แถลงข่าว เรื่อง การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ครั้งที่ 10 (UNCTAD X) โดย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการด้านสารัตถะสำหรับการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 _________________________ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-19 กุมภาพันธ์ 2543 ที่กรุงเทพฯ จะเป็นโอกาสให้ประชาคมโลกได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย มุ่งเน้นให้ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่สหัสวรรษใหม่อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจะ มีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติ และระดับโลกจากประเทศต่างๆ 190 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ นับมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน การประชุมมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การวางกรอบการดำเนินการในกระบวนการโลกาภิวัตน์ เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งองค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก ได้ร่วมมือกันกำหนด ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างประเทศ ให้ทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศ กำลังพัฒนาได้รับประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียมกัน ผลการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 คาดว่าจะออกมาในรูปของเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ 1. เอกสารปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วม กันของประเทศสมาชิกอังค์ถัด กำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางและแนวนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. เอกสารแผนปฏิบัติการกรุงเทพฯ (Bangkok Plan of Action) ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดของการ ดำเนินการให้เป็นไปตามปฏิญญากรุงเทพฯ โดยมุ่งเน้น การให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และการให้ความช่วยเหลือของอังค์ถัด ในการศึกษา วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในเรื่องเศรษฐกิจและการค้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา (capacity-building) ทั้งด้านการค้า การเงิน และการลงทุน อย่างไรก็ตาม การวัดผลสำเร็จของการประชุมคงมิได้ดูจากเอกสาร 2 ฉบับนี้เท่านั้น แต่ต้องดูจากกิจกรรมโดยรวม (entirety) ของการประชุม ว่าได้เปิดโอกาสให้ ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOS) ผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่าง กว้างขวางและเปิดเผย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างให้อังค์ถัดได้รับความเชื่อถือจากหน่วยต่างๆ ของสังคมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และทำให้การปฏิบัติงานของอังค์ถัดสนองตอบความต้องการ ของทุกฝ่ายได้ดียิ่งขึ้น ท่าทีของไทยในการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 การเตรียมการสำหรับการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดตั้ง คณะกรรมการระดับชาติ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อเตรียมการ 2 ด้าน คือ พิธีการ ซึ่งมีรองนายกฯ พิชัย รัตตกุล เป็นประธาน และด้าน สารัตถะ ผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ ขอสรุปการดำเนินการและท่าที ของไทยโดยรวม ดังนี้เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงได้ร่วมกับกลุ่ม 77 (G 77) ซึ่งเป็นกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา 133 ประเทศ ในการกำหนดท่าทีร่วมกัน เพื่อผลักดันประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนา โดยได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี 2 ครั้ง คือ การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มเอเชีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 ณ กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน และการประชุมระดับรัฐมนตรี ของกลุ่ม 77 เมื่อเดือนกันยายน 2542 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก โดยในส่วนของ ประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะได้ประชุมพิจารณาวางกรอบท่าทีของไทยใน 3 เรื่อง คือเรื่องการค้า การเงิน/การลงทุน และการพัฒนา ท่าทีไทยในประเด็นสำคัญของร่างเอกสาร Bangkok Plan of Action เป็นดังนี้ (1) เรื่องผลกระทบของกระบวนการโลกาภิวัตน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยเห็นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา แต่ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่ได้รับผลประโยชนเท่าที่ควร หรือได้รับในลักษณะที่ไม่สมดุล หรือไม่เท่าเทียมกันและไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นที่ทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่กำกับทิศทางของระบบการค้า การเงิน/การลงทุน และการ พัฒนาของโลก จะต้องร่วมกันวางกรอบนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศกำลัง พัฒนาได้รับผลประโยชน์มากขึ้น (2) เรื่องมาตรการและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระบบการค้า การเงิน และการลงทุน ของโลกให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนา ไทยเห็นว่า มาตรการและข้อเสนอแนะต่างๆ ควรเน้น