บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๐ นาฬิกา
เมื่อครบองค์ประชุมแล้ว นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและนายสนิท วรปัญญา รองประธานรัฐสภา ขึ้นบัลลังก์ ประธานรัฐสภากล่าวเปิดประชุมแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง ได้อนุญาตให้ถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงโดยวิทยุรัฐสภาและวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ในการประชุมทุกครั้ง สำหรับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในครั้งนี้ได้อนุญาตให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. ช่อง ๑๑กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
ต่อจากนั้น ประธานรัฐสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๒๑๑
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
"ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔ นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสร็จสิ้นแล้วและขอนำเรียนท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
วันนี้ประเทศไทย ยังไม่พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศยังต้องได้รับการบริหารที่ทุ่มเทเป็นพิเศษ จะปล่อยให้การบริหารดำเนินไปเหมือนภาวะปกตินั้นไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศอาจถลำลึกลงอีกจนยากที่จะเยียวยา
ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องการการเปลี่ยนแปลงในแทบทุกมิติ ด้วยแนวคิดของนโยบายใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งข้อมูล ความรอบรู้ และสติปัญญาที่เข้าใจในรากเหง้าแห่งปัญหา และทันโลกทันเหตุการณ์
ปัจจุบัน ประชาชนทุกระดับได้รับความเดือดร้อน อันเกิดจากมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งเป็นผลมาจากการตกงาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของคนในประเทศตกรัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินนโยบายเพื่อลดความยากจนและนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย นำไปสู่การพอมีพอกินและเหลือจากนั้น จึงนำไปสู่การสร้างชีวิตใหม่ โดยใช้กลไกทุกส่วนของภาครัฐในการสร้างโอกาสให้ประชาชนใช้ทุนทางปัญญา ศักยภาพส่วนตัว และสินทรัพย์ที่มีอยู่ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อประชาชนมีรายได้ก็จะทำให้ครอบครัวมีรายได้ และประเทศชาติมีรายได้ ซึ่งจะกลายเป็นฐานภาษีใหม่ให้รัฐมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การลดภาระหนี้สินของประเทศในโอกาสต่อไป
ในสถานการณ์นี้ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนทางสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้เงินโดยไร้เป้าหมายเพราะการใช้จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว มักจะก่อให้เกิดการสูญเปล่าไม่ได้ผล นโยบายของรัฐบาล อาทิ กองทุนหมู่บ้าน การจัดตั้งธนาคารประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนและให้กับรัฐในที่สุด
รัฐบาลตระหนักดีว่าประชาชนกำลังลำบาก เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์เบื้องต้นก่อนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้
ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนและสำคัญยิ่งของรัฐบาล คือ การเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของระบบเศรษฐกิจ การบริหาร สังคมและการเมือง โดยจะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์ โดยปัญหา มี ๒ ส่วน คือ
๑. หยุดการหดตัวของเศรษฐกิจ ที่กำลังก่อปัญหาทางสังคมให้กับประเทศ
๒. การแก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม ไปสู่ความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงอันยั่งยืนของประเทศชาติ
ทั้งหมดนี้ จะไม่เป็นเพียงหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะเป็นการกระจายโอกาสให้กับชีวิตประชาชน ไม่ใช่เป็นเพียงการกระจายเงิน นอกจากนี้ยังเป็นการใช้สินทรัพย์ที่สำคัญ คือ ภูมิปัญญา เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้เป็นฐานของการหารายได้
รัฐบาลตระหนักว่า ประเทศไทยเรามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ นอกจากนั้น คนไทยยังมีทักษะ ฝีมือ ความมานะ และความขยันหมั่นเพียร ซึ่งถ้าได้รับการส่งเสริมและให้โอกาสจะเกิดการใช้พลังในแผ่นดิน ซึ่งเป็นพลังทั้งจากมันสมองของประชาชน และพลังจากการบริหารทรัพย์สินของแผ่นดินไทยจะสร้างให้ประเทศไทยกลับขึ้นมาแข็งแกร่งอีกครั้งให้คนไทยทุกคนกลับมายืนบนลำแข้งตัวเองได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น เพื่อให้การบริการราชการแผ่นดิน สามารถบรรลุถึงภารกิจและดำเนินไปด้วยแนวทางที่กล่าวมา รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดินไว้ดังนี้
๑. นโยบายเร่งด่วน
(๑) พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยวางระบบการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร
(๒) จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ ๑ ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนในการลงทุน สร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน และวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือนพร้อมทั้งรัฐบาลจะจัดให้มีโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบร้านค้าเครือข่ายและอินเตอร์เน็ต
(๓) จัดตั้งธนาคารประชาชน เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งกู้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง
(๔) จัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเดิมและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ การส่งออก และเป็นแกนหลักในการสร้างความเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต
(๕) จัดตั้งบรรษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์ เพื่อดำเนินการให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากระบบของธนาคารพาณิชย์โดยเร็ว และเป็นระบบเบ็ดเสร็จ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคการผลิตและบริการ
