เป็นที่ทราบกันดีว่าสินค้าเกษตรมีความผันผวนของระดับราคาอย่างมาก อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของภาวะอุปสงค์และอุปทานของสินค้า ในประเทศพัฒนาแล้ว ปัญหาความผันผวนของระดับราคานำมาซึ่งการแทรกแซงราคาจากภาครัฐเพื่อวัตถุประสงค์ของการรักษาเสถียรภาพราคา ส่วนประเทศกำลังพัฒนามักขาดความพร้อมและความสามารถในเรื่องนี้ทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนมาก ถ้าจะมองความรุนแรงของปัญหาในประเทศกำลังพัฒนานั้นจะเห็นได้ว่ารุนแรงกว่าที่คาด เพราะประเทศเหล่านี้โดยมากจะพึ่งพารายได้จากการขายสินค้าเกษตรเพียงไม่กี่ประเภท ราคาที่ผันผวนหมายถึงรายได้ที่ผันผวน และนำมาสู่การพัฒนาประเทศที่ยากแก่การวางแผนการ อีกทั้งมักพบว่าโปรแกรมรักษาเสถียรภาพราคาไม่ค่อยประสบความสำเร็จในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากการแทรกแซงราคาแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ก็คือ Forward Contract แม้จะมีประวัติศาสตร์ของการใช้เป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพราคา มาเป็นเวลายาวนานในภาคเกษตรกรรม แต่ก็มีข้อเสียว่า Forward Contract ขาดความคล่องตัว นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอีกทางของความพยายามแก้ปัญหาความผันผวนของราคา นั่นก็คือการใช้ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Future Market) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความคล่องตัวมากกว่า
หากจะทบทวนปัญหาเรื่องความไร้เสถียรภาพของราคาก็พบว่า มีความพยายามใช้มาตรการต่างๆ ในระดับสากลด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Nairobi Resolution ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เมื่อปี 1976 ซึ่งได้มุ่งเน้นที่นโยบายป้องกันความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาสินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงรายได้จากการส่งออกสินค้าพวกนี้ด้วย สินค้าที่ได้รับความสนใจจากนโยบายนี้ได้แก่ กาแฟ โกโก้ น้ำตาล และข้าวสาลี โดยนโยบายหลักที่ถูกนำมาใช้ก็คือ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจัดตั้งมูลภัณฑ์กันชน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ได้จากการใช้มูลภัณฑ์กันชนมีไม่มากนัก รวมทั้งในระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาไปจากเดิมที่เน้นการแทรกแซงของทางการ จึงทำให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้าถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าวิธีอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากนัก แม้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเป็นแนวทางขึ้น เพื่อพยายามจัดตั้งตลาดนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีก็ตาม โดยต้องการเพิ่มประสิทธิภาพตลาดสินค้าเกษตรของไทย และลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคา และช่วยให้การวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีความจำเป็นอย่างไร
ตลาดสินค้าเกษตรของไทยที่ทำการซื้อขายอยู่ในปัจจุบันมีสองลักษณะคือการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้าทันที (Spot Trading) และการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้าในวันข้างหน้า (Forward Trading) โดยอาจจะเป็นการซื้อขายโดยตรงกับพ่อค้าหรือซื้อขายในตลาดกลางหรือตลาดข้อตกลงแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ดีการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้
หากปราศจากการแทรกแซงภาครัฐ ทางเลือกที่หน่วยธุรกิจสามารถทำได้ในการลดความเสี่ยง ที่เกิดจากการผลิตและการซื้อขายสินค้าอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาก็คือ การทำ Forward Contract หรือ การซื้อขายล่วงหน้า ในกรณีของ Forward Contract การทำสัญญาซื้อขายจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่าย (คือ ผู้ซื้อและผู้ขาย) ต่างตกลงล่วงหน้าว่าจะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ณ ระดับราคาหนึ่ง ในปริมาณที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเช่นกัน การทำสัญญามีข้อจำกัดก็คือ
- การซื้อขายยังไม่เกิดการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ซึ่งมีผลทำให้การต่อรองราคาสินค้าที่เป็นอยู่ไม่ได้รับราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพของสินค้าที่ผลิต
- ระบบทางการตลาดของสินค้าประเภทนี้ต้องผ่านคนกลางหลายขั้นตอน ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูง ซึ่งมีผลต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ
- การจัดชั้นมาตรฐานของสินค้ายังไม่ดีพอ และเกษตรกรยังไม่ให้ความสนใจกับการจัดชั้นคุณภาพของสินค้า
- ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์สินค้าเกษตรยังไม่ชัดเจนและกระจายไม่ทั่วถึง จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีผลทำให้ราคาสินค้าที่ได้รับไม่แน่นอน
- ความไม่สมดุลกันระหว่างจำนวนผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายตลอดจนการขาดการรับรู้ราคา (Price Discovery) ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของตลาด Forward ทำให้นักเก็งกำไรถูกตัดออกจากตลาดนี้ และสร้างปัญหาสภาพคล่องได้
ปัญหาด้านสภาพดินฟ้าอากาศที่ยากแก่การคาดคะเนและควบคุมมีส่วนทำให้ปริมาณการผลิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีเสถียรภาพและราคามีความผันผวนในระดับสูง อันจะทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีเสถียรภาพ มีผลต่อเนื่องทำให้รายได้จากการขายผลผลิตเหล่านี้ของประเทศขาดเสถียรภาพตามไปด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยการเข้าแทรกแซงตลาด เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหรือมีราคาสูงผิดปกติ โดยเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการรวมกลุ่มขาย จัดตลาดนัด การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดด้วยวิธีการรับจำนำ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำ จัดอบรมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาจัดตั้งตลาดกลาง
ประโยชน์ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
1. ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร
ผู้ที่เข้ามาประกันความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ เกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก สามารถตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อกำหนดราคาซื้อขายในอนาคต ในกรณีเช่นนี้จะทำให้ผู้ซื้อ ผู้ขายไม่ต้องกังวลใจว่าราคาในอนาคตจะขึ้นหรือจะลง เพราะเมื่อถึงระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ตลาดจะเป็นหลักประกันให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าตามปริมาณและคุณภาพที่ตกลงไว้ ส่วนผู้ขายก็จะได้ราคาที่ตกลงไว้เช่นกัน
2. รับรู้ราคาที่เกิดขึ้นในอนาคต
ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นราคาที่ได้จากการตกลงราคากันระหว่างผู้เสนอซื้อและผู้เสนอขาย ในวันทำสัญญาซื้อขายสินค้า เพื่อจะทำการส่งมอบ-รับมอบในอนาคต ซึ่งราคานี้ได้มาจากปริมาณความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และปริมาณการเสนอขาย (อุปทาน) ของสินค้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การได้ทราบราคาที่เกิดขึ้นในอนาคตจะมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการเกษตรมีความมั่นใจในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร
3. เป็นแหล่งข่าวสารข้อมูล
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นแหล่งให้ผู้เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์สินค้าเกษตร ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศตลอดเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตรได้ทราบข้อมูลการผลิต การตลาด และการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้
4. เพิ่มประสิทธิภาพการตลาด
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นศูนย์กลางที่ผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากเข้ามาทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะมีผลทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการค้นหาแหล่งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากนี้ราคาที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายเป็นไปตามกลไกราคา คือ ราคาที่ได้เกิดขึ้นจากการตอบสนองของความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และปริมาณการเสนอขาย (อุปทาน) ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจการเกษตรตลอดจนมีกฎ ระเบียบ ที่แน่นอนสามารถดูแลและป้องกันการทุจริตในการซื้อขาย
5. ลดภาระการแทรกแซงของรัฐบาล
ในแต่ละปี รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการเข้าแทรกแซงตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อได้จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าเกษตรที่เป็นไปตามกลไกราคา ซึ่งจะเป็นการลดภาระรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงตลาด อันจะเป็นการประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และสามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้เพื่อการอื่นที่จำเป็นได้
6. สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต โดยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการได้
