เศรษฐกิจรายจังหวัด : เชียงใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 15, 2000 11:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2542 เริ่มขยายตัวขึ้นจากปัจจัยหลายด้านคือ ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศเอื้ออำนวย การส่งออกเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตร ภาคบริการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และการ ใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ผลจากมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตรา ดอกเบี้ยที่ต่ำลงรวมทั้งบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าให้สินเชื่อกับลูกค้าโดยตรง ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัว ทางด้านการลงทุนเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดคือเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการให้สินเชื่อและเร่งรัดชำระหนี้ ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีปริมาณเหลือตกค้าง ฐานะการคลังรัฐบาล เงินในงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นตามนโยบายเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาล
ภาคเกษตร การผลิตสาขาพืชผลขยายตัวจากปีก่อนตามการเพิ่มขึ้นของพืชหลัก เช่น ข้าวนาปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เป็น 255,242 เมตริกตัน หอมแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เป็น 43,267 เมตริกตัน หอมหัวใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เป็น 78,486 เมตริกตัน ลิ้นจี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่าตัว เป็น 7,736 เมตริกตัน และลำไยเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว เป็น 56,600 เมตริกตัน เทียบกับที่เคยลดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อปีก่อนจากภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับมีการใช้สารเร่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาพืชผลเกษตรจะลดลงถึงร้อยละ 42.9 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.3 ปีก่อน แต่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 16.1 ปีก่อน
นอกภาคเกษตร การผลิตขยายตัวจากปีก่อน ภาคบริการ ขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เป็น 2.0 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 เป็น 1.2 ล้านคน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ปีก่อน เนื่องจากประเทศคู่แข่งประสบปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชีย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงร้อยละ 1.2 เหลือ 0.8 ล้านคน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อปีก่อน เนื่องจากภาวะฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงมากในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 และนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนหนึ่งนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4 นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะอากาศที่หนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว ตามการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าหัตถกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากไม่ประสบ ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบดังเช่นปีก่อน และตลาดต่างประเทศมีความต้องการมาก ประกอบกับการท่องเที่ยวขยายตัว ส่งผลให้การผลิตสินค้าหัตถกรรมขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำตาล ผลผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 44.3 เหลือ 2,116 เมตริกตัน เนื่องจากอ้อยเข้าหีบลดลงทำให้โรงงานน้ำตาลปิดหีบเร็วกว่าทุกปี ภาคเหมืองแร่ การผลิตแร่สำคัญได้แก่ การผลิตลิกไนต์ลดลงร้อยละ 7.4 เหลือ 409,228 เมตริกตัน เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 11.1 ปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ปิดโรงจักรเพื่อติดตั้งเครื่องกรองสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วนการผลิตหินปูนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เป็น 745,443 เมตริกตัน เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 27.3 ปีก่อน เนื่องจาก ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามโครงการก่อสร้างภาครัฐ
การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน สังเกตได้จากเครื่องชี้สำคัญหลายชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น ยอดจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เป็น 4,179 คัน เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 58.5 ปีก่อน ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เป็น 16,623 คัน เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 58.0 ปีก่อน นอกจากอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำลงทำให้ผู้ฝากเงินบางส่วนถอนเงินเพื่อซื้อรถยนต์ กอปรกับบริษัทผู้จำหน่ายเปิดบริการให้สินเชื่อกับลูกค้า โดยตรงทดแทนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน นอกจากนั้นรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตในปีนี้ ทำให้ยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่มแม้ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 16.8 เหลือ 939 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ปีก่อน จากการปรับลดอัตราจัดเก็บ แต่เมื่อเทียบในอัตราภาษีร้อยละ 7 เดียวกันแล้วกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 16.3 ปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อการพาณิชยกรรมและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 มียอดคงค้าง 18,700 ล้านบาท และ 14,001 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.4 และร้อยละ 7.7 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 12.5 และร้อยละ 11.8 ปีก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดการให้สินเชื่อและเร่งรัดชำระหนี้ ทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2542 แม้จะลดลงจาก ปีก่อนร้อยละ 5.1 เหลือ 18,867 ล้านบาท เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 3.2 ปีก่อน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายตามมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (มิยาซาวา) แล้ว การใช้จ่ายโดยรวมของรัฐยังคงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.7 เป็น 20,022.2 ล้านบาท