(๖) พัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้เป็นองค์กรหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยรวมรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเข้าด้วยกัน ภายใต้การบริหารขององค์กรที่เป็นมืออาชีพ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และปลอดจากการเมืองแทรกแซงในการบริหารพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสลงทุนในกิจการของรัฐวิสาหกิจ และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
(๗) สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศและประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเสียค่าใช้จ่าย ๓๐ บาทต่อครั้ง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
(๘) เร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ควบคู่ไปกับการปราบปรามและป้องกัน
(๙) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น
๒. นโยบายเศรษฐกิจ
๒.๑ นโยบายด้านการคลัง
(๑) เร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อการยกระดับรายได้ของประชาชนและหยุดการทรุดตัวทางเศรษฐกิจ โดยคงภาวะการขาดดุลการคลังต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในกรอบการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและวินัยการคลังที่เหมาะสมและจะปรับนโยบายการคลังให้เข้าสู่การคลังที่สมดุล เมื่อเศรษฐกิจสามารถขยายตัวขึ้นมารองรับได้อย่างเพียงพอ
ในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลจะจัดทำงบประมาณ โดยยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเป็นที่ตั้ง และจะปฏิรูประบบและกระบวนการจัดสรรพร้อมทั้งจัดทำระบบการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่รัดกุมและประเมินผลได้อย่างต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์ โดยปรับลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณให้เหมาะสม และปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นผลในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันให้ขยายตัว ลดการลงทุนที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง ลดรายจ่ายที่เป็นภาระต่อประชาชน และนำงบประมาณที่ปรับลดไปลงทุนในโครงการและกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานสร้างรายได้ทันทีตามเป้าหมายที่ชัดเจน
(๒) ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริง ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ และเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตพร้อมทั้งสนับสนุนการออม การระดมทุน และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ทั้งนี้จะปรับโครงสร้างภาษีอากร ทำแผนที่ภาษีและวางระบบการจัดเก็บที่ประหยัด สะดวกและโปร่งใสสำหรับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะจะขจัดการตีความซ้ำซ้อน ลดอำนาจ
ผู้จัดเก็บ สร้างความชัดเจน และโปร่งใส เพื่อขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
(๓) บริหารการคลังอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะการรักษาวินัยการคลังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จะจัดทำแผนการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และจะกู้เงินเฉพาะเพื่อการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างฐานรายได้ให้แก่ประชาชนและภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคั่งให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน
๒.๒ นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และตลาดทุน
(๑) ดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้เกิดการขยายตัวของภาคธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ส่งเสริมการออมของประชาชนและสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(๒) ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้างรายได้ของประชาชนทุกระดับ และเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถส่งเสริมภาคการผลิตและบริการที่พึ่งพาทรัพยากรในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
(๓) เร่งพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของประเทศให้สามารถทำหน้าที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ตามปกติ โดยก่อภาระด้านการเงินการคลังให้น้อยที่สุด รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินในระยะยาว ตลอดจนมุ่งพัฒนาและปรับบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมกิจการที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างเร่งด่วน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(๔) เร่งพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนและส่งเสริมการออมระยะยาวของภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนจัดโครงสร้างภาษีอากรให้สอดคล้องและเสมอภาค รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจที่ดีและมีศักยภาพสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดเงินและตลาดทุนได้อย่างเต็มที่
(๕) เร่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อสร้างทางเลือกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของภาคเอกชน และสร้างความเสมอภาคระหว่างตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และเงินฝากในสถาบันการเงิน เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมการออมและการลงทุนที่หลากหลายแก่ประชาชนในระยะยาว
๓. นโยบายการสร้างรายได้
การแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ ดังนั้นรัฐบาลจะสนับสนุนและผลักดันให้มีกระบวนการสร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกระดับโดยจะส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศักยภาพของชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ ตั้งแต่การผลิตเพื่อการบริโภค นำผลผลิตที่เหลือออกจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ในระดับครอบครัว ส่งเสริมการรวมตัวเพื่อดำเนินเศรษฐกิจระดับชุมชนเร่งพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างเกื้อกูล และสนับสนุนซึ่งกันและกันกับธุรกิจขนาดใหญ่ สู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างเสริมกระบวนการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดยุคใหม่ โดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และศักยภาพของทักษะที่ประเทศมีความโดดเด่นเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อสร้างฐานการจ้างงานกระจายโอกาสและกระจายความเสี่ยง สร้างฐานการผลิตของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมีแนวนโยบายครอบคลุม ๓ ด้าน คือ เกษตรอุตสาหกรรม และการบริการ ดังต่อไปนี้
