เตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 2 -------------------------------------------------------------------------------- ในช่วง 4 เดือนนับจากปีใหม่นี้เป็นต้นไป สมาชิกองค์การการค้าโลกจะอุทิศเวลาการประชุมของตนเองมากขึ้นกับการเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18 — 19 พฤษภาคม 2541 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลกที่สมาชิกลงนามไว้เมื่อปี 2537 ได้กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก ๆ 2 ปี เพื่อทำหน้าที่ในการตัดสินใจให้มีการดำเนินการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลก การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 9 —13 ธันวาคม 2539 ณ สิงคโปร์ การประชุมครั้งที่ 2 นี้ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18 — 19 พฤษภาคม 2541 นี้ และผนวกรวมกับการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 50 ปี ระบบการค้า-พหุภาคี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 นอกเหนือจากเรื่องพิธีการต่าง ๆ ของการจัดประชุมแล้ว เรื่องที่สมาชิกให้ความสำคัญมากกว่าพิธีการต่าง ๆ คือ ประเด็นสาระของการประชุม ในส่วนนี้ ได้มีการหยิบยกขึ้นหารือบ้างแล้วในปี 2540 ทั้งในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เพราะหลายประเทศยังลังเลที่จะรีบกำหนดระเบียบวาระการประชุมในช่วงปี รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย ได้เคยแสดงทัศนะของตนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกว่าระเบียบวาระการประชุมรัฐมนตรีปี 2541 อาจจะประกอบด้วยเรื่องใหญ่ 4 หัวข้อ ได้แก่ (1) การทบทวนการปฏิบัติตามผลการเจรจารอบอุรุกวัย (2) การดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของประเทศต่าง ๆ (3) การบังคับใช้กฎกติกาต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลก และ (4) การมองไปสู่การเปิดเสรีทางการค้ายิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะหมายถึงการเปิดให้มีการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวอย่างชัดเจนว่า ออสเตรเลียไม่ได้เสนอแนะให้ที่ประชุมรัฐในปี 2541 ตัดสินใจให้มีการเปิดการเจรจารอบใหม่ แต่ได้ชี้ข้อเท็จจริงว่า ความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกบางฉบับได้กำหนดให้มีการเจรจารอบใหม่ในเรื่อง เกษตรและการค้าบริการ ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) ซึ่งออสเตรเลียและอีกบางประเทศก็เห็นว่า น่าจะมีการเจรจาลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในโอกาสเดียวกันด้วย หากเป็นเช่นนั้น ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ที่ประชุมรัฐมนตรีจะต้องหารือกันในเรื่องที่ว่าจะมีการเปิดการเจรจารอบใหม่หรือไม่ ทัศนะของออสเตรเลียข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของอีกหลายประเทศสมาชิก นอกจากเรื่องเกษตร การค้าบริการ และการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม (ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจหมายรวมถึงการลดภาษีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศในขั้นตอนต่อไปด้วย) แล้ว สมาชิกอื่น ๆ เห็นว่า ยังมีเรื่องที่เป็นวาระต่อเนื่องโดยผลการเจรจารอบอุรุกวัยให้ทบทวน ปรับปรุง หรือเจรจาใหม่อยู่หลายเรื่อง ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า และการทบทวนข้อบทความตกลงต่าง ๆ เช่น AD/CVD มาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าการค้ากับสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น ซึ่งเป็นทั้งเรื่องที่มีและไม่มีการระบุกำหนดเวลาในการทบทวน เรื่องเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาให้บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีด้วย การค้าสินค้าสิ่งทอ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้านี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บทบัญญัติของความตกลงสิ่งทอไม่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างจริงจังโดยสมาชิกเท่าใดนัก โดยเฉพาะเรื่องของการปลดปล่อยโควตาสิ่งทอของประเทศผู้นำเข้า ประเด็นอื่น ๆ ที่สมาชิกคงไม่ละเลยที่จะให้มีการหารือกันในระดับรัฐมนตรี อาจรวมไปถึง เรื่องใหม่ ๆ ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีที่สิงคโปร์ได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นทำการศึกษาถึงนัยสำคัญที่จะมีต่อการค้า ได้แก่ การลงทุน การแข่งขัน และการจัดซื้อโดยรัฐ การเข้าเป็นสมาชิกของประเทศต่าง ๆ ก็เป็นประเด็นที่รัฐมนตรีได้มีมติจากการประชุมครั้งแรกที่สิงคโปร์ให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้ประเทศที่ยังมิได้เป็นสมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเปิดเสรีทางการค้าให้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้น รัฐมนตรีจะรับทราบผลการดำเนินตั้งแต่การประชุมครั้งแรกที่สิงคโปร์จนถึงการประชุมในครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2541 และอาจหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นการให้น้ำหนักต่อการเร่งรัดกระบวนการยิ่งขึ้น