สรุปข่าวในประเทศ
1. ธปท. สามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้เพียง 2 ปี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาว่า ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. คงไม่เหมาะสมที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากแต่ละคนมีมุมมองและข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการแตกต่างกัน ซึ่งโดยปกติการประมาณการเศรษฐกิจของสถาบันการเงินและสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจทั่วไป รวมทั้ง ธปท. จะไม่มีการ ประมาณการเศรษฐกิจไปล่วงหน้าถึง 8 ปีหรือมากกว่านั้น แต่จะประมาณการล่วงหน้าไป 8 ไตรมาส หรือ 1-2 ปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด(ข่าวสด 11)
2. สศช.ปรับปรุงร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.จะนำมติจากการประชุมร่วมระหว่าง รมต.และคณะกรรมการ สศช. ที่ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545-2549) เพื่อนำไปปรับปรุงสาระสำคัญบางประการ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การวางยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาประเทศ เช่น ด้านการท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจรากฐานของชุมชนเข้ากับเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนี้ สศช.จะนำร่างแผนพัฒนาฯ เสนอต่อคณะกรรมการ สศช.อีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย.44 ก่อนที่จะเสนอ ครม.ในวันที่ 25 ก.ย.44 เพื่อพิจารณาอนุมัติ และทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.44(ไทยโพสต์ 11)
3. ปริมาณธุรกรรมในตลาดซื้อคืนเดือน ส.ค.44 รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปริมาณธุรกรรมในตลาดซื้อคืน พธบ. (อาร์/พี) ในเดือน ส.ค.44 ว่ามียอดเฉลี่ยประมาณวันละ 4.9 หมื่น ล.บาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่มียอดเฉลี่ยประมาณวันละ 4.6 หมื่น ล.บาท เนื่องจากความต้องการกู้ยืมและลงทุนเพิ่มขึ้น และสถาบันการเงินส่วนใหญ่เริ่มสำรองสภาพคล่องไว้เพื่อการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลงวดครึ่งปี รวมทั้งภาครัฐดูดซับสภาพคล่องบางส่วนจากการออกจำหน่ายตราสารหนี้ในเดือนนี้มากกว่าที่ครบกำหนด ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนตลาดซื้อคืนมีสภาพคล่องมากต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นประเภท 1 และ 7 วัน เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.0625 - 2.375 และ 2.125 - 2.375 ต่อปีตามลำดับ ส่วนในช่วงกลางเดือนถึงสิ้นเดือนอัตรา ดอกเบี้ยเคลื่อนไหวสูงขึ้นอยู่ระหว่างร้อยละ 2.3125-2.375 และ 2.5 ต่อปีตามลำดับ (มติชน 11)
4. บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 45 บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์สถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 45 ภายใต้ 2 สมมติฐาน คือ หากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะซบเซาและการส่งออกไม่กระเตื้องขึ้น เงินบาทจะมีค่าเฉลี่ยที่ 45.0-45.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และหากการส่งออกและเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ เงินบาทจะมีค่าเฉลี่ยที่ 44.0-45.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยการกำกับดูแลจาก ธปท.ยังเป็นตัวแปรสำคัญ ในขณะที่ฐานะทางการคลัง รวมถึงภาระของรัฐบาลในโครงการต่างๆ ยังอาจจะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาท.......(แนวหน้า 11)
สรุปข่าวต่างประเทศ
1. ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 45 รายงานจากเบอร์ลินเมื่อ 10 ก.ย.44 กรรมการอำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 45 ลงเหลือร้อยละ 2.7 แต่จะฟื้นตัวขึ้นในปี 45 เป็นขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6 และคาดว่า ธ.กลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หากยุโรปต้องการเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สำหรับการพยากรณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้านั้น มีสาเหตุจากการอ่อนตัวลงของราคาพลังงานเมื่อเร็วๆ นี้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ สรอ(รอยเตอร์ 10)
2. ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคของ สรอ.ในเดือน ก.ค.44 ไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากลดลงในเดือนก่อน รายงานจากวอชิงตันเมื่อ 10 ก.ย.44 ธ.กลาง สรอ.เปิดเผยว่า เดือน ก.ค.44 สินเชื่อเพื่อการบริโภคของ สรอ.ไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หลังจากลดลงในเดือน มิ.ย.44 โดยยอดคงค้างสินเชื่อฯ หลังปรับฤดูกาลในเดือน ก.ค.44 มีจำนวน 1.589 ล้านล้าน ดอลลาร์ สรอ. หลังจากลดลง 1.8 พัน ล.ดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย.44 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับตัวแล้ว นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ามีจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 40 และลดลงมากกว่ารายงานเบื้องต้นที่ลดลง 1.5 พัน ล.ดอลลาร์ ตัวเลขยอดคงค้างฯ ในเดือน ก.ค.ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มิ.ย.อาจทำให้เกิดความกังวลว่า ผู้บริโภคกำลังระงับการใช้จ่าย โดยการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ สรอ.ที่กำลังชะลอตัวในปัจจุบัน และคิดเป็น 2 ใน 3 ของธุรกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่ยอดคงค้างสินเชื่อฯ ลดลง 2 เดือนติดต่อกัน คือ เดือน พ.ค.-มิ.ย.35 ………….…………………………….……….(รอยเตอร์ 10)
3. คำสั่งซื้อเครื่องจักรของภาคเอกชนญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 44 ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบต่อเดือน รายงานจากโตเกียวเมื่อ 10 ก.ย. 44 รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เดือน ก.ค. 44 คำสั่งซื้อเครื่องจักรที่เป็นแกนของภาคเอกชน ซึ่งใช้วัดการใช้จ่ายทุนของบริษัท ลดลงร้อยละ 1.6 หลังปรับฤดูกาล เมื่อเทียบต่อเดือน หลังจากที่ในเดือน มิ.ย. 44 ลดลงร้อยละ 6.6 ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 13 คนมีการคาดการณ์ที่แตกต่างกัน โดยมีช่วงตั้งแต่ลดลงร้อยละ 7.5 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ขณะเดียวกัน คำสั่งซื้อฯโดยรวมในเดือน ก.ค.44 ลดลงร้อยละ 1.5 เทียบต่อเดือน หลังจากที่ลดลงร้อยละ 18.7 ในเดือน มิ.ย.44(รอยเตอร์10)
4. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ HWWA ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปี 44 ลงเหลือร้อยละ 1.1 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ HWWA ของเยอรมนี ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 43 ลงเหลือร้อยละ 1.1 จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ทั้งนี้ การปรับลดฯดังกล่าวจะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1-1.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายทางการของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม HWWA ประมาณการว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวร้อยละ 2.25 ในปี 45(รอยเตอร์10)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์ สรอ.ระหว่างธนาคาร ณ สิ้นวันทำการ 10 ก.ย. 44 44.541 (44.570)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน) ณ สิ้นวันทำการ 10 ก.ย. 44ซื้อ 44.3314 (44.3344) ขาย 44.6174 (44.6287)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,700 (5,700) ขาย 5,800 (5,800)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน 25.60 (25.37)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) 16.29 (16.29) ดีเซลหมุนเร็ว 13.94 (13.94)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน