นายวิทูร ตุลยานนท์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2543 มีวาระการรายงานให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง ความคืบหน้าการเจรจาองค์การการค้าโลกและการเตรียมการของไทย ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. ความคืบหน้าการประชุม WTO หลังการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติล ภายหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติลประสบความล้มเหลว ประเทศสมาชิก WTO ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียกความเชื่อมั่นใน WTO กลับคืนมา โดยการหารือใน 4 ประเด็น สรุปความคืบหน้าได้ ดังนี้ 1. การเปิดตลาดโดยการยกเว้นภาษีศุลกากรและโควตาให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศในกลุ่ม QUADs (สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น)เสนอจะเปิดเสรีภาษีและโควตาให้แก่สินค้าที่ส่งออกจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายใต้โครงการสิทธิพิเศษ และอีกหลายประเทศ แจ้งว่าจะเปิดตลาดแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเพิ่มขึ้น ที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไปได้มอบให้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประเมินผลการเปิดเสรีเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และเพื่อป้องกันมิให้การเปิดเสรีมีผลกระทบต่อการค้าของประเทศอื่น ๆ 2. การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จะมีการหารือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร คือ WTO, World Bank, IMF, ITC, UNCTAD และ UNDP ในเรื่อง Integrated Framework ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการประสานงานและให้ความช่วยเหลือในการเสริมสร้างสมรรถนะแก่ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยองค์กรเหล่านี้จะประชุมร่วมกันในวันที่ 6 กรกฎาคม 2543 ที่นครนิวยอร์ค 3. การแก้ปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีรอบอุรุกวัย ได้มีการมอบหมายให้คณะมนตรีทั่วไปสมัยพิเศษเป็นองค์กรพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามพันธกรณีรอบอุรุกวัย โดยเฉพาะเรื่องที่มีการหยิบยกในระหว่างการเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติล และให้ดำเนินการให้เสร็จก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 4 ในเรื่องการขยายเวลาผ่อนผันตามความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า( TRIMs) คณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้าเป็นผู้พิจารณาคำขอต่ออายุ รวมทั้งการพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของสมาชิกที่ยังไม่ได้แจ้งมาตรการ TRIMs หรือแจ้งแล้วแต่ยังไม่ได้ขอต่ออายุช่วงเวลาผ่อนผัน สหรัฐฯ มีความเห็นว่า ประเทศที่มิได้ขอขยายเวลาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 จะไม่มีสิทธิขอขยายเวลา แต่จะต้องขอผ่อนผัน (waiver) จากความตกลง และสหรัฐฯมีสิทธิที่จะฟ้องร้องภายใต้ความเข้าใจว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ได้ กรณีของประเทศไทยได้ยื่นคำขอก่อนมีมติของคณะมนตรีทั่วไป แต่สหรัฐฯ เห็นว่า ระยะเวลาผ่อนผันของไทยสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่ได้ขอขยายเวลา 4. การปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO ที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไปยังคงเห็นด้วยกับระบบการตัดสินใจแบบฉันทามติ แต่เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงรูปแบบและแนวทางให้เปิดกว้างต่อสมาชิกและโปร่งใสกว่าเดิม 2. ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการเกษตร ตามมาตรา 20 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตรได้กำหนดให้มีการเจรจาต่อจากการเจรจารอบอุรุกวัย เพื่อปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรของโลกให้มีความเสรียิ่งขึ้น คณะมนตรีทั่วไปของ WTO จึงได้ประกาศเปิดการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ภายใต้การประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษ ในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 สมาชิก WTO มีความเห็นชอบร่วมกันให้ นาย Jorge Voto-Bernales เอกอัครราชทูตถาวรเปรู เป็นประธานคณะกรรมการเกษตรและประธานคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษ 3. ความคืบหน้าในการประชุมคณะมนตรีการค้าบริการ ที่ประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ได้ประกาศเปิดการเจรจาการค้าบริการรอบใหม่อย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้มีการประชุมสมัยสามัญเพื่อพิจารณางานประจำของคณะกรรมการ/คณะทำงานต่าง ๆ ภายใต้คณะมนตรีฯ รวมทั้งการทบทวนข้อยกเว้นจากการปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN Exemption)การทบทวน Annex on Air Transport และ Accounting Rate สาขาโทรคมนาคม และให้มีการประชุมสมัยพิเศษ เพื่อดำเนินการเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการรอบใหม่ ทั้งนี้ ให้จัดการประชุมทั้งสองสมัย แบบติดต่อกัน (back-to-back) คณะมนตรีฯ ได้จัดประชุมสมัยพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจารอบใหม่โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการ WTO รวบรวมประเด็นต่างๆ จากเอกสารฉบับของสิงคโปร์และออสเตรเลีย และฉบับของกลุ่ม Mercosur เข้าด้วยกัน และจัดทำเอกสารฉบับใหม่ให้ประเทศสมาชิกพิจารณา 4. การทบทวนการขอยกเว้นจากการปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN Exemption) ของไทยในเรื่องการค้าบริการ ความตกลง GATS กำหนดให้มีการผ่อนผันจากหลักการ MFN ได้ไม่เกิน 10 ปี และให้มีการทบทวนภายใน 5 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ ปี 2543 เป็นกำหนดที่จะต้องมีการทบทวนเพื่อตรวจสอบว่า เงื่อนไขของการคงไว้ซึ่งการขอยกเว้นจากการปฏิบัติตามพันธะ MFN ยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ จึงได้กำหนดให้ดำเนินการทบทวนข้อยกเว้นจากหลักการ MFN เป็นรายสาขา โดยในปลายเดือนพฤษภาคม 2543 จะเป็นการทบทวนข้อยกเว้นทั่วไปที่ใช้กับทุกสาขา (Horizontal exemption) ก่อน และตามด้วยบริการด้านธุรกิจวิชาชีพ บริการโทรคมนาคม และบริการด้านโสตทัศน์ สำหรับการประชุมครั้งต่อไปในกลางเดือนกรกฎาคม 2543 จะทบทวนบริการด้านก่อสร้าง ด้านการจัดจำหน่าย การศึกษา สิ่งแวดล้อม การเงิน เป็นต้น สำหรับประเทศไทยได้มีการยื่นรายการที่ขอยกเว้นจากหลักการ MFN ไว้จำนวนหนึ่ง และจากการประชุมคณะกรรมการประสานงานการค้าบริการ (กปบ.) เมื่อ 11 เมษายน 2543 เพื่อพิจารณาความจำเป็นในการขอยกเว้นจากหลักการ MFN สรุปได้ว่า 1. รายการที่สามารถขอถอน MFN exemptions ได้ คือ กิจกรรมการขายและการตลาด ทั้งบริการขนส่งทางทะเลและขนส่งทางอากาศ และการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของ cargo sharing 2. รายการที่ยังจำเป็นต้องคง MFN exemptions ได้แก่ การตรวจสอบบัญชี การพิมพ์หนังสือพิมพ์ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การสำรองที่นั่งด้วยคอมพิวเตอร์ สนธิสัญญาทางไมตรีไทย-สหรัฐฯ เป็นต้น 5. จุดยืนของคณะกรรมการร่วม WTO ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ขององค์การการค้าโลก คณะกรรมการร่วม WTO ได้จัดประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 โดยมีวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องจุดยืนของคณะกรรมการร่วม WTO (ภาคเอกชน) ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ขององค์การการค้าโลก ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบท่าทีที่เสนอ และให้นำเสนอต่อภาครัฐต่อไป ท่าทีของคณะกรรมการร่วม WTO มีทั้งด้านวิธีการ (Modality) ของการเจรจา การเจรจาสินค้าเกษตร e-commerce แรงงาน การจัดซื้อโดยรัฐ การให้สิทธิ GSP และเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนา 6. ความคืบหน้าของการดำเนินการจัดทำกฎแหล่งกำเนิดสินค้า คณะกรรมการว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าของ WTO และคณะกรรมการทางเทคนิคว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้คณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ได้ร่วมกันจัดทำกฎแหล่งกำเนิดสินค้าทั่วไป โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2541 แต่เนื่องจากความซับซ้อนทางเทคนิค จึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนด ในระหว่างวันที่ 3-14 เมษายน 2543 คณะกรรมการว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าได้ประชุมพิจารณาประเด็นโครงสร้างโดยรวม และสินค้าพิกัดตอนที่ 82-83, 84-85, 86-89 และ 92-97 แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และได้กำหนดการหารือครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน 2543 ในส่วนของประเทศไทย กรมศุลกากรได้ตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณากำหนดท่าทีไทย ได้มีการพิจารณาท่าทีไทยในเรื่องแหล่งกำเนิดของสินค้าต่าง ๆ ไปแล้วหลายรายการ และจะมีประชุมอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ศกนี้
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-