ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคเหนือเดือนมกราคม 2548
กระทรวงพาณิชย์ มีการปรับปรุงน้ำหนักและปีฐานจากปี 2541 เป็นปี 2545 จำนวนสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก 278 รายการเป็น 332 รายการ โดยเริ่มคำนวณและเผยแพร่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 และขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเดือนมกราคม 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของภาคเหนือจำนวน 332 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือ ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคของภาคเหนือเดือนมกราคม 2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเท่ากับ 100 และเดือนมกราคม 2548 เท่ากับ
105.3 สำหรับเดือนธันวาคม 2547 เท่ากับ 105.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเดือนมกราคม 2548
เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนธันวาคม 2547 ลดลงร้อยละ 0.1
2.2 เดือนมกราคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 2.5
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเดือนมกราคม 2548 เทียบกับเดือนธันวาคม 2547
ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.3 ขณะที่ดัชนี
สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 และโดยมีความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3
สินค้าและบริการสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน แม้เดือนมกราคม 2548 จะมีการปรับราคาสูงขึ้น
1 ครั้ง แต่ราคาเฉลี่ยทั้งเดือนยังต่ำกว่าราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2547
สินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจานและสารกำจัดแมลง เป็นต้น
3.2 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกร ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมีปริมาณไม่มากนัก
- ไก่สด ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น จากการรณรงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ
- ไข่ไก่ ภาวะการค้าดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจด้านความปลอดภัยใน
การบริโภคมากขึ้น
- นมและผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมสด นมข้นหวานและนมเปรี้ยว เป็นต้น
- ผลไม้สด ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก เกษตรกรชะลอการ
เก็บเพื่อรอจำหน่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ยังมีมะม่วง ทุเรียนและแอ๊ปเปิ้ล ราคาสูงขึ้นด้วย
- เครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำปลาและซีอิ้ว เป็นต้น
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาจะละเม็ดดำ ปลาทู กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกสด หอยแครง หอยแมลงภู่ ปูทะเลและปูม้า เป็นต้น
- ผักสด ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เห็ด ผักบุ้ง ผักชี มะเขือ มะเขือเทศ
ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว ฟักทอง ต้นหอมและถั่วลันเตา เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0-2507-5825