได้กล่าวหรือปรากฏในการประชุมรัฐสภาก็ได้
ข้อ ๒๘ ให้เลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ นอกจากรายงานการประชุมลับที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เปิดเผย
ส่วนที่ ๒
การเสนอญัตติ
ข้อ ๒๙ ญัตติทั้งหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภาและ
ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อบังคับนี้ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ
เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๓๐ ญัตติตามมาตรา ๑๘๘ และมาตรา ๓๑๓ ของรัฐธรรมนูญ และญัตติ
ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไม่ต้องมีผู้รับรอง
ข้อ ๓๑ ญัตติต่อไปนี้ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเป็นหนังสือ
(๑) ขอให้ปรึกษาหรือพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
(๒) ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
(๓) ขอให้ลงมติตามข้อ ๒๕ หรือข้อ ๒๗
(๔) ญัตติในข้อ ๓๒ ข้อ ๕๓ ข้อ ๕๔ ข้อ ๕๕ ข้อ ๕๖ หรือข้อ ๑๑๑
(๕) ญัตติที่ประธานอนุญาตตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๓๒ เมื่อที่ประชุมรัฐสภากำลังปรึกษาหรือพิจารณาญัตติใดอยู่
ห้ามเสนอญัตติอื่นนอกจากญัตติต่อไปนี้
(๑) ขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาที่เป็นเรื่องเดียวกัน
ทำนองเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน
(๒) ขอให้ส่งปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาหรือขอให้บุคคลใด
ส่งเอกสารหรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น
(๓) ขอให้รวมหรือแยกประเด็นพิจารณาหรือลงมติ
(๔) ขอให้เลื่อนการปรึกษาหรือพิจารณา
(๕) ขอให้ปิดอภิปราย
ญัตติตาม (๒) (๔) หรือ (๕) เมื่อที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบตามที่เสนอแล้ว
ห้ามเสนอญัตติอื่นในข้อนี้อีก
ข้อ ๓๓ ญัตติตามข้อ ๓๒ (๕) ห้ามผู้ใดเสนอในคราวเดียวกับการอภิปราย
ของตน
ข้อ ๓๔ ญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ สมาชิกรัฐสภาผู้เสนอและผู้รับรอง
ต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น
ข้อ ๓๕ ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ผู้รับรองญัตติ
แสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ
ข้อ ๓๖ ญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว หากผู้เสนอญัตติ
จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือจะถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอ หรือผู้รับรองจะถอนการรับรองญัตติ
จะต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุมรัฐสภา
ข้อ ๓๗ การขอถอนคำแปรญัตติจะกระทำเมื่อใดก็ได้ แต่การขอแก้ไขเพิ่มเติม
คำแปรญัตติจะกระทำได้เฉพาะภายในกำหนดเวลาแปรญัตติ
ข้อ ๓๘ ญัตติหรือคำแปรญัตติใดถึงวาระพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว
ถ้าผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภา หรือผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติ
ไม่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่มีผู้ชี้แจงแทนในฐานะผู้รับมอบหมาย ญัตติหรือคำแปรญัตตินั้น
เป็นอันตกไป
การมอบหมายให้ชี้แจงแทนต้องมอบแก่สมาชิกรัฐสภาและต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน
ข้อ ๓๙ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีก
ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต
ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนที่ ๓
การอภิปราย
ข้อ ๔๐ ผู้มีสิทธิอภิปรายก่อน คือ ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติ แต่ถ้า
ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติมีหลายคน ให้ประธานอนุญาตให้อภิปรายก่อนได้เพียงคนเดียว
กรรมาธิการซึ่งได้สงวนความเห็น กรรมาธิการผู้รับมอบหมายจากกรรมาธิการ
ซึ่งได้สงวนความเห็น หรือสมาชิกรัฐสภาหรือกรรมาธิการผู้รับมอบหมายจากผู้แปรญัตติ
ซึ่งได้สงวนคำแปรญัตติไว้ในขั้นคณะกรรมาธิการ ให้มีฐานะเสมือนเป็นผู้แปรญัตติด้วย
ข้อ ๔๑ เมื่อผู้อภิปรายก่อนได้อภิปรายแล้ว การอภิปรายในลำดับต่อไป
จะต้องเป็นการอภิปรายสลับกันระหว่างฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน เว้นแต่
ในวาระของฝ่ายใดไม่มีผู้อภิปราย อีกฝ่ายหนึ่งจึงอภิปรายซ้อนได้
การอภิปรายไม่สนับสนุนและไม่คัดค้าน ย่อมกระทำได้โดยไม่ต้องสลับ
และไม่ให้นับเป็นวาระอภิปรายของฝ่ายใด
ข้อ ๔๒ ถ้ามีผู้ขออภิปรายหลายคน ประธานจะให้คนใดอภิปรายก็ได้
แต่ให้คำนึงถึงผู้เสนอญัตติ ผู้แปรญัตติ และผู้ซึ่งยังมิได้อภิปรายด้วย
ข้อ ๔๓ ในการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็น
ที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามนำเอกสารใด ๆ
มาอ่านในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่จำเป็น และห้ามนำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ เว้นแต่ประธานจะอนุญาต
ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยา หรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด
และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น
ข้อ ๔๔ ถ้าประธานเห็นว่าผู้ใดได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานจะให้ผู้นั้น
ยุติการอภิปรายก็ได้
ข้อ ๔๕ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและ
ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืน
ข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิง
ถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น
ข้อ ๔๖ ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนได้ เมื่อมีผู้ประท้วงตามข้อ ๔๕
