คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงนโยบาย “ยกเครื่องเศรษฐกิจไทย”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2005 09:19 —กระทรวงการคลัง

                            คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงนโยบาย
“ยกเครื่องเศรษฐกิจไทย”
ของ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ห้องประชุม ชั้น 7 กรมบัญชีกลาง
12 มกราคม 2548
ท่านประธาน ADB ท่าน Chino (Mr.Tadao Chino, ADB President) ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรี ท่านที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในที่สุดแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็อยู่ครบ 4 ปี แห่งการบริหารราชการแผ่นดินและในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของการเมืองไทยที่เรามีรัฐบาลที่สามารถบริหารอยู่ได้ครบ 1 เทอมพอดี แต่ความสำคัญของเวลาที่บริหารราชการแผ่นดินนั้นไม่ได้สำคัญอยู่ที่ว่าอยู่นานแค่ไหน มันอยู่ที่ว่าช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลอยู่นั้นได้มีโอกาสดำเนินภารกิจอะไรบ้าง และภารกิจเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเพียงใด
ผมเชื่อว่าตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้พยายามทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่จะให้มาบอกว่าสิ่งที่ทำไปมีประโยชน์มากหรือน้อยต่อบ้านเมือง ผมในฐานะคนในรัฐบาลก็คงไม่ใช่อยู่ในวิสัยที่จะมาพูดในวันนี้ ผมคิดว่าประชาชนคนไทยจะเป็นผู้ตัดสินใจ คนไทยด้วยกันเองนี่แหละที่บอกว่ารัฐบาลทำได้ดีเพียงใด ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้บันทึกเองว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลทำได้ดีเพียงไหน แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อวานนี้ทางท่านเลขาสภาพัฒน์และคณะได้ไปรายงานใน ครม. ได้สรุปตัวเลข 4 ปีที่ผ่านมาย่อๆ ว่าในการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 4 ปี การเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6% เศษๆ เรื่องของ GDP ณ ปลายปี 2547 มีมูลค่าสูง 6.5 ล้านล้าน ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ Inflation ประมาณ 2.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นบวกอยู่ที่ประมาณ 6.2% ของ GDP หนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 46 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี NPL ของทั้งระบบเหลือเพียงประมาณร้อยละ 11.4 ของระบบสินเชื่อทั้งหมด Reserve สูงถึง 49.6 สูงเป็นประวัติการณ์ไม่รวม Swap อัตราการว่างงานเหลือเพียงร้อยละ 1 จุดกว่าๆ จากที่เคยสูงถึง 3% กว่าๆ
ตัวเลขเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อเราหวนไปมองถึง 4 ปีที่แล้วผมคิดว่าประเทศไทยก็สามารถก้าวพ้นจากปากเหวของหายนะมาได้ไกลพอสมควร แต่ภารกิจของรัฐบาลยังไม่สิ้นสุด สิ่งที่รัฐบาลต้องการทำอย่างยิ่งไม่ใช่เพียงแค่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องได้รับการปรับปรุง ได้รับการปฏิรูป ซึ่งเราถือว่าอันนี้เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งและก็ยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน เราหลีกเลี่ยงการปฏิรูปไม่พ้น ผมเอ่ยคำว่า “ปฏิรูป” ผมจำได้ว่าเมื่อผมก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบริหารกระทรวงการคลัง เราดูออกตั้งแต่แรกว่าเหตุผลที่เกิด Financial crisis มันไม่ใช่เพราะว่าเศรษฐกิจเราอ่อนแออย่างเดียว แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรามันล้าหลัง ไม่ Fit กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า อุตสาหกรรมเรายังมีช่องว่างอีกมากที่จะต้องให้ปรับปรุง สังคมของเรายังมีความไม่เท่าเทียมกันอีกมากที่ต้องปรับปรุง ความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ ถ้าเราต้องการที่จะอยู่บนเวทีโลกได้ ถ้าเราหยุดนิ่งอยู่เพียงนี้ เรามีหวังถดถอยแน่นอน
รัฐบาลได้ตั้งความหวังเอาไว้ว่า 4 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคสมัยแห่งการสร้างประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นมาจะเป็นยุคสมัยที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ให้ทันสมัย จะเป็นยุคสมัยที่เราจะได้เข้าไปปฏิรูปเรื่องการบริหารในภาคราชการ ภาครัฐบาล ซึ่งผมถือว่าถาครัฐบาลเป็นภาคใหญ่และสำคัญที่จะต้องได้รับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
4 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคสมัยที่ผมต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูศีลธรรมจรรยา เรื่องของครอบครัว เรื่องของสังคม คนไทยไม่ได้อยู่ด้วยวัตถุอย่างเดียว แต่คนไทยจะอยู่ได้ก็เพราะความดี มีศีลธรรม สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ถูกสอนไว้ในตำราเศรษฐศาสตร์ แต่มันปลูกฝังอยู่ในมโนธรรม จริยธรรมของความเป็นมนุษย์ เหตุผลหนึ่งที่ก้าวสู่การเมืองก็คือการใช้เวลาช่วงสั้นๆ ที่มีอยู่ผลักดันสิ่งที่เราถือว่าเป็นความดี เป็นจริยธรรม เป็นศีลธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ แต่ภารกิจเหล่านี้ผมถือว่ายากกว่า 4 ปีที่แล้ว เหตุผลที่มันยากกว่านั้นเพราะการปฏิรูปมันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย เกี่ยวข้องกับการเสียสละ ถ้าเราถามคนทั่วๆ ไปว่าปฏิรูปดีไหม? ทุกคนบอกว่าดีแน่นอน แต่เมื่อไรที่การปฏิรูปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบถึงตนเอง เขาจะบอกว่าเอาไว้ก่อน ฉะนั้นถ้าต้องการปฏิรูปจริงๆ แล้วมันหลีกพ้นการเสียสละไม่ได้
เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติของมนุษย์เราไม่อยากมีการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปไม่ใช่การปฏิรูปเพียงแค่ลมปาก แต่ถ้าเราต้องการปฏิรูปให้ได้จริงจังมันเกี่ยวข้องกับการเสียสละ มันเกี่ยวข้องกับ Political will หรือความมุ่งมั่นทางการเมืองว่าจะทำจริงนะ ไม่ใช่หาเสียงเพียงอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับการที่เราจะต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะว่าการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจเราใช้นโยบาย เราสั่งได้ แต่การปฏิรูปมันเกี่ยวข้องกับว่าทุกคนของคนไทยต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง การสื่อความ การโน้มน้าว การทำตัวให้เป็นตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้ถึงจะทำให้การปฏิรูปได้รับการตอบสนอง และที่สำคัญที่สุดการปฏิรูปต้องเป็นการปฏิรูปที่ใช้สติปัญญา ไม่ใช่ใช้อารมณ์ การปฏิรูปถึงจะถูกทิศทาง นำมาซึ่งผลดีต่อบ้านเมืองในภายหลัง ไม่ใช่ว่าเป็นกบในกะลามองว่าตัวเองถูกและไม่รับฟังข้อมูลจากที่อื่น ไม่เพียงเฉพาะแค่การรับฟังจากคนไทยด้วยกันเอง แต่เรายังต้องเปิดกว้างรับจากบุคคลภายนอกประเทศอื่น นอกเหนือประเทศไทย เพราะกำลังความสามารถหรือ Capacity building เป็นสิ่งจำเป็นมาก หลายสิ่งหลายอย่างเราไม่มี Know how เราไม่มีความรอบรู้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับ องค์กร หรือเรากับบุคคลที่อยู่นอกประเทศที่เขามีความสามารถเป็นสิ่งจำเป็น ADB เป็น Source ที่สำคัญมาก ผมได้ทานข้าวกับ ประธาน KfW Chairman Reich (Hans W Reich) เขาบอกว่าขอให้คิดว่า KfW เป็นพันธมิตร อะไรที่เป็น Know how ของ KfW ขอให้เอาไปใช้ได้เลย ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าซ้ายมือเรามี KfW ขวามือเรามีความร่วมมือจากADB
การปฏิรูปถ้าเราทำอย่างมีสติ ทำอย่างมุ่งมั่นประเทศก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ ด้วยความมุ่งมั่นอันนี้ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นกระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ ผมก็หวังอย่างยิ่งว่ากระทรวงของเราเป็นกระทรวงแรกที่ก้าวนำเรื่องของการปฏิรูป ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ไม่ต้องรอให้ผมสั่ง ไม่ว่าผมจะอยู่ที่นี่หรือไม่อยู่ที่นี่ ผมก็อยากจะฝากเอาไว้กับท่านปลัด ท่านผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่าขอให้ก้าวนำ จริงๆ เรานำมาแล้วกว่า 2 ปีเรื่องการปฏิรูปกระบวนการทำงาน ฉะนั้น 4 ปีข้างหน้าอยากเห็นพวกท่านนำกระทรวง ปรับเปลี่ยนปฏิรูปกระทรวงการคลังให้ทันสมัย ไม่แพ้ชาติอื่นเขา เป็นตัวอย่างให้กรม กอง กระทรวงอื่นๆ ปฏิรูปตาม เปิดสมองให้กว้าง เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้าง หาพันธมิตร หาข้อมูล หาแนวร่วม มันจะได้มีพลังแห่งการปฏิรูปกับการปรับเปลี่ยน
การจัดสัมมนาวันนี้เป็นเหตุการณ์ซึ่งผมถือว่าดีมาก เพราะว่าถ้าท่านจะเป็นผู้ที่จะนำการปฏิรูป ท่านต้องมีสติปัญญา ท่านต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์ ท่านต้องเปิดสมองให้กว้างเอาไว้ วันนี้ตั้งแต่ President Chino จะมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจโลก อาจารย์โอฬาร (ไชยประวัติ) Daniel Lian จะมาพูดถึงเรื่อง History ของเศรษฐกิจไทยและอนาคตข้างหน้า ไล่ไปเป็นชุดๆ ผมถือว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของปี 2548 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นกระทรวงที่ทันสมัยที่สุด มีบุคลากรที่ดีที่สุด และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เด่นที่สุดของเมืองไทย แล้วผมจะพยายามหาทางที่จะช่วยเหลือพัฒนาบุคลากรของกระทรวงการคลังไม่ให้เป็นที่สองรองใครก็ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมในวันนี้ ผมได้เรียนท่านปลัดว่าผมต้องการผู้บริหารกระทรวงและผู้บริหารระดับรองลงมา ซึ่งเราเลือกสรรโดยเฉพาะให้มานั่งฟังจะได้รับรู้ไว้ จะได้เป็นก้าวแรกของปี 2548 ในการเริ่มการปฏิรูป ผมถือโอกาสนี้เปิดการสัมมนาอย่างเป็นทางการ และก็ขอให้ผลของการสัมมนาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จริงจังในกระทรวงการคลังในอีก 4 ปีข้างหน้า ขอบพระคุณมากครับ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
1. ภาพข่าวกระทรวงการคลังวันที่ 12 มกราคม 2547
2. ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 7/2548
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