องค์การการค้าโลก : อนาคตที่แจ่มใสและอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า -------------------------------------------------------------------------------- ในการประชุมคณะมนตรีทั่วไปครั้งสุดท้ายประจำปี 1997 นาย Renato Ruggiero ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ได้รายงานสภาวะการค้าโลกและผลสำเร็จขององค์การการค้าโลก ในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา รวมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและภารกิจที่ประเทศสมาชิกควรพิจารณาต่อไปในอนาคต นาย Ruggiero เห็นว่า สภาวะการค้าของโลกในปี 1996 มีการส่งออกสูงกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่น่าพอใจ ภาคการส่งออกที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด คือ ภาคสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 ในปี 1996 สำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าแร่ธาตุเปลี่ยนแปลงในอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในปี 1997 นาย Ruggiero คาดว่าจะยังมีอัตราการเพิ่มที่ดี แต่เนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐฯ มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ อาจทำให้มูลค่าของการส่งออกโดยรวมลดน้อยลง แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม ภูมิภาคของโลกส่วนใหญ่มีการขยายตัวของการส่งออกสูงกว่าอัตราเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคตะวันออกกลางและอาฟริกามีอัตราการเติบโตของการส่งออกสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ภูมิภาคที่ขยายตัวต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย ได้แก่ ยุโรปตะวันตกและเอเซีย ซึ่งการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 3 และร้อยละ 1 ตามลำดับสำหรับอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกามีการขยายตัวในการส่งออกที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก กล่าวคือ ร้อยละ 6 และร้อยละ 11 ตามลำดับ สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ประเทศในภูมิภาคเอเซียนั้น นาย Ruggiero ยังไม่อาจที่จะคาดการณ์ผลกระทบที่แท้จริงของปัญหาดังกล่าวได้ แต่จะเป็นความท้าทายด้านนโยบายของผู้บริหารของแต่ละประเทศว่าจะสามารถสรรหาวิธีการและมาตรการที่ถูกต้องมาแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงินได้หรือไม่ และรวดเร็วเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางถึงระยะยาว นาย Ruggiero เห็นว่า ภูมิภาคเอเซียยังเต็มไปด้วยศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเช่นที่เป็นมาในอดีต เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานสำหรับที่เป็นองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น สัดส่วนการออมต่อการลงทุนที่สูง กอรปกับปัจจัยทางการผลิตที่เพียบพร้อมและนโยบายการค้าที่เปิดมากขึ้น และหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นสาเหตุทำให้บางประเทศหันกลับไปใช้นโยบายปิดกั้นทางการค้าอีกครั้งหนึ่ง จากการวิเคราะห์นโยบายการค้าของประเทศสมาชิกบางประเทศในปี 1996 และ 1997 ทำให้เห็นได้ว่าแม้ว่าการเปิดเสรีการค้า (Liberalization) ยังคงเป็นนโยบายหลัก แต่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่กลับเริ่มหันไปให้ความสนใจกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้นได้เห็นได้จากประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (transitional economies) ให้ความสำคัญต่อการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเริ่มรวมกลุ่มระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และความเข้มข้นในการเปิดเสรีระหว่างประเทศภาคีของกลุ่ม APEC เป็นต้น ทำให้ประเทศสมาชิกเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีในระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอัตราภาษีที่ผูกพันไว้ในระดับพหุภาคี (Most Favorite Nation : MFN) ความแตกต่างในกฎระเบียบว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เรื่องที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การปกป้องอุตสาหกรรมบางประเภทในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยใช้การอุดหนุนภายในประเทศ มาตรการกีดกันการนำเข้าและการกำหนดอัตราภาษีขาเข้าในระดับสูง อาทิ สินค้าเกษตรและสิ่งทอ รวมทั้งการใช้มาตรการด้านมาตรฐานสินค้าเป็นเครื่องมือกีดกันการค้า เป็นต้น ภารกิจขององค์การการค้าโลกในปัจจุบัน นอกจากการดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในการเจรจารอบอุรุกวัย ซึ่งได้แก่ การกำกับดูแลและปรับปรุงการดำเนินการขององค์กรต่างๆ ภายใต้ความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลกให้มีประสิทธิภาพ และเร่งดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ค้างมาจากการเจรจารอบอุรุกวัย (Build-In Agenda) เช่น การสรุปผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยโทรคมนาคม และความตกลงเปิดเสรีการค้าบริการสาขาการเงิน และการรับสมาชิกองค์การการค้าโลกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับการเห็นชอบระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 1996 ณ ประเทศสิงคโปร์ อาทิ จัดการประชุมระดับสูง (High Level Meeting) เพื่อดำเนินการตามแผนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) และการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน การค้า และการแข่งขัน มาตรการสนับสนุนการค้า (Trade Facilitation) และความโปร่งใสว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ต่างแสดงความชื่นชมกับผลงานขององค์การการค้าโลกในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความสำเร็จในการเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement : ITA) การค้าบริการสาขาโทรคมนาคม และคาดหวังว่า จะสามารถตกลงในเรื่องการค้าบริการสาขาการเงินได้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม ศกนี้ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า ถึงแม้การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจของหลายประเทศก็ตาม องค์การการค้าโลกควรให้ความสำคัญในเรื่องการปรับปรุงความตกลงต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประเทศสมาชิกจะสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ยังได้แสดงความห่วงใยต่อภาคเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สินค้าเกษตรและสิ่งทอว่ายังถูกปิดกั้นและไม่ได้รับการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างจริงจัง และได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจขององค์การการค้าโลกในอนาคต รวมทั้งมีข้อสังเกตต่อถ้อยแถลงของนาย Ruggiero อาทิ ฮ่องกงเห็นว่า ในปี 1998 องค์การการค้าโลกควรให้ความสำคัญกับการนำความตกลงระดับภูมิภาคเข้าสู่ระบบพหุภาคี ตามที่ระบุในปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่สิงคโปร์ และออสเตรเลียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบางประเทศ อาทิ แคนาดา และนิวซีแลนด์ กล่าวถึงบทบาทของการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกในต้นปี 1998 ควรพิจารณาทิศทางสำหรับการเจรจารอบใหม่ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรและการค้าบริการที่มีกำหนดจะเริ่มเจรจาในปี 2000 และเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้รวมไว้ในความตกลง อาทิ การเจรจาลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น เผยแพร่โดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ [Back to Header
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-