เนื่องจากในสัญญาการซื้อขายจะระบุประเภท ปริมาณและคุณภาพที่เป็นมาตรฐานของสินค้าไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรและประเทศชาติโดยรวม
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าทำหน้าที่อะไร
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นศูนย์กลางในการตกลงซื้อหรือขายสินค้าเกษตรที่มีการส่งมอบในอนาคต ตามประเภท ชนิด ราคา ปริมาณ คุณภาพ สถานที่ส่งมอบ และระยะเวลาที่กำหนดมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการดูแลการซื้อขาย โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมีรายได้จากค่าบริการการซื้อขายในตลาดฯ
ในการให้บริการสมาชิก ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การชำระราคา การวางเงินประกัน การกำหนดอัตราการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสูงสุดที่ทำการซื้อขายในแต่ละวัน การกำหนดปริมาณซื้อสุทธิหรือลูกค้าต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมีระบบการควบคุมและป้องกันการปั่นตลาด โดยจะมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดข้อห้ามการกระทำการที่อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด มีการตรวจสอบบัญชีซื้อขายของสมาชิก ให้อำนาจในการสั่งระงับหรือหยุดการซื้อขาย มีขั้นตอนในการลงโทษสมาชิก และบทลงโทษทางอาญา รวมทั้งทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกด้วยกันเองหรือสมาชิกกับลูกค้า
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมี "สำนักหักบัญชี" ที่จะให้บริการในการชำระราคาที่ซื้อขาย การหักบัญชีซื้อขายและปรับฐานะบัญชีเงินประกัน รวมทั้งการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายกัน อย่างไรก็ดี สำนักหักบัญชีนี้อาจจะอยู่ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือแยกตัวออกมาเป็นอิสระก็ได้ ซึ่งสุดแล้วแต่นโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งสำนักหักบัญชีจะเป็นผู้รับรองว่าลูกค้าทุกคนของตลาดจะได้รับการปฏิบัติตามสัญญาเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด สำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่เป็นคนกลางโดยการเป็นผู้ซื้อให้กับผู้เสนอขายสินค้าล่วงหน้าทุกคน และเป็นผู้ขายให้กับผู้ที่เสนอซื้อสินค้าล่วงหน้าทุกคน ดังนั้นลูกค้าทุกคนจึงมีภาระผูกพันตามสัญญากับสำนักหักบัญชีเท่านั้น และลูกค้าทุกคนก็คาดหวังว่าสำนักหักบัญชีจะปฏิบัติตามภาระผูกพันตามสัญญาอย่างเคร่งครัด หรืออาจกล่าวได้ว่า สำนักหักบัญชีได้ใช้ความเชื่อถือ (Credibility) ของตนแทนคำสัญญาของลูกค้าแต่ละฝ่าย
นอกจากนี้ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ยังอาจทำหน้าที่ในเรื่องของการให้บริการข้อมูลสินค้าเกษตรรวมทั้งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ด้วยการจัดอบรมการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินงานตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีหน้าที่คล้ายคลึงกับตลาดหลักทรัพย์มากทีเดียว
วัตถุประสงค์ในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ผู้ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อขายได้เป็น 2 ประเภท คือ เพื่อต้องการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Hedging) และต้องการเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Speculation)
1. การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อปกป้องความเสี่ยงทำได้ดังนี้
(1) การขายเพื่อปกป้องความเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มีสินค้าเกษตรอยู่ในครอบครองแต่ยังไม่อาจหรือยังไม่สะดวกที่จะนำออกขายในปัจจุบัน แต่สามารถจะนำออกขายในอนาคต เช่น เกษตรกรผู้ปลูก คลังสินค้าที่มีสินค้าเก็บสำรองอยู่ พ่อค้าที่ได้ตกลงรับซื้อเหมาจากเกษตรกรไว้เมื่อเริ่มลงมือปลูก เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของราคาสินค้าขณะที่นำออกขายในอนาคต อาจได้ราคาที่คุ้มต้นทุนหรืออาจได้ราคาที่ไม่คุ้มต้นทุนก็ได้
ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการสั่งขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ณ ราคาที่ตนพอใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ขายได้รับราคาที่พอใจนั้นอย่างแน่นอนในอนาคต โดยไม่ต้องสนใจว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้า ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันขณะนั้นจะเป็นเท่าใด
(2) การซื้อล่วงหน้าเพื่อปกป้องความเสี่ยง
ในทำนองเดียวกัน ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่มีพันธะต้องซื้อสินค้าเกษตร เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า จะมีความเสี่ยงต่อการที่อาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้นมากเมื่อถึงเวลาต้องใช้สินค้าดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจนประสบกับผลขาดทุนก็ได้ บุคคลเหล่านี้ได้แก่ พ่อค้าส่งออกที่ต้องการซื้อสินค้าไปส่งมอบตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรที่ต้องการสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ตามกำหนดเวลาผลิตในช่วงเวลาต่างๆ ในอนาคตเพื่อให้ได้สินค้าแปรรูปไปส่งมอบต่อลูกค้าที่ได้สั่งซื้อไว้ เป็นต้น
การป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวกระทำได้โดยการสั่งซื้อล่วงหน้าสินค้าเกษตรนั้น ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถได้รับสินค้านั้นในราคาที่แน่นอนในจำนวน และ ณ วันเวลาที่ต้องการ
2. การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไร
ผู้เข้าไปเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า คือ ผู้ที่สมัครใจเข้าไปรับโอนความเสี่ยง (อันเนื่องจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร) มาจากผู้ต้องการปกป้องความเสี่ยงข้างต้น ผู้เก็งกำไรจะเข้ามาเสี่ยงโดยหวังที่จะได้รับผลกำไรหากว่าเก็งกำไรได้ถูกต้องและยินดีรับผลขาดทุนถ้าคาดการณ์ผิด การทำหน้าที่ของนักเก็งกำไรช่วยให้ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรสามารถทำประกันภัยความเสี่ยงอันเนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาได้ ส่งผลให้พวกเขาสามารถทุ่มเททำธุรกิจการเกษตรได้อย่างเต็มที่ เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบการเกษตรของไทย
ในการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้า หากคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะสูงขึ้น ผู้เก็งกำไรก็จะสั่งซื้อไว้ก่อน (ในวันนี้) แต่ถ้าคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดต่ำลงเขาก็จะสั่งขายในวันนี้
บทส่งท้าย
สำหรับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแม้จะมีประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรของไทยหลายประการ แต่ก็ควรจะต้องมีกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่รัดกุมด้วย เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไรของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะใช้วิธีปั่นราคาในตลาด เช่นเดียวกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าอื่นๆ เพราะหากเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นอาจจะส่งผลเสียให้กับตลาดได้
อย่างไรก็ตามจะต้องดูผลการดำเนินงานจริงของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อนว่าจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาให้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการซื้อขายสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของสินค้าเกษตรของไทยได้ต่อไปในอนาคต--จบ--
Source : เรียบเรียงจากวารสารการเงินการคลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 45
--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง--
-อน-
หากจะทบทวนปัญหาเรื่องความไร้เสถียรภาพของราคาก็พบว่า มีความพยายามใช้มาตรการต่างๆ ในระดับสากลด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Nairobi Resolution ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เมื่อปี 1976 ซึ่งได้มุ่งเน้นที่นโยบายป้องกันความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาสินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงรายได้จากการส่งออกสินค้าพวกนี้ด้วย สินค้าที่ได้รับความสนใจจากนโยบายนี้ได้แก่ กาแฟ โกโก้ น้ำตาล และข้าวสาลี โดยนโยบายหลักที่ถูกนำมาใช้ก็คือ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจัดตั้งมูลภัณฑ์กันชน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ได้จากการใช้มูลภัณฑ์กันชนมีไม่มากนัก รวมทั้งในระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาไปจากเดิมที่เน้นการแทรกแซงของทางการ จึงทำให้ตลาดซื้อขายล่วงหน้าถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าวิธีอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากนัก แม้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเป็นแนวทางขึ้น เพื่อพยายามจัดตั้งตลาดนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีก็ตาม โดยต้องการเพิ่มประสิทธิภาพตลาดสินค้าเกษตรของไทย และลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคา และช่วยให้การวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีความจำเป็นอย่างไร