๓.๑ ด้านการเกษตรกรรม
ประกอบด้วย ๓ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑ ฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร
(๑) ปรับโครงสร้างสินเชื่อ และเงินทุนภาคเกษตรให้สอดคล้องกับวงจรการผลิต เร่งรัดการแก้ไขหนี้สินของเกษตรกร และพักชำระหนี้และยกเว้นดอกเบี้ยเป็นเวลา ๓ ปีแก่เกษตรกรรายย่อย
(๒) ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เกษตรทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกร
(๓) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง โดยการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกระดับให้เหมาะสมต่อระบบการผลิต และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ คูคลองส่งน้ำ คุณภาพน้ำ และชลประทานระบบท่อ รวมทั้งควบคุมดูแลการใช้น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ส่วนที่ ๒ การพัฒนาตลาดในประเทศและการปฏิรูปชนบท
(๑) มุ่งพัฒนาการผลิตภาคชนบทและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชนโดยเชื่อมโยงการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านแห่งละ ๑ ล้านบาทเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวสำหรับการลงทุนและสร้างรายได้แก่ประชาชนในชนบท
(๒) พัฒนาระบบการตลาดสินค้าเกษตรสมัยใหม่สนับสนุนการจัดตั้งยุ้งฉาง ลานตากของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการเกษตรและความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศด้านการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) ส่งเสริมการสหกรณ์ ธุรกิจชุมชน สถาบันเกษตรกรและองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง และให้มีส่วนร่วมในการกำหนดและเสนอนโยบายและมาตรการด้านการเกษตร และการวิจัยพัฒนาด้านการเกษตร
(๔) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการส่งเสริมการวิจัยและการเรียนรู้จากภูมิปัญญาไทยและวิทยาการสมัยใหม่
(๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำการเกษตร รวมทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสอดคล้องความต้องการของตลาดและศักยภาพของประชาชนในพื้นที่
ส่วนที่ ๓ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในตลาดโลก
(๑) ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปผลผลิตการเกษตร และพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม
(๒) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรในทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในอนาคต
(๓) พัฒนาการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรทั้งการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ
(๔) ส่งเสริมการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมทั้งการทำประมงนอกน่านน้ำ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านการพัฒนากองเรือประมง อุตสาหกรรมห้องเย็นและการแปรรูปสินค้าประมง รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศน์ทางทะเล
๓.๒ ด้านอุตสาหกรรม
(๑) ปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทักษะฝีมือภูมิปัญญาไทย ศักยภาพในการผลิตและการตลาดและการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้สมดุลกับการพึ่งพาจากต่างประเทศ
(๒) เสริมสร้างให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องต่อการปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม
(๓) พัฒนาบุคลากรและแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต สนับสนุนมาตรการเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยจัดการให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
(๔) พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งผลักดันให้เกิดเครือข่ายสารสนเทศเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตและการตลาด
(๕) ส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงิน รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนร่วมทุน ตลอดจนระบบการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก
(๖) สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ ในธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กสำหรับเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้ความรู้เป็นฐาน
๓.๓ ด้านการบริการและการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยว คือ หนทางสำคัญของการนำรายได้กระแสเงินสดเข้าสู่ประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานของการบริการ เพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการให้บริการและการท่องเที่ยวและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการและการท่องเที่ยวดังนี้
๓.๓.๑ ด้านการพัฒนาภาคบริการ
(๑) ปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานอันจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการไทยทั้งด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรภาคบริการ การพัฒนารูปแบบการให้บริการและการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน
(๒) จัดให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อให้มีการใช้ศักยภาพภาคบริการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ และรายได้ท้องถิ่น อาทิ การท่องเที่ยว การศึกษา การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การกีฬา และนันทนาการ
(๓) เร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการด้านบริการให้มีความรู้และทักษะ ทั้งด้านภาษามาตรฐานการบริการ และการจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าบริการ
๓.๓.๒ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว
(๑) เร่งฟื้นฟูระดับความสัมพันธ์และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นประตูทางผ่านหลักของการท่องเที่ยวในภูมิภาค ทั้งด้านการตลาด การขนส่ง การลงทุน การบริหารจัดการ รวมถึงการขจัดอุปสรรคในการท่องเที่ยว
