การให้สถานะ Permanent Normal Trade Relations:PNTR แก่จีนและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 14, 2000 15:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายวิทูร ตุลยานนท์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย เศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2543 มีวาระการรายงานให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง การให้สถานะ PNTR แก่จีนและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน สำหรับ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน ประกอบด้วย
1. จีนลดภาษีให้ไทยลงอย่างมาก โดยสินค้าเกษตร อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 41.9% เหลือ 16.9% (simple average) และลดลงจากอัตราเฉลี่ย 25.9% เหลือ 11.8% สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนสินค้า ประมง อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 22.9% เหลือ 10.3%
2. เมื่อเปรียบเทียบกับการค้าในปี 2542 อัตราภาษีที่จีนลดให้ไทยจะลดลงจาก อัตราเฉลี่ย 37.6% เหลือ 13.1% (trade weighted average) ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปขายในจีนโดยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง กว่า 65.1% คิดเป็นมูลค่าภาษีที่ลดลงประมาณ 88.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,363 ล้านบาท
3. สินค้าเกษตร
- ข้าว จีนให้โควตาจำนวนมากและเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำมาก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้า ได้ในปริมาณครึ่งหนึ่ง จะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายการส่งออกข้าวไปยังจีนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2542 ไทยส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไปจีนเป็นปริมาณ 0.184 ล้านตัน มูลค่า 82.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อตกลงฯ ทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกข้าวไปยังจีนเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจาก จีนเปิดโควตาทั่วไป สำหรับข้าวเมล็ดยาว 1.33 ล้านตัน ในปี 2543
- น้ำตาล ปี 2542 ไทยส่งออกน้ำตาลไปจีน ปริมาณ 0.048 ล้านตัน มูลค่า 7.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อตกลงฯ ไทยจะมีโอกาสส่งน้ำตาลออกไปยังจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนเปิดโควตาน้ำตาล เป็นการทั่วไป ในปี 2543 ที่ 1.6 ล้านตัน
4. ยางพารา จีนลดภาษีเหลือ 20% ให้ทันทีที่เข้าเป็นสมาชิก WTO ตามที่ไทยขอ โดยจะขยายโควตา เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 15% และจะยกเลิกโควตาในปี 2547 จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกยางพารา ได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยส่งออกในปี 2542 ปริมาณประมาณ 243,709 ตัน มูลค่า 159.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อตกลงฯ เปิดโอกาสให้ไทยส่งออกยางพาราไปยังจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่า เนื่องจากจีนเปิดโควตาทั่วไป ที่ 429,000 ตัน ในปี 2543
5. สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยได้รับประโยชน์จากการลดอัตราภาษีของจีน อาทิ สิ่งทอ (การส่งออกสิ่งทอ เฉพาะรายการที่จีนลดอัตราภาษีให้ไทย ในปี 2542 มีมูลค่า 27.88 ล้านเหรียญสหรัฐ) เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องครัว และสุขภัณฑ์ที่ทำด้วยเซรามิก ในปี 2542 มีมูลค่าส่งออก 3.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เฟอร์นิเจอร์ มีมูลค่าส่งออก 0.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
6. ผู้ส่งออกของไทยมีโอกาสติดต่อค้าขายกับผู้นำเข้าของจีนโดยตรงได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่ม ความคล่องตัวในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
7. บริการ
- โรงแรมและภัตตาคาร นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยวไทยที่เข้าไปเที่ยวในจีนประมาณปีละ 99,000 คน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ธุรกิจ ภัตตาคารเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินทุนสูงนัก จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไป ดำเนินกิจการ ในจีน เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมทั่วโลกอยู่แล้ว
- บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว จีนเปิดให้ต่างชาติเข้าไปเปิดบริษัทตัวแทนท่องเที่ยว และประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในจีน จึงเป็นโอกาสดีที่สามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนจีน มาท่องเที่ยว ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวประเทศไทยเป็นอันดับ 3 รองจากฮ่องกง และมาเก๊า หรือประมาณ ปีละ 7 แสนคน มีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณคนละ 4 พันบาทต่อวัน
8. ประโยชน์จากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO ของจีนเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เช่น
- จีนจะไม่ให้การอุดหนุนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทันทีที่เป็นสมาชิก และจะยกเลิกการอุดหนุน การส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น และยกระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกให้สูงขึ้น
- จีนจะยกเลิกการกีดกันด้านมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้อุปสรรคการส่งออกในเรื่องดังกล่าวหมดไป และสามารถขยาย การส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น
9. ประโยชน์จากการเจรจาลดภาษีสินค้าหรือเปิดตลาดการค้าบริการของจีนที่ให้แก่ ประเทศสมาชิก WTO อื่น ๆ จะตกเป็นสิทธิประโยชน์ของสมาชิก WTO อื่น ๆ รวมทั้งไทยด้วยตามหลักการ MFN เช่น
- การเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาต่าง ๆ อาทิ การจัดจำหน่าย การเงิน การธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม และบริการสาขาวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปัตยกรรม แพทย์ และทันตแพทย์ เป็นต้น
- การยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม
- การลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์
- การลดภาษีเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอและเสื้อผ้า รองเท้า และเซรามิก เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