ตลาดสินค้าเกษตรของไทยที่ทำการซื้อขายอยู่ในปัจจุบันมีสองลักษณะคือการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้าทันที (Spot Trading) และการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้าในวันข้างหน้า (Forward Trading) โดยอาจจะเป็นการซื้อขายโดยตรงกับพ่อค้าหรือซื้อขายในตลาดกลางหรือตลาดข้อตกลงแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ดีการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้
หากปราศจากการแทรกแซงภาครัฐ ทางเลือกที่หน่วยธุรกิจสามารถทำได้ในการลดความเสี่ยง ที่เกิดจากการผลิตและการซื้อขายสินค้าอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาก็คือ การทำ Forward Contract หรือ การซื้อขายล่วงหน้า ในกรณีของ Forward Contract การทำสัญญาซื้อขายจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่าย (คือ ผู้ซื้อและผู้ขาย) ต่างตกลงล่วงหน้าว่าจะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ณ ระดับราคาหนึ่ง ในปริมาณที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเช่นกัน การทำสัญญามีข้อจำกัดก็คือ
- การซื้อขายยังไม่เกิดการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ซึ่งมีผลทำให้การต่อรองราคาสินค้าที่เป็นอยู่ไม่ได้รับราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพของสินค้าที่ผลิต
- ระบบทางการตลาดของสินค้าประเภทนี้ต้องผ่านคนกลางหลายขั้นตอน ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูง ซึ่งมีผลต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ
- การจัดชั้นมาตรฐานของสินค้ายังไม่ดีพอ และเกษตรกรยังไม่ให้ความสนใจกับการจัดชั้นคุณภาพของสินค้า
- ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์สินค้าเกษตรยังไม่ชัดเจนและกระจายไม่ทั่วถึง จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีผลทำให้ราคาสินค้าที่ได้รับไม่แน่นอน
- ความไม่สมดุลกันระหว่างจำนวนผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายตลอดจนการขาดการรับรู้ราคา (Price Discovery) ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของตลาด Forward ทำให้นักเก็งกำไรถูกตัดออกจากตลาดนี้ และสร้างปัญหาสภาพคล่องได้
ปัญหาด้านสภาพดินฟ้าอากาศที่ยากแก่การคาดคะเนและควบคุมมีส่วนทำให้ปริมาณการผลิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีเสถียรภาพและราคามีความผันผวนในระดับสูง อันจะทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีเสถียรภาพ มีผลต่อเนื่องทำให้รายได้จากการขายผลผลิตเหล่านี้ของประเทศขาดเสถียรภาพตามไปด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยการเข้าแทรกแซงตลาด เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหรือมีราคาสูงผิดปกติ โดยเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการรวมกลุ่มขาย จัดตลาดนัด การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดด้วยวิธีการรับจำนำ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำ จัดอบรมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาจัดตั้งตลาดกลาง
ประโยชน์ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
1. ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร
ผู้ที่เข้ามาประกันความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ เกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก สามารถตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อกำหนดราคาซื้อขายในอนาคต ในกรณีเช่นนี้จะทำให้ผู้ซื้อ ผู้ขายไม่ต้องกังวลใจว่าราคาในอนาคตจะขึ้นหรือจะลง เพราะเมื่อถึงระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ตลาดจะเป็นหลักประกันให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าตามปริมาณและคุณภาพที่ตกลงไว้ ส่วนผู้ขายก็จะได้ราคาที่ตกลงไว้เช่นกัน
2. รับรู้ราคาที่เกิดขึ้นในอนาคต
ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นราคาที่ได้จากการตกลงราคากันระหว่างผู้เสนอซื้อและผู้เสนอขาย ในวันทำสัญญาซื้อขายสินค้า เพื่อจะทำการส่งมอบ-รับมอบในอนาคต ซึ่งราคานี้ได้มาจากปริมาณความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และปริมาณการเสนอขาย (อุปทาน) ของสินค้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การได้ทราบราคาที่เกิดขึ้นในอนาคตจะมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการเกษตรมีความมั่นใจในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร
3. เป็นแหล่งข่าวสารข้อมูล
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นแหล่งให้ผู้เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์สินค้าเกษตร ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศตลอดเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตรได้ทราบข้อมูลการผลิต การตลาด และการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้