จำนวนเรื่องที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการบรรจุไว้ในวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ข้างต้นที่มีอยู่มากมายนี้ ประกอบกับวิวัฒนาการของการค้าโลกที่เข้าไปสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเต็มไปด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาการสมัยใหม่กับการดำเนินธุรกิจการค้าและบริการ กลายเป็นการจุดประกายความคิดคำนึงของสมาชิกถึงความจำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกในอนาคตเพื่อให้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และความเหมาะสมที่จะเปิดให้มีการเจรจารอบใหม่หรือไม่ และหากจะมีขึ้นจะเป็นเมื่อใด สำหรับการเปิดการเจรจารอบใหม่นั้น โดยที่จะมีเรื่องเกษตรและการค้าบริการที่จะต้องดำเนินการเจรจาตามบทบัญญัติของความตกลงที่เกี่ยวข้องแล้ว สมาชิกยังมีความคิดเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก เป็นการเปิดการเจรจาเป็นเรื่อง ๆ ไป (sectoral egotiations) ซึ่งอาจมีข้อกังวลได้ว่า บางประเทศสมาชิกจะเสนอให้มีการเจรจาแต่เฉพาะเรื่องที่ตนมีผลประโยชน์อยู่มากเท่านั้น และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ หรือ แนวทางที่ 2 เป็นการเจรจาทุกเรื่องพร้อมกัน (comprehensive negotiations) เพราะเรื่องต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกันไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว หากดำเนินตามแนวทางที่ 2 ก็มีข้อคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความพร้อมของสมาชิกที่จะร่วมเจรจา เพราะในขณะนี้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียก็กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงอยู่ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดก็ยังเห็นว่า ตนประสบกับความยากลำบากในการเข้าสู่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้วในสินค้าดั้งเดิมประเภทสิ่งทอ เกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามพันธกรณีที่ประเทศอื่นๆ มีอยู่ ฉะนั้น ในความรู้สึกของประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่นั้น การบรรจุเรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นระเบียบวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีในปี 2541 ก็ควรเป็นไปด้วยความสมดุล ไม่ควรมุ่งเน้นแต่เรื่องของการขยายการเปิดเสรีและการนำเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับการค้า เช่น แรงงาน แต่ควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า การดำเนินการตามพันธกรณีต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงที่มีอยู่นั้น เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพและส่งผลประโยชน์อย่างทั่วถึงกับสมาชิกหรือไม่และหากยังไม่เป็นเช่นนั้น ก็ควรช่วยกันหาหนทางในการแก้ไขและป้องกันการลุกลามของปัญหาที่สมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดถูกปล่อยให้วิ่งตามหลังประเทศสมาชิกอื่น ๆ ดีกว่าที่จะเปิดการเจรจาใหม่ ซึ่งจะต้องมีการเสนอข้อผูกพันใหม่ และกลายเป็นภาระต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจากพันธกรณีเดิม ระเบียบวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีในปี 2541 จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และจะมีเรื่องของการเปิดการเจรจารอบใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของประเทศสมาชิกภายในเวลา 3 - 4 เดือน ข้างหน้านี้ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับสมาชิกจะหารือกันทั้งในลักษณะที่เป็นทางการ ดังเช่นในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ และการรวมเป็นกลุ่มย่อยของประเทศต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์และแนวความคิดใกล้เคียงกัน ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก็ได้เข้าไปร่วมอยู่ในกลุ่มย่อยต่าง ๆ อยู่บ้างเช่นกัน และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากการเข้าร่วมหารือในกลุ่มที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้งการประสานท่าทีร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้โดยกลไกของคณะกรรมการอาเซียน ณ นครเจนีวา เพื่อประโยชน์ของไทยและของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยรวม ในส่วนของประเทศไทย คงจะต้องเตรียมกายเตรียมใจคาดหมายว่า ในต้นศตวรรษหน้า จะต้องมีการเจรจาการค้ารอบใหม่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และคงต้องเตรียมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้า ยุทธศาสตร์แต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้แสวงหากลยุทธ์การเจรจาในแต่ละเรื่องต่อไป การยอมรับเงื่อนไขการเปิดเสรีบางเรื่องในอดีต วิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในขณะนี้ และการยอมรับกฎเกณฑ์ IMF เพื่อการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยในอนาคต เผยแพร่โดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ โทร. 2819723
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-