ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๔ หมวด ๓ การประชุมสภา

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2001 11:07 —รัฐสภา

                        ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๔๔
หมวด ๓
การประชุมสภา
ส่วนที่ ๑
วิธีการประชุม
ข้อ ๑๑ การประชุมสภาย่อมเป็นการเปิดเผย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิก
จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้
ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
การประชุมเปิดเผย ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่
ประธานสภากำหนด และให้ประธานสภาจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียง
และวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องให้แจ้งที่ประชุมทราบ
การประชุมลับ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาต
จากประธานเท่านั้น
ข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมครั้งแรกภายในสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญ
หรือวิสามัญของรัฐสภา
การประชุมครั้งต่อไปให้เป็นไปตามมติที่สภากำหนดไว้ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควร
ประธานสภาจะสั่งงดการประชุมครั้งใดก็ได้
ในกรณีที่ประธานสภาเห็นสมควรเรียกประชุมเป็นพิเศษ ให้เรียกประชุมได้
ข้อ ๑๓ การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่เมื่อได้บอกนัดในที่ประชุมแล้ว
การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ถ้าประธานสภาเห็นสมควร
จะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้
ข้อ ๑๔ ให้ส่งระเบียบวาระการประชุมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับหนังสือ
นัดประชุม ถ้าประธานสภาเห็นสมควรจะบรรจุเรื่องใดเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมอีก
ก็ได้ แต่ต้องก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน
ข้อ ๑๕ การจัดระเบียบวาระการประชุมให้จัดลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) กระทู้ถาม
(๒) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
(๓) รับรองรายงานการประชุม
(๔) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
(๕) เรื่องที่ค้างพิจารณา
(๖) เรื่องที่เสนอใหม่
(๗) เรื่องอื่น ๆ
ในกรณีที่ประธานสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลำดับใดของ
ระเบียบวาระการประชุมก็ได้ แต่จะจัดไว้ก่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วไม่ได้
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้จัดเรื่องซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเรื่องใด
เป็นเรื่องด่วนไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุม ก็ให้ประธานสภาพิจารณาและ
อาจจัดให้ตามที่คณะรัฐมนตรีขอ
ข้อ ๑๖ ก่อนเข้าประชุมทุกครั้งให้สมาชิกมาประชุมลงชื่อในเอกสารที่จัดไว้
หรือแสดงตนตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด
เมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
เท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถาม ถ้ามีสมาชิก
ลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ก็ให้ถือว่า
เป็นองค์ประชุมพิจารณาได้
เมื่อมีสมาชิกมาลงชื่อครบองค์ประชุมและมีสัญญาณให้เข้าประชุมแล้ว
ให้ประธานดำเนินการประชุมได้
เมื่อประธานขึ้นบัลลังก์ ให้ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมยืนขึ้นจนกว่าประธานได้นั่งลง
ข้อ ๑๗ เมื่อพ้นกำหนดประชุมไปสามสิบนาทีแล้ว สมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม
ประธานจะสั่งให้เลื่อนการประชุมไปก็ได้
ข้อ ๑๘ เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุด
ซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้ง
ประธานสภาและรองประธานสภาตามข้อ ๕ และข้อ ๖ หรือเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้ง
ประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้นในกรณีที่ที่ประชุมต้องประชุมปรึกษาเรื่องอื่น
ในการเลือกประธานเฉพาะคราว ให้นำความในข้อ ๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เว้นแต่การลงคะแนนให้กระทำตามข้อ ๗๔ (๑)
ข้อ ๑๙ การประชุมสภา ให้ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระ
การประชุม และต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ เว้นแต่
ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๐ ผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุม ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ
เมื่อประธานอนุญาตแล้ว จึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น
ข้อ ๒๑ ถ้ารัฐมนตรีขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุม ให้ประธานพิจารณา
อนุญาต
สมาชิกอาจซักถามเพื่อความกระจ่างแจ้งในเรื่องที่แถลงหรือชี้แจงนั้น
แต่รัฐมนตรีจะไม่ตอบก็ได้ ถ้าเห็นว่าข้อซักถามนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับ
ความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่สภาพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้แทนขององค์กรนั้นมีสิทธิเข้าแถลงหรือชี้แจงต่อที่ประชุมได้ เมื่อประธานอนุญาต
ข้อ ๒๓ ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมในปัญหาใด ๆ สั่งพักการประชุม
เลื่อนการประชุม หรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร
ถ้าประธานลงจากบัลลังก์โดยไม่ได้สั่งอย่างใด และไม่มีรองประธาน
ปฏิบัติหน้าที่แทน ให้เลิกการประชุม
ข้อ ๒๔ รายงานการประชุมสภา เมื่อคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม
ตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้สภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ณ บริเวณสภา
เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้
รายงานการประชุมทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาการประชุม
ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง
สมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมดังกล่าวให้ตรงตาม
ที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม
ถ้าคณะกรรมาธิการไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยัน
คำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้สภาวินิจฉัย
ข้อ ๒๕ รายงานการประชุมสภาครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้สมาชิก
ตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมเองหรือ
โดยสมาชิกขอแก้ไขเพิ่มเติมก็ตาม ในคราวที่สภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมนั้น
คณะกรรมาธิการจะต้องแถลงต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ข้อ ๒๖ เมื่อสภาได้รับรองรายงานการประชุมสภาครั้งใดแล้ว ให้ประธานสภา
ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
รายงานการประชุมที่ได้รับรองแล้ว แต่ประธานสภายังมิได้ลงลายมือชื่อไว้เป็น
หลักฐานหรือรายงานการประชุมที่ยังมิได้มีการรับรองเพราะเหตุที่อายุของสภาสิ้นสุดลง
ให้เลขาธิการบันทึกเหตุนั้นไว้ และเป็นผู้รับรองความถูกต้องของรายงานการประชุมนั้น
ข้อ ๒๗ สภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียง
บางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้
ข้อ ๒๘ การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้คณะกรรมาธิการตรวจรายงาน
การประชุมพิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่
ข้อ ๒๙ สภาอาจมีมติห้ามโฆษณาข้อความอันเกี่ยวกับความปลอดภัย
หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ที่ได้กล่าวหรือปรากฏในการประชุมก็ได้
ข้อ ๓๐ ในกรณีที่สมาชิกกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุ
กระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์อันอาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกได้รับ
ความเสียหาย เมื่อบุคคลนั้นร้องขอภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้น
ให้ประธานสภาจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่มีการร้องขอ
ให้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องเป็นหนังสือพร้อมคำชี้แจงประกอบข้อเท็จจริงต่อ
ประธานสภา เพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง คำร้องและคำชี้แจงประกอบนั้น ต้องชัดเจนและ
อยู่ในประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่าก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น
ข้อ ๓๑ ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจง
ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมานั้นเป็นไปตามข้อ ๓๐ หรือไม่
ให้ประธานสภาวินิจฉัยคำร้องและคำชี้แจงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
คำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่ประธานสภาวินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงไม่เป็นไปตาม
ข้อ ๓๐ ให้ยกคำร้องเสีย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
ข้อ ๓๓ ในกรณีที่ประธานสภาได้วินิจฉัยว่าคำร้องและคำชี้แจงเป็นไปตาม
ข้อ ๓๐ ให้ประธานสภาปิดประกาศคำชี้แจงไม่น้อยกว่าเจ็ดวันไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชน
อาจเข้าไปตรวจสอบได้ และโฆษณาโดยวิธีการอื่นที่ประธานสภาเห็นสมควร
ข้อ ๓๔ เมื่อประธานสภาดำเนินการตามข้อ ๓๓ แล้ว ให้แจ้งผู้ร้อง
ผู้กล่าวถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และที่ประชุมสภารับทราบ
ข้อ ๓๕ ให้เลขาธิการเป็นผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมสภา ทั้งนี้
นอกจากรายงานการประชุมลับที่สภามีมติไม่ให้เปิดเผย
ข้อ ๓๖ ภายใต้บังคับข้อ ๗๕ ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนน
ของสมาชิกแต่ละคนและปิดประกาศบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนอาจเข้าไป
ตรวจสอบได้
ส่วนที่ ๒
การเสนอญัตติ
ข้อ ๓๗ ญัตติทั้งหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภา และต้องมี
สมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าห้าคน ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อบังคับนี้ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๓๘ ญัตติตามมาตรา ๑๘๕ มาตรา ๑๘๖ และมาตรา ๓๑๓ ของรัฐธรรมนูญ
และญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไม่ต้องมีผู้รับรอง
ข้อ ๓๙ ญัตติขอให้สภามีมติให้รัฐมนตรีผู้ใดเข้าร่วมประชุมในเรื่องใด
ในที่ประชุมสภาตามมาตรา ๒๑๐ ของรัฐธรรมนูญ ถ้าสมาชิกเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกรับรอง
ไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
ข้อ ๔๐ ญัตติขอให้สภามีมติว่ากรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ
สภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๒๖๖ ของรัฐธรรมนูญ ถ้าสมาชิกเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกรับรอง
ไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
ข้อ ๔๑ ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญ
คณะใดคณะหนึ่งกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่
ของสภาตามมาตรา ๑๘๙ ของรัฐธรรมนูญ ถ้าสมาชิกเป็นผู้เสนอต้องมีสมาชิกรับรอง
ไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
ข้อ ๔๒ ในกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นรีบด่วน
ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ
ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือในทางใด ๆ ก็ตาม หรือในอันที่จะขจัดเหตุใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อ
เสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง จะเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาพิจารณาเป็นการด่วนก็ได้
ญัตติด่วนต้องไม่มีลักษณะทำนองเดียวกับกระทู้ และต้องมีวัตถุประสงค์
เพื่อให้สภาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
ข้อ ๔๓ ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วน
หรือไม่ และเมื่อวินิจฉัยแล้วให้แจ้งผู้เสนอญัตติทราบพร้อมด้วยเหตุผลภายในห้าวัน
นับแต่วันที่ได้รับญัตตินั้น
ให้ประธานสภาบรรจุญัตติด่วนเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน
ญัตติที่ประธานสภาวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นญัตติด่วนให้ประธานสภาดำเนินการ
ต่อไปตามข้อ ๔๕
ข้อ ๔๔ ญัตติที่จะก่อให้เกิดผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ต้องเสนอเป็น
ร่างพระราชบัญญัติและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ข้อ ๔๕ ภายใต้บังคับข้อ ๔๓ และข้อ ๔๔ ให้ประธานสภาบรรจุญัตติเข้า
ระเบียบวาระการประชุมสภาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตตินั้นตามลำดับที่ยื่นก่อนหลัง
กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
ข้อ ๔๖ ญัตติต่อไปนี้ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเป็นหนังสือ
(๑) ขอปรึกษาหรือให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วน
(๒) ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม
(๓) ขอให้ลงมติตามข้อ ๒๗ หรือข้อ ๒๙
(๔) ญัตติในข้อ ๔๗ ข้อ ๗๔ ข้อ ๗๕ ข้อ ๑๐๘ หรือข้อ ๑๖๘
(๕) ญัตติที่ประธานอนุญาตตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๔๗ เมื่อที่ประชุมกำลังพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา
เว้นแต่ญัตติดังต่อไปนี้
(๑) ขอแปรญัตติเฉพาะในเรื่องที่ไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติ
(๒) ขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกัน
หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน
(๓) ขอให้ส่งปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา หรือขอให้บุคคลใด
ส่งเอกสารหรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น
(๔) ขอให้รวมหรือแยกประเด็นพิจารณาหรือลงมติ
(๕) ขอให้เลื่อนการปรึกษาหรือพิจารณา
(๖) ขอให้ปิดอภิปราย
(๗) ขอให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษาหรือพิจารณา
ญัตติตาม (๓) (๕) (๖) หรือ (๗) เมื่อที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามที่เสนอแล้ว
ห้ามไม่ให้เสนอญัตติอื่นในข้อนี้อีก
ข้อ ๔๘ ญัตติตามข้อ ๔๗ (๖) และ (๗) ห้ามเสนอในคราวเดียวกับการอภิปรายของตน
ข้อ ๔๙ ญัตติตามข้อ ๔๗ (๗) ห้ามเสนอในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ข้อ ๕๐ ในกรณีที่ที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษาหรือพิจารณา
ให้ญัตติเดิมเป็นอันตกไป
ข้อ ๕๑ ญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อ
ในญัตตินั้น
ข้อ ๕๒ ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดง
การรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ เว้นแต่การรับรองตามข้อ ๑๕๐
ข้อ ๕๓ ญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว หากผู้เสนอญัตติ
จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือจะถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอ หรือผู้รับรองจะถอนการรับรองญัตติ
จะต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุม
ข้อ ๕๔ การถอนคำแปรญัตติจะกระทำเมื่อใดก็ได้ แต่การขอแก้ไขเพิ่มเติม
คำแปรญัตติ จะกระทำได้เฉพาะภายในกำหนดเวลาแปรญัตติ
ข้อ ๕๕ ญัตติหรือคำแปรญัตติใดถึงวาระพิจารณาในที่ประชุมแล้ว ถ้าผู้เสนอ
ญัตติหรือผู้แปรญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุม หรือผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติไม่อยู่ในที่ประชุม
โดยไม่มีผู้ชี้แจงแทนในฐานะผู้รับมอบหมาย ญัตติหรือคำแปรญัตตินั้นเป็นอันตกไป
การมอบหมายให้ชี้แจงแทนต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานสภา
ข้อ ๕๖ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีก
ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาจะอนุญาต
ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
ข้อ ๕๗ ญัตติใดที่ประธานสภาพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
ประธานสภาอาจสั่งให้นำออกจากระเบียบวาระการประชุมได้ เมื่อได้รับความยินยอมของ
ผู้เสนอญัตติ แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ส่วนที่ ๓
การอภิปราย
ข้อ ๕๘ ผู้มีสิทธิอภิปรายก่อน คือ ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติ แต่ถ้าผู้เสนอญัตติ
หรือผู้แปรญัตติมีหลายคน ให้ประธานอนุญาตให้อภิปรายก่อนได้เพียงคนเดียว
กรรมาธิการซึ่งได้สงวนความเห็น กรรมาธิการผู้รับมอบหมายจากกรรมาธิการ
ซึ่งได้สงวนความเห็น หรือสมาชิกหรือกรรมาธิการผู้รับมอบหมายจากผู้แปรญัตติ ซึ่งได้สงวน
คำแปรญัตติไว้ในขั้นคณะกรรมาธิการ ให้มีฐานะเสมือนเป็นผู้แปรญัตติด้วย
ข้อ ๕๙ เมื่อผู้อภิปรายก่อนได้อภิปรายแล้ว การอภิปรายในลำดับต่อไปจะต้อง
เป็นการอภิปรายสลับกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน เว้นแต่ในวาระของฝ่ายใดไม่มี
ผู้อภิปราย อีกฝ่ายหนึ่งจึงอภิปรายซ้อนได้
การอภิปรายไม่สนับสนุนและไม่ค้าน ย่อมกระทำได้โดยไม่ต้องสลับและไม่ให้นับ
เป็นวาระอภิปรายของฝ่ายใด
ข้อ ๖๐ ถ้ามีผู้ขออภิปรายหลายคน ประธานจะให้คนใดอภิปรายก็ได้
แต่ให้คำนึงถึงผู้เสนอญัตติ ผู้แปรญัตติ และผู้ซึ่งยังไม่ได้อภิปรายด้วย
ข้อ ๖๑ การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษา
กันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่าน
ให้ที่ประชุมฟังโดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธาน
จะอนุญาต
ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด
และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น
ข้อ ๖๒ ถ้าประธานเห็นว่าผู้ใดได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานจะให้ผู้นั้น
หยุดอภิปรายก็ได้
ข้อ ๖๓ สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืนและยกมือขึ้น
พ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตาม
ที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิง
ถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น
ข้อ ๖๔ ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนได้ เมื่อมีผู้ประท้วงตามข้อ ๖๓
ข้อ ๖๕ การอภิปรายเป็นอันยุติ เมื่อ
(๑) ไม่มีผู้ใดอภิปราย
(๒) ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปราย
(๓) ที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษา
ข้อ ๖๖ ในกรณีที่ประธานพิจารณาเห็นว่าได้อภิปรายกันพอสมควรแล้ว จะขอให้
ที่ประชุมวินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้
ข้อ ๖๗ เมื่อการอภิปรายได้ยุติแล้ว ห้ามผู้ใดอภิปรายอีก เว้นแต่ที่ประชุม
จะต้องลงมติในเรื่องนั้น จึงให้ผู้ซึ่งมีสิทธิอภิปรายก่อนคนใดคนหนึ่ง มีสิทธิอภิปรายสรุป
ได้อีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติ
ข้อ ๖๘ ประธานอาจอนุญาตให้รัฐมนตรีมอบหมายให้บุคคลใด ๆ ชี้แจง
ข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมประกอบการอภิปรายของรัฐมนตรีก็ได้
ข้อ ๖๙ ถ้าประธานให้สัญญาณด้วยการเคาะค้อนหรือยืนขึ้น ให้ผู้ที่กำลังพูด
หยุดพูดและนั่งลงทันที
ส่วนที่ ๔
การลงมติ
ข้อ ๗๐ ในกรณีที่จะต้องมีมติของสภา ให้ประธานมีสัญญาณให้สมาชิกทราบ
ก่อนลงมติ
ประธานมีอำนาจสั่งให้รวมหรือแยกประเด็นพิจารณาหรือลงมติ เว้นแต่ที่ประชุม
จะมีมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๗๑ เสียงข้างมากตามมาตรา ๑๕๖ ของรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าความเห็น
ของที่ประชุมมีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ให้ถือเอาจำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากที่สุด
ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง
เป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๗๒ การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย แต่เมื่อสมาชิก
เสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ
ในกรณีที่สมาชิกเสนอญัตติให้ลงคะแนนลับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีสมาชิกคัดค้าน
และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนน
โดยเปิดเผย
การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้
ข้อ ๗๓ การออกเสียงลงคะแนนเลือก หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคล
ดำรงตำแหน่งใดตามมาตรา ๑๕๖ ของรัฐธรรมนูญ ให้กระทำเป็นการลับ
ข้อ ๗๔ การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด
(๒) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธี
ที่ประธานกำหนด
การออกเสียงลงคะแนนตาม (๑) หากเครื่องออกเสียงลงคะแนนขัดข้อง
ให้เปลี่ยนเป็นวิธีการตามที่ประธานกำหนด
การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้วิธีตาม (๑) จะใช้วิธีตาม (๒) ได้ต่อเมื่อสมาชิก
เสนอญัตติและที่ประชุมอนุมัติ หรือเมื่อมีการนับคะแนนเสียงใหม่ตามข้อ ๗๖
การออกเสียงลงคะแนนตาม (๒) หรือวรรคสอง ให้ประธานเชิญสมาชิก
ไม่น้อยกว่าหกคนเป็นผู้ตรวจนับคะแนน
ข้อ ๗๕ การออกเสียงลงคะแนนลับมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วย
ให้เขียนเครื่องหมาย / ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมาย X ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียน
เครื่องหมาย 0
(๒) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การที่จะให้ออกเสียงลงคะแนนตาม (๒) ให้เป็นอำนาจของประธานที่จะพิจารณา
เห็นสมควร เว้นแต่จะมีผู้เสนอญัตติให้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น และที่ประชุมอนุมัติ
ให้นำความในข้อ ๗๔ วรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๗๖ เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๗๔ (๑) แล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้
มีการนับใหม่ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธี
การลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ ๗๔ (๒) เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้
มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้
เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๗๔ (๒) แล้ว จะขอให้มีการนับคะแนน
เสียงใหม่อีกไม่ได้
ข้อ ๗๗ สมาชิกซึ่งเข้ามาในที่ประชุมระหว่างการออกเสียงลงคะแนน
อาจออกเสียงลงคะแนนได้ก่อนประธานสั่งปิดการนับคะแนน
ข้อ ๗๘ เมื่อได้นับคะแนนเสียงแล้ว ให้ประธานประกาศมติต่อที่ประชุมทันที
ถ้าเรื่องใดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือข้อบังคับนี้ กำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียง
ถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่
ข้อ ๗๙ ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น
หรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น
ความในวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับแก่ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติ หรือ
เรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้ กำหนดให้ที่ประชุมวินิจฉัยโดยการออกเสียงลงคะแนน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