4. เพิ่มประสิทธิภาพการตลาด
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นศูนย์กลางที่ผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากเข้ามาทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะมีผลทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการค้นหาแหล่งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากนี้ราคาที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายเป็นไปตามกลไกราคา คือ ราคาที่ได้เกิดขึ้นจากการตอบสนองของความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และปริมาณการเสนอขาย (อุปทาน) ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจการเกษตรตลอดจนมีกฎ ระเบียบ ที่แน่นอนสามารถดูแลและป้องกันการทุจริตในการซื้อขาย
5. ลดภาระการแทรกแซงของรัฐบาล
ในแต่ละปี รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการเข้าแทรกแซงตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อได้จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าเกษตรที่เป็นไปตามกลไกราคา ซึ่งจะเป็นการลดภาระรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงตลาด อันจะเป็นการประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และสามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้เพื่อการอื่นที่จำเป็นได้
6. สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต โดยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการได้
เนื่องจากในสัญญาการซื้อขายจะระบุประเภท ปริมาณและคุณภาพที่เป็นมาตรฐานของสินค้าไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรและประเทศชาติโดยรวม
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าทำหน้าที่อะไร
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นศูนย์กลางในการตกลงซื้อหรือขายสินค้าเกษตรที่มีการส่งมอบในอนาคต ตามประเภท ชนิด ราคา ปริมาณ คุณภาพ สถานที่ส่งมอบ และระยะเวลาที่กำหนดมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการดูแลการซื้อขาย โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมีรายได้จากค่าบริการการซื้อขายในตลาดฯ
ในการให้บริการสมาชิก ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การชำระราคา การวางเงินประกัน การกำหนดอัตราการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสูงสุดที่ทำการซื้อขายในแต่ละวัน การกำหนดปริมาณซื้อสุทธิหรือลูกค้าต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมีระบบการควบคุมและป้องกันการปั่นตลาด โดยจะมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดข้อห้ามการกระทำการที่อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด มีการตรวจสอบบัญชีซื้อขายของสมาชิก ให้อำนาจในการสั่งระงับหรือหยุดการซื้อขาย มีขั้นตอนในการลงโทษสมาชิก และบทลงโทษทางอาญา รวมทั้งทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกด้วยกันเองหรือสมาชิกกับลูกค้า
ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะมี "สำนักหักบัญชี" ที่จะให้บริการในการชำระราคาที่ซื้อขาย การหักบัญชีซื้อขายและปรับฐานะบัญชีเงินประกัน รวมทั้งการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายกัน อย่างไรก็ดี สำนักหักบัญชีนี้อาจจะอยู่ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือแยกตัวออกมาเป็นอิสระก็ได้ ซึ่งสุดแล้วแต่นโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งสำนักหักบัญชีจะเป็นผู้รับรองว่าลูกค้าทุกคนของตลาดจะได้รับการปฏิบัติตามสัญญาเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด สำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่เป็นคนกลางโดยการเป็นผู้ซื้อให้กับผู้เสนอขายสินค้าล่วงหน้าทุกคน และเป็นผู้ขายให้กับผู้ที่เสนอซื้อสินค้าล่วงหน้าทุกคน ดังนั้นลูกค้าทุกคนจึงมีภาระผูกพันตามสัญญากับสำนักหักบัญชีเท่านั้น และลูกค้าทุกคนก็คาดหวังว่าสำนักหักบัญชีจะปฏิบัติตามภาระผูกพันตามสัญญาอย่างเคร่งครัด หรืออาจกล่าวได้ว่า สำนักหักบัญชีได้ใช้ความเชื่อถือ (Credibility) ของตนแทนคำสัญญาของลูกค้าแต่ละฝ่าย
นอกจากนี้ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ยังอาจทำหน้าที่ในเรื่องของการให้บริการข้อมูลสินค้าเกษตรรวมทั้งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ด้วยการจัดอบรมการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินงานตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีหน้าที่คล้ายคลึงกับตลาดหลักทรัพย์มากทีเดียว
