เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน)พ.ศ.2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2005 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          ภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 3/2548 เข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากผลกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวอยู๋ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเสียความเชื่อมั่นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้น้ำเข้าน้ำมัน เช่น ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยประเมินว่าในปี 2548 ภาคการส่งออกสินค้ามีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6.5 และจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 7.0 ในปี 2549 แม้โดยภาพรวมการค้าในปี 2548 จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ  แต่ก็ไม่ควรวางใจเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ควรที่ทุกประเทศหันมาร่วมมือสร้างโอกาสทางการค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และควรจะต้องปรับปรุงระเบียบการค้าโลกให้สอดรับกับความจำเป็นของอุตสาหกรรมและการค้าในสตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ของ WTO ประเมินว่า ปัญหาราคาน้ำมันและความต้องการบริโภคทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในระดับปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียบ้าง แต่ปัจจัยหนุนเชิงบวกจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีสัญญานการฟื้นตัวเช่นเดียวกับในตลาดยุโรป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรต้องตระหนักมากกว่าตัวเลขการเติบโต คือ  แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และมาตรการควบคุมทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว 
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%)
2545 2546 2547 Q1 2548 Q2 2548 2548 *(กย.)
เศรษฐกิจโลก 3 4 4.7 - - 3.2
สหรัฐอเมริกา 1.9 2.7 4.4 3.6 3.6 3.4
สหภาพยุโรป (EU 15 ) 1 0.7 2.2 1.5 1.3 1.4
กลุ่มยูโร (Euro Zone) 0.8 0.5 0.8 1.4 1.2 1.1
ญี่ปุ่น -0.3 1.4 2.7 1.3 2.1 2
ฮ่องกง 2.3 3.3 8.1 6.2 6.8 4.8
สิงคโปร์ 3.2 1.4 8.4 2.7 5.2 3.5
เกาหลีใต้ 7 3.1 4.6 2.7 3.3 3.3
ไต้หวัน 3.6 3.3 5.7 2.5 3 3.8
อินโดนีเซีย 4.4 4.9 5.1 6.2 5.5 5.5
ฟิลิปปินส์ 4.4 4.5 6.1 4.6 4.8 4.5
มาเลเซีย 4.1 5.2 7.1 5.8 4.1 5
จีน 8.3 9.3 9.4 9.4 9.5 9
ที่มา : CEIC, หน่วยงานภาครัฐ และตัวเลขประมาณการมาจากค่าเฉลี่ยหลายแห่ง
* เป็นตัวเลขคาดการณ์ ณ เดือนกันยายน 2548
ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของกลุ่มประเทศ G-3 และยังส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน Katrina และ Rita ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงในระยะสั้น ซึ่งทำให้ Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เช่นกันมีสัญญานการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นตลอดจนมีแนวโน้มว่าภาวะเงินฝืดจะคลี่คลายในปี 2549 โดยที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้นโยบายสำคัญของนาย Koizumi คือ การแปรรูปกิจการไปรษณีย์น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว สำหรับทิศทางเศรษฐกิจยุโรป ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ IMF และ ECB ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าๆ สำหรับภาวะอัตราเงินเฟ้อยังสูง ขณะที่การประชุมของ ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ที่ร้อยละ 2.0 และจะติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมาก ภาวะอัตราเงินเฟ้อหลายประเทศในภูมิภาคนี้มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าหมวดพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังมีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น โดยได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในไตรมาส 3/2548 มีดังนี้
1. การขยายตัวด้านการค้าของโลกในปี 2548 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีการส่งออกสินค้าทั่วโลกขยายตัวในระดับ ร้อยละ 6.5 ลดลงจาก ร้อยละ 9.0 ในปีที่แล้ว ส่วนในปี 2549 คาดว่าจะมีการขยายตัวด้านการค้าของโลกน่าจะอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ตามการขยายตัวด้านการค้าของโลกในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก 11 ประเทศ( สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ) ในปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ซี่งมีทิศทางแนวโน้มที่ชะลอลง
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2548 อยู่ที่ 48.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังคงอยู๋ในระดับสูง และยังมีการปรับตัวสูงขึ้นอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่เอื้อไม่ให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
3. อัตราดอกเบี้ยหลายประเทศยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ Fed โดยที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน FOMC ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย federal fund rate อีก ร้อยละ 0.25 จากระดับร้อยละ 3.75 เป็น ร้อยละ 4.00 เมื่อวันอังคารที่ 1 พ.ย. 2548 เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 12 เพื่อจะชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาให้ลดระดับความร้อนแรงลง และคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปจนถึงต้นปีหน้า สำหรับธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปและธนาคารแห่งประเทศอังกฤษก็อาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกภายในปีนี้ เพราะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก และหากต้องการให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นตามเป้าหมายจำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดความสมดุลกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลียยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้คงเดิม แม้จะประสบภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่เห็นว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ช่วยปรับเศรษฐกิจให้สมดุลกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้
