สรุปข่าวประจำวัน วันที่ 20 มีนาคม 2544

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 20, 2001 11:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ข่าวในประเทศ
1. สถาบันการลงทุนของ สรอ.และสถาบันการเงินของญี่ปุ่นร่วมจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาบริษัทขนาดกลางของไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับนายแดน เควล อดีตรองประธานาธิบดี สรอ.และตัวแทนจากบริษัทเซอร์เบอร์รัส แคปปิตอล แมเนจเมนต์ แห่ง สรอ., ธ.ชินเซจากญี่ปุ่น และธ.เพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น แถลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาบริษัทขนาดกลางของไทย มีจำนวนเงิน 150 ล.ดอลลาร์ สรอ.หรือประมาณ 6,500 ล.บาทในเบื้องต้น โดยจุดมุ่งหมายหลักของกองทุนฯ คือ ให้ความช่วยเหลือในด้านของการให้เงินทุนก้อนใหม่และการซื้อหุ้นในบริษัทขนาดกลางของไทยเพื่อฟื้นฟูสภาพของบริษัท โดยเน้นให้ความช่วยเหลือบริษัทที่มีแนวโน้มฟื้นตัวมากที่สุด เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการเกษตร และธุรกิจอาหาร เป็นต้น โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของบริษัทที่จะได้รับความช่วยเหลือคือ บริษัทขนาดกลางที่มีขนาดของหนี้สินระหว่าง 10-100 ล.บาท (โลกวันนี้ 20)
2. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-4 ในปี 44 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจวัดจากผลิตภัณฑ์ในประเทศ (จีดีพี) ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-4 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ 4-4.5 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจนส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชนที่อาจจะขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร สำหรับปัจจัยที่จะช่วยรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือ มาตรการของรัฐที่จะต้องใช้ งปม. เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน. เร่งปล่อยสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม เลื่อนการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกไปอีก 2 ปี ตลอดจนเร่งส่งออกสินค้าภาคเกษตรให้มากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ, เดลินิวส์, ผู้จัดการรายวัน 20)
3. รัฐบาลตั้งเป้าหมายขาดดุล งปม. ปี 45 ร้อยละ 3 ของจีดีพี นรม. เปิดเผยว่า จากการพิจารณากรอบ งปม. รายจ่ายประจำปี 45 รัฐบาลกำหนดให้มีการขาดดุล งปม. ไม่เกินร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ในประเทศ (จีดีพี) โดยจะลดการนำเข้าในภาครัฐวิสาหกิจให้เหลือร้อยละ 1 และเมื่อรวมกับการขาดดุลภาครัฐแล้วไม่ควรเกินร้อยละ 3 ซึ่งเชื่อว่าการขาดดุลในระดับดังกล่าวเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เดลินิวส์ 20)
4. ธปท. ภาคเหนือสำรวจพบระบบโพยก๊วนยังเป็นรูปแบบการค้าสำคัญบริเวณชายแดนไทย-พม่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคเหนือสำรวจการค้าชายแดนไทย-พม่าในจุดสำคัญของภาคเหนือพบว่า มีการค้านอกระบบ 4 รูปแบบคือ 1) ชำระผ่านระบบหักบัญชี (โพยก๊วน) ร้อยละ 44 2) ชำระด้วยเงินบาทร้อยละ 42 3) ชำระด้วยเงินจั๊ตร้อยละ 9 และ 4) ชำระด้วยการเปิดแอลซีร้อยละ 5 โดยในอดีตคาดว่าระบบโพยก๊วนมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งระบบนี้เป็นระบบปิดตัวและจำกัดวงอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนเท่านั้น ปัจจุบันสัดส่วนได้ลดลงมากเนื่องจากการค้าพลอยส่วนใหญ่รับชำระด้วยเงินบาทมากขึ้น เงินจั๊ตมีบทบาทในสินค้าภาคเกษตรบริเวณชนบทที่ไม่มีตัวแทนหักบัญชี ส่วนการเปิดแอลซีเป็นการชำระค่าไม้ซุงที่เอกชนไทยได้รับสัมปทานจากพม่าและมีสัดส่วนลดลงเมื่อพม่ายุติการให้สัมปทาน (ผู้จัดการรายวัน 20)
ข่าวต่างประเทศ
1. ปรับลดตัวเลขดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในเดือน ม.ค. 44 รายงานจากโตเกียวเมื่อ 19 มี.ค. 44 รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 44 ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ (Leading Index) ที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนต่อไป ลดลงอยู่ที่ระดับ 50.0 จากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 57.1 และลดลงจากระดับ 54.5 ในเดือน ธ.ค. 43 ขณะเดียวกัน Coincident Index ที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็ลดลงอยู่ที่ระดับ 62.5 จากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 71.4 และลดลงจากระดับ 81.8 ในเดือน ธ.ค. 43 ส่วน Lagging Index ที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.0 แต่ลดลงจากระดับ 62.5 ในเดือน ธ.ค. 43 (รอยเตอร์19)
2. เอดีบีปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศในเอเชีย รายงานจากมะนิลา เมื่อ 19 มี.ค.44 ธ. เพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 จากเดิมที่ประมาณการณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ย. 43 โดยเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.2 จากร้อยละ 5 ขณะที่ เกาหลีใต้ ลดลงเหลือร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 6 มาเลเซีย เหลือร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 7 พิลิปปินส์ อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 จากร้อยละ 3.3 และไทย ลดลงเหลือร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 4.6 (รอยเตอร์19)
3. ราคาน้ำมันดิบของ สรอ. ลดลงแม้โอเปกลดการผลิต รายงานจากนิวยอร์กเมื่อ 19 มี.ค. 44 ราคาน้ำมันดิบของ สรอ. ลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันประเมินว่าการที่โอเปกลดปริมาณผลผลิตน้ำมันลงร้อยละ 4 ไม่เพียงพอต่อการที่จะฉุดราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยราคาน้ำมัน West Texas Intermediate ที่ตลาดนิวยอร์ก เมอร์แคนไทน์ เอ็กซ์เชน ลดลง 59 เซ็นต์เหลือบาร์เรลละ 26.15 ดอลลาร์ สรอ. นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ครึ่งหลังเดือน ธ.ค. 43 ทั้งนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โอเปกได้บรรลุข้อตกลงที่จะลดการผลิตน้ำมันลงวันละ 1 ล้านบาร์เรล โดยให้มีผลบัคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 44 โดยการลดการผลิตน้ำมันครั้งนี้ของโอเปก เพื่อพยายามลดปริมาณน้ำมันที่ล้นสต็อก (รอยเตอร์19)
4. คาดว่า สรอ. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึงร้อยละ 0.75 ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน รายงานจากวอชิงตันเมื่อ 19 มี.ค. 44 จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ โดยรอยเตอร์ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 13 คน จากจำนวน 15 คน คาดว่า ธ. กลางจะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ 12 คน คาดว่า จะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 และจากการคาดการณ์ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทฟื้นตัวขึ้นจากการตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆนี้ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 135.7 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 อยู่ที่ระดับ 9,959 จุด ขณะเดียวกัน ดัชนี Nasdag composite เพิ่มขึ้น 60.28 จุด หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.19 อยู่ที่ระดับ 1,951.19 จุดในช่วงปิดตลาดของวันที่ 19 มี.ค. 44 (รอยเตอร์19)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์ สรอ.ระหว่างธนาคาร ณ สิ้นวันทำการ 19 มี.ค. 44 43.969 (43.959)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน) ณ สิ้นวันทำการ 19 มี.ค. 44ซื้อ 43.7761 (43.7668) ขาย 44.0814 (44.0710)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,400 (5,350) ขาย 5,500 (5,450)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน 23.17 (22.68)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) 16.39 (16.39) ดีเซลหมุนเร็ว 13.04 (13.04)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