วัตถุประสงค์ในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ผู้ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อขายได้เป็น 2 ประเภท คือ เพื่อต้องการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Hedging) และต้องการเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร (Speculation)
1. การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อปกป้องความเสี่ยงทำได้ดังนี้
(1) การขายเพื่อปกป้องความเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มีสินค้าเกษตรอยู่ในครอบครองแต่ยังไม่อาจหรือยังไม่สะดวกที่จะนำออกขายในปัจจุบัน แต่สามารถจะนำออกขายในอนาคต เช่น เกษตรกรผู้ปลูก คลังสินค้าที่มีสินค้าเก็บสำรองอยู่ พ่อค้าที่ได้ตกลงรับซื้อเหมาจากเกษตรกรไว้เมื่อเริ่มลงมือปลูก เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของราคาสินค้าขณะที่นำออกขายในอนาคต อาจได้ราคาที่คุ้มต้นทุนหรืออาจได้ราคาที่ไม่คุ้มต้นทุนก็ได้
ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการสั่งขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ณ ราคาที่ตนพอใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ขายได้รับราคาที่พอใจนั้นอย่างแน่นอนในอนาคต โดยไม่ต้องสนใจว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้า ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันขณะนั้นจะเป็นเท่าใด
(2) การซื้อล่วงหน้าเพื่อปกป้องความเสี่ยง
ในทำนองเดียวกัน ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่มีพันธะต้องซื้อสินค้าเกษตร เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตข้างหน้า จะมีความเสี่ยงต่อการที่อาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้นมากเมื่อถึงเวลาต้องใช้สินค้าดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจนประสบกับผลขาดทุนก็ได้ บุคคลเหล่านี้ได้แก่ พ่อค้าส่งออกที่ต้องการซื้อสินค้าไปส่งมอบตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับต่างประเทศ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรที่ต้องการสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ตามกำหนดเวลาผลิตในช่วงเวลาต่างๆ ในอนาคตเพื่อให้ได้สินค้าแปรรูปไปส่งมอบต่อลูกค้าที่ได้สั่งซื้อไว้ เป็นต้น
การป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวกระทำได้โดยการสั่งซื้อล่วงหน้าสินค้าเกษตรนั้น ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถได้รับสินค้านั้นในราคาที่แน่นอนในจำนวน และ ณ วันเวลาที่ต้องการ
2. การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไร
ผู้เข้าไปเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า คือ ผู้ที่สมัครใจเข้าไปรับโอนความเสี่ยง (อันเนื่องจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร) มาจากผู้ต้องการปกป้องความเสี่ยงข้างต้น ผู้เก็งกำไรจะเข้ามาเสี่ยงโดยหวังที่จะได้รับผลกำไรหากว่าเก็งกำไรได้ถูกต้องและยินดีรับผลขาดทุนถ้าคาดการณ์ผิด การทำหน้าที่ของนักเก็งกำไรช่วยให้ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรสามารถทำประกันภัยความเสี่ยงอันเนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาได้ ส่งผลให้พวกเขาสามารถทุ่มเททำธุรกิจการเกษตรได้อย่างเต็มที่ เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบการเกษตรของไทย
ในการเก็งกำไรซื้อขายล่วงหน้า หากคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะสูงขึ้น ผู้เก็งกำไรก็จะสั่งซื้อไว้ก่อน (ในวันนี้) แต่ถ้าคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดต่ำลงเขาก็จะสั่งขายในวันนี้
บทส่งท้าย
สำหรับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแม้จะมีประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรของไทยหลายประการ แต่ก็ควรจะต้องมีกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่รัดกุมด้วย เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไรของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะใช้วิธีปั่นราคาในตลาด เช่นเดียวกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าอื่นๆ เพราะหากเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นอาจจะส่งผลเสียให้กับตลาดได้
อย่างไรก็ตามจะต้องดูผลการดำเนินงานจริงของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อนว่าจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาให้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการซื้อขายสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของสินค้าเกษตรของไทยได้ต่อไปในอนาคต--จบ--
Source : เรียบเรียงจากวารสารการเงินการคลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 45
--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง--
-อน-