(๒) บริหารการท่องเที่ยวโดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกโดยสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ เชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และธุรกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพการบริการท่องเที่ยวและยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุม การสัมมนา และการแสดงสินค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(๓) เร่งพัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยจะส่งเสริมบทบาทเอกชนร่วมกับชุมชนในการรักษาแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตให้อยู่ในสภาพเดิมอย่างต่อเนื่อง
(๔) เพิ่มความหลากหลายของการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม โดยส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการจัดสหกรณ์การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว
(๕) เพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัย และป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
๔. นโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับนโยบายด้านการค้าต่างประเทศจากการเน้นเพียงเร่งรัดการส่งออกในทุกระดับ สู่การพัฒนาเครือข่ายการตลาดเข้าสู่ระดับโลกและสามารถตอบสนองความต้องของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์เพื่อให้เศรษฐกิจไทยผนึกและสอดรับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอันเข้มแข็งในโลกยุคไร้พรหมแดน โดยมีแนวทางดังนี้
๔.๑ ด้านการพาณิชย์
(๑) สนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนยกระดับความพร้อมในการเผชิญการแข่งขันเสรีในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้แนวคิดการตลาดสมัยใหม่ การพัฒนาองค์กรและบุคลากร การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การวางแผนและพัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเชื่อมโยงเครื่องข่ายการผลิตและการจำหน่ายให้ได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงต้นทุนและการตลาดตลอดจนการเตรียมความพร้อมในเชิงของทักษะ เทคโนโลยี และวิทยาการที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลก
(๒) พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าระหว่างประเทศ
(๓) ส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดโลก โดยเร่งผลักดันมาตรการและกฎหมายที่จำเป็นต่อการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(๔) เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกทั้งในด้านการตลาด และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนช่วยแก้ไขอุปสรรคการค้าในต่างประเทศ
๔.๒ ด้านการค้าสินค้าและบริการ
(๑) ส่งเสริมให้กิจการของไทยสามารถครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากแหล่งอื่น แล้วนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถทำการผลิตที่มีความหลากหลายกว่าของเดิม และส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนเพื่อเปิดโอกาสให้นักคิดและผู้ประกอบการไทยพัฒนาภูมิปัญญาไทยเข้าสู่ระบบการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย
(๒) ส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำรงอยู่ และปรับตัวรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีด้านการค้าบริการได้
(๓) กำหนดมาตรการให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเทศบัญญัติที่ว่าด้วยการแบ่งเขตสถานที่ของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต
(๔) จะส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคและยกระดับผลผลิตและบริการของประเทศ
๔.๓ ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(๑) สนับสนุนการค้าเสรีในการค้าระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงระดับความพร้อมและผลประโยชน์ของประเทศและผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนไทยในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ
(๒) เน้นบทบาทเชิงรุกในเวทีการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์และข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา
(๓) สนับสนุนและผลักดันนโยบายการค้าเสรีของเขตการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และการค้าชายแดน และการพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตสินค้าหรือการให้บริการร่วมกันในภูมิภาค
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎข้อบังคับทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
๕. นโยบายด้านการคมนาคม
(๑) ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายคมนาคมขนส่ง และสื่อสาร บนพื้นฐานของการเกื้อหนุนการผลิต การสร้างงานและสร้างรายได้
(๒) พัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้ทันสมัยและทั่วถึงเพื่อประโยชน์ในการรับและส่งสารสนเทศและความรู้ไปสู่ประชาชน เชื่อมโยงกับต่างประเทศ และรองรับต่อการเปิดเสรีในธุรกิจโทรคมนาคม
(๓) ปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและเครือข่ายการคมนาคมภายในประเทศ ให้เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย
(๔) ส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบกในภูมิภาค พัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
(๕) ส่งเสริมการพัฒนาการพาณิชย์นาวีให้เป็นระบบอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนภาคการส่งออกของประเทศ โดยส่งเสริมการพัฒนากองเรือไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้เข็มแข็ง การก่อสร้างและบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
(๖) สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของการเดินเรือทั้งทางน้ำและทางทะเลในประเทศเพื่อนบ้าน
(๗) พัฒนาคุณภาพและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งทางอากาศ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค
๖. นโยบายการพัฒนาแรงงาน