ข้อ ๔๗ การอภิปรายเป็นอันยุติ เมื่อ
(๑) ไม่มีผู้ใดอภิปราย
(๒) ที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้ปิดอภิปราย
ข้อ ๔๘ ในกรณีที่ประธานพิจารณาเห็นว่าได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว
จะขอให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๔๙ เมื่อการอภิปรายได้ยุติแล้ว ห้ามผู้ใดอภิปรายอีก เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภา
จะต้องลงมติในเรื่องนั้นจึงให้ผู้ซึ่งมีสิทธิอภิปรายก่อนคนใดคนหนึ่งมีสิทธิอภิปรายสรุป
ได้อีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติ
ข้อ ๕๐ ประธานอาจอนุญาตให้รัฐมนตรีมอบหมายให้บุคคลใด ๆ
ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมรัฐสภาประกอบการอภิปรายของรัฐมนตรีก็ได้
ข้อ ๕๑ ถ้าประธานให้สัญญาณด้วยการเคาะค้อนหรือยืนขึ้น ให้ผู้ที่กำลังพูด
หยุดพูดและนั่งลงทันที
ส่วนที่ ๔
การลงมติ
ข้อ ๕๒ ในกรณีที่จะต้องมีมติของรัฐสภา ให้ประธานมีสัญญาณ
ให้สมาชิกรัฐสภาทราบก่อนลงมติ ถ้าความเห็นของที่ประชุมรัฐสภามีสองฝ่ายให้ถือเอา
จำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากกว่า และถ้าความเห็นของที่ประชุมรัฐสภามีตั้งแต่
สองฝ่ายขึ้นไป ให้ถือเอาจำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากที่สุด เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ในรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้
ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง
เป็นเสียงชี้ขาด การออกเสียงชี้ขาดของประธานให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยจะให้เหตุผล
หรือไม่ก็ได้
ข้อ ๕๓ การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อ
คณะรัฐมนตรีร้องขอ หรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า
สี่สิบคน ขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติให้ลงคะแนนลับ
ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
ของสมาชิกรัฐสภาในที่ประชุมรัฐสภา ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย
ข้อ ๕๔ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด
(๒) เรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน
ตามวิธีที่ประธานกำหนด
การออกเสียงลงคะแนนตาม (๑) หากเครื่องออกเสียงลงคะแนนขัดข้อง
ให้เปลี่ยนเป็นวิธีการตามที่ประธานกำหนด
การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้วิธีตาม (๑) จะใช้วิธีตาม (๒) ได้ต่อเมื่อ
สมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติและที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่
ตามข้อ ๕๖
การออกเสียงลงคะแนนตาม (๒) ให้ประธานเชิญสมาชิกรัฐสภาหกคน
เป็นผู้ตรวจนับคะแนน
ข้อ ๕๕ การออกเสียงลงคะแนนลับมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วย
ให้เขียนเครื่องหมาย / ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมาย X ส่วนผู้ไม่ออกเสียง
ให้เขียนเครื่องหมาย O
(๒) เขียนเครื่องหมายหรือวิธีอื่นใดตามที่ประธานกำหนดลงบนแผ่นกระดาษ
ใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้
การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้วิธีตาม (๑) จะใช้วิธีตาม (๒) ได้ต่อเมื่อ
สมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติและที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่
ตามข้อ ๕๖
การออกเสียงลงคะแนนตาม (๑) หรือ (๒) ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน
โดยเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร และให้ประธานรัฐสภาเชิญสมาชิกรัฐสภาหกคน
เป็นผู้ตรวจนับคะแนน
ข้อ ๕๖ เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๕๔ (๑) หรือข้อ ๕๕ (๑)
ถ้าสมาชิกรัฐสภาร้องขอโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสี่สิบคนให้มีการนับใหม่
ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ ๕๔ (๒)
หรือข้อ ๕๕ (๒) แล้วแต่กรณี เว้นแต่คะแนนเสียงมีความต่างกันเกินกว่าสามสิบคะแนน
จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่มิได้
เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๕๔ (๒) หรือข้อ ๕๕ (๒) แล้ว
จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกมิได้
ข้อ ๕๗ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ามาในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการออกเสียง
ลงคะแนนอาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน
ข้อ ๕๘ เมื่อได้นับคะแนนเสียงเสร็จแล้ว ให้ประธานประกาศมติ
ต่อที่ประชุมรัฐสภาทันที ถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่า
มติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียง
ถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่
ข้อ ๕๙ ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมรัฐสภาว่ามีผู้เห็น
เป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น
ความในวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับแก่ญัตติที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
หรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับนี้กำหนดให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัย
โดยการออกเสียงลงคะแนน
ข้อ ๖๐ ให้เลขาธิการรัฐสภาจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของ
สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนและปิดประกาศบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณรัฐสภาที่ประชาชน
เข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