4. จากการที่ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่ามาก ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกสามารถส่งออกแข่งขันในตลาดโลกได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวแบบก้าวกระโดด นำไปสู่นโยบายการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ และที่สำคัญคือ การที่จีนมีการออมส่วนเกินมากกว่าการลงทุน จากสถานารณ์ดังกล่าว ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้กดดันให้จีนปรับค่าเงินโดยยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว เพื่อจะช่วยปรับความสมดุลของเศรษฐกิจโลก จีนได้ประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนแบบจัดการ (Managed Float) โดยอิงค่าเงินหยวนกับตะกร้าเงิน แต่การปรับครั้งนี้เป็นการปรับเพียงเล็กน้อย ทำให้คาดว่าระยะสั้นอาจไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศคงต้องปรับตัวให้อยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะทำให้เกิดสเถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย
5. สำหรับสถานการณ์การค้าโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 เมื่อพิจารณาประเทศเศรษฐกิจหลักที่สำคัญพบว่า สหรัฐอเมริกามีมูลค่าสินค้าส่งออกในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2548 592,178 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 1,075,464 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 483,286 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดถึง 127,312 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนมีมูลค่าสินค้าส่งออก 476,419 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 415,439 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุล 60,980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 69,977 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับญี่ปุ่นนั้นมีมูลค่าการส่งออกสินค้า 387,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 335,802 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 51,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 44,168 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดถึง 20,049 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากการที่สินค้าจีนราคาถูก ญี่ปุ่นจึงนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับสหรัฐอเมริกาก็ขาดดุลการค้า กับจีนมากที่สุด ทำให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นกดดันให้จีนประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนในที่สุด ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรการภาษีเพื่อกีดกันการนำเข้าสิ่งทอจากจีน
6. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีรายงานการติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในยุโรป มองโกเลีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย เป็นต้น ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้กับนานาชาติโดยหลายประเทศได้ประกาศมาตรการรับมือไข้หวัดนก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งประเทศต่าง ๆ พยายามจะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยแต่ละประเทศมีมาตรการต่าง ๆ รวมถึงใช้งบประมาณในการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างมหาศาล เช่น ธนาคารโลกจัดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโลกเพื่อหารือการจัดตั้งกองทุนไข้หวัดนก ในระยะแรกต้องการเงินบริจาคราว 400 ล้านดอลลาร์ และออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย จะหารือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและได้ประกาศให้เงิน 6 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลืออีกด้วย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดกันว่าความสูญเสียเกี่ยวกับชีวิตอาจจะนำมาสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ลดลง สำหรับเศรษฐกิจโลกที่มีมูลค่าราว 41 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และมีการขยายตัวราวร้อยละ 4 ต่อปีในปัจจุบัน ตัวเลขความเสียหายในรูปของดอลลาร์สหรัฐที่จะพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนเอเชียอาจจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งที่ เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส หรือวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 ก็ได้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในปีนี้กำลังคุกคามเอเชียและยุโรป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทางธนาคารพัฒนาเอเชีย ADB และธนาคารโลกได้ออกรายงานว่า หากภาวะช็อกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในคนกินเวลานาน 1 ปี จะสร้างความเสียหายให้เอเชียสูงถึง 283 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น ร้อยละ 6.5 ของ GDP ของเอเชีย และคิดเป็น ร้อยละ 0.6 ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอยได้
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ในไตรมาส 3/2548 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีทิศทางและแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากภาวการณ์จ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น และราคาบ้านที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนได้กดดันให้ราคาวัตถุดิบในภาคก่อสร้างและการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญานของการชะลอตัวลงในบางพื้นที่ โดยยอดการสร้างบ้านใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น และยอดการขายบ้านมือสองยังคงทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยอดการจำนองบ้านค่อย ๆ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองในปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายนด้วยผลของราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี คือที่ระดับ 75.4 จากระดับ 76.9 ในเดือนก่อน
สำหรับภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะราคาสินค้าทุนเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา เดือนตุลาคม 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ประกอบกับภาวการจ้างงานมีการปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนผู้มาขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 สัปดาห์ระหว่าง กันยายน-ตุลาคม 2548 มีจำนวน 355,000 คน ลดลง 20,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พายุแคทรินาและพายุริต้าถล่ม
อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีในเดือนกันยายน โดยอยู่ที่ร้อยละ 4.7 (yoy) หรือร้อยละ 1.2 (mom) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากร้อยละ 3.6 (yoy) เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.2 (yoy) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.0 เนื่องจากเป็นการชะลอลงของค่าเช่าบ้านและค่าบริการโดยสารเครื่องบิน และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน Fed ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้อีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 4.0 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 เพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ นาย Ben Bernanke อดีตกรรมการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี George W. Bush เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548 ให้ดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนต่อไป ภายหลังจากนาย Alan Greenspan จะปลดเกษียณในวันที่ 31 มกราคม 2549
อย่างไรก็ตาม The Research Arm of Congress ประเมินว่า พายุเฮอริเคนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในช่วงครึ่งหลังของปีลดลงไม่เกินร้อยละ 1.0 และคาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 3.0
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3/2548 ยังคงขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง โดยขยายตัวถึงร้อยละ 9.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 และ 9.5 ตามลำดับ โดยการขยายตัวน่าจะเป็นผลมาจากการลงทุนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง นำไปสู่ภาวะกดดันจากประเทศที่ขาดดุลการค้ากับจีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น
หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปหลายปีติดต่อกันแล้ว และอุตสาหกรรมของจีนจำนวนมากได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของหว่งโซ่การผลิตของโลก หากแนวโน้มดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ๋ของโลกในช่วงต้นทศวรรษหน้า
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 จีนได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามุลค่าได้เปรียบดุลการค้าทั้งปี 2547 ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมุลค่า 4.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32 ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 15 มีมูลค่ารวม 4.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศยังสดใสต่อเนื่องไปอีก จีนมีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นั้นคือการเพิ่มแรงกดดันให้ต้องปรับค่าเงินหยวน และความเสี่ยงในระบบการเงิน แต่การค้าระหว่างประเทศจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและช่วยให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2548 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในเดือนสิงหาคม จีนจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ทำให้จีนยังรักษาเสถียรภาพราคาไว้ได้โดยไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนจากการตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Fixed Exchange Rate) ไปเป็นระบบลอยตัวแบบจัดการ (Managed Floating Exchange Rate) โดยค่าเงินหยวนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดซึ่งอิงกับตะกร้าเงินมากขึ้น (Basket Currency) ซึ่งภายหลังการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2
สำหรับผลกระทบจากการปรับค่าเงินหยวนโดยหลักการทั่ว ๆ ไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีน คือ การส่งออกของจีนไปตลาดโลกจะลดลง การนำเข้าของจีนจะเพิ่มมากขึ้น และการส่งออกของประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนเดิมจะเพิ่มสูงขึ้น และการนำเข้าของประเทศคู่ค้าเดิมจะลดลง อนึ่งสำหรับการปรับค่าเงินหยวนครั้งนี้เป็นการปรับเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีนมากนัก แต่นักวิเคราะห์จากประเทศต่าง ๆ อาจมองว่าในอนาคตค่าเงินหยวนจะปรับตัว แข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันมากก็อาจทำให้มีการวางแผนรองรับทั้งทางด้านแนวทางการส่งออก นำเข้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.0
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ในไตรมาส 32548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดการค้าปลีกในเดือนกันยายนหดตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการซื้อเครื่องปรับอากาศและเชื้อเพลิงลงจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากผลการสำรวจความเห็นของ ผู้ประกอบการ (Tankan Survey) พบว่าในเดือนกันยายน 2548 ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ดัชนี PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิต (manufacturing activity) โดยล่าสุดในเดือนกันยายน 2548 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.46 สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจะสามารถปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