ในเรื่องที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและแนว นโยบายในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอังค์ถัดมีบทบาทสำคัญในการ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ในเรื่องดังกล่าวได้ ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ คือ ก. การค้าระหว่างประเทศ : - การปรับปรุงการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลง WTO เพื่อให้ความยืดหยุ่นแก่ ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (S&D) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา - ในเรื่องการเปิดเสรีการค้าเกษตร อังค์ถัดควรให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา ให้มีความสามารถในการเจรจาในกรอบพหุภาคีมากขึ้น โดยศึกษาวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ (1) การเข้าสู่ตลาดสำหรับสินค้าเกษตรของประเทศกำลังพัฒนา (2) การอุดหนุน ภายใน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มผลผลิตของ LDCS และ(3) การอุดหนุนส่งออก ซึ่งอังค์ถัดควร ศึกษาผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา - การค้าบริการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญในการเปิดเสรีการค้าบริการที่ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ในการเตรียมความพร้อมต่อการเปิดเสรี - ด้านภาษีศุลกากร ที่มุ่งเน้นให้มีการลด/เลิกอัตราภาษีโด่ง (tariff peak) และอัตราภาษี ขั้นบันได (tariff escalation) ของประเทศพัฒนาแล้ว ข. การเงิน สนับสนุนให้มีการปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศ และการพัฒนากลไก สำหรับเตือนภัยล่วงหน้า (early warning mechanism) เพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตการณ์ ทางการเงิน ค. การลงทุน ให้มีการศึกษาวิธีการส่งเสริมการลงทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนาให้เหมาะสม กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นเรื่องการถ่ายทอด เทคโนโลยีและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอกสาร Bangkok Plan of Action ที่ได้กล่าวมา ข้างต้น ยังมีประเด็นที่ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งต้องนำมา เจรจากันต่อที่กรุงเทพฯ เพียงไม่กี่ประเด็น ได้แก่ เรื่องการค้า อาทิ การยกเว้นภาษีและโควต้าให้กับสินค้าส่งออกที่สำคัญทุกรายการจากประเทศ พัฒนาน้อยที่สุด ผลกระทบของการอุดหนุน (subsidies) สินค้าเกษตร การเสนอให้อังค์ถัด ศึกษาวิเคราะห์เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่น และเรื่องสินค้า ตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOS) เรื่องการเงิน อาทิ การเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศ การให้ความช่วย เหลือโดยตรงอย่างเป็นทางการแก่ประเทศกำลังพัฒนา (Official Development Assistance : ODA) เรื่องอื่นๆ อาทิ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เรื่อง corporate governance และ financial disclosure เรื่องการกำจัดคอร์รัปชั่น เป็นต้น การหารือสองฝ่าย ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ ที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมทั้งจาก ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เช่น รัฐมนตรีของ สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เยอรมัน เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย อียิปต์ บังคลาเทศ เนปาล รวมทั้งหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การแรงงานระหว่าง ประเทศ (ILO) สหภาพรัฐสภา (IPU) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ขอหารือสองฝ่าย กับประเทศไทย (จนถึงขณะนี้มี 28 ประเทศ) ซึ่งประเด็นของการหารือคงเป็นเรื่องของความ สัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าสองฝ่าย (ทวิภาคี) และการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง WTO และบทบาทของ UNCTAD ประโยชน์ที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับ เนื่องจากไทยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานของอังค์ถัดเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2543-2547 ทำให้ประเทศไทยจะได้มีบทบาทนำ และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้การ ดำเนินงานของอังค์ถัดเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด นอกจากนี้ ยังเป็นการ แสดงให้ประชาคมโลกทราบถึงผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ของไทย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งจะเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในอนาคต โดยที่คาดว่าจะมี ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และ ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลก รวมแล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งจะมีการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อ จับจ่ายใช้สอยในประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและ การบริการของไทยซึ่งจะมีผลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และวัฒนธรรมไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์ผ่านสื่อต่างๆ ไปทั่วโลก เป็นการประชาสัมพันธ์ ประเทศได้อีกทางหนึ่ง
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-