รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ สร้างนโยบายเชิงรุกใน WTO ให้มีการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ ในปี 2542 -------------------------------------------------------------------------------- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเคร์นส์ ทันทีที่มาถึงนครเจนีวา เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2541 เพื่อร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ ที่จะผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรีของ WTO สมัยที่สอง ที่จะเริ่มประชุมในวันรุ่งขึ้น มีมติให้เริ่มเตรียมการสำหรับ การเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2541 ผลการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ครั้งนี้ ต่างมี ความเห็นร่วมกันว่า เมื่อผลักดันให้ปฏิญญาระบุให้ประเทศ สมาชิกเริ่มเตรียมการเจรจาในเดือนกันยายน 2541 แล้ว ผลก็คือในปี 2542 จะต้องกำหนดขอบเขต โครงสร้าง และกำหนดเวลาการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ นอกจากนี้ยังเน้นความเข้าใจในปฏิญญาว่า สมาชิก WTO ได้ให้คำมั่นว่า การเจรจาสินค้าเกษตรจะต้องเริ่มตรง ตามกำหนดเวลา และจะมีผลสรุปโดยเร็ว ความสำคัญของกระบวนการเตรียมการเจรจา เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ให้ความสำคัญเป็น อย่างมาก เนื่องจากจะทำให้มีจุดเริ่มเจรจาที่ดีที่สุด รัฐมนตรีต่างก็มุ่งที่จะให้กำหนดอำนาจและขอบเขต สำหรับการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ที่ชัดเจนและ ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ยังยืนยันท่าทีเดิมที่ได้ กำหนดไว้ในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ที่เมืองซิดนีย์ เมื่อเดือนเมษายน ศกนี้ ว่าวัตถุประสงค์ของ การเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ก็เพื่อให้สินค้าเกษตร อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับการค้าสินค้าอื่น เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มที่ตั้งไว้ประสบผลสำเร็จ กลุ่มเคร์นส์จะทำงานร่วมกันกับสมาชิก WTO อื่นๆ ที่มีแนวทางเดียวกันในเรื่องนี้ (other like minded members) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรี กลุ่มเคร์นส์กับรัฐมนตรีเกษตรของสหรัฐฯ (นาย Dan Glickman) ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม ศกนี้ เพื่อกำหนดกลยุทธ์สำหรับการเตรียมการเจรจาสินค้า เกษตรรอบใหม่ เหตุผลที่ไทยและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มเคร์นส์ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ที่จะให้มีการเริ่มเตรียมการเจรจาดังกล่าว รวมทั้งที่จะต้องให้รัฐมนตรีมีมติในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ความตกลงเกษตรได้กำหนดให้มี การเจรจาสินค้าเกษตรรรอบใหม่ในปลายปี 2542 อยู่แล้ว ก็เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร พยายามจะผูกโยงเรื่อง เกษตรเข้ากับเรื่องอื่น ๆ ที่ตนมีผลประโยชน์ เช่น ญี่ปุ่นต้องการให้มีเรื่องการลดภาษ๊สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น และสหภาพยุโรปต้องการให้มีการเจรจาเรื่อง การค้าและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศ ที่ได้รับผลประโยชน์จากการอุดหนุนการส่งออกสินค้า เกษตรเนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร ก็เกรงว่าผลประโยชน์ของตนจะถูกกระทบ ไม่ว่า จะเป็นอียิปต์ อินเดีย ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ บางประเทศ นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่มีนโยบายให้การ อุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อคุ้มครอง อุตสาหกรรมของตน เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี และนอรเวย์ ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเสรีสินค้าเกษตรมากขึ้นกว่า ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่ากลุ่มเคร์นส์จะมีอุปสรรคมากมาย เพียงใดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่หากผลปรากฎว่าการค้าสินค้าเกษตรในอนาคต เป็นไปได้โดยเสรี ปราศจากการอุดหนุนทำให้ ส่งออกได้เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรใน ตลาดโลกสูงขึ้น ก็นับว่าคุ้มค่ากับความพยายาม และแรงงานที่ได้ลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ที่ได้ปรากฎแล้วในขณะนี้ว่า ภาคเกษตรยังคงเป็นภาค การผลิตและส่งออกที่สำคัญของไทยที่ยังคงเป็นบ่อเกิด ของรายได้ในยามที่ประเทศประสบปัญหา ทางการเงิน และผลประโยชน์ในขั้นสุดท้ายก็ยังคงตก แก่เกษตรกรในฐานะกระดูกสันหลังของชาติ ไม่ว่า ทางตรงหรือทางอ้อม ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-