ข่าวในประเทศ
1. ธปท.แถลงตัวเลขเอ็นพีแอลของระบบ ธพ. ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจไทย ธปท.ประเมินว่าหากต้องการให้สถาบันการเงินอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้น เอ็นพีแอลต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 16 ของสินเชื่อรวม และหากต้องการให้ปลอดภัยอย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถปล่อยสินเชื่อต่อไปได้ เอ็นพีแอลต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ยอดคงค้างเอ็นพีแอล ของ ธพ. ไทย ณ สิ้นเดือน ก.ค.43 มีจำนวน 1,491,399.74 ล.บาท คิดเป็นร้อยละ 34.95 ของสินเชื่อทั้งระบบ เทียบกับจำนวน 1,511,423 ล.บาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย.43 หรือร้อยละ 35.15 ของสินเชื่อรวม ธพ.ของรัฐยังคงมียอดเอ็นพีแอลสูงเกินระดับร้อยละ 50 โดย ธ.ไทยธนาคาร มีเอ็นพีแอลสูงที่สุดถึงร้อยละ 68.90 ธ.ศรีนครร้อยละ 58.08 ธ.นครหลวงไทยและ ธ.กรุงไทยร้อยละ 59.46 และ 50.46 ตามลำดับ ปัญหาหลักของกลุ่ม ธพ.ของรัฐยังคงเป็นเช่นเดิม คือ ผู้บริหารไม่กล้าตัดหนี้สูญ หรือปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเกรงจะขัดต่อกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจ (กรุงเทพธุรกิจ 23)
2. ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องของสถาบันการเงิน ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงข้อมูลการปล่อยสินเชื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่มีการเปิดเผยเป็นครั้งแรก พบว่าแต่ละสถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อในลักษณะนี้ค่อนข้างสูง ซึ่ง ธปท.ต้องการให้ลดน้อยลง จึงพยายามปรับโครงสร้างให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณะชนรับทราบ และเป็นการลงโทษทางสังคม เชื่อว่าจะทำให้ต้องปรับปรุงตัวในที่สุด ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ค.43 ธพ.ไทยปล่อยกู้ให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวน 245,389.85 ล.บาท คิดเป็นร้อยละ 5.75 ของสินเชื่อรวม โดย ธ.กสิกรไทยมีสัดส่วนการให้สินเชื่อสูงสุดเป็นจำนวน 48,915.60 ล.บาท หรือร้อยละ 10 ของสินเชื่อ ธ.กรุงไทยมีจำนวน 98,950.46 ล.บาท หรือร้อยละ 9.86 อนึ่ง ปัจจุบัน ธปท.มิได้กำหนดสัดส่วนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้นโยบายบรรษัทภิบาล เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส รวมทั้งให้กลไกตลาดเป็นปัจจัยกดดันให้สถาบันการเงินต้องปรับปรุงตัวเอง และมีความระมัดระวังมากขึ้น (มติชน,กรุงเทพธุรกิจ 23)
3. ตลาดหลักทรัพย์รายงานยอดเอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือน ก.ค.43 รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า บง.และ บงล.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดจำนวน 11 แห่ง มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ สิ้นเดือน ก.ค. จำนวน 55,391.28 ล.บาท คิดเป็นร้อยละ 41.68 ของสินเชื่อรวมก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ขณะที่สินเชื่อรวมสิ้นสุดวันที่ 31 มิ.ย.43 มีจำนวนทั้งสิ้น 143,111.12 ล.บาท โดยบริษัทที่มีสัดส่วนเอ็นพีแอลสูงที่สุดคือ บง.กรุงไทยธนกิจ จำกัด มีจำนวน 2,910.77 ล.บาท คิดเป็นร้อยละ 90.66 บริษัทที่มีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่ำสุดคือ บง.ทิสโก้ จำกัด มีจำนวน 3,596.33 ล.บาท คิดเป็นร้อยละ 13.85 (ไทยโพสต์ 23)
ข่าวต่างประเทศ
1. ธ. กลาง สรอ. ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 22 ส.ค. 43 รายงานจากวอชิงตันเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 43 ธ. กลาง สรอ. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืน( Federal funds rate)ไว้ที่ร้อยละ 6.5 และดอกเบี้ยมาตรฐาน( Discount rate) ไว้ที่ร้อยละ 6 เช่นเดิม ท่ามกลางสัญญาณเงินเฟ้อที่สามารถควบคุมได้ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวก็ตาม แต่เตือนว่าอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หากแรงกดดันด้านราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ ธ. กลางได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 6 ครั้งนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 42 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ขยายตัว โดยครั้งล่าสุดธ. กลางขึ้น Federal funds rate ถึงร้อยละ 0.5 เมื่อเดือน พ.ค. 43 (รอยเตอร์ 22)
2. ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนีลดลงอยู่ที่ระดับ 99.1 ในเดือน ก.ค.43 รายงานจาก Munich เมื่อวันที่ 22 ส.ค.43 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Ifo ของเยอรมนีรายงานว่า เดือน ก.ค.43 ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนี ลดลงอยู่ที่ระดับ 99.1 จากระดับ 100.4 ในเดือน มิ.ย.43 ลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับแต่เดือน พ.ย.42 ที่อยู่ที่ระดับ 98.8 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ดัชนีฯ ในเดือน มิ.ย.43 ได้ลดลงจากระดับ 102.0 ในเดือน พ.ค.43 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ การลดลงของดัชนีฯ ในเดือน ก.ค.43 ยังผิดความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าดัชนีฯ จะกลับฟื้นตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในเดือน มิ.ย.43 โดยจะเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 100.5-101.8 อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการวิจัยของ Ifo (นาย Gernot Nerb) กล่าวว่า Ifo ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการลดลงของดัชนีฯ ในเดือน ก.ค.นี้ จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากการลดลงของดัชนีฯ ของเยอรมนี สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้เงินยูโรอื่น ๆ ธ.กลางแห่งยุโรป (ECB) ควรจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนกว่านี้ จากที่มีการคาดหมายกันว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 31 ส.ค.43 หรือกลางเดือน ก.ย.43 (รอยเตอร์ 22)
3. บริษัทญี่ปุ่นวางแผนการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในปี งปม. 43/44 รายงานจากโตเกียวเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 43 นสพ. ธุรกิจรายวัน Nihon Keizai Shimbun เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 43 พบว่าในปี งปม. 43/44 บริษัทญี่ปุ่น 1,320 แห่ง วางแผนการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากที่เคยสำรวจไว้เมื่อเดือน 1 ก.พ. 43 และเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.3 ในปี งปม. 42/43 ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังขยายตัว ขณะเดียวกัน ในปี งปม. 43/44 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต วางแผนใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1 สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากที่สำรวจไว้เมื่อเดือน ก.พ. 43. (รอยเตอร์ 22)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ระหว่างธนาคาร ณ สิ้นวันทำการ 22ส.ค. 43 40.778(40.865)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน)ณสิ้นวันทำการ 22ส.ค.43 ซื้อ 40.5718 (40.7007) ขาย 40.8805 (41.0123)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,300 (5,350) ขาย 5,400 (5,450)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน 28.52 (28.77)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) 16.79 (16.79) ดีเซลหมุนเร็ว 13.89 (13.89)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน
-ยก-