ด้วยตระหนักว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญในระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจแผนใหม่ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางการพัฒนาและยกระดับแรงงาน ดังนี้
(๑) ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มคุณภาพแรงงานและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อให้การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานสามารถตอบสนองความต้องการของวิสาหกิจในแต่ละชุมชนได้อย่างเหมาะสม และให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อลดปัญหาการว่างงาน และการอพยพเข้ามาทำงานในเมือง รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น
(๒) ส่งเสริมมาตรการด้านการประกันสังคม ขยายขอบข่ายการให้สวัสดิการด้านแรงงาน เพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเหมาะสม และให้มีระบบการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี
(๓) ส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พัฒนา และคุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
(๔) คุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้าจัดหางานและนายจ้าง
(๕) กำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนและการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาแรงงานไทยขึ้นทดแทน
๗. นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐบาลตระหนักว่าการกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับฟื้นตัวนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาภาคการผลิตและบริการ ด้วยนโยบายดังนี้
(๑) เร่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับให้มีความเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเตรียมประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่
(๒) ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านการวิจัยและการพัฒนา โดยให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กการนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการคัดเลือกทักษะที่เหมาะสมกับศักยภาพ ความเชี่ยวชาญและความชำนาญของคนไทย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
(๓) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสำหรับการบริหารและการจัดการสมัยใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ต้นทุนต่ำ สามารถพัฒนาและขยายได้อย่างยั่งยืน
(๔) แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ความคุ้มครองต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
๘. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลมีนโยบายในการฟื้นฟูสภาพและคุณภาพ การป้องกันการเสื่อมโทรมหรือการสูญสิ้นไปและการนำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตเกิดความสมดุลในการพัฒนาและเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ดังนี้
(๑) บริหารและจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพแบบบูรณาการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการควบคุมและกำจัดมลภาวะที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
(๓) สนับสนุนให้นำต้นทุนทางสังคมมาพิจารณาในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกรณีการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และผลักดันการนำหลักการผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่ายและระบบกรรมสิทธิ์ร่วมมาใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(๔) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยสำหรับการแสวงหาการบริการจัดการ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทุกแหล่ง รวมถึงการนำสิ่งของหรือเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่
(๕) กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับของการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศควบคู่ไปกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ
(๖) สร้างมาตรการในการควบคุมการนำเข้าสารเคมี สารพิษ และวัตถุอันตราย โดยยึดถือมาตรฐานสากลของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ทดลองหรือจำหน่ายสารและวัตถุอันตรายที่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศผู้จำหน่าย
๙. นโยบายการพลังงาน
รัฐบาลมีนโยบายในการอนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ สมดุลกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ และลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ดังนี้
(๑) ส่งเสริมการใช้พลังงานแบบผสมผสาน โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรภายในประเทศ ให้เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างจริงจัง
(๒) ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร่งสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงานทดแทน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแนวใหม่เพื่อการประหยัดพลังงาน
(๓) มุ่งเน้นการจัดการด้านพลังงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต และสร้างเสถียรภาพด้านราคาของพลังงาน โดยดำเนินมาตรการการเงิน การคลัง และแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม
๑๐. นโยบายเสริมสร้างสังคมเข้มแข็ง
รัฐบาลจะพัฒนาคน ให้สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา รวมทั้งเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทย เป็นสังคมคุณภาพสังคมคุณธรรม และสังคมที่สมดุล
๑๐.๑ ด้านสาธารณสุขและสุขภาพ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบบริการและคุ้มครองสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยจะดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมด้านสาธารณสุขของประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งสร้างหลักประกันและโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังนี้
(๑) จัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการตรากฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของรัฐด้านสุขภาพ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ
(๒) ส่งเสริมการผลิต พัฒนา และกระจายกำลังคนและสถานบริการด้านสุขภาพให้มีจำนวนและคุณภาพเพียงพอกับความต้องการของ