การค้าต่างประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.2 เป็น 61,629 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ปีก่อน มูลค่า การส่งออก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.3 เป็น 32,057 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ปีก่อน จากการส่งออกผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยมูลค่าการส่งออกผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เป็น 31,838 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ปีก่อน จากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตของสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และการส่งออกเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนไปพม่าลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.8 เหลือ 219 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อปีก่อน เนื่องจากพม่าปิดด่านการค้าชายแดนช่วงปลายปี ทางด้านมูลค่า การนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เป็น 29,572 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 ปีก่อน จากการนำเข้าผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยมูลค่าการนำเข้าผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เป็น 29,499 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 ปีก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าจากชายแดนพม่าลดลงร้อยละ 24.7 เหลือ 73 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 ปีก่อน ผลจากการปิดด่านการค้าชายแดน ประกอบกับการนำเข้าไม้ของบริษัทลดลง เนื่องจากสัมปทานป่าไม้ที่บริษัทของไทยทำไว้กับพม่าได้สิ้นสุดลง
การลงทุน/ก่อสร้างเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 11 ราย เงินลงทุน 902 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 18 ราย เงินลงทุน 280 ล้านบาทปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นเฉพาะเงินลงทุน โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการแปรรูปสินค้าเกษตรตามการขยายตัวของการส่งออกพืชผักแปรรูป ทางด้านโรงงานที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 92 ราย เงินลงทุน 999 ล้านบาท เทียบกับ 86 ราย เงินลงทุน 705 ล้านบาทปีก่อน ขณะที่ การก่อสร้างภาคเอกชน ลดลงจากจำนวนพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 53.9 เหลือ 135,743 ตารางเมตร เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ปีก่อน เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีเหลืออยู่อีกมาก ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดกับการให้สินเชื่อ โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างมียอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 ลดลงร้อยละ 10.2 และร้อยละ 12.8 เหลือ 7,113 ล้านบาท และ 5,014 ล้านบาท ตามลำดับ เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และร้อยละ 6.0 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้นตาม มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยให้การก่อสร้างโดยรวมหดตัวไม่มากนัก
ภาคการเงิน จำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 มี ทั้งสิ้น 127 แห่ง เท่ากับปีก่อน ปริมาณเงินนำฝากและเบิกถอนของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.1 เป็น 74,213 ล้านบาท เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.6 ปีก่อน โดยเงินนำฝากเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.4 เป็น 39,533 ล้านบาท เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.5 ปีก่อน ส่วนเงินเบิกถอนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32.3 เป็น 34,680 ล้านบาท เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.7 ปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม 2542 ธนาคารพาณิชย์ มีการเบิกถอนเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อสำรองไว้กับการแก้ไขปัญหา Y2K ส่งผลให้ยอดนำฝากสุทธิลดลงจากปีก่อนร้อยละ 55.6 เหลือ 4,853 ล้านบาท เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.0 ปีก่อน
เงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 76,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.6 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ปีก่อน จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้ ผู้ฝากเงินถอนเงินฝากไปใช้จ่าย เช่น ซื้อรถยนต์ ชำระเงินกู้ โดยเงินฝากในเขตอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอก ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.8 และร้อยละ 4.6 ขณะที่ เงินให้ สินเชื่อ มียอดคงค้าง 69,149 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.2 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 7.1 ปีก่อน จากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการให้สินเชื่อและเร่งรัด ชำระหนี้ โดยเงินให้สินเชื่อในเขตอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอกลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.6 และร้อยละ 5.5
สำหรับความก้าวหน้าทางด้านการประนอมหนี้ ปรากฏว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 จากรายงานของสาขาธนาคารพาณิชย์มีสินเชื่อที่อยู่ในขบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวนทั้งสิ้น 7,218 ราย วงเงิน 21,092.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,030 ราย วงเงิน 17,789.9 ล้านบาท ประกอบด้วยที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 877 ราย วงเงิน 6,253.8 ล้านบาท และปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จจำนวน 6,341 ราย เป็นเงิน 14,838.2 ล้านบาท
ฐานะการคลังรัฐบาลจังหวัดเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2542 เงินในงบประมาณขาดดุล 16,098 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดดุล 15,939 ล้านบาทปีก่อน จากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.8 เป็น 19,140 ล้านบาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่รายได้ลดลงร้อยละ 19.0 เหลือ 3,042 ล้านบาท เนื่องจาก การจัดเก็บเงินได้จากดอกเบี้ยลดลงตามอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง และการปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรวมกับการรับ-จ่ายเงินนอกงบประมาณซึ่งขาดดุล 1,275 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลเงินสด 17,373 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดดุล 16,473 ล้านบาทปีก่อน
ทางด้านรายจ่ายตามมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (มิยาซาวา) ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2542 มีวงเงินอนุมัติทั้งสิ้น 1,396.9 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,155.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 82.7 ของวงเงิน อนุมัติ ทั้งนี้กว่าร้อยละ 60 ของการเบิกจ่ายใช้ในโครงการที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 241.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการก่อสร้างซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในราวกลางปี 2543

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