ด้านการส่งออกยังคงชะลอลง โดยในเดือนกันยายน 2548 ขยายตัวร้อยละ 8.8 เทียบกับร้อยละ 9.1 ในเดือนก่อน ตามการชะลอลงของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (IT) ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงเช่นกัน โดยขยายตัว ร้อยละ 17.4 เทียบกับร้อยละ 21.1 ในเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 957 พันล้านเยน จาก 113.8 พันล้านเยน ในเดือนก่อน
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมยังคงติดลบเท่ากับเดือนกรกฎาคม ที่ร้อยละ 0.3 เนื่องจากการปรับลดราคาค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และการปรับลดราคาข้าว อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดแนวโน้มที่จะคลี่คลายในช่วงต้นปี 2549 เนื่องจากราคาค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และราคาข้าวที่ตกต่ำมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2548 พรรค LDP ชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม สะท้อนว่าประชาชนยังสนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) เช่น ไปรษณีย์ และการลดชนาดของรัฐบาล (small government) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ทางการประกาศปรับเพิ่ม GDP ในไตรมาสที่ 2/2548 ของญี่ปุ่นจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 2.1 และ IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2548 และปี 2549 จากเดิมร้อยละ 0.8 และ 1.9 เป็นร้อยละ 2.0 และ 2.0 ตามลำดับ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
ในไตรมาส 3/2548 เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว โดยอุปสงค์จากต่างประเทศและการอ่อนค่าของเงินยูโรช่วยให้ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น สามารถชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงซบเซาจากภาวะที่อัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.6 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 8.5 ในเดือนกรกฎาคม
สำหรับดุลการค้าของสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม ขาดดุล 14..2 เพิ่มขึ้น 5.9 พันล้านยูโรเมื่อเทียบต่อปี และเพิ่มขึ้น 11.2 พันล้านยูโรเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยภาคการส่งออกของสหภาพ ยุโรปในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
การผลิตอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 2.6 (yoy) หรือร้อยละ 0.8 (mom) จากเดือนก่อน ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนกันยายนปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 51.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.4 ในเดือนก่อน สำหรับ PMI ภาคบริการ (Service PMI) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 54.7 จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อน
ในการประชุม ECB Governing Council เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 นาย Trichet ประธาน ECB ยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสม และจะไม่ปรับในตอนนี้ แต่ ECB จะติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 สูงขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 สูงกว่าเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อย่างก็ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นไม่มากและยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (refinancing rate) ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าเสถียรภาพของระดับราคาได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ต้องติดตามแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป โดยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2548 และ 2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1-2.3 และ 1.4-2.4 ตามลำดับ
ดังนั้นในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 เท่านั้น
เศรษฐกิจอาเซียน
ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียโดยรวมยังคงขยายตัว แต่มีแรงกดดันมากขึ้นในด้านเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าเพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินเฟ้อในประเทศ และภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากนัก โดยทางการในบางประเทศได้ปรับลดการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ทั้งนี้ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคเอเชียอยู่ในลักษณะผสม แต่ส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานและหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียยังมีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น โดยธนาคารกลางไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอย่างต่อเนื่อง
สิงคโปร์
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 3/2548 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าจำพวก Chemicals และ Pharmaceuticals ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 พิจารณาจากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น PMI และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเริ่มฟื้นตัว
ธนาคารกลางของสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2549 GDP จะขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบต่อปี เนื่องจากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกในปี 2549 ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศขยายตัวจาการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไตรมาสที่ 3 ปี 2548 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบต่อปี
ส่วนธนาคารกลางสิงคโปร์ ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548 ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Mdest and Gradual Appreciation ต่อไป โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีในปี 2549 และเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาน้ำมันและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5
มาเลเซีย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